ผู้เขียน หัวข้อ: แฉนมผงเลี่ยง กม.ใช้ “นมสูตร 3” เติมสาร DHA โฆษณาล่อลวงแม่ ยัน พ.ร.บ.โค้ดมิลค์  (อ่าน 1382 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
นักวิชาการแฉธุรกิจนมผงใช้ “นมสูตร 3” สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป มาทำการตลาดลดแลกแจกแถม โฆษณาล่อลวงให้เลือกซื้อ พบส่งผลต่อการตัดสินใจ เพิ่มวิกฤตเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง สร้างมายาคตินมผงดีกว่านมแม่ บิดเบือนความจริงเป็นนมทางเลือกสำหรับแม่ที่ไม่มีน้ำนม กรมอนามัยยันออกกฎหมายคุมนมผงทารกถึง 3 ปี ป้องกันการตลาดผิดจริยธรรม เพิ่มดื่มนมแม่
       
       จากกรณีสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ยื่นจดหมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ (Code milk) ที่ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด - 3 ปี โดยเสนอให้ควบคุมเหลือเพียง 1 ปี และไม่ควบคุมอาหารทางการแพทย์
       
       วันนี้ (9 ธ.ค.) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “ข้อเท็จจริง ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อปกป้องเด็กไทย” ว่า ร่าง พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ มีความจำเป็น เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมแม่เพิ่มมากขึ้น และป้องกันการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ผิดจริยธรรม ส่วนที่ต้องห้ามการโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี นั้น เพราะปัจจุบัน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีประกาศห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 จนถึงอายุ 3 ปีอยู่แล้ว หากออก พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ โดยลดการควบคุมลงไปเหลือเพียงอายุ 1 ปีตามข้อเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจนมผง ก็เท่ากับว่า กฎหมายใหม่ลดน้อยไปกว่ากฎหมายเดิมที่มีอยู่ ประเด็นสำคัญ คือ แม้จะมีกฎหมายห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 แต่ที่ยังเห็นมีการโฆษณาบ่อยๆ เพราะเป็นการเอานมสูตรอื่น เช่น นมสูตร 3 ที่ไม่ได้ห้ามมาโฆษณาแทน จึงต้องควบคุมที่อายุ 3 ปี เพื่อคงมาตรฐานเดิม และป้องกันการโฆษณาข้ามผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 69 เมื่อ มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ก็แนะนำให้ควบคุมการโฆษณาและการตลาดนมผงสำหรับเด็กจนถึงอายุ 3 ปี
       
       นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับนมทางการแพทย์ ถือว่าไม่สมควรทำการโฆษณาอยู่แล้ว เพราะเป็นนมที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่สมควรที่จะทำการโฆษณาอยู่แล้ว ส่วนร่างกฎหมายที่มีการห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือตัวแทน ทำการบริจาคนมผงแก่หน่วยบริการสาธารณสุข หรือบุคลากรสาธารณสุข ก็เพื่อป้องกันการสบโอกาสนำการบริจาคมาเป็นเครื่องมือในการทำการตลาด แต่ก็มีข้อห้ามยกเว้นไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่บังคับกรณีทารกและเด็กเล็กที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ เพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคหรือผู้มีความผิดปกติของร่างกาย และบริจาคในกรณีจำเป็นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

แฉนมผงเลี่ยง กม.ใช้ “นมสูตร 3” เติมสาร DHA โฆษณาล่อลวงแม่ ยัน พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ต้องคุมนมผงถึง 3 ขวบ
        นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจนมผงออกนมมาหลายสูตรให้มีอายุที่คร่อมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยปัจจุบันมีนมอยู่ 4 สูตร คือ สูตร 1 สำหรับทารกอายุ 0 - 12 เดือน สูตร 2 สำหรับ อายุ 6 เดือน - 3 ปี สูตร 3 สำหรับอายุ 1 ปีขึ้นไป และคนในครอบครัว และสูตร 4 สำหรับเด็กและทุกคนในครอบครัว โดยปัจจุบันห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 อยู่แล้ว ส่วนนมสูตร 3 โฆษณาได้ แต่ห้ามใช้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นพรีเซนเตอร์ แต่ก็มักจะใช้เด็กอายุ 3 ปีนิดๆ มาทำการโฆษณาเพื่อให้ดูลำบากว่าเด็กอายุเท่าไร และดึงดูดความสนใจโดยการผสมสาร DHA และ ARA เพื่อให้เหมาะสำหรับเด็กเล็ก และมีการมาทำการโฆษณา และการตลาดแบบลดแลกแจกแถม ซึ่งจริงๆ แล้วเด็กเล็กไม่จำเป็นต้องกินนมสูตร 3 เลย เพราะสามารถกินนมสูตร 1 หรือสูตร 2 ได้ ดังนั้น นมสูตร 3 จึงถือเป็นกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจ ซึ่งหากกฎหมายออกมาควบคุมการตลาดนมผงเพียงแค่อายุ 1 ปี ก็เท่ากับทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม ไม่มีประโยชน์อะไรในการออกกฎหมาย
       

       “ที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กไม่เกรงกลัวประกาศตาม พ.ร.บ. อาหาร เลย เพราะไม่มีบทลงโทษ แม้กลุ่มอุตสาหกรรมฯ จะรับปากในการควบคุมกันเอง แต่ก็มักอ้างว่าคู่แข่งมีการละเมิดก็ต้องทำบ้าง นอกจากนี้ ยังมีการทำการตลาดแบบผิดจริยธรรม โดยเฉพาะการล่อลวงแม่ที่มีฐานะยากจนโดยการให้ผลิตภัณฑ์ฟรี ซึ่งในอดีตมีการให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกรเป็นพรีเซนเตอร์ แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ จนกระทรวงสาธารณสุขมีการออกประกาศห้ามบุคลากรสาธารณสุขยุ่งเกี่ยวกับนมผง มีการไปให้กิฟต์เซตที่หน่วยงานรับแจ้งเกิด เป็นต้น จึงต้องมีการออกกฎหมายมาควบคุมการตลาดที่ผิดจริยธรรมแบบนี้ ซึ่งเราล่าช้ามากว่า 35 ปีแล้ว ส่งผลให้เด็กไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ต่ำที่สุดในอาเซียน คือ 12.3% เท่านั้น ต่ำกว่าเวียดนาม ลาว และกัมพูชา เสียอีก และที่เด็กไทยไอคิวต่ำ ก็เพราะมีปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่ง จึงหวังว่า สนช. และ ครม. จะเห็นความสำคัญของเด็กไทย เพราะหลายประเทศก็มีการออกกฎหมายดังกล่าวแล้ว เช่น เวียดนาม เป็นต้น” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว
       
       ดร.เรณู การ์ก หัวหน้าฝ่ายโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำชัดเจนว่า เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้น ควรให้นมแม่ต่อเนื่องควบกับอาหารตามวัยที่เหมาะสมถึง อายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น อีกทั้งอาหารทดแทนนมแม่ไม่ควรได้รับการโฆษณา หรือส่งเสริมการตลาดใดๆ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์นมที่ระบุว่าสำหรับเด็กอายุ 0 - 3 ปี และไม่ควรมีการใช้เทคนิคการขายแบบข้ามชนิด เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์ โทนสี คำขวัญ สัญลักษณ์ มาสคอต ของอาหารทารกและเด็กเล็กที่คล้ายคลึงกับอาหารทดแทนนมแม่เพื่อโฆษณาทางอ้อม มีงานศึกษาวิจัยยืนยันชัดเจนถึงอิทธิพลของการส่งเสริมการตลาดอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้แม่หยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร รวมถึงให้อาหารเสริมก่อนลูกอายุ 6 เดือนอีกด้วย
       
       ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กล่าวว่า จากผลศึกษาการเฝ้าระวังและติดตามกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงที่ละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พบว่า การส่งเสริมการตลาดนมผงส่วนใหญ่ใช้กลวิธี 5 รูปแบบที่บูรณาการร่วมกันและส่งผลต่อการตัดสินใจของแม่เป็นอย่างมาก ประกอบด้วย
1. การโฆษณา
2. การส่งเสริมการขาย
3. การตลาดทางตรง
4. การตลาดทางอินเทอร์เน็ต และ
5.พนักงานขาย
ซึ่งบริษัทได้หลบเลี่ยงหลักเกณฑ์ ด้วยการเอาผลิตภัณฑ์นมผงของเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป มาโฆษณา โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใกล้เคียงกับนมผงทารกทำให้แม่สามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ในการเลือกซื้อ นอกจากนี้ ยังพบการละเมิดหลักเกณฑ์สากลฯ โดยการติดต่อสื่อสารกับแม่โดยตรงโดยใช้การตลาดทางตรงผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ เฟซบุ๊ก รวมถึงการจัดกิจกรรมพิเศษในโรงพยาบาลและตามงานต่างๆ เพื่อแจกนมผงทดลองถึงแม่และผู้ปกครองโดยตรง
       
       “การสื่อสารการตลาดนมผงในปัจจุบันได้สร้างมายาคติให้แม่เข้าใจว่า นมผงดีเท่ากับนมแม่ ด้วยการโฆษณาว่าเติมสารอาหารต่างๆ ทำให้ความจริงที่ว่านมผงผลิตออกมาก็เพื่อใช้สำหรับแม่ที่ไม่สามารถมีน้ำนมเพื่อเลี้ยงลูกได้หายไป ประกอบกับเมื่อแม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องทำงาน ทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อนมผงง่ายขึ้น ดังนั้น การออกกฎหมายมาควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี จะเป็นการควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำ ส่งผลให้การทำการส่งเสริมการตลาดทุกรูปแบบไม่สามารถทำได้ ก็เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้แม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นกลางก่อนที่จะตัดสินใจเลือกนมที่จะใช้เลี้ยงลูก เด็กก็จะมีโอกาสที่จะได้กินนมแม่มากขึ้นโดยเฉพาะแม่ที่มีศักยภาพเพียงพอในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แทนการใช้นมผง และเมื่อไม่มีการส่งเสริมการตลาดนมผงก็ควรจะต้องถูกลงถึง ร้อยละ 20 - 25” ดร.บวรสรรค์ กล่าว

โดย MGR Online       
9 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กุมารแพทย์ค้านร่าง พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ คุมการตลาดนมผงถึง 3 ปี ชี้ กระทบการโฆษณา “อาหารเสริมตามวัย” หวั่นเดินสายให้ข้อมูลทางวิชาการไม่ได้ แนะแก้ พ.ร.บ.คุมอาหารแค่เด็ก 1 ปี เปิดช่องโฆษณานมสำหรับเด็กเล็กได้ ชี้เป็นสิ่งจำเป็น แต่ห้ามโฆษณา - ทำการตลาดข้ามมากลุ่มทารก
       
       วันนี้ (14 ธ.ค.) แพทยสภาร่วมกับเครือข่ายกุมารแพทย์ แถลงข่าวเรื่อง “เครือข่ายหมอเด็กออกโรง ชี้ พ.ร.บ. นมสุดโต่ง ทำร้ายเด็กไทย แนะแนวทางไก้ไขเหมาะสม” โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ทางเครือข่ายเห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... เพื่อควบคุมการโฆษณาและการตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่สำหรับทารก และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับการควบคุมจนถึงช่วงอายุ 3 ปี เพราะเขียนครอบคลุมกว้างจนเกินไป อาจสร้างปัญหาในทางปฏิบัติได้
       
       ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการองค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติ (FAO) สำนักงานใหญ่ กล่าวว่า ต้องแยกให้ชัดระหว่างทารก คือ อายุ 0 - 12 เดือน และเด็กเล็กที่อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเห็นด้วยหากมีการควบคุมห้ามการโฆษณา หรือทำการตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่สำหรับทารก เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน แต่ไม่เห็นด้วยหากควบคุมในส่วนของอาหารสำหรับเด็กเล็กถึง 3 ปี เนื่องจากจะกระทบต่อการโฆษณาและการตลาดอาหารทุกชนิด เช่น นมสด นมกล่อง นมเปรี้ยว นมโรงเรียน อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารเสริมตามวัยที่เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปสามารถรับประทานได้แล้ว ก็จะผิดกฎหมายด้วย ซึ่งไม่ตรงกับเจตจำนงของกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ตามข้อแนะนำของกรมอนามัยคือ ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปให้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมตามวัยไปได้จนถึง 2 ปี และเพิ่มปริมาณอาหารจนเป็นการกินอาหารหลัก 3 มื้อ และดื่มนมวันละ 2 - 3 แก้วแทน ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับโภชนาการอย่างครบถ้วน
       
       “พ.ร.บ. ดังกล่าวออกมาควบคุมอาหารสำหรับเด็กเล็กที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยอาหารด้วย ทั้งที่เป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป แต่กลับไม่ครอบคลุมและไม่ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารที่ไม่มีประโยชน์และเป็นโทษต่อเด็ก เช่น ขนม เครื่องที่มีน้ำตาลสูง เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องมีการแก้นิยาม พ.ร.บ. ให้ชัดเจน จึงเสนอว่าควรปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.เป็น ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก พ.ศ. ... เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ครอบคลุมอาหารสำหรับเด็กเล็ก” ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวและว่า หากจะส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ใช่แค่เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนให้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ยังต้องส่งเสริมโภชนาการของแม่ เพื่อเพิ่มคุณภาพของน้ำนมด้วย
       

       รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ ประธานชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้ส่งผลต่อเรื่องความสูงของเด็กในอนาคต เพราะจากข้อมูลพบว่า กัมพูชา อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนสูงถึง 65.2% แต่เด็กเตี้ย 32% พม่า เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือน 23.6% อัตราเด็กเตี้ย 35% ลาวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือน 40.4% แต่เด็กเตี้ย 45% ขณะที่ไทยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ 12% แต่เด็กเตี้ยแค่ 10% อาหารเสริมตามวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ต้องรับประทาน แต่หากยึดตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็จะไม่สามารถทำการโฆษณาได้ อย่างนมผงสำหรับเด็กเล็กซึ่งถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กเล็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ก็ยังจำเป็นที่ต้องมีการโฆษณา มิเช่นนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะเจอแต่โฆษณาอาหารขยะ
       
       ด้าน รศ.นพ.สรายุทธ สุภาพรรณชาติ ประธานชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนกังวลร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะครอบคลุมเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการหรือไม่ เพราะยังมีความก้ำกึ่งกันอยู่ว่าจะเป็นการตลาดหรือไม่ ทำให้บุคลากรสาธารณสุขมีความกังวลว่าไม่สามารถให้ความรู้หรือไปขึ้นเวทีให้ข้อมูลได้ ดังนั้น อยากขอให้ยกเว้นตรงนี้ไม่ให้มีใน พ.ร.บ. นอกจากนี้ เรื่องนมทางการแพทย์นั้นก็มีความกังวล อยากให้ใน พ.ร.บ.ระบุให้ชัดเลยว่าไม่ควบคุมนมทางการแพทย์
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า หากควบคุมเพียง 1 ปี ก็จะไม่แก้ปัญหากลุ่มอาหารสำหรับเด็กเล็ก เช่น นมสูตร 3 ที่มีการโฆษณาและทำการตลาดข้ามมายังกลุ่มทารก เพราะเดิมไม่ถูกควบคุม ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ. ก็ต้องกำหนดเพิ่มให้ชัดเจนว่าห้ามผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กเล็กทำการโฆษณาหรือทำการตลาดข้ามกลุ่มมายังทารก หากทำถือว่าผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องไปออก พ.ร.บ. ที่ครอบคลุมไปจนถึงอายุ 3 ปี ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างมากกว่า นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยกลไกอื่นด้วย เช่น การแยกสูตรนมใหม่ไม่ให้คร่อมกันเหมือนปัจจุบัน คือเหลือเพียงนมสูตร 6 - 12 เดือน และเป็นสูตร 1 - 3 ปี แยกกันให้ชัดเจน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถกำหนดได้ และโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) กำลังแก้ไขอยู่คาดว่าจะสำเร็จใน ก.ค. 2019 ตรงนี้ก็จะใช้บังคับการผลิตนมผงได้ทั้งหมด
       
       รศ.นพ.สังคม กล่าวว่า ต้องมีมาตรการอื่นเสริมด้วย อย่าง อย. ต้องออกมาตรการเรื่องฉลากให้ชัดเจนว่าห้ามเคลมสรรพคุณของส่วนผสมต่างๆ ว่าดีอย่างไร สามารถบอกได้เพียงว่ามีส่วนผสมอะไรและต้องใช้ขนาดอักษรเท่ากัน ไม่ได้ทำให้โดดเด่นเพื่อโฆษณาดึงดูด ทั้งนี้ ประเด็นทั้งหมดที่ห่วงกังวลเคยชี้แจงไปแล้วในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็มีการแก้ไข แต่สุดท้ายกลับเสนอร่าง พ.ร.บ. ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามแบบฉบับเดิมที่ยังไม่มีการแก้ไข อย่างเรื่องอาหารทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับทารกที่ไม่สามารถใช้นมแม่ได้นั้นก็ยังรวมอยู่ในร่าง พ.ร.บ.

โดย MGR Online       
14 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
มีข้อมูลชัดเจนจากองค์การอนามัยโลก ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน ช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน มีภูมิต้านทานช่วยป้องกันการเจ็บป่วยได้หลายโรค ทั้งยังเสริมสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูกด้วย สำหรับประเทศไทย การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากคือร้อยละ 12.3 ในปี 2555 แต่จากการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 ในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่ายังต่ำอยู่ดี

        ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อย เพราะการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของบริษัทนมผง แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีกฎหมายห้ามโฆษณานมสูตร 1 สำหรับทารกอายุ 0 - 12 เดือน และ นมสูตร 2 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - 3 ปี แต่ไม่ได้ห้ามเรื่องการส่งเสริมการตลาด ทำให้บริษัทนมอาศัยช่องว่างเหล่านี้ทำการตลาดแบบผิดจริยธรรม คือ การเข้าถึงแม่ของเด็กโดยตรง การลดแลกแจกแถมผลิตภัณฑ์ เพื่อดึงดูดให้แม่หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผงแทน
       
       ขณะที่นมสูตร 3 สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป และทุกคนในครอบครัว ซึ่งสามารถโฆษณาได้ แต่ห้ามใช้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบเป็นพรีเซนเตอร์ ก็มีการนำเด็กอายุมากกว่า 3 ขวบเล็กน้อยมาโฆษณาชักจูงว่านมมีประโยชน์ เช่น การโฆษณามีสาร DHA และ ARA เพื่อให้ดูเหมาะสมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อชักจูงให้เกิดการซื้อผลิตภัณฑ์ ทั้งที่จริงแล้วไม่จำเป็นสำหรับทารกเลย

        จากปัญหาเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้ต้องมีการร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ (Code milk) เพื่อขัดขวางการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดที่ไม่เหมาะสม โดยครอบคลุมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ก็ไม่แคล้วที่จะมีคนออกมาคัดค้าน โดยกล่าวหาว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความสุดโต่งเกินไป

        ล่าสุด เครือข่ายกุมารแพทย์ได้ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยขอให้ลดการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกเพียงอย่างเดียว คือ ควบคุมตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปีเท่านั้นซึ่งเป็นจุดหมายเดียวกับบริษัทนมผงที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อ สนช. ไปก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า การควบคุมอาหารสำหรับเด็กเล็ก คือ อายุ 1 - 3 ปีด้วยนั้น จะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามวัยอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็กให้ไม่สามารถโฆษณาได้ เช่น นมกล่อง นมสด นมเปรี้ยว เป็นต้น ทำให้เด็กอาจไม่ได้รับโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย เพราะอาหารที่มีประโยชน์โฆษณาไม่ได้ แต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์อย่างพวกขนม น้ำอัดลมสามารถโฆษณาได้ตามปกติ โดยเสนอทางออกว่าให้มีการเขียนข้อบังคับเพิ่มเติมว่าห้ามผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กเล็กทำผลิตภัณฑ์ให้มีความคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและห้ามโฆษณาข้ามกลุ่มมายังทารก
       
       พร้อมทั้งขอให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวไม่ควบคุมถึงนมทางการแพทย์ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทารกที่ดื่มนมแม่ไม่ได้ นอกจากนี้ ยังกังวลว่าบุคลากรสาธารณสุขจะไม่สามารถให้ข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะอาจเป็นการโฆษณาหรือส่งเสริมการตลาดด้วย


        ซึ่งหลังจากการออกมาแถลงข่าว ส่งผลให้เกิดกระแสดรามาขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มกุมารแพทย์ที่เสียงแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. และกลุ่มที่คัดค้าน ทั้งนี้ ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยต่างๆ ว่า ร่าง พ.ร.บ. คุมการตลาดนมผงดังกล่าว จะสุดโต่ง ส่งผลกระทบอย่างที่เครือข่ายกุมารแพทย์กังวลหรือไม่นั้น นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมาช่วยไขข้อข้องใจ ดังนี้
       
       1. ประเด็นทำไมต้องควบคุมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กถึง 3 ปี
       
       นพ.ธงชัย กล่าวว่า การกำหนดให้อาหารทารกและเด็กเล็กครอบคลุมถึงเด็กอายุ 3 ปี เนื่องจากประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ออกตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการควบคุมโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 ซึ่งก็ควบคุมถึงเด็ก 3 ปีอยู่แล้ว การออกกฎหมายใหม่เป็น พ.ร.บ.จึงไม่ควรกำหนดให้ครอบคลุมน้อยกว่าประกาศ อย. อีกทั้งองค์การอนามัยโลกก็แนะนำให้ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กถึงอายุเด็ก 3 ปี และมีการศึกษายืนยันทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลียว่า มีการโฆษณาในลักษณะข้ามสินค้า (Cross Promotion) เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะนมสูตร 3 ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพราะเป็นนมทั่วไปที่ทุกคนดื่มได้ แต่กลับมีการโฆษณาให้คล้ายกับอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และมีสัญลักษณ์สินค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับนมสูตร 1 และสูตร 2 จึงเป็นการโฆษณาข้ามสินค้า เพราะเมื่อแม่เห็นสัญลักษณ์ของนมสูตร 3 แต่เมื่อไปเดินซื้อเห็นสัญลักษณ์นมสูตร1 สูตร 2 ที่เหมือนกับสูตร 3 ก็ทำให้ซื้อนมสูตร 1 และสูตร 2 ได้ ทั้งที่เห็นจากโฆษณาของนมสูตร 3 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดในกฎหมายใหม่ให้ครอบคลุมถึงอาหารเด็ก 3 ปี
       
       “อย่างไรก็ตาม แม้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงนมสูตร 3 แต่เมื่อมีกฎหมายออกมาแล้ว ก็เชื่อว่าการโฆษณาลักษณะข้ามสินค้าของนมสูตร 3 จะลดลง เพราะมีกฎหมายที่เอาจริงเอาจัง” นพ.ธงชัย กล่าว
       

       2. ประเด็นการกำหนดในร่าง พ.ร.บ. ให้ชัด ห้ามผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กเล็กโฆษณาข้ามสินค้าให้เข้าใจถึงอาหารสำหรับทารก แทนการครอบคลุมถึงอายุ 3 ปี และการแยกสัญลักษณ์ระหว่างนมสูตร 1 สูตร 2 และสูตร 3 ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการโฆษณาข้ามสินค้า
       
       นพ.ธงชัย กล่าวว่า ในทางกฎหมายคงระบุเฉพาะเจาะจงไม่ได้ ต้องเขียนแบบกว้างๆ ซึ่งเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. คือ การควบคุมการส่งเสริมการตลาด เพราะปัจจุบันประกาศของ อย. มีการควบคุมโฆษณานมสูตร 1 สูตร 2 ซึ่งควบคุมตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปีอยู่แล้ว แต่ไม่ครอบคลุมถึงการส่งเสริมการตลาด จึงต้องมีการออกร่าง พ.ร.บ. ออกมาเช่นนี้ เพื่อครอบคลุมถึงการส่งเสริมการตลาดด้วย เพราะฉะนั้น การออกเป็น พ.ร.บ. ใหม่จะครอบคลุมภาพรวมทั้งการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาด เพราะหากกำหนดแยกสัญลักษณ์ระหว่างนมสูตร 1 สูตร 2 สูตร อาจเข้าข่ายการกีดกันทางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้


        3. ประเด็นการควบคุมครอบคลุมถึงอาหารอื่นๆ เช่น นมกล่อง ผัก เนื้อสัตว์ เพราะเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปหรือไม่
       
       นพ.ธงชัย กล่าวว่า ย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามกินหรือห้ามขายนมผงแต่อย่างใด แต่เจตนารมณ์คือต้องการควบคุมการโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่เกินจริง รวมถึงการตลาดที่เป็นการลด แลก แจก แถม ส่วนที่ว่าจะครอบคลุมไปถึงอาหารอื่นหรือไม่นั้น น่าจะเป็นเรื่องของการตีความที่ผิด เพราะเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะครอบคลุมเฉพาะอาหารหรือนมที่ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็กกับ อย. เท่านั้น ดังนั้น อาหารอื่นๆ ที่คนทั่วไปก็รับประทาน ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก อย่างนมทั่วๆ เช่น นมจิตรลดา นมสด นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เป็นต้น จึงไม่ครอบคลุมในร่าง พ.ร.บ. อย่างที่กังวล
       
       4. ประเด็นครอบคลุมนมทางการแพทย์ ที่จำเป็นสำหรับทารกที่ไม่สามารถดื่มนนมแม่ได้ และไม่สามารถรับบริจาคนมจากบริษัทผู้ผลิตได้ จะเป็นการผลักภาระให้แก่ผู้รับบริการ
       
       นพ.ธงชัย กล่าวว่า ยืนยันเหมือนเดิมว่า ไม่ครอบคลุมนมทางการแพทย์อยู่แล้ว ซึ่งทารกและเด็กเล็กที่จำเป็นต้องใช้นมทางการแพทย์ ก็ต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ และกฎหมายยังเว้นให้สามารถรับบริจาคจากบริษัทผู้ผลิตผู้นำเข้าได้เช่นเดิม
       
       5. ประเด็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับนมของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ จะถือเป็นการโฆษณาส่งเสริมการตลาดหรือไม่
       
       นพ.ธงชัย กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ. เขียนชัดเจนว่า ควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของ “ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย” ดังนั้น การให้ข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลที่เป็นจริงของบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอยู่แล้ว จึงสามารถให้ข้อมูลความรู้ได้เช่นเดิม ไม่ได้ห้าม เพราะการให้ข้อมูลข้อเท็จจริง แตกต่างจากการโฆษณาซึ่งคือการโน้มน้าวชัดจูงให้มาซื้อ และถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะกระทำโดยมีเจตนาโฆษณาก็จะมีความผิด ส่วนการที่ระบุว่าโรงพยาบาลเข้าข่ายเป็นผู้ผลิต เพราะมีการแบ่งบรรจุนมนั้น และทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถให้ข้อมูลได้นั้นเป็นการตีความที่ผิด เพราะโรงพยาบาลไม่ใช่ผู้ผลิต ในส่วนของผู้ผลิตหมายถึงบริษัทในต่างประเทศที่มีอยู่ไม่กี่บริษัทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อาจมีการเขียนเพิ่มลงไปในร่าง พ.ร.บ. ให้ชัดเจนว่า เป็นการแบ่งบรรจุเพื่อการค้า ซึ่งส่วนของโรงพยาบาลไม่ได้เป็นการแบ่งบรรจุเพื่อการค้าแต่อย่างใด ก็ถือว่าไม่เกี่ยวข้องตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล
       
       ส่วนการห้ามโฆษณานั้น ในร่าง พ.ร.บ. ใช้คำว่า “ผู้ใด” ดังนั้น จึงหมายถึงทุกคนห้ามทำการโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งปัจจุบันจะพบว่ามีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาโฆษณา ตรงนี้ก็จะห้ามด้วย
       
       6. ประเด็นการห้ามบริษัทนมผงสนับสนุนการจัดประชุมอบรมหรือสัมมนาด้านวิชาการเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็กของหน่วยงานสาธารณสุข
       
       นพ.ธงชัย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ ห้ามบริษัทผู้ผลิต นำเข้าจัดจำหน่ายในการจัดประชุม หรือสัมมนาเพื่อส่งเสริมการตลาดอยู่แล้ว แต่การสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขไม่ได้ห้าม สามารถสนับสนุนได้ เพียงแต่ห้ามมีการส่งเสริมการตลาด เช่น การโชว์แบรนด์ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีการออกนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้แล้ว แต่ครอบคลุมเฉพาะโรงพยาบาลสังกัด สธ. การออกเป็นกฎหมายก็จะครอบคลุมโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ทุกโรงพยาบาลด้วย
       
       7.ประเด็นงานวิจัยประเทศเนปาล กัมพูชา ลาว พม่า อัตราการกินนมแม่สูง แต่เด็กกลับเตี้ย
       
       นพ.ธงชัย กล่าวว่า การเจริญเติบโตของเด็กมี 3 ส่วนประกอบสำคัญ คือ อาหารหรือโภชนาการ การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ 3 ส่วนนี้ต้องดีเด็กจึงเจริญเติบโตแข็งแรง สูง ไม่เตี้ย แต่งานวิจัยดังกล่าวซึ่งทำในกลุ่มประเทศที่ยังไม่พัฒนา ประชากรยังมีความยากจน กลุ่มประเทศเหล่านี้อัตราการกินนมแม่ย่อมสูง เพราะไม่มีเงินในการซื้อนมผง แต่ที่เด็กตัวเตี้ยนั้น เพราะด้วยความยากจนโภชนาการจึงไม่ดีพอ แม้แต่โภชนาการของแม่ ซึ่งเมื่อแม่โภชนาการไม่ไดี น้ำนมก็ไม่มีคุณภาพ แม้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสูง แต่ก็ทำให้เด็กเตี้ยได้ ซึ่งเป็นบริบทปัจจัยที่ต่างจากประเทศไทย ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกันที่ว่ากินนมแม่ แต่ก็ยังตัวเตี้ย

โดย MGR Online       15 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ยูนิเซฟออกแถลงการณ์ร่วม WHO หนุนร่าง พ.ร.บ. คุมการตลาดนมผงของประเทศไทย ย้ำชัด คุมโฆษณา - ส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กถึงอายุ 3 ปี เป็นมาตรฐานสากล ยันนมแม่ช่วยไอคิวสูง ป้องกันเตี้ย ห่วงไทยอัตรากินนมแม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซ้ำนมผงส่งเสริมการตลาดอย่างรุนแรง
       
       จากกรณีกลุ่มเครือข่ายกุมารแพทย์ออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... โดยขอให้ควบคุมอาหารสำหรับทารกเพียง 1 ปี เพราะจะกระทบต่ออาหารหรือนมทั่วไป ซึ่งกรมอนามัยยืนยันแล้วว่า ไม่กระทบแน่นอน และต้องควบคุมอาหารสำหรับเด็กจนถึง 3 ปี เพื่อป้องกันการโฆษณาข้ามกลุ่มสินค้า และมีการอ้างงานวิจัยประเทศเนปาล ว่า แม้มีอัตราการกินนมแม่มากแต่เด็กก็ยังเตี้ยนั้น
       
       ล่าสุด ในเฟซบุ๊กเพจ UNICEF Thailand ได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม องค์การยูนิเซฟ และ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ยืนยันสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในประเทศไทย มีใจความดังนี้
       
       จากที่มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งกำลังได้รับการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ในขณะนี้ องค์การยูนิเซฟ และองค์การอนามัยโลกขอกล่าวย้ำดังนี้
       
       1. การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก อายุ 0 - 3 ปี เป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยอาหารทดแทนนมแม่ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา สมัชชาอนามัยโลกซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วยนั้น ได้มีมติรับรอง แนวทางเพื่อหยุดการส่งเสริมอาหารทารกและเด็กเล็กอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งได้ระบุชัดเจนว่า ไม่ควรมีการส่งเสริมการตลาดของอาหารทดแทนนมแม่ สำหรับทารกและเด็กเล็กอายุถึง 36 เดือน
       
       2. หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นชัดเจนมาก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่พ่อแม่จะป้องกันภาวะเตี้ยแคระแกร็นในเด็กได้ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาและด้านร่างกายของเด็ก นอกจากนี้ วารสารทางการแพทย์ The Lancet (2559) ยังแสดงให้เห็นว่า นมแม่มีความสัมพันธ์กับสติปัญญา (ไอคิว) ที่สูงขึ้นในเด็กและวัยรุ่น และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ของแม่อีกด้วย
       
       ปัจจุบันอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่การส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและดุเดือด ดังนั้น การออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด
       
       ในขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่นั้น องค์การยูนิเซฟ และองค์การอนามัยโลก จึงขอยืนยันจุดยืนในการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในประเทศไทย
       
       Joint Statement
       
       UNICEF and WHO fully support proposed legislation on the control of Marketing of Breastmilk Substitutes in Thailand
       In response to recent media reports on the proposed legislation on the control of Marketing of Breastmilk Substitutes (BMS) in Thailand, currently under consideration by the National Legislative Assembly, UNICEF and WHO would like to reiterate the following:
       
       1. Regulation of marketing of breastmilk substitutes for children aged 0-3 years is the internationally accepted standard and is fully in line with the International Code of Marketing of Breastmilk Substitutes. The Guidance on Ending the Inappropriate Promotion of Foods for Infants and Young Children, adopted by the World Health Assembly (WHA) – of which Thailand is a member – in May 2016, clearly states that marketing should not take place for breastmilk substitutes for children up to the age of three years.
       
       2. The global scientific evidence to support breastfeeding is clear and decisive. Breastfeeding is one of the most important and effective things that parents can do to prevent stunting, and promote the physical and cognitive development of their children. According to the recent findings of the Lancet (2016), breastfeeding is also consistently associated with higher levels of performance in intelligence tests among children and adolescents. Additionally, breastfeeding lowers the risk of breast cancer and ovarian cancer among mothers.
       
       The rate of exclusive breastfeeding in Thailand is below the global average and the lowest in the South-East Asia Region, while aggressive marketing of breastmilk substitutes to mothers and families is widespread. The introduction of the BMS code into law is becoming ever more urgent.
       
       UNICEF and WHO reiterate their strong support the introduction of the draft “Control of Marketing of Food for Infant and Young Children Act” currently under consideration by the National Legislative Assembly.
       

โดย MGR Online       15 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 อดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ คาใจแพทยสภา - หมอเด็ก ค้าน พ.ร.บ. คุมการตลาดนมผง แฝงผลประโยชน์หรือไม่ เตือนธุรกิจนมหยุดล็อบบีล้ม กม. ขณะที่เอ็นจีโอด้านเด็ก หนุนคุมโฆษณานมเด็ก ปลุกพลังพ่อแม่สู้
       
       วันนี้ (19 ธ.ค.) นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีแพทยสภา ร่วมกับ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ (Code milk) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ทราบว่า ขณะนี้ธุรกิจนมผงวิ่งเต้นเพื่อยับยั้งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างเต็มที่ และล่าสุด แพทยสภาร่วมกับหมอเด็กบางคน มีการกล่าวหาว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้สุดโต่ง จึงถือเป็นการบิดเบือนข้อมูลสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. และทำให้หมอท่านอื่นๆ หรือพ่อแม่เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากสิ่งที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ พยายามทำ คือ ปกป้องคุ้มครองสิทธิและสุขภาพของเด็กไทย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และ ยูนิเซฟ ซึ่งธุรกิจนม ต้องไม่ทำการตลาดโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เรียกง่ายๆ ว่า ห้ามลดแลกแจกแถม โดยละเมิดกฎเกณฑ์สากลขององค์การอนามัยโลก แต่ที่ผ่านมา จะเห็นว่า ธุรกิจเหล่านี้ไม่เคารพกฎกติกา พอบริษัทหนึ่งออกนอกกติกา บริษัทอื่นเห็นก็ทำตาม ต่างคนต่างละเมิด เน้นทำยอดขายโดยไม่สนใจสุขภาพของเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
       

       “แปลกใจที่เขาออกมาคัดค้านกฎหมายนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีผลประโยชน์บางอย่างแอบแฝง และองค์กรที่ออกมาร่วมคัดค้าน เคยรับสปอนเซอร์จากบริษัทนมในลักษณะนี้หรือไม่ เช่น การจัดประชุม การเดินทางไปต่างประเทศ ฯลฯ ผมผิดหวังกับท่าทีของแพทยสภาและหมอเด็กกลุ่มนี้ที่บิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง แทนที่จะทำหน้าที่ตักเตือนปกป้องสิทธิเด็ก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่ แม้จะรู้ดีว่าเมื่อมีกฎหมายอะไรที่ไปกระทบผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจจะเกิดแรงต้านทันที และขอเรียกร้องให้ธุรกิจนมหยุดใช้วิธีสกปรก และหันมาเคารพกติกา” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว


        ด้าน นายเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวว่า หากดูจากเนื้อหาร่างพ.ร.บ. โค้ดมิลค์ ไม่ได้ห้ามขาย ห้ามแนะนำ ห้ามรับบริจาค ห้ามทำวิจัย แพทย์สามารถแนะนำวิธีการใช้นมผงและวิธีการทำอาหารเสริมตามวัยให้แก่พ่อแม่ได้ตามปกติ แต่สิ่งที่ห้ามคือ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น รับสปอนเซอร์ จัดประชุมวิชาการ พาไปดูงานต่างประเทศ เอื้อประโยชน์ด้านต่างๆ เมื่อไหร่ที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน จะเกิดปัญหาขึ้นทันที บุคลาการทางการแพทย์จะทำหน้าที่เชียร์ โอ้อวดสรรพคุณให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมผงยี่ห้อนี้ สูตรนี้เท่านั้น โดยที่ไม่แนะนำการให้นมแม่อย่างที่ควรจะเป็น
       
       “คนที่ออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นี้ มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไร ทำไมไม่คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นตัวตั้ง แต่กลับดึงการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องแทน อย่างไรก็ตาม ขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. นี้ เพราะจะทำให้แม่ใส่ใจลูกมากขึ้น ปกป้องเด็กจากการทำการตลาดของธุรกิจนมผง ปกป้องทารกให้ได้รับอาหารที่ดีที่สุด ในทางกลับกันเมื่อไหร่ที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน จรรยาบรรณจะหายไป ส่งผลกระทบกับคุณค่าและพัฒนาการสมวัยของเด็ก ไร้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผลเสียตกอยู่ที่เด็กโดยตรง และขอเรียกร้องพ่อแม่ทั่วประเทศ ออกมาส่งเสียงส่งสัญญาณต่อ สนช. ให้ยืนข้างความถูกต้องและปกป้องลูกหลาน มากกว่าหลงกลเกมของนายทุนและนอมินีที่หวังเพียงผลประโยชน์ส่วนตน” นายเชษฐา กล่าว

โดย MGR Online       19 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 เครือข่ายเภสัชกร รวบรวมรายชื่อยื่นต่อสภาเภสัชกรรม สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็ก 19 ธ.ค. นี้
       
       เภสัชกร จิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ปี 2559 หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข จังหวัดลำพูน ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเภสัชกรสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก แถลงว่า ตนและเภสัชกรที่ร่วมกันลงชื่อได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. นี้ โดยจะเสนอไปที่สภาเภสัชกรรมให้สนับสนุน และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
       
       “เรามีความเห็นว่านมแม่คืออาหารที่วิเศษสุดยอดที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็ก และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สร้างความผูกพันที่แม่มีต่อลูกและรัฐควรสนับสนุนส่งเสริม ปัจจุบันอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ การส่งเสริมการตลาดนมผงสำหรับเด็กและทารกเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลจูงใจให้แม่เลือกใช้นมผงมากกว่านมแม่ ที่ผ่านมา ธุรกิจนมผงได้ละเมิดหลักเกณฑ์สากลมาโดยตลอด มีการทำการตลาดที่ผิดจริยธรรม เช่น ลดแลกแจกแถม โฆษณาโอ้อวดเกินจริง
       
       “เมื่อรัฐบาลได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กเพื่อเป็นเครื่องมือกำกับการส่งเสริมการตลาดดังกล่าว ในฐานะที่เภสัชกรเป็นบุคลากรสุขภาพจึงควรมีส่วนสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว”
       
       เภสัชกร จิระ กล่าวอีกว่า พวกตนในฐานะสมาชิกสภาเภสัชกรรมจึงได้เสนอให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาและมีมติสนับสนุนกฎหมายนี้ โดยนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป และจะยื่นหนังสือข้อเสนอต่อสภาเภสัชกรรม พร้อมรายชื่อเภสัชกรในวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม นี้ เพื่อเป็นวาระพิจารณาในการประชุมกรรมการสภาเภสัชกรรม และจะดำเนินการแสดงออกสนับสนุนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป”

โดย MGR Online       18 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กรมอนามัยย้ำชัดร่าง พ.ร.บ.คุมการตลาดนมผง ช่วยปกป้องแม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ได้ห้ามซื้อ แต่คุมเข้มโฆษณาและส่งเสริมการตลาดทุกรูปแบบของนมผงสำหรับเลี้ยงทารก ไม่กระทบผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ 

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังจากการแถลงข่าวของนายกแพทยสภาและประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและเครือข่ายในประเด็นร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ (Code milk) นั้น ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสำคัญและเห็นความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนี้ แต่ประเด็นที่เห็นต่างกันในรายละเอียดนั้น ขอชี้แจงดังนี้

“ความจริงแล้ว ร่าง พ.ร.บ.นี้ จะช่วยให้แพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมา การโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดมีส่วนสำคัญที่ทำให้แม่และครอบครัวมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโภชนาการเด็ก ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.นี้จะช่วยปกป้องแม่และครอบครัวให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกอาหารได้อย่างเหมาะสม โดยไม่มีอิทธิพลของการส่งเสริมการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง”

ต้องเน้นย้ำ 3 ประการดังนี้ว่า ประการที่หนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดของนมผสมสำหรับทารกและเด็กเล็กของบริษัท คือห้ามโฆษณา และการส่งเสริมการตลาดทุกรูปแบบ แต่ไม่ได้ห้ามการซื้อขาย ดังนั้น เด็กที่จำเป็นต้องใช้นมผง ก็ยังหาซื้อได้ตามปกติ

ประการที่สอง ร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้ห้ามบุคลากรทางการแพทย์ให้คำแนะนำกับผู้เลี้ยงดูเกี่ยวกับนมผง และในความจริงบุคลากรมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่แม่และผู้ปกครองไม่ว่าจะเรื่องนมผงหรือนมแม่ ไม่ใช่บริษัท

ประการที่สาม ขอบเขตการควบคุมผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุ 0-3 ปีตามร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่สุดโต่ง เพราะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งทั้งองค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟ ก็มีคำแนะนำตามนี้ และเพื่อห้ามส่งเสริมการตลาดข้ามผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลของแพทย์บางท่าน เช่น ประเด็นเรื่องอาหารทางการแพทย์ บางท่านเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อเด็กที่จำเป็นต้องใช้อาหารทางการแพทย์ หรือนมผงสูตรสำหรับเด็กป่วยโดยเฉพาะ ขอชี้แจงว่า ปกติอาหารทางการแพทย์ก็ไม่ได้มีการโฆษณาอยู่แล้ว จึงไม่ใช่ปัญหา และแพทย์ก็ยังสามารถให้ข้อมูลเรื่องอาหารทางการแพทย์ได้ ทำการสาธิตการใช้และสั่งจ่ายแก่เด็กที่จำเป็นต้องใช้ได้ตามปกติ นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ. มาตราที่ 22 ยังมีข้อยกเว้นว่า สามารถบริจาคอาหารทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลได้ ดังนั้น หากมีเด็กป่วยที่จำเป็นต้องใช้อาหารประเภทนี้ ซึ่งมีราคาแพง โรงพยาบาลก็ยังสามารถรับบริจาคได้

“หลายท่านกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้จะกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาพยาบาล การให้ข้อมูลแก่แม่และครอบครัว ขอเรียนว่าท่านยังทำได้เหมือนเดิมตามบทบาทหน้าที่ ไม่ว่าเด็กจะกินนมแม่หรือนมผง นอกจากนี้ยังสามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นจริงและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายได้เช่นเดิม”

“ขอย้ำอีกครั้งว่า ตามคำนิยามของร่าง พ.ร.บ.นี้ ผลิตภัณฑ์ที่จะมีการควบคุมการส่งเสริมการตลาด คือนมที่มีจุดมุ่งหมายสำหรับเลี้ยงทารกและเด็กเล็ก หมายถึงว่า บนฉลากระบุว่าสำหรับเด็กที่อายุ 0-3 ปี ผลิตภัณฑ์นมทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นนมพาสเจอไรซ์หรือยูเอชทียี่ห้อต่างๆ เช่น นมจิตรลดา นมเปรี้ยว โยเกิร์ตไม่รวมอยู่ในขอบเขตของ พ.ร.บ.นี้”

“ส่วนอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็กประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่นม ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดการควบคุมแยกไว้ว่า ห้ามทำการส่งเสริมการตลาดในโรงพยาบาล และห้ามส่งเสริมการตลาดกับแม่และครอบครัวของเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ยังควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงการควบคุมในช่วงอายุอื่นๆ หรือในสถานที่อื่นๆ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


Fri, 2016-12-16
https://www.hfocus.org/content/2016/12/13158

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
รมว.สธ. ย้ำ พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดนมผงเด็ก ไม่ห้ามขาย ห้ามกิน แต่คุมโฆษณา - การส่งเสริมตลาด ช่วยเด็กกินนมแม่มากขึ้น ป้องกันให้เด็กเติบโตแข็งแรงสมวัย ชี้ คุมนมผงแค่วัย 1 ขวบ สุ่มเสี่ยงโฆษณานมเชื่อมโยงมาถึงวัยทารกได้
       

       นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยเพราะสนับสนุนให้เกิดการกินนมแม่และควบคุมการโฆษณาและการตลาดนมผง และกลุ่มคัดค้านโดยขอให้ลดการควบคุมจาก 3 ปี เหลือเพียง 1 ปี ว่า เจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. คือ ต้องการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และไม่ถูกสกัดด้วยการตลาดของนมผง ซึ่งกฎหมายนี้ไม่ได้มีการห้ามขาย หรือห้ามกินนมผง ไม่อยากให้มีการเบี่ยงประเด็นว่าจะเป็นการห้ามกินนมผง หรือนมผงไม่ดี แต่จะเป็นการมุ่งควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาด ลด แลก แจก แถม เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตมีพัฒนาการสมวัยที่สุด ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนคลอด จึงเป็นการป้องกันเด็กให้เติบโตสมวัยและแข็งแรงที่สุด ส่วนการกำหนดให้ครอบคลุมอาหารทารกและเด็กเล็กถึงอายุ 3 ปี ก็เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยที่ให้มีการควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กถึงอายุ 3 ปี
       
       “ส่วนการเห็นไม่ตรงกันนั้น เป็นความเห็นต่างของกลุ่มด้านวิชาการ และกลุ่มด้านปฏิบัติงาน ที่เกรงว่า การลดนิยามอาหารทารกและเด็กเล็กให้ครอบคลุมเพียงอายุเด็ก 1 ปี ท้ายที่สุดแล้วนมผงก็อาจทะลุมาถึงทารกอายุ 0 - 6 เดือนด้วย โดยอาจมีการโฆษณาอาหารช่วงวัยมากกว่า 1 ปี ในลักษณะที่เชื่อมโยง ทำให้เข้าใจในลักษณะว่าเป็นอาหารสำหรับที่อายุน้อยกว่านั้น จนอาจถึงเด็กวัย 0 - 6 เดือน เช่น การออกลักษณะ หรือสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้มีความคล้ายคลึงกัน ทั้งที่เด็กวัย 0 - 6 เดือนเป็นช่วงที่สมควรจะได้รับเพียงนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น” รมว.สธ.กล่าว

โดย MGR Online       20 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 ทันตแพทยสภาหนุน กม. คุมการตลาดนมผง ชี้ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงฟันผุในเด็กเล็ก และต้องมีมาตรการสนับสนุนอื่นให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มด้วย
       
       วันนี้ (28 ธ.ค.) ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ทันตแพทยสภาได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. .... ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เป็นอาหารธรรมชาติที่มีสารอาหารครบถ้วน ช่วยพัฒนาสมองและเสริมภูมิต้านทานที่จำเป็นต่อร่างกายองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้เด็กได้กินนมแม่อย่างเดียวถึงอายุ 6 เดือน และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น
       

       “การใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก หรืออาหารเสริมที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบแทนนมแม่จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เด็กฟันผุได้ง่าย” นายกทันตแพทยสภา กล่าวและว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของเด็กทุกคนให้มีโอกาสได้กินนมแม่ในระยะเวลาที่เหมาะสม ทันตแพทยสภาในฐานะสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... และขอสนับสนุนให้มีการควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กให้เป็นไปตามหลักสากล (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) ตามมติของที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก รวมทั้งขอเสนอให้มีมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ที่เกื้อหนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะแม่ในกลุ่มราชการ รัฐวิสาหกิจ และโรงงานอุตสาหกรรม


โดย MGR Online       28 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สปสช. หนุน ร่าง กม. คุมตลาดนมผง ชี้ ทารกได้รับนมแม่เต็มที่ ช่วยลดป่วย ลดค่ารักษาถึง 192 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เผย งบส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับทุกสิทธิ เดินหน้าส่งเสริมให้นมแม่ในที่ทำงาน
       
       จากกรณีที่มีกลุ่มบริษัทนมผงและเครือข่ายกุมารแพทย์บางคน ออกมาทักท้วง ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ว่า มีความสุดโต่ง กระทบกับโภชนาการของเด็กไทย ซึ่งกรมอนามัยยืนยันว่าไม่กระทบ เพียงแค่ส่งเสริมให้เกิดการกินนมแม่ และป้องกันการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดนมผง โดยยืนยันว่าไม่ได้ห้ามกินหรือห้ามขาย และช่วยให้มารดาได้รับข้อมูลตามความเป็นจริง
       

       วันนี้ (27 ธ.ค.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ซึ่งเป็นความสำเร็จจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยอย่างแท้จริง แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นต้นแบบของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในส่วนการควบคุมการทำตลาดนมผงกลับยังไม่คืบหน้ามากนัก ส่งผลให้อัตราการได้รับนมแม่ของทารกใน 6 เดือนแรกนั้นต่ำมาก ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า มีทารกเพียงร้อยละ 46 ที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชีวิต ทารกเพียงร้อยละ 12 ได้รับนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และเด็กเพียงร้อยละ 18 ได้รับนมแม่จนอายุ 2 ปี
       
       นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ขณะที่ข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์ The Lancet Breastfeeding Series 2016 เรื่อง “ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อสุขภาพ พัฒนาการเด็กและการพัฒนาประเทศ” พบว่า สำหรับในประเทศไทย มีการวิเคราะห์ว่าหากเด็กทุกคนได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ ประเทศไทยจะสามารถป้องกันการสูญเสียรายได้ถึง 192.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี จากความสามารถของสมองที่เพิ่มขึ้น และยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและปอดบวมถึง 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อลดการเจ็บป่วยของประชาชน
       
       “ในส่วนของบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับประชาชนทุกคนในทุกสิทธิสุขภาพนั้น บอร์ด สปสช. ได้กำหนดให้มีบริการส่งเสริมการให้นมแม่ในสถานที่ทำงานด้วย เพื่อส่งเสริมการให้นมแม่ โดยเป็นบริการส่งเสริมการให้นมแม่ของหญิงหลังคลอดบุตรเมื่อต้องกลับไปทำงานเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ประสานกับเจ้าของสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงานจัดให้มีช่วงเวลาพักระหว่างงานสำหรับการให้นมหรือปั๊มเก็บน้ำนม รวมถึงการอำนวยความสะดวกสถานที่และอุปกรณ์” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

โดย MGR Online       27 ธันวาคม 2559