ผู้เขียน หัวข้อ: กระทรวงสาธารณสุขขาดเอกภาพในการทำงานเพื่อประชาชน  (อ่าน 1422 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
กระทรวงสาธารณสุขขาดเอกภาพในการทำงานเพื่อประชาชน

  ข่าวจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์  วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 อ้างถึงว่า นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่าในปีพ.ศ. 2554 กระทรวงสาธารณสุขต้องการแพทย์ 22,855 คน แต่ในความเป็นจริงในปีนี้ มีแพทย์ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขเพียง 13,083 คน ยังขาดแพทย์อยู่อีก 9,772 คน โดยแพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเฉลี่ย 7,000 คน
 แต่จำนวนแพทย์ที่ว่ามีอยู่ 13,083 คนนี้ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้บอกว่า เป็นแพทย์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการลาไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางอยู่อีก กี่พันคน และเป็นแพทย์ผู้บริหารที่ไม่ทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยอีกกี่คน (ซึ่งแพทย์ทั้ง 2 ประเภทนี้ น่าจะมีรวมๆกันแล้วเกือบ 5,000 คน
   ฉะนั้นการที่นับเฉลี่ยว่ามีแพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 7,000 คนนั้น น่าจะไม่เป็นความจริง น่าจะเป็นแพทย์ 1 คน ต่อประชาชมากกว่า 10,000 คน ซึ่งนับว่าแพทย์ 1 คนต้องรับผิดชอบในการดูแลรักษาประชาชนจำนวนมาก โดเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ห่างไกล ในบางอำเภอ อาจจะมีแพทย์เพียง 1 คนเท่านั้น
  แต่ก็ไม่เห็นว่า ท่านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เกือบ 10,000 คน ในกระทรวงสาธารณสุขว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ได้แต่กล่าวถึงการจัดสรรแพทย์ใช้ทุน ให้ไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภออย่างน้อยแห่งละ 3คน และยืนยันว่า มีแพทย์ครบทุกอำเภอ แต่เมื่ออ่านต่อไปก็จะพบว่า บางอำเภอไม่มีแพทย์อยู่ประจำ ต้องไปขอยืมตัวมาจากอำเภออื่น เช่นแพทย์ 1 คนที่เกาะกูด ต้องยืมมาจากเกาะช้าง แสดงว่า แพทย์ท่านนี้เก่งมากที่ถ่างขาควบการทำงานได้ 2 เกาะ เพียงคนเดียว น่าจะปูนบำเหน็จความชอบให้เป็นพิเศษ ให้รับเงินเดือนเท่ากับ 2 คนเลยดีไหม ท่านปลัดกระทรวง?
  ฉะนั้น ที่โฆษกกระทรวงสาธารณสุขบอกว่ามีหมอครบทุกอำเภอ ก็ไม่ใช่เรื่องจริง มีหมอในรพช.อย่างน้อยแห่งละ 3 คน ก็ไม่ใช่เรื่องจริงอีก พูดว่ามีหมอ 1 คน ดูแลประชาชน 7,000 คน ก็ไม่ใช่เรื่องจริง และพูดว่าแพทย์ใช้ทุนปี 1 ต้องอยู่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป  9 เดือนก่อนออกไปประจำโรงพยาบาลชุมชน ก็ไม่จริงอีก เพราะหลายคน ต้องออกไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนก่อนจะมีโอกาสเพิ่มพูนทักษะในรพ.ศ./รพ.ทั่วไป
  ฉะนั้น จะไปหวังพึ่งพากระทรวงสาธารณสุขให้แก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลนคงจะยาก เพราะสิ่งที่ท่านโฆษกพูดยังหาความน่าเชื่อถือไม่ได้ แล้วจะไปเชื่อถือให้แก้ปัญหาอื่นๆ คงจะทำได้ยาก
   ในข่าวเดียวกันนี้ ท่านโฆษกพูดว่า การจัดสรรแพทย์ได้จัดสรรตามจำนวนประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบตามระบบภูมิศาสตร์ แต่ประชาชนไทยมีการอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำงานหาเลี้ยงชีพในท้องถิ่นต่างๆมากมาย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว หรือเมืองชายแดน ฯลฯ โดยส่วนมากประชาชนมักมิได้แจ้งย้ายสำมะโนครัวไปด้วย ซึ่งปรากฏให้เห็นเสมอว่า บางอำเภอหรือจังหวัดมีจำนวนประชาชนน้อยกว่าจำนวนในทะเบียนบ้าน บางจังหวัดมีประชาชนมากกว่าจำนวนในทะเบียนบ้าน นอกจากนี้ยังมีคนต่างด้าวอพยพมาทำงานอีกมาก รวมทั้งจังหวัดชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็อาจจะมีจำนวนประชาชนต่างด้าวมารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าจำนวนตามทะเบียนบ้าน จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยที่มารัฐการบริการที่โรงพยาบาล ไม่สอดคล้องกับจำนวนประชาชนจริง
  ฉะนั้นการจัดสรรแพทย์ตามระบบ GIS อย่างที่กระทรวงสาธารณสุขทำอยู่ จึงไม่สอดคล้องกับภาระงานจริง ของโรงพยาบาลต่างๆ เนื่องจากมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของพลเมืองดังกล่าวแล้ว  แต่กระทรวงสาธารณสุขควรจัดสรรจำนวนบุคลากรตามภาระงานจริงของแต่ละโรงพยาบาล (ตามสถิติผู้ป่วยที่มารับบริการในแต่ละปี) ก็จะทำให้มีบุคลากรเหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วยและภาระงานที่แท้จริง จะช่วยแก้ปัญหาความแออัดของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
  นอกจากการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับภาระงานจนเกิดความขาดแคลนดังกล่าวแล้ว ก็ไม่เห็นว่าผู้ปบริหารกระทรวงสาธารณสุขจะมีแผนการแก้ปัญหาความขาดแคลนนี้อย่างไร รอถึงฤดูกาลแพทย์เรียนจบการศึกษาใหม่ ก็จะออกมาพูดแบบนี้ปีละครั้ง แล้วก็ฝากความหวังไว้กับการ “ผลิตแพทย์เพิ่ม” ตามโครงการต่างๆ  สลับกับการออกมาให้ข่าวว่า พยาบาลก็ขาดแคลนเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่เห็นว่าจะมีความพยายามในการรักษาแพทย์/พยาบาลให้ยังคงทำงานบริการประชาชนในกระทรวงสาธารณสุขอย่างไร
นอกจากขาดแคลนบุคลากรแล้ว บุคลากรที่มีอยู่ก็ขาดตำแหน่งบรรจุ ขาดความมั่นคงและความก้าวหน้าในการรับราชการ กระทรวงสาธารณสุขมัวคิดติดกรอบ คือส่งคนไปเจรจากับก.พ.ทุกปี เพื่อจะขอตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น ขอเพิ่มซี และความก้าวหน้าในราชการเพิ่มขึ้น แต่ถ้าก.พ.ไม่เห็นด้วย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขก็จะกลับมาตีหน้าเศร้า เล่าให้บุคลากรที่เฝ้ารอตำแหน่งและการเลื่อนขั้นว่า  “ได้ไปขอแล้ว แต่ก.พ. ไม่อนุมัติ”
  ฉะนั้นในการบริหารจัดการด้านบุคลากร กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องไปอ้อนวอนขอจากก.พ. ซึ่งก.พ.เองคงไม่เข้าใจว่า การจัดสรรจำนวนตำแหน่งงาน และความเชี่ยวชาญเฉพาะควรจะทำอย่างไรให้เหมาะสม
    ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงลงไปถึงอธิบดีต่างๆ ไม่เคยที่จะคิดนอกกรอบ แยกออกจากก.พ.แล้วไปกำหนดตำแหน่ง เงินเดือน/ค่าตอบแทน และความก้าวหน้าของบุคลากรเอง เพื่อให้เหมาะสมกับภาระงานและความรับผิดชอบ เพื่อจะเป็นขวัญกำลังใจและแรงจูงใจให้บุคลากรทั้งหลาย มีความรักและความสุขในการทำงานบริการประชาชน ภายใต้การบริหารของกระทรวงสาธารณสุข
งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องมีคนกลางมาจ่าย ไม่ได้รับโดยตรงจากสำนักงบประมาณ
ในเรื่องงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการบริหารงานเพื่อพัฒนาการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข  รวมทั้งเงินเดือนของบุคลากรนั้น แทนที่กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับมาโดยตรงจากงบประมาณแผ่นดินเหมือนกับกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ กระทรวงสาธารณสุขต้องไปขอรับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทำตัวเหมือนเป็นผู้สั่งงานกระทรวงสาธารณสุขอีกทีหนึ่ง แทนที่สปสช.จะจ่ายเงินค่ารักษาประชาชนตามรายหัวประชาชนตามที่สปสช.ขอมา
   แต่สปสช.กลับมาวางแผนคิดโครงการต่างๆเพื่อให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทำตามแผนการ/โครงการของสปสช. ถ้ารพ.ไหนไม่ทำตามแผนการ/โครงการของสปสช. ก็จะไม่ได้รับเงินงบประมาณมารักษาผู้ป่วยโรคนั้นๆ กระทรวงสาธารณสุขอยากจะทำโครงการบริการประชาชนอย่างไร ก็ต้องไปขอเงินจากสปสช. ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรคเอดส์ ตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน โครงการไตวาย โครงการรักษาโรคหัวใจ ผ่าตัดตา ฯลฯ รวมทั้งสปสช.ยังมีเงินพิเศษมาจ่ายเงินให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางสาขาในการรักษาผู้ป่วยอีกด้วย จึงเห็นได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขนั้น ไม่สามารถวางแผนการในการพัฒนาการจัดบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนเองได้ เพราะไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ เมื่อจะไปของบประมาณจากสปสช. ก็ต้องทำตามแผนการและนโยบายของสปสช.เท่านั้น
 การพัฒนาอาคารสถานที่ อุปกรณ์การแพทย์  เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยี ของสถานบริการทางการแพทย์ต่างๆ กระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงมาเพื่อดำเนินการในส่วนนี้  โรงพยาบาลต่างๆต้องไปของบประมาณการซ่อมแซมและจัดหาอุปกรณ์ต่างๆจากสปสช. หรือทอดผ้าป่าหาเงินบริจาค มาใช้เพื่อการนี้  ทำให้หลังจากเกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว โรงพยาบาลต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เตียงเก่าๆหักๆในจำนวนเท่าเดิม อุปกรณ์ และเทคโนโลยีล้าสมัย  มีแต่จำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นจนนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รู้สึกได้ถึงความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ จึงสั่งให้รพ.ใหญ่ไปเปิดสาขานอกเมือง
  แต่ไม่แก้ปัญหาความเจ็บป่วยของประชาชนให้ลดลง จากการพัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี เจ็บป่วยน้อยลง จะได้ไปลดจำนวนการไปรับการตรวจรักษาโรคจากโรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลหายจากความแออัดของผู้ป่วย และมีภาระงานน้อยลง
  มาตรฐานการใช้ยาและการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขก็ถูกจำกัด ตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดว่าจะจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเฉพาะการจ่ายยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือตามที่สปสช.กำหนดเท่านั้น ถ้าแพทย์สั่งจ่ายยารักษาผู้ป่วยนอกเหนือบัญชียาหลักหรือนอกเหนือจากที่สปสช.กำหนด สปสช.ก็จะไม่จ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาล โดยที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีความพยายามที่จะสะท้อนปัญหาเหล่านี้ ให้รัฐบาลหรือประชาชนทราบว่า การจำกัดชนิดยาและการรักษาโรคที่สปสช.กำหนดให้ใช้ยาแบบเก่าๆเดิมๆ ทำให้แพทย์ขาดประสบการณ์ในการใช้ยาและนวัตกรรมใหม่ๆในการรักษาโรค จะทำให้วิทยาการแพทย์ไทยในกระทรวงสาธารณสุขหลุดจากมาตรฐานที่ทันสมัย ไม่มีมาตรฐานเดียวกันกับโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยไม่ต้องไปคิดเปรียบเทียบกับนานาอารยะประเทศ
    จะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย   ต่างก็มีอิสระที่จะเลือกไม่รับงบประมาณจากสปสช.ในการรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้เพราะโรงพยาบาลเหล่านี้อาจจะเคยมีประสบการณ์ว่า ได้รับงบประมาณน้อยกว่างบประมาณที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วยให้ได้มาตรฐาน จะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขต่างก็ประสบกับการขาดทุนจากการที่ต้องรับรักษาผู้ป่วยตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตลอดเวลา 9 ปีหลังจากมีระบบนี้ในประเทศไทย ทั้งๆที่งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มจาก 1,200 บาท มาเป็นเกือบ 3,000 บาทในปีงบประมาณ 2555 โดยที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้เลย
   กระทรวงสาธารณสุขจึงขาดเอกภาพในการทำงาน  เริ่มจากมีก.พ.เป็นผู้บริหารบุคลากร การวางแผนในการดำเนินงานและนโยบายก็ต้องทำตามที่สปสช.และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้กำหนด แผนการรักษาก็ทำตามสปสช. งบประมาณทั้งในการดำเนินงานและเงินเดือนบุคลากรก็ต้องไปขอจากสปสช. และงบประมาณที่ได้รับมาก็เป็นงบขาดดุล ได้รับในจำนวนจำกัดจำเขี่ย
กระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนทั้งประเทศ แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถของบประมาณที่เหมาะสม เพื่อมาใช้จ่ายในการทำงาน ไม่มีความสามารถในการกำหนดตำแหน่งและจำนวนบุคลากรให้เหมาะสมกับภาระงาน กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถวางแผนการในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และไม่สามารถพัฒนาอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีของสถานบริการสาธารณสุขได้ ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการรักษาได้ เพราะถูกจำกัดเรื่องยาในการรักษาผู้ป่วย
  จึงน่าเป็นห่วงว่า ประชาชนไทยที่ต้องรับบริการสาธารณสุขจากกระทรวงสาธารณสุข จะมีความเสี่ยงอันตรายจากการไปรับบริการจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ถ้ายังไม่มีการแก้ไขการขาดเอกภาพในการบริหารจัดการการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขให้เหมาะสมกับความจำเป็นทุกด้าน ทั้งงบประมาณ บุคลากร การพัฒนามาตรฐานสถานบริการและคุณภาพมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
26 พ.ค. 54
เอกสารอ้างอิง 1.   http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000063251
สธ.ยัน รพช.มีแพทย์ดูแลผู้ป่วยครบ แต่ยังขาดแคลนอีก 9,772 คน