ผู้เขียน หัวข้อ: พญามังกรจะรักษ์โลกได้จริงหรือ(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1778 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เมืองรื่อเจ้าในมณฑลชานตงคือหนึ่งในหลายร้อยเมืองของจีนที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ความเจริญเติบโต ถนนที่ตัดเข้าเมืองกว้างแปดเลน แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่จอแจนัก แต่ท่าเรือที่สินแร่เหล็กปริมาณมหาศาลเข้าเทียบท่านั้นมีแต่ความพลุกพล่าน และรัฐบาลในกรุงปักกิ่งได้กำหนดให้ท่าเรือแห่งนี้เป็น “หัวสะพานด้านตะวันออกของสะพานเชื่อมทวีปยุโรปกับทวีปเอเชียแห่งใหม่” ป้ายขนาดใหญ่ในเมืองโปรยคำขวัญเชิญชวนให้ประชาชน “สร้างเมืองอันศิวิไลซ์และเป็นชาวเมืองผู้ศิวิไลซ์”

            พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เมืองรื่อเจ้าเป็นสถานที่ประเภทที่สร้างความวิตกกังวลให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็วและความมั่งคั่งใหม่ๆของจีนกำลังทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งสูงขึ้นกว่าที่เป็นมา การเติบโตดังกล่าวทำให้จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นครองตำแหน่งประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลกไปแล้ว

             แต่ในทางกลับกัน  ทุกวันนี้จีนล้ำหน้ากว่าใครๆ เมื่อพูดถึงการติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน กังหันลมของจีนดักลมได้มากที่สุด และโรงงานสัญชาติจีนก็ผลิตเซลล์สุริยะได้มากที่สุดเช่นกัน

            การแข่งขันครั้งยิ่งใหญ่เปิดฉากขึ้นแล้ว เมื่อจีนกำลังเดิมพันว่าจะสามารถหย่าขาดจากถ่านหิน แล้วหันมาสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์และลมได้หรือไม่และเร็วเพียงใด ผลของการแข่งขันครั้งนี้จะชี้ชะตาว่า ภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจนถึงขณะนี้คำตอบยังคงล่องลอยอยู่ในอากาศ

                  คำตอบนั้นล่องลอยอยู่ในอากาศจริงๆ สิ่งหนึ่งที่ผู้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนเมืองจีนจะสัมผัสได้เป็นอันดับแรกๆ คือมลพิษที่ปกคลุมตามเมืองใหญ่ๆ  อย่างไรก็ตาม  ท้องฟ้าเหนือเมืองเหล่านั้นค่อยๆกระจ่างขึ้น อย่างน้อยก็ในมหานครอย่างกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ที่ซึ่งอุตสาหกรรมหนักได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นหรือไม่ก็ถูกย้ายออกไปอยู่นอกเมือง อีกทั้งรัฐบาลยังสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็กๆ และสกปรกที่สุดไปหลายโรง อันที่จริง ปัจจุบันจีนกำลังเป็นผู้นำของโลกในการสร้างสิ่งที่วิศวกรทั้งหลายเรียกว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เผาไหม้ด้วยอุณหภูมิและความดันเหนือจุดวิกฤติ (supercritical power station) ซึ่งปล่อยควันพิษออกมาในปริมาณน้อยกว่าเดิมมาก

            จริงอยู่ที่ว่าโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหินที่มีประสิทธิภาพที่สุดอาจไม่ได้ปล่อยละอองธุลี  ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ปริมาณมากขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ก็ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณมหาศาลอยู่ดี ก๊าซที่ว่านี้มองไม่เห็น ไม่มีกลิ่น และโดยทั่วไปแล้วไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ แต่เจ้านี่แหละคือตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ยิ่งจีนร่ำรวยขึ้นเท่าไร ประเทศนี้ก็ยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเท่านั้น เพราะข้าวของเครื่องใช้ส่วนใหญ่ที่บ่งบอกความมั่งคั่งมักมาพร้อมกับถังน้ำมันหรือไม่ก็ปลั๊กไฟ ทุกวันนี้เมืองไหนๆในประเทศจีนล้วนมีร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ดาษดื่น

            “ผู้คนพากันย้ายเข้าไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่ตกแต่งใหม่ พวกเขาเลยอยากได้ตู้เย็นสวยๆ เครื่องใหม่น่ะครับ” คนขายรายหนึ่งเล่าให้ผมฟัง โดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนในเซี่ยงไฮ้มีเครื่องปรับอากาศหลังละ 1.9 เครื่อง ยังไม่นับคอมพิวเตอร์หลังละ 1.2 เครื่อง ขณะที่กรุงปักกิ่งจดทะเบียนรถยนต์ใหม่เดือนละ 20,000 คัน

            แม้จีนจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำเป็นอันดับแรกๆ แต่หลายฝ่ายรู้ดีว่าเป้าหมายหลักของประเทศคืออะไร หลายสำนักประเมินตรงกันว่าเศรษฐกิจของจีนจำเป็นต้องเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 8 ต่อปีเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางสังคมและช่วยให้การปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ดำเนินต่อไปได้ ถ้าการเติบโตถดถอยลง คนจีนอาจลุกฮือต่อต้าน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงฝากความหวังไว้กับการสร้างงานดีๆออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับประชากรที่ยังคงหลั่งไหลออกมาจากมณฑลที่ยากจนพร้อมกับความหวังถึงความมั่งคั่งในเมือง

            ความจริงข้อหนึ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ   จีนกำลังเติบโตในอัตราที่ไม่เคยมีประเทศใหญ่อื่นใดเคยพานพบมาก่อน  และการเติบโตดังกล่าวก็เปิดโอกาสที่อาจนำไปสู่ความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง เนื่องจากมีการสร้างอาคารและโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ประเทศจีนจึงอยู่ในฐานะที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล่าสุดได้ง่ายกว่าประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตจนเริ่มอิ่มตัว  เราไม่ได้พูดถึงแค่เพียงแผงเซลล์สุริยะและกังหันลมเท่านั้น เมืองใหญ่ของจีนราว 25 เมืองกำลังสร้างหรือขยายทางรถไฟใต้ดิน และทางรถไฟความเร็วสูงก็กำลังกระจายตัวออกไปทุกทิศทุกทาง  แม้การเติบโตทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ต้องใช้เหล็กและปูนซีเมนต์ปริมาณมหาศาล  ซึ่งนั่นหมายถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ไม่ช้าก็เร็วโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้น่าจะช่วยลดปริมาณการปล่อยลงได้

            อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลับถูกบดบังด้วยการเจริญเติบโตอย่างขนานใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงถ่านหิน ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตอันใกล้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนจะยังคงพุ่งทะยานขึ้น ผมได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหลายสิบคน แต่ไม่มีสักคนที่ทำนายว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2030 แล้วจะมีปัจจัยอะไรบ้างหรือไม่ที่จะทำให้สภาพการณ์นั้นมาถึงเร็วขึ้น

            แม้การไปถึงจุดสูงสุดให้ได้ภายในปี 2030 ส่วนหนึ่งยังอาจขึ้นอยู่กับความฉับไวในการนำเทคโนโลยีที่สามารถดึง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากไอเสียของโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน แล้วนำไปฝังกลบไว้ในเหมืองเก่าหรือบ่อใต้ดิน กระนั้นก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะสามารถทำได้ถึงระดับที่ต้องการหรือไม่ เมื่อผมขอให้นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายให้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวลองคาดเดา เขาบอกว่า เมื่อถึงปี 2030 ประเทศจีนอาจฝังก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียงร้อยละ สองของปริมาณที่โรงไฟฟ้าในประเทศปล่อยออกมา

            นั่นหมายความว่า เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันทำนายเกี่ยวกับช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศแล้ว ความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของจีนอาจไม่ทันการที่จะช่วยป้องกันผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้ ซึ่งรวมถึงการหลอมละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย การเพิ่มขึ้นของระดับทะเล และภัยพิบัติอื่นๆที่นักภูมิอากาศวิทยาชาวจีนหวาดวิตกกันมาช้านาน
                ช่างเป็นภาพที่ชวนหดหู่สิ้นหวัง การจะพลิกสถานการณ์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในระดับนานาชาติ ไม่แต่เฉพาะจีนเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือข้อตกลงระหว่างประเทศบางประการที่จะเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจซึ่งพึ่งพาคาร์บอน ขณะนี้ประเทศจีนกำลังก้าวหน้าเรื่องพลังงานสะอาดซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  ทว่าในระหว่างนี้ การเติบโตของจีนจะยังคงพวยพุ่งไปข้างหน้าราวกับเปลวเพลิงที่มีประกายไฟสีเขียว แต่กลับแผดเผาด้วยความร้อนอันน่าพรั่นพรึง

มิถุนายน 2554