ผู้เขียน หัวข้อ: “หมอธีระวัฒน์”เผยคนไทยตายจากการขาด “วิตามินบี 1” 12 คน จี้ อย.บรรจุลงบัญชียาหลัก  (อ่าน 617 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
“หมอธีระวัฒน์” เผย คนไทยตายจากการขาด “วิตามิน บี 1” 12 คน อัมพาต 80 คน จี้ อย. ปรับเพิ่มขนาด “วิตามิน บี 1” เป็น 100 มก. ต่อเม็ด บรรจุลงบัญชียาหลักฯ ด้าน สธ.- อย.ประสานเสียง อยู่ในบัญชียาหลักฯ ตั้งแต่ 10 - 100 มก. ทั้งชนิดกินและฉีด
       
       วันนี้ (19 ธ.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีปัญหาการขาดวิตามินบี 1 ว่า อยากขอให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำงานเชิงรุกกรณีการขาด วิตามิน บี 1 ในคนไทย โดยที่ จ.บึงกาฬ พบตัวเลขอัมพาต 80 คน เสียชีวิต 3 คน ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดวิตามินบี 1 โน้มนำให้เกิดภาวะติดเชื้อและหัวใจวายตาย พบที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 เสียชีวิต 3 คน และล่าสุดต้นปี 2559 ที่ จ.ระนอง เสียชีวิตอีก 6 คน และมีผู้ป่วยอาการหนัก อีก 6 คน แต่เมื่อได้รับการรักษาด้วยการให้วิตามินบี 1 ก็สามารถรอดมาได้ เช่นเดียวกับที่ จ.บึงกาฬ 80 คน เมื่อได้รับวิตามินบี 1 ก็ปลอดภัยและเดินได้ปกติ ทั้งนี้ เมื่อ ม.ค. 2559 ได้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับขนาด วิตามิน บี 1 เป็น 100 มิลลิกรัม (มก.) ต่อเม็ด และให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่ใช่ซื้อเอง แต่ยังไม่มีการตอบรับ
       
       “กรณีลูกเรือตายที่ระนองตั้งแต่ต้นปี ขณะนี้ กระทรวงต่างประเทศ ลงไปสอบสวนกับทางกรีนพีซ หมอแจ้งบอกทางระนองไปว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งนายตำรวจมาสอบสวนหมอและให้ปากคำ ลงบันทึก ถ่ายรูป พร้อมให้ผลทางห้องแล็บจากจุฬาฯ ว่านี่คือ การขาดวิตามินบี 1 และ ไม่ใช่ทารุณแรงงาน แต่เป็นในคนไทยทั่วไป เมื่อออกกำลังมาก กินอาหารที่ทำลาย บี 1 เช่น ปลาร้า ก็มีโอกาสเกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 และยิ่งหากไม่มีการเติมบี 1 เข้าร่างกาย โดยปกติร่างกายจะสะสมและนำมาใช้ ซึ่งเฉลี่ยวิตามินบี 1 จะหมดจากร่างกายไปภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตาม ควรหันมาใส่ใจการบริโภคโดยกินอาหารที่มีวิตามินบี 1 อย่างข้าวที่ไม่ขัดสี ธัญพืช ถั่วต่างๆ เป็นต้น” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
       
       นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที เช่น กลุ่มลูกเรือประมงที่ต้องออกจับปลาในทะเลมหาสมุทรนานเป็นเดือน โดยในช่วง 3 - 5 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงในกลุ่มลูกเรือประมงหลายเหตุการณ์ ได้กำชับให้สาธารณสุขจังหวัด ประสานไปยังสำนักงานประมงและสมาคมประมงในแต่ละจังหวัด แนะนำผู้ประกอบการประมง เตรียมความพร้อมก่อนออกเรือประมง โดยให้จัดเตรียมอาหารทดแทนวิตามิน บี 1 เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสงดิบ ข้าวโพด ลูกเดือย ฯลฯ นำขึ้นไปเก็บสำรองไว้บนเรือด้วย
       
       นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า หากขาดวิตามินบี 1 จะเริ่มต้นด้วยการมีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องผูก เป็นตะคริวบ่อยขึ้น หากมีอาการรุนแรงจะทำให้มีอาการแขนขาไม่มีแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หอบเหนื่อย หัวใจโต หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดี ภาวะขาดวิตามินบี 1 เป็นภาวะที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 สูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช อาทิ ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสงดิบ เป็นต้น หากพบลูกเรือประมงเริ่มมีอาการเบื้องต้นของการขาดวิตามินบี 1 ให้เริ่มให้วิตามินบี 1 ชนิดเม็ดรับประทานทันที หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบนำลูกเรือประมงเข้าพบแพทย์โดยทันที
       
       สำหรับในประชาชนทั่วไป สาเหตุที่ทำให้ขาดวิตามินบี 1 มีหลายสาเหตุ พบได้ในผู้ที่ออกกำลังมาก หรือกินอาหารที่ทำลายวิตามินบี 1 เช่น อาหารดิบๆ ภาวะติดเชื้อหรือการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่างที่สูญเสียวิตามินบี 1 เช่นโรคพิษสุราเรื้อรัง ไตวายที่ต้องล้างไต ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ต้องได้รับการเสริมวิตามินบี 1 ซึ่งในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีทั้งชนิดรับประทานขนาด 10-100 มิลลิกรัม ชนิดฉีด 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
       
       ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเพิ่มวิตามินบี 1 ในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น ต้องบอกก่อนว่าวิตามิน บี 1 ขนาด 10 - 100 มก. ทั้งประเภทกินและประเภทฉีดมีอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติตั้งแต่ก่อนปี 2540 สำหรับวิตามิน บี 1 จะใช้ในเป็นตัวช่วยในการย่อยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเหน็บชา เหนื่อยง่าย ใจสั่นเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น ขนาดการใช้ก็ต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ขาด และยาตัวดังกล่าวมีใช้อยู่ในโรงพยาบาลรัฐทุกโรงพยาบาลและในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนก็สามารถซื้อไปใช้ได้ อีกทั้งยาตัวนี้มีราคาค่อนข้างถูกมีขายทั่วไปตามร้านขายยา ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม วันที่ 22 ธ.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการยาหลักแห่งชาติ ก็ไม่มีประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้
       
       “ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคที่คิดว่าขาดวิตามินบี 1 ควรเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มในเรื่องวิตามินบี 1 ตามธรรมชาติก่อน และสำหรับผู้ที่เป็นโรคที่ทำให้ขาดวิตามิน บี 1 และกำลังใช้ยาดังกล่าวอยู่ อาจจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมของตัวยา เช่น อาหารสุกๆ ดิบๆ เมี่ยง ชา กาแฟ เป็นต้น ก็จะช่วยในเรื่องการขาดได้” ภก.ประพนธ์ กล่าว

โดย MGR Online       19 ธันวาคม 2559