ผู้เขียน หัวข้อ: จะแก้ปัญหาสาธารณสุขอย่างไร?  (อ่าน 2008 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
จะแก้ปัญหาสาธารณสุขอย่างไร?
« เมื่อ: 05 มิถุนายน 2011, 21:47:20 »
จะแก้ปัญหาสาธารณสุขอย่างไร?

  ปัญหาในระบบสาธารณสุข มีปัญหาสำคัญที่สมควรจะได้รับการแก้ไขด่วนอยู่ 2 ปัญหาคือ
1.กระทรวงสาธารณสุขขาดเอกภาพในการทำงาน
2.ระบบประกันสุขภาพที่ไม่เป็นเอกภาพและไม่ได้มาตรฐาน

จะได้กล่าวถึงรายละเอียดและการแก้ปัญหาใหญ่ทั้ง 2 ปัญหาดังต่อไปนี้
1.กระทรวงสาธารณสุขขาดเอกภาพในการทำงาน
1.1 กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถของบประมาณ วางแผนงานได้เอง
เนื่องจากงบประมาณต้องคอยรับจากสปสช. และสปสช.จะกำหนดโครงการต่างๆอีก ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถบริหารจัดการด้านการเงินและการทำงานได้
การแก้ไข ต้องรวมสช. สปสช. สสส. สรพ. และอื่นๆ เข้ามาเป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนแปลงระบบการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว
ต้องแก้ไขการจัดสรรงบประมาณดังนี้
 1.1.1 งบประมาณสำหรับดำเนินการก่อสร้าง พัฒนา ซ่อมแซม และจัดหาอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี
 1.1.2 งบประมาณสำหรับเงินเดือน ค่าตอบแทน การทำงานปกติ และงานนอกเวลาราชการของบุคลากรทุกระดับ
 1.1.3 งบประมาณสำหรับวัสดุ ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ของแต่ละหน่วยงาน
 1.1.4 งบประมาณสำหรับการดำเนินงานในแต่ละแผนงานของแต่ละกรมกอง หรือหน่วยงาน
1.2 กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดสรรอัตรากำลังและเงินค่าตอบแทนได้เอง
   เนื่องจากต้องอาศัยก.พ.เป็นผู้กำหนดตำแหน่งและอัตรากำลัง และ “ไม่เพิ่มอัตรากำลัง” ทั้งๆที่ภาระงานในการดูแลรักษาประชาชนที่มีจำนวนมากขึ้น เจ็บป่วยมากขึ้น มีสิทธิรับการรักษามากขึ้น ในขณะที่บุคลากรลาอออกมากขึ้น
การแก้ไข ต้องแยกการบริหารบุคคลของกระทรวงสาธารณสุขออกจากก.พ.เพื่อจัดอัตรากำลังให้เหมาะกับภาระงาน และแก้ไขอัตราค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับความรับผิดชอบในการทำงานที่มีคุณภาพสูง (คือรับผิดชอบชีวิต)  เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บุคลากรยังคงทำงานเพื่อประชาชนอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ตามรายละเอียดดังนี้คือ
1.2.1 การจัดอัตรากำลังและค่าตอบแทน โดยการจัดสรรอัตรากำลังตามภาระงาน และตามกลุ่มความเชี่ยวชาญ เพื่อให้มีแพทย์หมุนเวียนช่วยกันทำงานในสาขาเดียวกันได้
1.2.2 การจัดสรรอัตรากำลังของพยาบาลให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับภาระให้การพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพยาบาลที่มีมาตรฐาน
1.2.3 การจัดสรรอัตรากำลังของบุคลากรทั้งสายวิชาชีพและกลุ่มสนับสนุนบริการ ให้เหมาะสมตามภาระงานที่แท้จริง ไม่ใช่ขาดแคลนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
1.3  กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถควบคุมคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุขได้เอง ทั้งนี้เนื่องจากโรงพยาบาลขาดเงินงบประมาณ ทำให้ขาดแคลน เตียง อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ฯลฯ และขาดแคลนบุคลากรด้วย
การแก้ไข 1.3.1 จัดระบบการบริการสาธารณสุขใหม่  เพิ่มมาตรการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันอุบัติเหตุและความเจ็บป่วย และจัดระเบียบการบริการตามลำดับจาก บริการปฐมภูมิ ไปยังทุติยภูมิและ ตติยภูมิ โดยจัดระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ
ให้สำนักงานรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.).เป็นหน่วยหนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาลอย่างแท้จริง มิใช่ผักชีโรยหน้าอย่างปัจจุบัน
1.3.2 พัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานสาธารณสุข โดยการจัดมาตรฐานระดับการบริการระหว่างโรงพยาบาลดังนี้คือ
  -ให้โรงพยาบาลชุมชน เป็นโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ ให้มีแพทย์ประจำอย่างน้อย 3 คน จะได้อยู่เวรกลางคืน 1 เว้น 2 วัน ในขณะที่ต้องทำงานกลางวันด้วย และจัดให้มีรถพยาบาลเพื่อส่งผู้ป่วยต่อระหว่างโรงพยาบาล
-ให้โรงพยาบาลทั่วไป มีแพทย์ประจำโรงพยาบาลทุกกลุ่มเชี่ยวชาญอย่างน้อยกลุ่มละ 3 คน จัดให้มีรถพยาบาลประจำแต่ละโรงพยาบาล เพื่อให้การขนส่งผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลรวดเร็วและปลอดภัย
-โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ไม่ควรเรียกห้วนๆว่าโรงพยาบาลศูนย์ ทำให้ลืมความหมายที่แท้จริงของโรงพยาบาลระดับนี้ ที่ต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพเฉพาะ ที่เรียกว่า “อภิสาขา” ไม่ใช่ “อนุสาขา” เนื่องจากเป็นสาขาที่ “ต่อยอดจากสาขาทั่วไป”  และต้องจัดสรรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในอภิสาขานั้นๆ สาขาละอย่างน้อย 3 คน เพื่อผลัดเปลี่ยนกันรับภาระงานกลางคืนได้ (อยู่เวร 1 คืนเว้น 2 คืน โดยที่กลางวันก็ต้องทำงานด้วย)
 - การกำกับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งภาครัฐและเอกชน โรงพยาบาลควรมีแพทย์ประจำทำงาน ไม่ใช่เรียกว่าเป็นโรงพยาบาล แต่ไม่มีบุคลากรที่จำเป็น และขาดอุปกรณ์การแพทย์ที่เหมาะสม ดังที่เป็นอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลตำบลในขณะนี้
1.4. ประชาชนเจ็บป่วยมากขึ้นและใช้บริการการรักษาพยาบาลมากขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพของตนเองและครอบครัว
การแก้ไข ส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการสร้างสุขภาพและป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อลดอัตราการป่วย และกำหนดให้ประชาชนทั่วไปต้องร่วมจ่ายเงินในการไปรับการรักษาพยาบาลด้วย ยกเว้นผู้พิการ ยากจน ทหารผ่านศึก และเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของการรักษา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพให้เป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ
1.5.กระทรวงสาธารณสุขยังขาดงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
  การแก้ไข  จัดงบประมาณและกิจกรรมเพื่องานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  โดยฟื้นฟูงานสุขศึกษาเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พัฒนาอสม.ให้มีความรู้และความสามารถในการถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชนในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และส่งเสริมการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับเด็กและประชาชนทั่วไป เป็นการให้ฟรี เพราะการให้วัคซีน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าค่ารักษาโรคแน่นอน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
2. ปัญหาระบบการประกันสุขภาพที่ไม่มีเอกภาพ และไม่มีมาตรฐาน ปัจจุบันในประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพ 3 ระบบคือ
2.1 ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 หรือเรียกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นระบบที่อวดอ้างว่าเป็น “การประกันสุขภาพถ้วนหน้า” แต่ที่จริงแล้ว ให้การประกันสุขภาพแก่ประชาชนเพียง 48 ล้านคน ในจำนวนประชาชนไทยทั้งสิ้น 65 ล้านคน และอวดอ้างว่ารักษาทุกโรค แต่สปสช.ก็ยังโฆษณาว่า “เพิ่มสิทธิประโยชน์” ในการรักษาโรคบางอย่างเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงว่า ไม่ได้รักษา “ทุกโรค” ดังที่กล่าวอ้าง
2.2 ระบบประกันสังคม ให้การประกันสุขภาพในแบบที่ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล ร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อจะได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่ไม่ครอบคลุมทุกโรค
2.3 ระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลแก่ข้าราชการและครอบครัว เป็นการให้บริการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน จ่ายค่ารักษาแทนข้าราชการ ในขณะที่ข้าราชการก็มีส่วน “จ่ายเงิน” ร่วมจากการได้รับเงินเดือนต่ำกว่าภาคเอกชน (ถูกลดค่าจ้าง)
นอกจากนั้นก็อาจจะมีการประกันโดยความสมัครใจในภาคเอกชนอีกบางส่วน
  ซึ่งการประกันสุขภาพใน 3 ระบบนี้ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนส่วนใหญ่ดังนี้คือ
2.1 ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รับรักษาประชาชนเพียง 48 ล้านคน โดยมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นผู้บริหารงาน โดยได้รับงบประมาณแผ่นดินเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัวในการรักษาประชาชน แต่การโฆษณาชวนเชื่อของสปสช.ที่ไม่เป็นความจริงหลายอย่างเช่น “รักษาทุกโรค” หรือ “ประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ก็ไม่เป็นความจริง กล่าวคือ สปสช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาเพิ่มได้ทุกปี (แสดงว่า ไม่รักษาทุกโรคตั้งแต่ต้น)  หรือบอกว่าประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ไม่”ถ้วนหน้าจริง” กล่าวคือรักษาประชาชนแค่ 48 ล้านคน ไม่”ถ้วน” ทั่วทุกคน และให้สิทธิ์การรักษาแก่ประชาชน 48 ล้านคนทั้งจนและไม่จน ซึ่งทำให้ต้องจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินมากเกินไปแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ในการรักษาประชาชน และจะทำให้มีภาระการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกมาก ถ้าจะให้โรงพยาบาลทำการรักษาประชาชนอย่างมีมาตรฐาน
แต่การโฆษณาชวนเชื่อของสปสช.ทำให้ประชาชนมา “ทวงสิทธิ์” การรักษาตามคำโฆษณา ในขณะที่โรงพยาบาลได้รับงบประมาณไม่สมดุลกับค่าใช้จ่ายในการรักษาประชาชนที่เกิดขึ้นจริง ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานการแพทย์ได้ ประชาชนเสี่ยงอันตราย และกล่าวหาโรงพยาบาลที่ให้การรักษามากขึ้น   
ในขณะเดียวกันกับที่สปสช.ส่งเงินให้โรงพยาบาลไม่ครบตามงบเหมาจ่ายรายหัว แต่สปสช.กลับนำเงินที่ควรจะส่งมอบให้โรงพยาบาลเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัว ไปทำโครงการอื่นๆ แล้วใช้เงินงบประมาณนี้ มาใช้จ่ายตามโครงการที่สปสช.คิดขึ้นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแต่สปสช.ก็ดำเนินการเช่นนี้มาทุกปี
2.2 ระบบประกันสังคม โดยกองทุนประกันสังคมจ่ายงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้โรงพยาบาล แต่จำกัดขอบเขตในการรักษา ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในเมื่อเกิดปัญหาเจ็บป่วยบางโรค และการจ่ายเงินเหมาจ่ายล่วงหน้า อาจทำให้โรงพยาบาลบางแห่ง ไม่ให้การรักษาอย่างเต็มที่ เช่น ไม่ส่งผู้ป่วยอาการหนักไปรักษายังโรงพยาบาลเฉพาะทาง เนื่องจากจะต้องตามไปจ่ายเงินให้โรงพยาบาลที่ส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อ หรือ เมื่อต้องรักษาต่อเนื่องหลังการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับความสะดวกในการต้องย้ายโรงพยาบาลไปรักษาตามสิทธิ์ที่ลงทะเบียนไว้ และยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกมากมาย
2.3 ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นระบบที่ผู้ได้รับสิทธิในการรักษาจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดีมีมาตรฐาน เนื่องจากแพทย์ผู้รักษาสามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งการรักษาและสั่งยาได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่มีข้อจำกัดในการสั่งยาและการรักษา แต่กรมบัญชีกลางเริ่มมองเห็นว่า ค่าใช้จ่ายในระบบการรักษาข้าราชการเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้กรมบัญชีกลางออกระเบียบจำกัดการใช้ยา และจำกัดการรักษาและสิทธิประโยชน์มากขึ้น มีการกล่าวหาว่าข้าราชการหรือแพทย์ทุจริตในการเบิกยา จนถึงกับกำหนดการเบิกจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยใน(นอนในโรงพยาบาล) แบบสปสช.ทำให้โรงพยาบาลมีตัวเลขการขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
  ฉะนั้น ต้องแก้ไขทบทวนการประกันสุขภาพ ทั้ง 3 ระบบว่า จะต้องแก้ไขระบบทั้ง 3 นี้อย่างไร เพื่อช่วยให้การเงินของโรงพยาบาลไม่ติดลบ โดยทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐาน และได้รับความปลอดภัยดี  โดยที่ไม่เป็นภาระแก่งบประมาณแผ่นดินมากเกินไป โดยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพ และเกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน และให้โรงพยาบาลได้รับการพัฒนาให้ดีมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง และประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
       พรรคการเมืองไหนมีนโยบายเช่นนี้บ้าง? จะได้เลือกเข้ามาบริหารบ้านเมืองและแก้ไขปัญหาในระบบ บริการสาธารณสุขต่อไปเพื่อให้ “สาธารณชน”ชาวไทย มีความสุขถ้วนหน้าโดยทั่วทุกคน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.
2 มิ.ย.54.