ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.ชุมชนเช่นเดียวกันกับรพ.บางสะพานประสบปัญหาการเงินเพราะหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (อ่าน 619 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือสามห่วงและสองฐาน ฐานแรกคือฐานความรู้ ฐานสองคือฐานคุณธรรม ห่วงที่หนึ่งคือมีเหตุผล ห่วงที่สองคือ พอประมาณ และห่วงที่สามคือมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
       
       ปัญหาคือขณะนี้โรงพยาบาลของรัฐไม่ว่าจะโรงพยาบาลศูนย์ (ขนาดใหญ่) โรงพยาบาลทั่วไป (ขนาดกลาง) และโรงพยาบาลชุมชน (ขนาดเล็ก) ส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินอย่างรุนแรง (โปรดดูได้ใน เมื่อตูน Bodyslam ต้องวิ่งหาเงินช่วยโรงพยาบาล กับ ความล่มสลายของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ โรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยขาดทุนเพราะ ใคร? : บทวิเคราะห์หาสาเหตุ) อันมีสาเหตุมาจากการบริหารของ สปสช. ซึ่งบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยไม่ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การให้บริการทางการแพทย์ฟรีแก่ทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะการเงินเป็นมหาเศรษฐีเพียงใด หรือเมาเหล้าจนเกิดอุบัติเหตุซึ่งสิทธิประกันสังคมและประกันสุขภาพทั่วโลกจะไม่จ่ายเงินให้ (แต่แพทย์มีหน้าที่รักษา และคนที่ทำตัวเองต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อันเป็นหลักการสากลไม่เช่นนั้น คนจะไม่รับผิดชอบดูแลตนเองและมีพฤติกรรมแย่ในการดูแลสุขภาพ) ถือว่าเป็นการบริหารแบบไร้เหตุผล
       
       การให้บริการทางการแพทย์ฟรีแต่มีปัญหาความขาดแคลนและมีปัญหาคุณภาพในการรักษา และจะนำไปสู่ปัญหาภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะของประเทศในระยะอันใกล้ได้ เนื่องจากงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นปีละเกือบหมื่นล้านบาทและน่าจะแตะ 25% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดภายในไม่เกินสิบปี (โปรดดูได้ใน 1.3% หรือ 4% ของ GDP สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เป็นภาระทางการคลังจริงหรือ?) ย่อมถือว่าการบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช. ไม่อยู่บนหลักของความพอประมาณ ก่อปัญหาการคลังในระยะยาว ทั้งยังให้บริการทางการแพทย์ฟรีแต่มีคุณภาพที่มีปัญหา มีความขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น กรณี โรงพยาบาลบางสะพาน ล้วนแต่เป็นการบริหารแบบขาดความพอประมาณทั้งสิ้น
       
       การที่โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งปกติเมื่อมีเงินเหลือเช่นได้กำไรจากการให้บริการหรือได้รับเงินบริจาคก็จะเก็บไว้เป็นเงินบำรุง แต่ขณะนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีเงินบำรุงโรงพยาบาลติดลบ การที่โรงพยาบาลมีหนี้สินมากกว่าจนเงินสำรองร่อยหรอติดลบ ทำให้ไม่สามารถนำเงินไปซ่อมบำรุงหรือจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ทดแทนของเดิมย่อมส่งผลต่อคุณภาพการบริการและถือว่าทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอ กล่าวโดยสรุปว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งบริหารเงิน (และงานทางการแพทย์ ซึ่งกฎหมาย ไม่ได้อนุญาตให้ทำ) ไม่ได้อยู่บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสิ้น
       

       โรงพยาบาลชุมชนนั้นเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก เป็นโรงพยาบาลปฐมภูมิและอยู่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชนที่อยู่ห่างไกลในต่างจังหวัดต่างอำเภอ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กมีประชากรค่อนข้างน้อยในพื้นที่ที่รับผิดชอบเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับวิธีการจัดสรรเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการจัดสรรรายหัวตามจำนวนประชากร (Capitation) ทำให้เกิดปัญหากับโรงพยาบาลขนาดเล็กค่อนข้างมาก เนื่องจากขนาดที่เล็กกว่าแต่มีต้นทุนคงที่ (Fixed cost) สูง เพราะต้องมีค่าโสหุ้ยและค่าจ้างบุคลากรจำนวนหนึ่งที่อย่างไรก็คงต้องจ่ายไม่สามารถลดไปมากกว่านั้นได้ มีการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) ค่อนข้างน้อยกว่า ข้อมูลจากกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขพบว่าโรงพยาบาลชุมชนขณะนี้มีปัญหาทางการเงินเกือบถึงร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสองปีก่อนหลังจากที่เคยคลี่คลายมาแล้วในปี 2558
       
       กลุ่มประกันสุขภาพได้อธิบายว่าได้จัดประเภทดัชนีชี้วัดภาวะวิกฤตทางการเงินออกเป็น 7 ระดับ (ระดับ 1 คือเริ่มมีปัญหาและระดับ 7 คือมีปัญหารุนแรง โดยพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ซึ่งสะท้อนสภาพคล่อง เงินทุนสำรองสุทธิ การมีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ เป็นต้น โรงพยาบาลหลายแห่งมีปัญหาวิกฤติการเงินเรื้อรังอาการหนักบ้างเบาบ้างแตกต่างกันไป


        ที่น่าตกใจกว่าคือเงินบำรุงโรงพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชน ณ เวลานี้โรงพยาบาลชุมชนมากกว่าครึ่งหนึ่งทั่วประเทศมีเงินบำรุงโรงพยาบาลติดลบคือมีหนี้สินมากกว่าและทำให้เงินบำรุงที่เก็บสะสมมาร่อยหรอจนติดลบ การเป็นหนี้สินโดยติดค้างค่ายากับบริษัทยา หลายแห่งติดค้างเงินโอทีพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นปัญหาหนักและพุ่งขึ้นในช่วงสามไตรมาสหลังนี้


        ปัญหาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้เป็นปัญหาที่รอวันระเบิดออกมา ไม่ช้าก็เร็วระบบนี้จะไม่ยั่งยืน และไม่สามารถอยู่ได้ โรงพยาบาลทั้งหลายจะขาดทุนจนไม่อาจจะดำเนินการต่อไปได้ หรือไม่ก็ดำเนินการต่อไปได้ด้วยคุณภาพการรักษาหรือคุณภาพการบริการที่มีปัญหา
       
       ทางออกสำหรับปัญหานี้แท้จริงนั้นมีอยู่แล้วชัดเจนคือการทำตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (โปรดดูในบทความ แก้ปัญหาโครงการประชานิยม 30 บาทก่อนประเทศจะล่ม ด้วยแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำโรงพยาบาลให้เป็นของชุมชน ปฏิรูปสังคมไทยให้เข้มแข็ง) ต้องอาศัยความรู้และคุณธรรม สปสช. เองก็ต้องเสียสละอำนาจในการควบคุมและบริหารเงินลงไป เพราะวิธีการบริหารเงินแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกองทุนย่อย (ซึ่งทำไม่ได้ตามกฎหมาย) หรือการทำสัญญาผลงานกับโรงพยาบาลทุกขนาด ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำให้โรงพยาบาลไม่มีทางทำได้ และเป็นสัญญาที่อำนาจในการเจรจาต่อรองแตกต่างกันมาก การห้ามการร่วมจ่ายของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถหารายได้และเป็นการรอนสิทธิของคนไข้และประชาชนที่น่าจะมีสิทธิเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับตนเอง ควรส่งเสริมการร่วมจ่ายและการพัฒนาคุณภาพบริการให้ดีขึ้นและดึงดูดผู้ที่มีรายได้มาเป็นผู้ให้และผู้รับบริการในโรงพยาบาลของรัฐ (โปรดดูได้ในบทความ โค้งแห่งคุณค่าเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลของรัฐ : แก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงและแก้ปัญหาโรงพยาบาลของรัฐขาดทุน)
       
       อนาคตนั้นจะดีหรือจะเลว ต้องเริ่มต้นที่ปัจจุบัน ถ้ายังไม่ยอมแก้ไข ปัญหานี้จะบานปลาย และส่งผลกระทบต่อทั้งภาระทางการคลังของประเทศ และแน่นอนย่อมส่งผลต่อชีวิตของประชาชนโดยตรง

โดย อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์       
19 ธันวาคม 2559
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000125917