ผู้เขียน หัวข้อ: แพทยสภา---(พินิจ-พิจารณ์)  (อ่าน 3123 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
แพทยสภา---(พินิจ-พิจารณ์)
« เมื่อ: 10 เมษายน 2011, 22:49:35 »
แพทยสภา (ตอนที่ 1)

เมื่อปีพ.ศ.2545 ขณะผมเป็นประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กลุ่มสถาบันฝึกอบรมฯ (คือราชวิทยาลัยต่างๆซึ่งขณะนั้นมี13ราชวิทยาลัย ขณะนี้มี 14 ราชวิทยาลัย)ตกลงกันว่า จะส่งผู้แทนราชวิทยาลัยละ 2 คน เข้าสมัครรับเลือกตั้งจากแพทย์ทั่วประเทศให้เป็นกรรมการแพทยสภา เพราะสมัยนั้นราชวิทยาลัยต่างๆ มีความเห็นว่า แพทยสภาไม่ได้ส่งเสริมราชวิทยาลัยฯเท่าที่ควรในการฝึกอบรมและสอบสาขาต่างๆ อาจสรุปได้ว่าตอนนั้นทั้งแพทย์และประชาชนต่างไม่พอใจแพทยสภา แพทย์มักพูดว่า "แพทยสภาไม่เห็นทำอะไร ยกเว้นจำผิดหมอ!" และประชาชนมักพูดว่า "แพทยสภาไม่เห็นทำอะไรยกเว้นเข้าข้างหมอ!" สรุปคือโดนต่อทั้งจากแพทย์และประชาชน!

ราชวิทยาลัย ฯจึงเห็นควรให้ตัวแทนราชวิทยาลัยต่างๆ พยายามเข้าไปเป็นกรรมการแพทยสภาเพื่อบริหารให้ไปในทิศทางที่เราคิดว่าเหมาะ สม แต่ปรากฏว่า ผลเลือกตั้งออกมา มีผู้แทนราชวิทยาลัยต่างๆ ได้รับเลือกไม่กี่คน มีผม,คุณหมอวิทยา ศรีดามา คุณหมอสมศักดิ์ โล่ห์เลขา อาจารย์อรอนงค์ เพียรกิจกรรม ฯลฯ

ตอนนั้นผมยอมรับว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับแพทยสภาเลย ไม่รู้ว่า มีหน้าที่อะไร ในมุมมองของผมรู้แต่ว่า แพทยสภาไม่(ค่อย)มีเหตุผล เช่น แพทยสภาให้บางอนุสาขาของสาขาอายุรศาสตร์ เช่น หัวใจ ไต เลือด ฯลฯ จัดฝึกอบรมและสอบได้ในนามแพทยสภา แต่พอราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ขอให้อนุสาขาอื่นๆ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ ฝึกอบรมบ้าง แพทยสภาก็ไม่ยอม เมื่อเราโต้แย้งไป แพทยสภาก็ให้ราชวิทยาลัยจัดฝึกอบรมได้ แต่ประเด็นมีอยู่ว่า ถ้าราชวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ(จริงๆ แล้วราชวิทยาลัยก็เป็นผู้ดำเนินการทั้งนั้น) ก็จะเป็นผู้เซ็นในวุฒิบัตร แต่ถ้าเป็นอนุสาขาที่แพทยสภาอนุมัติ แพทยสภาเป็นผู้เซ็น ซึ่งแตกต่างทางกฎหมาย (แต่ไม่แตกต่างด้านความรู้ วิชาการ เพราะสมาคมแพทย์สาขาต่างๆ และราชวิทยาลัย ก็เป็นผู้ดูแลการฝึกอบรมอยู่แล้ว)

และในทางปฏิบัติ ที่จุฬาฯถ้าแพทย์ที่มาฝึกอบรมแบบไม่มีต้นสังกัด(free train) และเป็นอนุสาขาที่ขึ้นกับแพทยสภา ตอนนั้นจุฬาฯจะให้เงินเดือน แต่ถ้าเป็นอนุสาขาที่ขึ้นกับราชวิทยาลัยฯ จุฬาฯจะไม่ให้เงินเดือน! ผมต้องไปคุยกับท่านคณบดีพักใหญ่ ก่อนที่ท่านจะกรุณาให้เงินเดือนแพทย์ฝึกอบรมที่จัดการโดยราชวิทยาลัย (แต่ภายหลังเมื่อผมเป็นเลขาธิการแพทยสภา ผมทำให้ทุกอนุสาขาขึ้นอยู่กับแพทยสภาทั้งสิ้น)

ผมสมัครเป็นกรรมการแพทยสภาก็เพราะเพื่อนฝูงอยากให้สมัคร ถ้าได้รับเลือกก็คิดว่าจะขอเป็นผู้ฟัง ศึกษาหาความรู้ ช่วยทำเท่าที่ช่วยได้ พอครบเทอม 2 ปีก็หมดหน้าที่ แต่ที่ไหนได้ ที่ประชุมจับให้ผมเป็นเลขาธิการแพทยสภาเลย! กล่าวคือ กรรมการแพทยสภาทั้งหมดจะเลือกนายก และนายกจะเป็นผู้เลือกเลขาธิการ ตอนนั้นคุณหมอสมศักดิ์ได้เป็นนายก ท่านก็เลือกผมเป็นเลขาธิการ (คงเป็นข้อแม้ของกรรมการแพทยสภาในตอนเลือกท่านเป็นนายก เพราะท่านไม่รู้จักผมเลยตอนนั้น)

ผมพยายามปฏิเสธไม่ยอมรับ แต่ท่านนายกและกรรมการหลายท่านก็ขอให้ผมรับ จริงๆ แล้วไม่น่าเป็นไปได้ ที่จะเอาผู้ที่เข้ามาใหม่เอี่ยม ที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยเป็นกรรมการแพทยสภามาก่อนเป็นเลขาธิการเลย เพราะเลขาธิการก็คือ ผู้ที่ขับเคลื่อนแพทยสภาไปในทิศทางที่ควรจะไป เป็นผู้ที่ดูแลทุกอย่างของแพทยสภา ส่วนตำแหน่งนายก(สมัยนั้น)เป็นเพียงหัวหน้าในนามเท่านั้น เลขาธิการคือ ผู้คิด ผู้วางแผน ผู้ทำงาน ฯลฯ

ปฏิเสธอย่างไรก็ไม่ได้ รวมทั้งคนที่รู้จักผมขอให้รับด้วย ผมก็รับด้วยความไม่เต็มใจ ด้วยความกลัว ที่กลัวและไม่เต็มใจคือ กลัวว่าจะทำงานไม่ได้เต็มที่ ไม่ดี ที่ประชุมควรจะเลือกผู้ที่เป็นกรรมการแพทยสภามาก่อนแล้ว มีประสบการณ์ทางด้านนี้มาบ้างแล้ว ยอมรับเลยว่า 3 วันแรกผมปวดหัว(จริงๆ)มาก พยายามคิด วางแผน ว่าผมควรจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดได้อย่างไร

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
วันที่ 10/4/2011
....................................................

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
Re: แพทยสภา---(พินิจ-พิจารณ์)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 27 เมษายน 2011, 21:23:40 »
แพทยสภา (ตอนที่ 2) (พินิจ-พิจารณ์)

ผมปวดหัวและกลุ้มใจมากที่พอเป็นกรรมการแพทยสภาวาระแรก ก็ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการทันที ผมไม่กลัวเรื่องทำงานหนัก แต่กลัวไม่มีความรู้ที่จะทำหน้าที่สำคัญนี้ให้ดี สมกับที่ท่านนายกและกรรมการท่านอื่นๆ (รวมทั้งประชาชน) กรุณามอบความไว้วางใจให้ แน่ละผมถือเป็นเกียรติ เป็นตำแหน่งที่สูงสุดในชีวิตตอนนั้น ผมรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะตำแหน่งนี้ดูแลแพทย์และประชาชนทั้งประเทศ!

แต่ผมเป็นคนขยัน เป็นคนสู้ คุณพ่อ(พล.ต.อ.พิชัย กุลละวณิชย์)สอนไว้เสมอว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น และผมเป็นคนช่างคิด วางแผน(เช่นคุณพ่อสั่งให้เป็นหมอ ทั้งๆที่ผมอยากเป็นตำรวจ ผมจึงไปวางแผนจนได้เรียนแพทย์ โดยคุณพ่อหรือใครๆก็ตาม ไม่ได้ช่วยผมคิดเลย ต่อมายังวางแผนการสอบ MRCP หรือ Board Medicine ของอังกฤษ ตามที่คุณพ่อสั่งอีก(!) ซึ่ง 100 คนสอบจะผ่านเพียง 30 คนในสมัยนั้น

ผมจึงมาคิด หาข้อมูล วางแผนว่า จะทำอย่างไร ผมจึงจะเป็นเลขาธิการแพทยสภาที่ดี ที่ทำให้ทั้งแพทย์ ประชาชน NGO และรัฐบาล พอใจผลการทำงาน พูดง่ายๆว่า ทำให้มี win-win situation สำหรับประชาชน และแพทย์ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย รัก เคารพ ศรัทธาซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะแพทย์จะอยู่โดยไม่มีประชาชนไม่ได้ และประชาชนก็ต้องมีแพทย์

เหตุผลที่ได้เป็นเลขาฯคงเป็นเพราะผมเคยเป็นรองคณบดีที่จุฬาฯ นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย, ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, สอนวิชาแพทย์ และการสร้างเสริมสุขภาพ อาหาร ออกกำลังกาย พฤติกรรมต่างๆสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีทั่วประเทศ ปีละ 20-30 ครั้ง โดยไม่ได้ทำคลินิกส่วนตัวหรือทำที่โรงพยาบาลเอกชน ตั้งแต่อายุ 38 ปีตอนเป็นรองคณบดี และยังเป็นประธานมูลนิธิแพทย์เพื่อประชาชนรวม 4 ปีอีกด้วย ซึ่งหลักการคือ เชิญแพทย์ที่มีความรู้ ที่สามารถพูดสื่อกับประชาชนได้ดี ที่ไม่เป็นนักธุรกิจการแพทย์(มากเกินไป)มาบรรยายให้ประชาชนฟังฟรี 70 ครั้งๆ ละ 500-1,000 คน ซึ่งผมต้องไปพูดเปิด และปิดทุกครั้ง จนเป็นที่รู้จักพอสมควรของสื่อมวลชน

ผมมีเวลาบ้างก่อนจะเริ่มงานจริงๆ จึงไปหาข้อมูลด้วยการดู พรบ.แพทยสภา 2525 ซึ่งผมไม่เคยอ่านมาก่อน และได้ไปหาท่านเลขาธิการตอนนั้นคือ ท่าน ศ.นพ.ประมวล วีรุตมเสน ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่จุฬาฯ เป็นอาจารย์ทางสูตินรี ที่ผมเคยทำงานด้านต่างๆกับท่านมาบ้าง ก็คุยถึงงาน หน้าที่ ผมถามท่านบางประเด็น เช่น ให้ความรู้ประชาชนบ้างหรือไม่ ออกไปเยี่ยมแพทย์ต่างจังหวัดบ้างหรือไม่ มีประชุมผู้บริหารแพทยสภา นอกเหนือจากประชุมประจำเดือนทุกวันพฤหัสที่ 2 หรือไม่ ฯลฯ คำตอบทั้งหมดคือ ไม่ (เท่าที่ผมจำได้เพราะนี่ก็ 8 ปีมาแล้ว) ไม่ไปเยี่ยมแพทย์เพราะไม่มีงบฯและไม่มีเวลา ฟังดูคล้ายๆ ท่านทำงานอยู่คนเดียวในฐานะเลขาธิการ

จาก พรบ.แพทยสภา พ.ศ.2525 ซึ่งถือเป็นคู่มือของแพทยสภา เป็นคัมภีร์ ผมอ่านทั้งเล่มอย่างรวดเร็ว แต่ประเด็นที่คิดว่าสำคัญที่สุดอยู่ที่มาตรา 7 ซึ่งอยู่ในหมวด 1 โดยแพทยสภามีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม

(2) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพในทางการแพทย์

(3) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก

(4) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข

(5) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ

(6) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย

ถ้าท่านอ่านให้ดี อ่านแล้วอ่านอีก นำทั้ง 6ข้อมายำ พอที่จะสรุปได้ว่า แพทยสภามีหน้าที่ดูแล "ความดี" และ "ความเก่ง (วิชาการ)" ของคุณหมอทั้งหลาย ผมจึงถือเอาทั้ง 6 ข้อเป็นแนวทางการทำงาน

โอกาสหน้าจะขอเล่าการทำงานของผมต่อไป

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
สมาชิกวุฒิสภา

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
Re: แพทยสภา---(พินิจ-พิจารณ์)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 17 พฤษภาคม 2011, 21:51:32 »
แพทยสภา (ตอนที่ 3) (พินิจ-พิจารณ์)

ระหว่างที่ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการแพทยสภาและรอเข้ารับตำแหน่ง ผมพยายามศึกษาหาข้อมูลว่าเลขาธิการมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง แพทยสภามีหน้าที่อะไรบ้าง อย่างที่ได้สรุปไว้แล้ว แพทยสภามีหน้าที่ดูแลเรื่องวิชาการ หรือการศึกษาของแพทย์ ตั้งแต่ พ.บ. ที่โรงเรียนแพทย์ ตามด้วยการฝึกอบรมและสอบเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาแพทย์ต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ ฯลฯ อนุสาขาแพทย์ต่างๆ และการศึกษาต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้แพทยสภามีนโยบายกว้างๆ แต่รายละเอียดทางปฏิบัติเป็นหน้าที่คณะแพทยศาสตร์ต่างๆ (พ.บ.)ของราชวิทยาลัยต่างๆ (board หรือสาขาแพทย์ต่างๆ) และสมาคมแพทย์ต่างๆ (sub board หรืออนุสาขา) นอกจากนี้ยังมมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชน และให้ข้อเสนอแนะความคิดเห็นแก่รัฐบาลด้านการสาธารณสุขด้วย

แพทยสภายังต้องดูแลการสอบได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพหรือ licence สำหรับแพทย์ที่จบจากทุกคณะแพทย์และจากต่างประเทศ สำหรับนิสิตแพทย์ทุกคนที่เข้าเรียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ก่อนหน้านั้นมีเฉพาะบัณฑิต ม.รังสิตและจากต่างประเทศเท่านั้น ที่ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแพทยสภา

แพทยสภายังมีหน้าที่ตรวจสอบความพร้อมของการตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ สถาบันใดที่ต้องการเปิดคณะแพทยศาสตร์นอกเหนือจากได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยและรัฐบาลแล้ว ยังต้องผ่าน 2 ขั้นตอนของแพทยสภาคือหนึ่ง ต้องมีหลักสูตรที่เหมาะสม ถูกต้อง ตามมาตรฐานที่แพทยสภาตั้งไว้ โดยมีกลุ่มสถาบันคณะแพทยศาสตร์ต่างๆเป็นผู้ร่วมมือวางมาตรฐาน และสอง ต้องมีสถานที่ อุปกรณ์ ห้องประชุม คณาจารย์ ฯลฯ ตามที่ควรจะมี ถ้าครบตามกฎเกณฑ์ที่แพทยสภาวางไว้ ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ปัญหามีอยู่ว่า สถาบันที่อยากเปิดคณะแพทยศาสตร์ใหม่ ไม่ทำตามขั้นตอน แต่มาขอให้แพทยสภาอนุมัติ หรือไม่ขอแต่จะเปิดเลย ซึ่งเราให้ไม่ได้ ถ้าไม่ทำตามกติกา หรือทำแต่ไม่ได้มาตรฐานที่วางไว้ เมื่อไม่ได้ก็มักหาว่าแพทยสภาขัดขวางการพัฒนาประเทศ ขัดขวางความมั่นคง ฯลฯ จริงๆแล้วถ้าทำตามกติกาก็ไม่ต้องมาอ้อนวอนขอความกรุณา ถ้าทำตามเกณฑ์ เราต้องให้อยู่แล้ว แต่ถ้าขอให้เราทำผิด ใครจะทำได้!?

นอกจากนั้นแพทยสภามีหน้าที่ดูแล"ความดี"หรือความมี(หรือไม่มี)จริยธรรมของแพทย์ ก่อนหน้านั้นรู้สึกว่าแพทยสภาตั้งรับ ใครร้องเรียนแพทย์มา ถึงเข้าไปตรวจสอบ ถ้าไม่ร้องเรียนก็ไม่ทำอะไร ตอนผมมาใหม่ๆจึงไปหาข้อมูลเกี่ยวกับการฟ้องร้องแพทย์ จะได้หาทางแก้ไข โดยเฉพาะการป้องกัน

จากการทราบหน้าที่แพทยสภา จึงทราบว่า เลขาธิการเป็นผู้ที่วางแผนการทำงานทั้งหมดของแพทยสภา ผมจึงไปขอพบเพื่อปรึกษาหารือ ขอความเห็นท่านเลขาธิการสมัยนั้น คือ ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ประมวล วีรุตมเสน ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่จุฬาฯว่า ท่านจะแนะนำผมอย่างไร และได้เรียนถามท่านไปว่า หนึ่งท่านเดินทางไปเยี่ยมแพทย์ต่างจังหวัดบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ได้ไปเพราะไม่ว่างและไม่(ค่อย)มีงบประมาณที่จะไป ทราบว่าตอนนั้นท่านหรือเลขาธิการแพทยสภา ทำงานอยู่คนเดียว ตอนนั้นทราบว่า แพทยสภาได้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลปีละ 1 ล้านบาทท่านั้น แต่มีรายจ่ายถึงประมาณ 25 ล้านบาท! และสอง ท่านมีโปรแกรมให้ความรู้แก่ประชาชนหรือไม่ คำตอบก็คือไม่มี

ผมได้ไปดูปัญหาของการฟ้องร้องในอดีต ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจมาก ผมสามารถสรุปได้ว่าการฟ้องร้องแพทย์เกี่ยวข้องกับ "ความดี" (จริยธรรม) และความ"เก่ง"(วิชาการ)ของแพทย์ทั้งนั้น ซึ่งผมจะกล่าวต่อไปในโอกาสหน้า

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
วันที่ 15/5/2011