ผู้เขียน หัวข้อ: หนุน สธ.ขยายเวลาให้เด็กชนบทเรียนแพทย์เพิ่ม เชื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ระยะยาว  (อ่าน 1811 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
พบ รพช.3 แห่ง ไม่มีแพทย์ประจำ ขณะที่อีก 26 แห่ง มีแพทย์ประจำเพียงคนเดียว นักวิชาการเรียกร้อง สธ.ขยายโอกาสให้นักเรียนชนบทเข้าเรียนแพทย์ หวังให้กลับไปทำงานในภูมิลำเนาเพิ่ม เชื่อแก้ปัญหาขาดแคลนหมอระยะยาว
       
       ดร. นงลักษณ์ พะไกยะ ผู้จัดการสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) เปิดเผยว่า จากรายงานผลการสำรวจข้อมูลแพทย์ทั่วประเทศล่าสุด ซึ่งทำการเก็บในวันที่ 1 พ.ค.2554 ซึ่งอยู่ในช่วงโยกย้ายของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทุกปี ว่า มีโรงพยาบาลชุมชนมากถึง 3 แห่ง ที่ไม่มีแพทย์ประจำ ได้แก่ รพ.บันนังสตา จ.ยะลา, รพ.เกาะกูด จ. ตราด และ รพ.ภูกระดึง จ.เลย ต้องใช้วิธีการเวียนแพทย์จากโรงพยาบาลจังหวัดมาให้บริการประชาชนเป็นการชั่วคราว และมีโรงพยาบาลชุมชนอีก 26 แห่งมีแพทย์ประจำเพียงแค่ 1 คน ไม่เพียงพอแก่การให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลในเขตภาคอีสาน
       
       “ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบสุขภาพไทย จะเห็นได้ว่า 3 โรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์ประจำเลย ล้วนเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีภูมิประเทศที่ไม่ดึงดูดใจ เช่น เป็นพื้นที่มีเหตุการณ์รุนแรง บนเกาะ และบนเขา ซึ่งทั้ง 3 โรงพยาบาลนี้ไม่เพียงแต่จะไม่มีแพทย์ประจำเท่านั้น แต่ยังพบว่า แต่แม้แต่แพทย์ใช้ทุนก็ยังไม่มีปฏิบัติงานที่นั่น ทั้งที่เป็นกลุ่มแพทย์จบใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขวางระบบว่าต้องมีเข้าไปเติมในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศทุกปี สถานการณ์เช่นนี้จะคงอยู่ไปตลอด 1 ปี จนกว่าจะถึงช่วงโยกย้ายของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนในปีต่อไป ซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ การที่มีแพทย์อยู่เพียง 1-2 คนในโรงพยาบาลเป็นภาระที่หนักมาก และเมื่อมีแพทย์ลาออกไป 1 คน ภาระงานก็จะตกแก่แพทย์ที่เหลือ ซึ่งปัญหาเช่นนี้แม้เพิ่มค่าตอบแทนลงไปมากก็จะไม่สามารถธำรงแพทย์ได้” ดร.นงลักษณ์ กล่าว
       
       ดร.นงลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ปกติในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะจัดให้มีการหมุนเวียนแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน โดยจะมีแพทย์จบใหม่เข้าฝึกเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลระดับจังหวัด และให้แพทย์ที่ฝึกเพิ่มพุนทักษะเสร็จแล้วในรอบปีที่ผ่านมาหมุนเวียนเข้าไปเป็นแพทย์ใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลระดับอำเภอทั่วประเทศ ซึ่งตามระบบอย่างน้อยทุกโรงพยาบาลควรจะต้องมีแพทย์ใช้ทุน อยู่ให้บริการประชาชนเต็มเวลา และปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อแพทย์ต้องไปใช้ทุนในพื้นที่ที่ตนเองไม่อยากไปก็จะใช้วิธีการลาออกโดยจ่ายค่าปรับให้กับรัฐบาลแทน อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาและเริ่มเข้ารับราชการในปี 2551 พบว่า มีแพทย์รุ่นนี้ลาออกก่อนใช้ทุนครบ 3 ปี มากถึง 356 คน จากจำนวนแพทย์ใช้ทุนทั้งหมด 1,189 คน
       
       ด้าน พญ.ลลิตยา กองคำ แพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาราช จ.นครราชสีมา เสนอว่า กระทรวงสาธารณสุขควรจะต้องขยายโครงการ ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctors -CPIRDS) ซึ่งตามโครงการเดิมจะสิ้นสุดในปี 2556 ออกไป เพื่อขยายโอกาสให้เด็กในชนบทมีโอกาสเข้ามาเรียนแพทย์และกลับไปทำงานในพื้นที่ภูมิลำเนาต่อไป ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ พญ.ลลิตยา พบว่า แพทย์ที่เข้าสู่ระบบตามโครงการ CPIRDS มีอัตราการคงอยู่ในชนบทสูงกว่า และมีอัตราการลาออกต่ำกว่าแพทย์ที่สอบเข้าในระบบปกติ และจากการสำรวจแพทย์ลาออกในระหว่างปี 25543- 2554 พบว่า แพทย์ CPIRD ออกจากราชการประมาณ ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับแพทย์ปกติ ซึ่งออกจากราชการเฉลี่ยประมาณร้อยละ 50
       
       อนึ่งโครงการผลิตแพทย์เพิ่มจากระบบการผลิตปกติ ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ (CPIRDS) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สธ.ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดทำขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547-2556 โดยคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดีจากจังหวัดต่างๆ เข้าเรียนตามหลักสูตรมาตรฐานของคณะแพทย์ 6 ปี เพื่อให้เด็กชนบทเข้าสู่วิชาชีพแพทย์ได้มากขึ้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 พฤษภาคม 2554