ผู้เขียน หัวข้อ: กรมบัญชีกลางปรับเกณฑ์เบิกจ่ายยาสมุนไพรอีก 2 รายการ  (อ่าน 2101 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
กรมบัญชีกลาง ปรับเกณฑ์เบิกจ่ายค่ายาสมุนไพร 2 รายการ “ยาผลิตเองใน รพ.-ยาปรุงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย” อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย เชื่อ ช่วยสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรไทยใน รพศ.รพท.พุ่ง 10%
       
       วันนี้ (30 พ.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ.ว่า กรมบัญชีกลางได้มีการออกระเบียบเรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยวิธีการทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยวิธีการทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพิ่มจากเดิมที่ให้เบิกจ่ายได้เฉพาะยาที่ใช้บำบัดโรค 2 รายการ คือ 1.รายการยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2.รายการที่เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ มาเป็นการอนุมัติให้เบิกจ่ายได้ในอีก 2 รายการที่ประกาศเพิ่ม คือ 1.รายการยาที่อยู่ในเภสัชตำรับโรงพยาบาล หมายถึงยาสมุนไพรที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งผลิตเอง ในส่วนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้เป็นไปตามการสั่งใช้ยาของแพทย์แผนปัจจุบันที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแพทย์แผนไทยผู้มีใบประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทเวชกรรมแผนไทย หรือสาขาการแพทย์แผนไทย 2.รายการยาที่ปรุงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายให้เป็นไปตามการสั่งใช้ยาของแพทย์ แผนไทยผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทเวชกรรมแผนไทยหรือสาขาการ แพทย์แผนไทยประยุกต์ ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554

       “โดยในวันนี้ที่ประชุมได้รับทราบและได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข แจ้งให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว
       
       ด้านพญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว น่าจะทำให้อัตราการใช้ยาแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 5 ในปี 2554 ในส่วนของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ/รพท.) และน่าจะมีการใช้อยู่ที่ร้อยละ 10 ในโรงพยาบาลชุมชน จากเดิมที่ใช้แค่ร่อยละ 3 ในปี 2553 และคาดว่าหากมีการเบิกจ่ายยาแผนไทยเพิ่มขึ้นก็จะช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลแบบแพทย์แผนปัจจุบันด้วย เนื่องจากยาแผนไทยมีราคาที่ถูกกว่า เนื่องจากปัจจุบันยาแผนไทยได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ยารักษาข้อเข่าจากเถาวัลย์เปรียง
       
       “สำหรับการเบิกจ่ายยานั้น ขอย้ำว่า ต้องมีการสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบประกอบโรคศิลปแล้วเท่านั้น และเบิกจ่ายได้ในส่วนของยารักษาโรคที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น ไม่สามารถเบิกจ่ายในส่วนของความสวย ความงาม ซึ่งทางกรมบัญชีกลางได้แจ้งเป็นหนังสือเวียนตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2554 เป็นหนังสือเลขที่ กค.0422.2/ว33” พญ.วิลาวัณย์ กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 พฤษภาคม 2554