ผู้เขียน หัวข้อ: น้ำกลืนกินแผ่นดิน(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1811 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เราอาจเป็นจุดเล็กๆเจ็ดพันล้านจุดกระจัดกระจายอยู่บนพื้นผิวโลก แต่หากอยู่ในบังกลาเทศ บางครั้งคุณอาจรู้สึกประหนึ่งว่าผู้คนสักครึ่งค่อนโลกมามะรุมมะตุ้มกันอยู่ในพื้นที่ขนาดเพียงหนึ่งในสี่ของประเทศไทย  กรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศมีสภาพแออัดจนสวนสาธารณะและบาทวิถีทุกแห่งถูกจับจองโดยคนจรจัด   ถนนหนทางและตรอกซอกซอยอันชื้นแฉะล้วนแน่นขนัดและโกลาหลด้วยผู้คนราว 15 ล้านคน  ส่วนพื้นที่ชนบทนอกเมืองหลวงคือที่ราบน้ำท่วมถึงอันกว้างใหญ่ไพศาล  พื้นดินที่โผล่พ้นน้ำเป็นระยะๆนั้นเขียวชอุ่มและแบนราบราวกับลานจอดรถ แต่ยังไม่วายเนืองแน่นไปด้วยผู้คน    ไม่มีความสงบสันโดษในสถานที่ที่คุณคาดหวังว่าจะได้พานพบ   ในบังกลาเทศไม่มีถนนหลวงสายใดที่พอจะเรียกได้ว่าเปล่าเปลี่ยว

          ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไรนัก  เพราะที่สุดแล้วบังกลาเทศคือประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง   หากลองคำนวณในทางคณิตศาสตร์ดูแล้ว คงพูดได้ว่าในประเทศที่มีประชากร 164 ล้านคนแห่งนี้ ยากนักที่ใครสักคนจะสามารถอยู่ตามลำพังได้อย่างแท้จริง

          ทีนี้ลองนึกภาพบังกลาเทศในปี 2050 ซึ่งประชากรมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 220 ล้านคน ขณะที่มวลแผ่นดินไม่ใช่น้อย ในปัจจุบันอาจจมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร การประเมินสภาพการณ์ในตอนนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่เกี่ยวข้องกันสองประการ นั่นคือ การเพิ่มขึ้นของประชากรซึ่งแม้อัตราการเกิดจะลดลงมากแล้ว แต่ก็ยังส่งผลให้จำนวนประชากรของบังกลาเทศเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคนในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า และระดับทะเลที่อาจสูงขึ้นตั้งแต่ไม่กี่สิบเซนติเมตรไปจนถึงกว่าหนึ่งเมตรเมื่อถึงปี 2100 อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

          สภาพการณ์เช่นนั้นอาจหมายถึงการที่ประชากร 10 ถึง 30 ล้านคนแถบชายฝั่งทางใต้ของประเทศอาจสูญเสียที่อยู่อาศัย และบีบให้ชาวบังกลาเทศต้องแออัดยัดทะนานกันยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ หรือไม่ก็ต้องออกอพยพออกนอกประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยสภาพอากาศ (climate refugee) ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตจนมีจำนวนราว 250 ล้านคนทั่วโลกภายในกลางศตวรรษนี้ โดยส่วนมากมาจากประเทศยากจนซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างต่ำและล่อแหลมต่อการถูกน้ำท่วม

          จะว่าไปแล้ววิกฤติต่างๆอยู่คู่กับประวัติศาสตร์บังกลาเทศมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากได้รับเอกราชเมื่อปี 1971 ประเทศนี้ก็เผชิญกับภัยสงคราม ทุพภิกขภัย โรคระบาด ไซโคลนที่คร่าชีวิตผู้คน อุทกภัยครั้งใหญ่ การก่อรัฐประหาร                     การลอบสังหารนักการเมือง และอัตราความยากจนและภาวะขาดแคลนที่สูงลิ่ว

          แม้จะเผชิญกับปัญหาสารพัน  บังกลาเทศกลับเป็นสถานที่ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า การปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง และมีการคิดค้นทดลองวิธีการต่างๆสารพัดที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูง นวัตกรรมซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงเหล่านี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากประเทศอุตสาหกรรม ผู้เป็นตัวการหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนระดับทะเลสูงขึ้น และได้รับส่งเสริมจากองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ (NGOs) ระหว่างประเทศหลายต่อหลายแห่ง ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ ประชาคมโลกไม่ใช่เฉพาะชาวบังกลาเทศอาจลงเอยด้วยการเรียนรู้จากดินแดนแห่งนี้

          ประชากรโลกกว่าหนึ่งในสามอาศัยอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งไม่เกิน 100 กิโลเมตร ในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า ขณะที่ระดับทะเลสูงขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำนายว่า เมืองใหญ่หลายแห่งของโลกมีโอกาสเกิดอุทกภัยชายฝั่งสูงขึ้น เมื่อมองในภาพรวมทั้งโลก สองเมืองที่ประชากรจะได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของสภาพอากาศเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อถึงปี 2070 ล้วนอยู่ในบังกลาเทศทั้งคู่ ซึ่งได้แก่กรุงธากากับเมืองจิตตะกอง โดยมีเมืองขุลนาตามมาติดๆ ถึงแม้พื้นที่บางส่วนบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจะรองรับระดับทะเลที่สูงขึ้นได้ เพราะการสะสมตัวของตะกอนปากแม่น้ำได้ช่วยเสริมสร้างที่ดินบริเวณชายฝั่ง แต่พื้นที่ส่วนอื่นๆ มีแนวโน้มจะจมหาย

          แต่บังกลาเทศไม่ต้องรอหลายสิบปีกว่าจะเห็นภาพตัวอย่างของอนาคตที่เกิดจากระดับทะเลสูงขึ้น จากชัยภูมิเหนือ อ่าวเบงกอลแห่งนี้ ชาวบังกลาเทศเผชิญชะตากรรมในโลกที่มีประชากรแน่นขนัดท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปรอยู่แล้ว พวกเขาเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับทะเลที่สูงขึ้น ความเค็มซึ่งส่งผลต่อชั้นหินอุ้มน้ำชายฝั่ง ไปจนถึงอุทกภัยจากแม่น้ำเอ่อล้นที่เกรี้ยวกราดขึ้นทุกขณะ และไซโคลนที่พัดถล่มชายฝั่งซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความปรวนแปรของสภาพอากาศโลก

          ทุกวันจะมีผู้คนหลายพันคนหลั่งไหลมายังกรุงธากา พวกเขาหนีตายจากอุทกภัยแม่น้ำทางเหนือและไซโคลนทางใต้ หลายคนลงเอยด้วยการใช้ชีวิตในสลัมโกราอีลอันแออัด การต้องแบกรับผู้อพยพเช่นนี้หลายแสนคนอยู่ก่อนแล้ว กรุงธากาจึงไม่อยู่ในสภาพที่จะรองรับผู้มาอยู่อาศัยใหม่ได้ ลำพังแค่การจัดหาสาธารณูปโภคและบริการขั้นพื้นฐานที่สุดให้คนในเมืองก็แทบเกินกำลังแล้ว

          แต่การที่ถูกรุมเร้าจากปัญหารอบด้านนี้เอง ทำให้บังกลาเทศกลายเป็นห้องปฏิบัติการสำหรับแผนการหรือทางออกใหม่ๆในโลกกำลังพัฒนามาช้านาน กรุงธากาเป็นที่ตั้งของบรัก (BRAC) เอ็นจีโอใหญ่ที่สุดในโลกกำลังพัฒนาซึ่งเป็นต้นแบบในการให้บริการสาธารณสุขพื้นฐานและบริการอื่นๆ โดยมีทีมงานภาคสนามจำนวนมากราวกองทัพย่อยๆ

          บังกลาเทศทำงานร่วมกับเอ็นจีโอหลายสิบแห่ง และมีความก้าวหน้าในเรื่องการให้การศึกษาและโอกาสทางเศรษฐกิจแก่สตรี เห็นได้จากการที่อัตราการทำงานของสตรีเพิ่มขึ้นสองเท่านับจากปี 1995 เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นโดยมีอุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้าเป็นแรงขับเคลื่อน และบังกลาเทศก็บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติประการสำคัญ นั่นคืออัตราการตายของทารกลดลงอย่างมากในช่วงปี 1990 ถึง 2008 กล่าวคือลดลงจาก 100 รายต่อการเกิด 1,000 ราย เหลือเพียง 43 ราย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำเลยทีเดียว  ทว่าในกรุงธากา   ความสำเร็จเหล่านั้นดูช่างน้อยนิดเมื่อเทียบกับความยากจนเหลือคณา และไหลบ่าเข้ามาอย่างไม่ขาดสายของชาวบ้านจากชนบท กระตุ้นให้องค์กรต่างๆ ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ผู้อพยพเหล่านี้สามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง

          แต่ตอนนี้ รัฐบาลบังกลาเทศดูจะมุ่งผลักดันให้การปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศ หรือพูดอีกนัยได้ว่า รัฐบาลกำลังใช้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นเครื่องมือโน้มน้าวให้โลกอุตสาหกรรมเพิ่มความช่วยเหลือมากขึ้น (นับตั้งแต่ได้รับเอกราชบังกลาเทศได้รับเงินช่วยเหลือหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากนานาชาติ) จากข้อตกลงในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศขององค์การสหประชาชาติที่กรุงโคเปนเฮเกนเมื่อปี 2009 ประเทศพัฒนาแล้วรับปากจะจัดสรรเงินปีละหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2020 เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนที่เป็นแนวหน้าในการเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หลายคนในบังกลาเทศเชื่อว่า พวกเขาน่าจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าในฐานะประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดประเทศหนึ่ง
                ผู้คนในดินแดนนี้คือประจักษ์พยานที่ยืนยันได้ว่า ไม่มีใครโต้เถียงหรือห้ามปรามท้องทะเลซึ่งกำลังจะโถมท่วมที่นี่ไม่ช้าก็เร็ว ถึงกระนั้น ชาวบังกลาเทศหลายล้านคนจะยังคงกัดฟันสู้ด้วยการปรับตัวจนถึงที่สุด แม้เมื่อทุกอย่างดูเกินเยียวยา พวกเขาก็ยังจะขอลองดูอีกสักตั้ง นี่คือวิธีคิดของคนชาตินี้ สัญชาตญาณแห่งการเอาชีวิตรอดอันดุเดือดผสมผสานกับน้ำอดน้ำทนต่อสภาพการณ์อันเลวร้ายต่างๆที่คนส่วนใหญ่คงถอดใจไปนานแล้ว

มิถุนายน 2554
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 มิถุนายน 2011, 11:13:15 โดย pani »