ผู้เขียน หัวข้อ: “สารี” เล็งฟ้องศาล รธน.แทน คดีสิทธิเหลื่อมล้ำของ สปส.  (อ่าน 1431 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน  ยืนกรานไม่เคยหวั่นแม้ศาลแรงงานไม่รับฟ้องคดีสิทธิเหลื่อมล้ำ  ของประกันสังคม พึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญแทน   ด้าน “หมอชูชัย” ระบุ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล
       
       น.ส.สารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังศาลแรงงานมีคำสั่งไม่รับฟ้องกรณีชมรมฯ ทำหนังสือฟ้องสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขอให้คืนเงินแก่ผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นการลิดรอนสิทธิ เพราะระบบสุขภาพอื่นๆ ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง และสวัสดิการข้าราชการกลับไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว ว่า เมื่อศาลแรงงานมีคำสั่งเช่นนี้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องในลักษณะรวมกลุ่ม แต่ต้องแยกเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นรายละเอียดในข้อกฎหมาย แต่ชมรมฯ ก็ไม่ท้อถอย เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิที่ควรได้ จึงได้เดินหน้าพึ่งพาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ในการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งล่าสุด มีข่าวดีว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเตรียมเดินเรื่องดังกล่าวโดยจะเป็นผู้ฟ้องกรณีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญแทน คาดว่าในราวอีก 1 เดือนข้างหน้า จะดำเนินการได้
       
       “สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ และควรได้รับอย่างเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำเหมือนเช่นทุกวันนี้ เพราะปัจจุบัน สปส.เป็นระบบเดียวที่ยังเรียกเก็บจากผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 1 ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 30 ที่ระบุถึงการได้รับความเสมอภาคทางด้านสุขภาพของบุคคลมาตรา 51 การมีความเสมอภาคในการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และมาตรา 80(2) ที่ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ดังนั้น เรื่องสิทธิยังคงจำเป็นเสมอ”  น.ส.สารี กล่าว
       
       น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า  ที่ผ่านมา แม้หลายฝ่ายจะมองว่า การเรียกร้องความเป็นธรรมด้านนี้ต้องการเพื่อโอนให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาเป็นผู้จัดการกองทุน จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราต้องการให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงินสมทบในส่วนรักษาพยาบาล ส่วนใครจะเป็นผู้จัดการกองทุนไม่สำคัญ สปส.หรือ สปสช.ก็ได้ แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ยิ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเลือกตั้งก็ดูเหมือนว่า พรรคการเมืองทั้งหลายไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ประกันตนเลย แม้แต่นโยบายสุขภาพก็ยังไม่มีความชัดเจน จึงอยากฝากให้ทุกพรรคการเมืองมีความกล้าหาญในเรื่องนี้ด้วย” โฆษกชมรมฯ กล่าว
       
       ด้านนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า  ในขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ คงต้องขอเวลาในการศึกษาข้อมูล และต้องเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าหารือก่อน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 พฤษภาคม 2554