ผู้เขียน หัวข้อ: ขีดเส้นใต้ “ประชานิยม” ไม่ใช่ สาระ เสียงสะท้อนนโยบายด้านสาธารณสุข  (อ่าน 1624 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 “ประชานิยม” แนวคิดพื้นฐานการหาเสียงของพรรคการเมืองที่กำลังมีการแข่งขันอย่างร้อนระอุ ความขาดแคลนทางวัตถุ ความเจริญ เงินทอง ความสะดวกสบาย และความมั่นคงทางการใช้ชีวิตกลับกลายมาเป็นประเด็นแต่ละพรรคงัดเอามากำหนดนโยบายเพื่อเปิดทางให้ตัวเอง ได้ก้าวมานั่งเก้าอี้ผู้บริหารประเทศ แต่เมื่อมองเฉพาะนโยบายด้านสาธารณสุข (สธ.) และสุขภาพ ซึ่งพรรคการเมืองยังมีการกล่าวถึงน้อย แม้ว่าความจริงจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการใช้ชีวิตที่มีสุขก็ตาม

 “การจะกำหนดนโยบายพรรคให้หลุดพ้นจากประชานิยมนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะนักการเมืองเชื่อว่า จะทำอะไรก็ตามต้องตามใจคนส่วนใหญ่ แน่นอนว่าแนวคิดดังกล่าวใช้ได้กับนโยบายด้านอื่น แต่จะใช้ประชานิยมอย่างเดียวมากำหนดทิศทางการพัฒนาระบบสาธารณสุขและสุขภาพไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ต้องมองวงกว้าง คือ เขียนแผนในลักษณะของเพิ่มศักยภาพการดูแลตัวเองแก่ประชาชน เช่น กระจายอำนาจการบริหารขององค์กรสาธารณสุข ลงสู่ระดับปฐมภูมิให้มาก เพื่อให้คนกลุ่มเล็ก ห่างไกลความเจริญที่เจ็บป่วยเล็กน้อย สามารถรักษาตัวในโรงพยาบาลชุมชนระดับตำบล อำเภอ ได้” นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้มุมมองในการเขียนนโยบายฯ
       
       การกระจายอำนาจที่ว่านี้ ควรเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแก่บุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ทำหน้าที่เป็นเสมือนหมอประจำครอบครัว และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ ตลอดจนติดตามประเมินผลและผลกระทบหลังการรักษา ในกลุ่มเล็กๆ รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคได้ด้วย ซึ่งหากทำได้ก็จะช่วยลดภาระสถานพยาบาลขนาดใหญ่ได้ และแก้ปัญหาสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน อาทิ ปัญหาบุคลากร ปัญหาเรื่อง, รพ.ขาดสภาพคล่อง, ความแออัดของผู้ป่วยและที่สำคัญเพิ่มความเป็นธรรมทางการเข้าถึงระบบบริการได้ด้วย ซึ่งแนวทางนี้เป็นไปได้สูง แต่แปลกที่ยังไม่มีพรรคใดลงมือทำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมือง

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ
       นอกจากมุมมองดังกล่าวแล้ว ความอ่อนด้อยที่ตอกย้ำความล้มเหลวของนโยบายฯ ที่ชัดเจนอีกอย่าง คือ เรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและเครือญาติ ซึ่ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท มองว่า การหาเสียงของพรรคการเมืองขณะนี้ยังไม่มีใครกล้าการันตีว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ......จะเกิดขึ้นหรือไม่ เข้าใจว่า อาจเป็นเพราะเกรงกลัวจะเสียคะแนนความนิยม จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า ประชาชนต้องการผู้นำที่เด็ดขาดและตัดสินใจโดยเร็ว เพราะการจัดการปัญหาสุขภาพจะมามุ่งเน้นเอาใจใครไม่ได้แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
       ด้านพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวว่า นโยบายที่เห็นจะมีการสานต่อของแต่ละพรรค คือ เรื่องหลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นรักษาฟรี หรือรักษาแบบเสียเงิน 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อที่สร้างความเสียหายแก่วงการสาธารณสุขระดับกว้าง เพราะแม้ว่าประชาชนจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลในราคาถูกได้ แต่ก็ไม่ใช่กับทุกโรค และเมื่อประชาชนทุกระดับหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการมากขึ้น บุคลากรก็ทำงานหนัก รพ.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ส่อแววจะแย่ลงทุกขณะ
       
       “ความจำเป็นในการบริการประชาชนด้านสาธารณสุข ที่นำไปสู่ความเสมอภาคอย่างการออกนโยบายรักษาฟรีนี้ มุ่งเรียกคะแนนนิยมบางครั้ง ความเสมอภาคก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่แย่กว่าเดิม คือ คนรวย คนจนก็ต้องจ่ายค่ารักษาเท่ากัน ทั้งที่คนรวยย่อมมีศักยภาพการจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากกว่า” พญ.เชิดชู อธิบาย
       
       ประธาน สพผท.เสนอแนะในตอนท้ายว่าหากจะออกนโยบายเพื่อมาแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขและสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำจริงๆ คือ จะต้องเลิกขายฝันหลอกลวงเพื่อโกยคะแนนเสียที แต่ต้องเขียนแนวทางในการจัดการระบบบริการตามความเป็นจริง คือ “คนมีมากจ่ายมาก คนมีน้อยจ่ายน้อย แต่คนเดือดร้อนต้องได้รับการช่วยเหลือ” ซึ่งส่วนนี้หากทำได้เชื่อว่าช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างจริงจัง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 พฤษภาคม 2554