ผู้เขียน หัวข้อ: รายงานจากญี่ปุ่น-สึนามิและวิกฤตนิวเคลียร์ (สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2364 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
คลื่นยักษ์ดำทะมึนที่ถาโถมเข้าใส่ชายฝั่งตะวันออกของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงบ่ายอันสดใสของฤดูใบไม้ผลิ หลังผืนธรณีใต้สมุทรเลื่อนลั่นเข้าปะทะกัน  คร่าชีวิตผู้คนไปนับหมื่น  อาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างนับไม่ถ้วนราพณาสูรไปกับสายน้ำ เหลือไว้เพียงซากปรักพังพินท์และความทรงจำอันขมขื่น

แผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ (ต่อมาทางการญี่ปุ่นปรับระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 9.0 ริกเตอร์) เมื่อวันที่  11 มีนาคมที่ผ่านมา มีศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งเมืองเซ็นดะอิ จังหวัดมิยะกิ ไปทางตะวันออก 130 กิโลเมตร ห่างจากกรุงโตเกียว 370 กิโลเมตร ตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิและอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายระลอก นี่คือธรณีพิบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น  และราวกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะดะอีชิ ส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นต้องสั่งอพยพผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า จนกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ 

ภาพโศกนาฏกรรมที่ปรากฏแก่สายตาผ่านสื่อทุกแขนงตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือน  ทำให้อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพอิสระจากไทย ตัดสินใจเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและมุมมองเชิงสารคดี เขาจำเป็นต้องวางมือจากงานที่ทำอยู่ชั่วคราว และขายทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อเป็นทุนสำหรับการเดินทาง อาทิตย์มีโอกาสไปเยือนทุกเมืองที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ ไม่เว้นแม้กระทั่งเมืองและเขตหวงห้ามที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะดะอีชิ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนช่างภาพในญี่ปุ่น ทันทีที่ได้เห็นภาพความเสียหายด้วยตาตัวเอง เขาบอกว่า แม้จะไม่อยากเปรียบเทียบ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหายนะที่ญี่ปุ่นนับว่ารุนแรงกว่าเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยในประเทศไทยย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2547 หลายเท่านัก

“ที่เมืองริกุเซ็นตะกะตะซึ่งเป็นเมืองที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ผมเดินขึ้นไปบนชั้นสี่ของอาคารที่ยังเหลืออยู่หลังเดียวริมหาด มองลงมารอบตัว ไม่เหลืออะไรเลย ไม่เหลือจริงๆ ถ้าไม่มีใครบอกผมว่าเป็นเพราะสึนามิ ผมคงคิดว่าต้องเป็นระเบิดแน่ๆครับ” เขาเล่า ทว่าแผ่นดินไหวและสึนามิในครั้งนี้ยังสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะดะอีชิ  ในจังหวัดฟุกุชิมะ จนเกิดการระเบิดขึ้นหลายครั้งและมีรังสีรั่วไหล ทางการญี่ปุ่นต้องสั่งอพยพผู้คนในเมืองใกล้เคียงที่อยู่ในรัศมีรอบโรงไฟฟ้าทันที เหตุการณ์นี้สร้างความโกลาหลอลหม่านให้ญี่ปุ่นจนทั้งประเทศตกอยู่ในความพรั่นพรึงจากมหันตภัยเงียบอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

แต่ขณะที่ชาวเมืองหลบรี้หนีย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงอย่างเร่งด่วน อธิษฐ์และเพื่อนช่างภาพชาวญี่ปุ่นกลับเดินทางเข้าไปบันทึกภาพในเขตอพยพดังกล่าว “ตอนนั้นพวกผมไม่ได้ใส่เครื่องป้องกันเลยครับ นอกจากผ้าปิดปากผืนเดียว เพราะคิดว่าคงไม่เป็นอะไร ระหว่างที่เราขับรถเข้าสู่เขตอพยพ ผมสังเกตว่า ยิ่งเข้าใกล้เขตอพยพเท่าไร ผู้คนยิ่งบางตาลงทุกที  นานๆ ครั้งจะมีรถสวนเรามาสักคัน และพอไปถึงเขตอพยพ แทบทั้งเมืองก็ไม่มีใครเหลือเลย”

ราวกับว่าชีวิตมนุษย์กลายเป็นเถ้าธุลีปลิวหายไปสายลม หลักฐานที่บ่งบอกถึงความตื่นตระหนกปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากข้าวของที่ชาวเมืองทิ้งไว้ “ทุกเมืองร้างหมด อย่างเมืองฟุตะบะ ผมไปเจอโรงพยาบาลร้าง เครื่องเอกซเรย์ยังทำงานอยู่ แอร์ยังเย็นฉ่ำ พอไปถึงโรงยิมที่เคยเป็นศูนย์อพยพ ผมจินตนาการได้เลยว่า ที่นี่คงได้รับคำสั่งให้เก็บของแล้วไปทันที เพราะข้าวของกระจัดกระจาย ร้านอาหารบางร้าน  เห็ดยังวางอยู่ในถ้วย  มีดยังวางบนเขียง  ตู้เครื่องดื่มและสินค้าหยอดเหรียญใช้การได้หมด ไฟเขียวไฟแดงและไฟตามท้องถนนยังทำงานเมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้

“ความรู้สึกแรกของผมคือหลอนมาก  ผมนึกถึงหนังประเภทซอมบี้เมืองร้าง เหมือนกับว่าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาแล้วคนทั้งเมืองหายไปกันหมด” เขาเล่า         
                แม้จะพอรู้มาบ้างถึงอันตรายจากกัมมันตภาพรังสี แต่อธิษฐ์ยังคงเลือกเดินหน้าเข้าไปหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อถ่ายภาพที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้เห็น “การปลอมตัว” อย่างไม่จงใจด้วยการสวมใส่ชุดป้องกันรังสีคงทำให้เขาดูคล้ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไปโดยปริยาย เขาจึงสามารถเข้าสู่เขตโรงไฟฟ้าได้อย่างไม่ยากเย็นนัก “นั่นคือที่สุดของผมแล้วครับ หนึ่งกิโลเมตรก่อนถึงโรงไฟฟ้า ติดรั้วเลย  ในที่สุดผมก็มาถึงจนได้”       
                ตลอดระยะเวลา 25 วันบนแผ่นดินซากุระให้บทเรียนแก่เขามากมาย อธิษฐ์ได้เห็นญี่ปุ่นในภาวะวิกฤติ   ได้ร่วมงานกับสหายชาวอาทิตย์อุทัย  มีโอกาสได้เข้าร่วมและเฝ้ามองธรรมเนียมปฏิบัติอันเรียบง่ายงดงาม สัมผัสความมีระเบียบวินัยและจิตวิญญาณอันลุ่มลึกของชาวญี่ปุ่น “สำหรับผมแล้ว ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเจริญทางจิตใจมากครับ ทรัพยากรที่ดีที่สุดของญี่ปุ่นก็คือคน  ในวิกฤตินี้เราไม่เห็นขโมย ไม่เห็นการจลาจล ไม่มีการปล้นสะดม พวกเขาไม่ฟูมฟาย ไม่กระโตกกระตาก ไม่ท้อแท้ ทุกคนมีสติเหมือนมั่นใจอะไรบางอย่าง” เขาเล่า

มิถุนายน 2554