ผู้เขียน หัวข้อ: รำลึก 25 ปี เชียร์โนบิล(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2023 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เชียร์โนบิลคือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์สมัยอดีตสหภาพโซเวียต ปัจจุบันอยู่ใกล้กับเมืองปรีเปียตในสาธารณรัฐยูเครน และห่างจากเคียฟซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศราว 120 กิโลเมตร หลังโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน ชีวิตของผู้คนที่นั่นไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกเลย

อุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งนั้นมีความรุนแรงระดับ 7 ซึ่งถือว่าสูงสุดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์  โดยมีผู้เสียชีวิต 31 คนจากการระเบิดและการรับพิษกัมมันตรังสี แต่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ (International Atomic Energy Agency; IAEA) และองค์การอนามัยโลกประเมินว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดหลายแสนคน โดยคาดว่าผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการสัมผัสกัมมันตภาพรังสีอาจสูงถึง 4,000 คน ทำให้พื้นที่กว่า 142,000 ตารางกิโลเมตรทางเหนือของยูเครน ทางใต้ของเบลารุส และบางส่วนของรัสเซีย ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี  จนต้องอพยพผู้คนกว่า 300,000 คนอย่างเร่งด่วน นับเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของโลก (อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะดะอีชิของญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทีระดับความรุนแรงใกล้เคียงกัน แม้โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะจะปล่อยกัมมันตรังสีสู่บรรยากาศน้อยกว่าเชียร์โนบิลประมาณสิบเท่า แต่กลับมีปริมาณสารกัมมันตรังสีสูงกว่าที่เชียร์โนบิลถึงแปดเท่า

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยูเครนต้องทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ การกำจัดมลพิษ และค่าชดเชยแก่ผู้ประสบภัย รวมทั้งการสูญเสียรายได้จากโรงไฟฟ้า สำหรับประชาชนทั่วไป ปัญหาไม่ได้มีเฉพาะเรื่องสุขภาพจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างมะเร็งต่อมไทรอยด์และโรคอื่นๆ แต่ยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิตจากสาเหตุต่างๆ เช่น การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ การถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากชาวเมืองใหม่ ปัญหาการเงิน ความหวาดวิตกว่าจะมีลูกหลานพิกลพิการ จนทำให้เกิดพฤติกรรมสุดเหวี่ยง เช่น ดื่มจัดและสำส่อนทางเพศแบบไร้การป้องกัน เป็นต้น ขณะที่คนอีกไม่น้อยต้องเผชิญปัญหาจากการดำรงชีวิตบนผืนแผ่นดินที่ปนเปื้อน ซึ่งทุกวันนี้สถานการณ์ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น

แม้อีกไม่นานธาตุกัมมันตรังสีจะสลายตัวถึงจุดครึ่งชีวิต ซึ่งหมายถึงจุดที่สารกัมมันตรังสีจะหมดอันตราย แม้อีกไม่นาน ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงของผู้คนจะเลือนจาง แต่ไม่มีใครรับรองได้ว่าเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก...ในมุมอื่นใดของโลก

ย้อนรอยเหตุการณ์

กลางดึกของคืนวันที่ 26 เมษายน ปี 1986 ขณะที่มีการทดสอบการทำงานของระบบหล่อเย็นและระบบทำความเย็นฉุกเฉินของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่นั้น ได้เกิดแรงดันไอน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน ส่งผลให้ความร้อนพุ่งสูงจนแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หน่วยที่ 4 หลอมละลายและระเบิดขึ้นก่อนสว่าง แรงระเบิดส่งฝุ่นและเถ้ากัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลขึ้นสู่บรรยากาศ

เช้าวันนั้น ผู้คนในเมืองปรีเปียตดำเนินชีวิตเหมือนทุกวัน พนักงานโรงไฟฟ้าไปทำงานตามปกติ นักเรียนไปโรงเรียน แต่ได้รับคำสั่งให้อยู่แต่ในห้องและเลิกเรียนแล้วให้กลับบ้านทันที ห้ามออกไปเล่นข้างนอก เจ้าหน้าที่แจกยาเม็ดไอโอดีน ซึ่งเป็นยาป้องกันธาตุกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ชาวเมืองจิบวอดก้าเพราะเชื่อว่าป้องกันกัมมันตภาพรังสีได้

วันรุ่งขึ้น ทางการประกาศให้ทุกคนอพยพออกจากเมืองอย่างเร่งด่วนโดยเก็บเฉพาะของจำเป็นสำหรับการอพยพไม่กี่วัน รถเมล์ 1,100 คันจากยูเครนเข้ามารับประชากรราว 50,000 คนออกจากปรีเปียต บางคนมีเพียงบัตรประชาชน แว่นตา และกุญแจบ้านเท่านั้น เสื้อผ้ายังคงแขวนอยู่บนราวตากผ้า ม้าหมุนและชิงช้าสวรรค์ว่างเปล่าอยู่ท่ามกลางสายลม และพอถึงเวลาประมาณ 17.00 น. เมืองก็กลายเป็นเมืองร้าง

ในช่วงเวลานั้น กลุ่มเมฆที่มีสารกัมมันตรังสีถูกลมพัดไปทางเหนือ ส่งผลให้กัมมันตภาพรังสีร้อยละ 70 ลอยเข้าไปในเบลารุส ทำให้พื้นที่เกือบหนึ่งในสี่ของประเทศได้รับการปนเปื้อน แต่รัฐบาลโซเวียตไม่ยอมแจ้งให้เบลารุสทราบ อันที่จริง เครื่องตรวจจับรังสีของสวีเดนซึ่งอยู่ห่างออกไปร่วมพันกิโลเมตร เป็นผู้บอกข่าวร้ายให้โลกรู้ รัฐบาลโซเวียตยอมรับว่าเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชียร์โนบิลสองวันหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยยังคงพยายามปิดบังระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ จากนั้น ผู้ปฏิบัติการเคลียร์พื้นที่หลายพันคนช่วยกันดับไฟด้วยการเทตะกั่ว ทราย ดินเหนียว และวัสดุอื่นๆกว่า 4,500 ตันลงไป และใช้เวลาสิบวันจึงดับไฟจากเครื่องปฏิกรณ์ได้ ก่อนจะเร่งสร้างโกดังหินขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมกากกัมมันตรังสีรวมทั้งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ 180 ตันไว้ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม กว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชียร์โนบิลจะปิดตัวอย่างสิ้นเชิงก็ล่วงเข้าเดือนธันวาคม 2000 ภายหลังการเจรจาระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อและยาวนาน

เชียร์โนบิลวันนี้

พื้นที่ทางตอนใต้ของเบลารุสมีการทำความสะอาดโรงเรียนและอาคารสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ ธาตุกัมมันตรังสีจากเชียร์โนบิล เช่น ซีเซียม 137 และสตรอนเชียม 90 สามารถตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้หลายสิบปี จึงมีการปรับปรุงดินด้วยการเติมปูนขาวในดินที่ปนเปื้อนเพื่อจำกัดการดูดซึมสตรอนเชียมของพืช และเติมโพแทสเซียมลงในพื้นที่เกษตรเพื่อสกัดกั้นธาตุซีเซียม ตลอดจนมีการออกระเบียบว่าด้วยการเลือกชนิดของดินให้เหมาะกับการปลูกพืช เช่น มันฝรั่งปลูกได้ในดินพรุ แต่พืชผลส่วนใหญ่ให้ปลูกในดินโคลนที่สามารถสกัดกั้นธาตุกัมมันตรังสีได้ ส่วนพื้นที่อีก 2,000 ตารางกิโลเมตรในเบลารุส และอีก 5,172 ตารางกิโลเมตรในยูเครนที่ยังคงมีการปนเปื้อนสูงสุด ยังเป็นเขตหวงห้ามที่ไม่มีการเพาะปลูกใดๆ แม้ในบริเวณรกร้างนี้จะเต็มไปด้วยพืชและสัตว์ที่มีลักษณะผิดปกติเนื่องจากสารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อน แต่ชีวิตที่กลับคืนมาอีกครั้งคือข้อพิสูจน์ที่น่าทึ่งว่า ธรรมชาติสามารถเอาชนะอานุภาพกัมมันตรังสีและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

                พนักงานโรงไฟฟ้าผลัดกันเข้าทำงานในโกดังหินที่เริ่มเสื่อมสภาพ เพื่อรักษาโกดังอันทรุดโทรมไว้ก่อนที่โครงสร้างเคลื่อนที่หลังใหม่ซึ่งมีชื่อว่า “นิวเซฟคอนไฟน์เมนต์” (New Safe Confinement) จะแล้วเสร็จในปี 2013 การเข้าไปในโกดังหินจะต้องพกมาตรวัดปริมาณรังสี สวมชุดพลาสติกและหน้ากากป้องกัน โดยเข้าไปได้ครั้งละ 15 นาทีในแต่ละวันเท่านั้น

แม้ทางการจะประกาศว่าการอพยพอาจกินเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่จนถึงบัดนี้อาณาบริเวณในรัศมี 30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าก็ยังคงเป็นเขตหวงห้าม อย่างไรก็ตาม มีชาวเมืองที่ถูกบังคับให้อพยพจำนวนหนึ่งลักลอบกลับไปใช้ชีวิตในบ้านซึ่งไม่มีน้ำประปา ไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทุกวันนี้ ทางการยอมผ่อนผันโดยจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการทางการแพทย์สำหรับการดำรงชีวิตของประชากรเถื่อนราว 400 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเหล่านี้

ปรีเปียตในวันนี้ยังคงเป็นหมู่บ้านที่นาฬิกาเหมือนจะหยุดเดินเมื่อ 25 ปีก่อน บรรยากาศในเมืองวังเวงว่างเปล่า เสื้อผ้าปลิวไสวบนราวตากผ้า ตุ๊กตานอนรอเจ้าของอยู่ที่พื้นห้อง โรงเรียนและศูนย์กีฬาครบวงจรพร้อมสระว่ายน้ำแห้งเหือดและเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง กระเช้าสีเหลืองของชิงช้าสวรรค์สนิมเขรอะส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดในสายลม ตะไคร่น้ำเติบโตอยู่ตามรอยแยก แม้ฝนจะชะล้างผิวหน้าต่างๆ แต่หลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกหนึ่งชั่วคนกว่าจะกลับมามีชีวิตชีวาดุจเดิม แต่อีกหลายคนไม่มีโอกาสได้กลับมา

มิถุนายน 2554