ผู้เขียน หัวข้อ: ‘การุณยฆาต’ ทางเลือกตาย  (อ่าน 1735 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
‘การุณยฆาต’ ทางเลือกตาย
« เมื่อ: 26 พฤษภาคม 2011, 21:51:55 »
จากมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.บัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” ซึ่งต่อมาได้มีประกาศกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาฯ และประกาศกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของสถานบริการสาธารณสุข พร้อมตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาฯ ออกมาแล้ว ก็หมายความว่าจากนี้ไปทุกคน (ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องให้ผู้ปกครองยินยอม) มีสิทธิเขียนหนังสือหรือบันทึกภาพเคลื่อนไหวแสดงเจตนาฯ โดยไม่มีการบังคับ และสามารถทำในยามแข็งแรงปกติ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา
   
ส่วนข้อถกเถียงความหมายของ “วาระสุดท้ายของชีวิต” ได้มีคำอธิบายว่าหมายถึง “ภาวะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษาได้วินิจฉัยจากการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ว่า ภาวะนั้นนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้จะถึงและให้หมายความรวมถึงภาวะที่มีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวร โดยปราศจากพฤติกรรมการตอบสนองใด ๆ ที่แสดงถึงการรับรู้ได้ จะมีเพียงปฏิกิริยาสนองตอบอัตโนมัติเท่านั้น”
   
ถือเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย แต่เป็นเรื่องเก่าของ หลายประเทศ ที่มักเรียกว่า “การุณยฆาต” ซึ่งหมายถึงการทำให้บุคคลตายโดยเจตนาด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรงหรือวิธีการที่ทำให้ตายอย่างสะดวก หรือการงดเว้นการช่วยเหลือหรือรักษาบุคคล โดยปล่อยให้ตายไปเองอย่างสงบ ทั้งนี้เพื่อระงับความเจ็บปวดอย่างสาหัสของบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเป็นโรคที่ไร้หนทางเยียวยา ซึ่งแนวคิดนี้มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน โดยผู้คัดค้านเกรงว่า สิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำนั้นทำด้วยความบริสุทธิ์ใจมีเจตนาดี จริงหรือไม่ และการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยอยู่ใน “วาระสุดท้ายของชีวิต” ถูกหรือไม่ โดยก่อนหน้าได้พยายามให้การรักษาด้านอื่นหรือยัง
   
อีกทั้งอาจเปิดช่องให้มีการกระทำผิด เช่น การนำ เอาอวัยวะไปขาย หรือการฆ่าเพื่อเอามรดก ขณะที่ทุกศาสนาต่างเห็นตรงกันว่า “การุณยฆาต” เป็นบาป จึงคาดหวังว่าจากนี้ไปหน่วยงานเกี่ยวข้องจะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานและประชาชนให้เข้าใจถึงเจตจำนง ขอบเขต ขั้นตอนของกฎหมาย และที่สำคัญสังคมต้องช่วยกันตรวจสอบ อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องเฉพาะแพทย์กับคนไข้ มิฉะนั้นอาจเอื้อให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมก่อเหตุวิสามัญฆาตกรรมเฉกเช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เราเคยพบปัญหาอยู่เนือง ๆ.

เดลินิวส์  26 พฤษภาคม 2554