ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เพิกถอนยาลดความดันโลหิต2ชนิด(พาริล 5 และพาริล 20)  (อ่าน 1949 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
กระทรวงสาธารณสุข เพิกถอนทะเบียนตำรับยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ คือ ยาพาริล 5 และพาริล 20

กระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพิกถอนทะเบียนตำรับยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ คือ ยาพาริล 5 และพาริล 20   เนื่องจากคุณภาพยาตกเกณฑ์มาตรฐาน   มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 เป็นต้นมา   หากพบยังมีในท้องตลาด จัดเข้าข่ายยาปลอม มีโทษจำคุก 2-5ปี ปรับไม่เกิน 4,000-20,000 บาท   

วันนี้(5 มิถุนายน 2554)นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ 2 ตัว คือยาพาริล 5 ( Paril 5) เลขทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1 C 173/51   และยาพาริล 20 ( Paril 20) เลขทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1 C 174/51 เนื่องจากผลการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพยาโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบว่า ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ มีปริมาณตัวยาสำคัญคือ อีนาลาพริล มาลีเอท ( Enalapril maleate ) ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เกินกว่าร้อยละยี่สิบ เข้าข่ายเป็นยาปลอมตามมาตรา 73 (5) แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จึงประกาศเพิกถอนทะเบียน ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือ นำเข้ามาในประเทศ ทั้งนี้เพื่อปกป้องคนไทยให้ได้รับยาที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย   มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 เป็นต้นไป

นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ทำการตรวจสอบการนำเข้ายาที่ ด่านอาหารและยาท่าเรือกรุงเทพ และเก็บตัวอย่างยาพาริล 5 รุ่นการผลิตที่ที 0201( T 0201) ผลิตจากบริษัทยาในประเทศอินเดียนำเข้าโดยบริษัทที่ได้รับอนุญาตคือ แอตแลนต้า เมดิคแคร์ จำกัดเลขที่ 99/28-30 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีปริมาณตัวยาอีนาลาพริล มาลีเอท ซึ่งเป็นตัวยาสำคัญในยาดังกล่าว อยู่ในปริมาณร้อยละ 51.3 ของปริมาณที่แจ้งในฉลาก ซึ่งต่ำกว่าปริมาณมาตรฐานที่อ้างอิงไว้ในทะเบียนตำรับยาคือร้อยละ 90 -110 และยังมีสารประกอบอื่นๆ( Related compounds) ผิดมาตรฐาน   

นอกจากนี้ยังตรวจพบอีกว่ายาพาริล 20 รุ่นการผลิตที่ ที 0302 ( T0302 ) ผลิตจากบริษัทในประเทศอินเดียและนำเข้าโดยบริษัทเดียวกัน   คุณภาพยาไม่เป็นไปไปตามมาตรฐาน กล่าวคือผลการตรวจวิเคราะห์พบว่ามีปริมาณตัวยาสำคัญคือ อีนาลาพริล มาลีเอท เพียงร้อยละ 53.8 ของประมาณที่แจ้งไว้บนฉลากยา คือร้อยละ 90-110 จัดเข้าข่ายเป็นยาตกมาตรฐาน นอกจากจะทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยอีกด้วย

นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ทำหนังสือการเพิกถอนทะเบียนยาทั้ง 2   ตำรับ แจ้งไปยังบริษัทผู้นำเข้ายา ให้เก็บยาออกจากท้องตลาดทั้งหมด และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้ตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หากพบมีร้านขายยาใดจำหน่าย จะจัดเข้าข่ายขายยาปลอม ให้ดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-10,000บาท

กรุงเทพธุรกิจ
5 มิถุนายน 2554