ผู้เขียน หัวข้อ: สวรรค์กลางแอ่งน้ำ(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1934 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ดาวทะเลที่เรามักเรียกกันว่าปลาดาวเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาสัตว์อันหลากหลายที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งใกล้กับอ่าวโบเดกา ดาวทะเลมีขนาดใหญ่ (บ้างมีลำตัวกว้างถึง 30 เซนติเมตร) และมีสีสันสดใสจนเกินเหตุ (บางตัวมีสีส้ม บางตัวมีสีม่วง และไม่มีใครรู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด) โดยปกติเรามักพบดาวทะเลแผ่หลาราวกับของเล่นที่ถูกทิ้งขว้างอยู่ตามรอยแยกหิน แม้ภายนอกจะดูเป็นสัตว์เฉื่อยชา แต่ดาวทะเล (Pisaster ochraceus) กลับเป็นนักล่าอันดับสูงสุดในพื้นที่เขตชายฝั่ง (intertidal zone) หรือเขตน้ำขึ้นน้ำลง เป็นดั่งพยัคฆ์ร้ายแห่งแอ่งน้ำทะเลขัง (tide pool)

แอ่งน้ำทะเลขังก่อตัวขึ้นตามแนวชายฝั่งที่เป็นหินซึ่งเป็นจุดที่มหาสมุทรบรรจบกับผืนดิน เป็นแนวชายฝั่งที่บางครั้งกว้างเพียงไม่กี่เมตร แต่ละวันทุกสิ่งทุกอย่างในบริเวณนี้จะถูกปกคลุมหรือเปิดเผยออกด้วยกระแสน้ำขึ้นน้ำลง

นักชีววิทยาให้ความสำคัญกับเขตชายฝั่ง โดยมองว่าเป็นแบบจำลองที่สังเกตได้ง่ายของกระบวนการทางนิเวศวิทยาซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ใหญ่กว่านี้มาก ผู้ที่ศึกษาเรื่องเขตสิ่งมีชีวิต (life zone) หรือรูปแบบที่พืชพรรณและส่ำสัตว์เปลี่ยนแปลงไปจากเขตทะเลทรายขึ้นไปจนถึงยอดเขาสูง ต้องเดินทางข้ามภูมิประเทศเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อศึกษาถิ่นอาศัยที่แตกต่างกันออกไป แต่เขตชายฝั่งยาวๆ แคบๆนี้แสดงให้เห็นเขตสิ่งมีชีวิตอันหลากหลาย ตั้งแต่หญ้าทะเลตรงก้นแอ่ง ไล่ขึ้นไปถึงชั้นของดอกไม้ทะเล หอยแมลงภู่ และเพรียง จนถึงหอยลิมเพ็ตที่อยู่บนสุด ทั้งหมดนี้อยู่ในระยะเดินแค่ไม่กี่ก้าว

บางครั้งบางคราวเมื่อท่อนซุงที่ถูกคลื่นซัดมาครูดสิ่งมีชีวิตที่ปกคลุมอยู่ออกไปจนเหลือแต่โขดหินเปล่าเปลือย นักชีววิทยาสามารถเฝ้าสังเกตสรรพชีวิตที่เจริญเต็มที่หวนกลับมาให้เห็นต่อหน้าต่อตา วัฏจักรแห่งการฟื้นตัวและทดแทนนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น

ความบังเอิญทางธรณีวิทยาและสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือกลายเป็นภูมิภาคชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก การลอยตัวขึ้นของกระแสน้ำเย็นใกล้ชายฝั่งในมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้น่านน้ำแถบนี้อุดมไปด้วยสารอาหาร น้ำแข็งที่แข็งตัวในฤดูหนาวและมักครูดกับก้อนหินเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยพบเห็น อีกทั้งม่านหมอกที่มักล่องลอยปกคลุมก็ช่วยลดความรุนแรงของแสงอาทิตย์ที่สาดส่องลงมายังสัตว์ทะเลที่ใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตหรือมากกว่านั้นอยู่นอกท้องทะเล

โขดหินและแอ่งน้ำที่นี่สรรค์สร้างโอกาสมากมายและเป็นแหล่งพักพิงให้สิ่งมีชีวิตหลากหลายไม่แพ้ป่าดิบชื้นแห่งไหนในโลกเลยทีเดียว ดาวทะเล Pisaster เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในจำนวนมากมายหลายชนิดที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับถิ่นอาศัยขนาดเล็กจำนวนนับไม่ถ้วน โดยมีรูปพรรณสัณฐานและวิถีชีวิตแตกต่างหลากหลายจนดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด หนอนน้อยชนิดหนึ่งสามารถยิงฉมวกจากหัวเพื่อแทงเหยื่อได้ สาหร่ายทะเลปล่อยกรดเพื่อป้องกันตนเองถ้าถูก ทำร้าย ทากเปลือย (ซึ่งดูเหมือนทากที่แต่งองค์ทรงเครื่องงามหรูมากกว่า) กินสิ่งมีชีวิตที่มีพิษเข้าไปและฝังเซลล์เข็มพิษ ไว้ใต้ผิวหนังของตัวเองเพื่อขับไล่นักล่า

เพราะเหตุใดพฤติกรรมรุนแรงเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นด้วยเล่า คำตอบง่ายๆคือนี่เป็นผลของการที่พืชพรรณและส่ำสัตว์มากมายต้องแย่งชิงทรัพยากรในถิ่นอาศัยอันอุดมสมบูรณ์แต่มีเนื้อที่จำกัด ในบางแง่มุมโลกธรรมชาติก็ไม่ต่างจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำเลคือทุกสิ่งทุกอย่าง และเขตชายฝั่งก็คือทำเลทองดีๆนี่เอง

การพัฒนาของตัวอ่อนสิ่งมีชีวิตในเขตชายฝั่งนั้นก็มีความหลากหลายไม่แพ้รูปพรรณสัณฐานภายนอกของพวกมัน หลายชนิดผ่านเข้าสู่ระยะตัวอ่อนที่ว่ายน้ำได้อย่างอิสรเสรีอยู่ในมหาสมุทรนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน พวกมันท่องไปในมหาสมุทรอันไพศาลก่อนที่จะลงหลักปักฐานบนแนวหินเมื่อโตเต็มวัย

เมื่อลองพินิจพิจารณานักเดินทางวัยกระเตาะเหล่านั้นตัวหนึ่ง แต่เจ้าตัวนี้กำลังจะกลายเป็นตัวเต็มวัยมากกว่า นั่นคือดอกไม้ทะเลยักษ์สีเขียว (Anthopleura xanthogrammica) ซึ่งเป็นนักล่าผู้น่าเกรงขาม แม้ว่ามันจะได้แต่รอคอยเหยื่อที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ให้เตร็ดเตร่ผ่านเข้ามาจนอยู่ในระยะโจมตีมากกว่าจะออกล่าอย่างกระตือรือร้นก็ตาม ดอกไม้ทะเลยักษ์สีเขียวมีรูปร่างคล้ายก้อนเยลลี่ขนาดเท่ากำปั้นยามที่อยู่พ้นน้ำ แต่จะบานออกเมื่ออยู่ใต้น้ำ โดยยืดรยางค์บอบบางไปรอบๆปากดูดซึ่งจะกลืนเหยื่อเข้าไปทั้งตัว ดอกไม้ทะเลบ่งบอกความเป็นญาติใกล้ชิดกับแมงกะพรุนด้วยการใช้โครงสร้างปล่อยเข็มพิษที่เรียกว่า เซลล์เข็มพิษ (nematocyst) พวกมันจะยิงเข็มพิษออกมาเหมือนลูกดอกเล็กๆเพื่อทำให้เหยื่อสลบ

เมื่อพวกมันลงหลักปักฐานสร้างบ้านแล้ว ดอกไม้ทะเลยักษ์สีเขียวและเพื่อนบ้านอีกมากมายของมันในเขตชายฝั่งจะแสดงให้เห็นถึงการมีอายุยืนยาว ทั้งตัวมันเองและเผ่าพันธุ์ทั้งหมด ในห้องปฏิบัติการดอกไม้ทะเลหลายชนิดมีชีวิตอยู่ได้หลายสิบปีโดยไม่แสดงสัญญาณของความแก่ชราให้เห็น และเชื่อกันว่าบางชนิดที่พบเห็นในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติอาจมีอายุถึง 150 ปีหรือนานกว่านั้น “หากปลอดจากการล่าหรืออุบัติเหตุอื่นๆที่คร่าชีวิตแล้ว ดอกไม้ทะเลอาจเป็นอมตะก็เป็นได้” หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวไว้เช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังกังขาว่า พืชและสัตว์ในเขตชายฝั่งที่มีความสามารถในการปรับตัวเป็นเลิศ จะตอบสนองต่อภัยคุกคามที่พวกมันไม่เคยรู้จักมาก่อนอย่างไร ปัญหาในระดับท้องถิ่นนั้นมีตั้งแต่มลพิษและการทับถมของตะกอนจากน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่ชายฝั่ง ไปจนถึงการเก็บสาหร่ายบางชนิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้แรงกระตุ้นจากความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารจากธรรมชาติ

ทว่าปัญหาที่ใหญ่หลวงกว่านั้นมากคือ ความเป็นกรดของน้ำทะเลซึ่งมีสาเหตุมาจากระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งมอลลัสก์ ครัสเตเชียน และแม้กระทั่งสาหร่ายหินปูนต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้แคลเซียมในการสร้างโครงแข็ง กระบวนการดังกล่าวอาจถูกขัดขวางโดยสภาพความเป็นกรดในน้ำทะเลที่สูงขึ้น อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นก็เป็นภัยคุกคามอีกอย่างหนึ่ง เพราะน้ำอุณหภูมิสูงจะมีออกซิเจนน้อยกว่าน้ำที่เย็น การจัดตั้งเขตสงวนทางทะเลในระดับต่างๆ อาจช่วยป้องกันการจับสัตว์น้ำและการเก็บเกี่ยวทรัพยากรทางน้ำเกินขนาดได้ก็จริง แต่พวกมันก็ไม่ต่างจากท้องทะเลอื่นใดที่ล่อแหลมเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก

มิถุนายน 2554