ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิรูป 'ประกันสังคม' กระชับพื้นที่สุขภาวะพลเมืองชั้น 2  (อ่าน 1346 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
บ่นกันมากว่า 10 ปีแล้ว สำหรับบริการขั้นพื้นฐานของคนทำงานประจำ อย่าง 'ระบบประกันสังคม' เพราะนอกจากจะรับประกันเงินที่เสียกันแต่ละเดือนแล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะลืมรับประกันความสะดวกและคุณภาพเวลาไปใช้บริการด้วย
       
       เอาง่ายๆ แค่เปรียบเทียบกับบัตรที่เกี่ยวกับบริการด้านสาธารณสุขอื่นๆ อย่าง ‘บัตรทอง’ ของสำนักงานประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับบัตรเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างบัตรข้าราชการ และบัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ มองมุมไหนบัตรประกันสังคมก็ยังดูด้อยกว่าชัดๆ
       
       เพราะไหนจะเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า (3 เปอร์เซ็นต์จากเงินประจำ) แต่กลับจำกัดการรักษาอยู่แค่โรงพยาบาลเดียว (เฉพาะแห่งที่เลือก) หรือแม้แต่คุณภาพการรักษา หลายคนถึงกลับต้องส่ายหน้า เพราะนอกจากจะ 2 มาตรฐานตัวจริง จ่ายเงินได้บริการแบบหนึ่ง ใช้บริการก็เป็นบริการอีกแบบ (ซึ่งแย่กว่า)
       
       เจอแบบนี้หนักๆ ประกอบช่วงนี้ประเทศกำลังยุคในยุคปฏิรูป หลายคนเลยถือโอกาสทอง กระตุกหนวดถามรัฐบาลแบบแรงๆ สักหน่อยว่าเมื่อไหร่จะปฏิรูปให้ระบบประกันสังคมเสียที เผื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนกับเข้ามาบ้าง
       
       ร้อนไปถึง 2 กระทรวงเจ้าภาพใหญ่อย่าง กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานต้องเร่งวางแผนการทำงานใหม่ว่าจะเอายังไงดี ซึ่งสุดท้ายก็ขอเริ่มต้นด้วยการขยายบริการประกันตนให้ครอบคลุมโรงพยาบาลรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั่วประเทศ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ประกันตนเข้ากับโรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกยิ่งขึ้น จากเดิมที่ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐได้เพียง 1 แห่ง เพื่อจะได้ไม่มาว่ากันทีหลังว่า ใช้บริการประกันสังคมนั้นช่างแสนลำบากเหลือเกิน
       
       เห็นสรุปที่ออกมา หลายคนคงเริ่มใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะอย่างน้อยๆ ก็เริ่มเห็นทิศทางความเปลี่ยนแปลงของระบบเจ้าปัญหานี้อยู่รำไร แต่ในอีกมุมหนึ่ง หลายคนยังมึนตึ้บไม่รู้ว่า เพราะแน่ใจว่า สุดท้ายเรื่องนี้จะลุกลามไปได้ไกลถึงการรื้อระบบหรือไม่
       
       ก็เลยขอหยิบยก ประเด็นนี้มาขยายมุมสักหน่อย เพื่อจะได้รู้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว ก้าวย่างแรกของปฏิรูประบบประกันสังคมนี้สุดท้ายจะให้อะไรแก่คนทำงานได้บ้างหนอ
       
       ปฐมบท (ใหม่) ประกันสังคม
       
       ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวออกมาอย่างค่อนข้างเป็นทางการว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะมอบสิทธิ (พิเศษ) อันพึงได้แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยการขยายบริการประกันตนให้ครอบคลุมโรงพยาบาลรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั่วประเทศ
       
       เพราะจากรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่ระบุถึง การได้รับความเสมอภาคทางด้านสุขภาพของบุคคล แสดงให้เห็นว่า การเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนของ สปส. ไปเป็นค่าดูแลสุขภาพว่าถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) ดูแลสุขภาพชาวไทยทั้งประเทศในมาตรฐานเดียวกันโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ทั้งนี้ก็ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวดังกล่าวที่ช่วยยกระดับระบบประกันสังคม
       
       เรียกว่าเป็นหลักประกันสุขภาพของชาวไทยที่เหลื่อมล้ำมาหลายปี สำหรับการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของบุคคลผู้เสียภาษีของ สปส.และบุคคลธรรมดาที่ใช้สิทธิของสำนักงาน สปสช.
       
       การขยับให้ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกแห่งทั่วประเทศ อย่างน้อยนี่ก็ถือเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปประกันสังคมที่ช่วยการันตีว่าสุขภาพของประชาชนผู้ชำระภาษี จะได้รับมาตรฐานบริการด้านการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
       
       นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. เล่าถึงการเริ่มต้นการขยายสิทธิฯ ว่า มาจากทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอเข้ามาเป็นเครือข่ายหลักในการให้บริการ เพื่อปรับปรุงการให้บริการของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจะได้รับการบริการได้สะดวกยิ่งขึ้นจึงกระจายไปยังโรงพยาบาลรัฐที่มีรองรับอยู่จำนวนมาก
       
       “สธ. เองมีแนวคิดว่าถ้าทำให้ผู้ประกันตนมาเลือกเขาเยอะขึ้น โดยการให้เป็นเครือข่ายกันเองทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ดีประชาชนก็เข้าถึงบริการสะดวก ซึ่งประกันสังคมก็เห็นด้วย ถ้าสธ. ทำเองเงียบๆ เรื่อยๆ ก็เหมือนว่าผู้ปฏิบัติบางแห่งก็ยังไม่มีความมั่นใจ ก็ต้องให้เป็นความรู้ เป็นความร่วมมือร่วมกัน ก็น่าจะทำให้ทุกคนรับรู้ ผู้ให้บริการก็มีความมั่นใจ ประชาชนก็ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่”
       
       นพ.สุรเดช เผยว่าแนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ปี 2539 ให้ใช้บริการโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายเดียวกันได้ทุกที่ แต่การปฏิบัตินั้นยุ่งยาก รวมถึงไม่มีการประชาสัมพันธ์ ทำให้ผู้ให้บริการบางส่วนก็ปฏิบัติแบบยังไม่เข้าใจ
       
       “พอทางผู้บริหารทั้งสอง (สธ.และสปส.) เห็นว่าผู้ประกันตนได้ประโยชน์จริงๆ ก็มีการมาคุยกันว่าผู้ให้บริการกังวลอะไรบ้าง สปส. สนับสนุนอะไรได้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ซึ่งปัญหาเดิมคือทางโรงพยาบาลไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจในการให้บริการ ทีนี้เราเลยให้ปฏิบัติกันอย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าอีก 2 เดือนก็น่าจะให้บริการได้ และในตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยในรายละเอียด ว่า สธ.และ สปส. ต้องทำอะไรกันบ้าง ตอบสนองอะไรกัน”
       
       สิ่งที่ส่งผลดี ที่ชัดเจน หากมีการปรับการให้บริการก็เปรียบเสมือนกับว่าผู้ประกันตนมีโครงข่ายทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาล ขนาดเล็ก ใหญ่ หรือระดับชุมชนก็ให้บริการได้สะดวก เข้าถึงบริการ คลายความกังวล และไปแล้วไม่ต้องเสียเงิน เข้ารับบริการ
       
       “แม้เป็นคนกทม. เลือกบริการโรงพยาบาลในกทม. ไปเที่ยวเชียงใหม่ หาดใหญ่ ก็เข้าบริการโรงพยาลที่นั่นได้เลย ไม่จำเป็นว่าฉุกเฉินหรือไม่ ไม่ต้องมานั่งกังวลอะไรเลย”
       
       ส่วนสิทธิในการรับบริการทุกอย่างเหมือนเดิม กรณีการรักษาต่อเนื่องไม่เกิน 180 วัน ขณะนี้ทางกรรมการ สปส. ก็รอมติเห็นชอบที่จะยกเลิกการจำกัดสิทธิตรงนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิตรงนี้อย่างเต็มที่
       
       ย้อนมองปัญหา
       
       สำหรับข้อเรียกร้องดังกล่าวทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้มีการผลักดันขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้าน บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัยจากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการปฏิรูประบบบริการทางการแพทย์ในสำนักงานประกันสังคมเสียใหม่
       โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีข้อตกลงไว้กับสำนักงานฯ ซึ่งเหตุผลก็มาจากข้อติดขัดบางประการเวลาที่เกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน ทำให้เข้าไม่ถึงโรงพยาบาลที่ตัวเองเลือกเอาไว้ได้ ส่งผลให้บางครั้งก็ต้องจ่ายเงินไปก่อนก็มี
       
       "จริงๆ ระบบพวกนี้น่าจะทำได้นานแล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องยอมรับว่าสำนักงานประกันสังคมเองก็ต้องบริหารงานอยู่หลายเรื่อง ไม่ใช่บริการทางการแพทย์อย่างเดียว เพราะฉะนั้นความถนัดหรือความสามารถในการบริหารจัดการในเชิงทางการแพทย์จึงมีความด้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น สปสช. ที่ทำงานด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว”
       
       อย่างไรก็ตาม เรื่องการเข้าถึงได้ทุกโรงพยาบาลนี้ถือเป็นคนละเรื่องกับการคุณภาพของบริการ ซึ่งจะต้องมีระบบควบคุมด้วย เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาของหน่วยงานนี้มาก ซึ่งเหตุผลที่สำคัญก็มาจากปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่จะเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้
       
        "โครงสร้างของ สปสช. เขาจะมีคณะกรรมการพัฒนามาตรฐานบริการทางการแพทย์อยู่ ซึ่งแต่งตั้งจากผู้แทนหลายฝ่าย แต่ สปส.จะมีคณะกรรมการทางการแพทย์เหมือนกัน แต่ถ้าพูดถึงความถนัดความเชี่ยวชาญ ต้องยอมรับว่า สปสช.มีความถนัดมากกว่า เพราะเขากำเนิดมาจากทางกระทรวงสาธารณสุขที่มีข้อมูลเพียงพอ ขณะที่ สปส. มีหมอประจำน้อยมาก และนอกนั้นการสร้างคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานก็ยังเป็นเรื่องเฉพาะกิจ หรือสร้างขึ้นมาเพื่อประชุมเป็นครั้งคราว ก็เลยขาดการพัฒนาในแง่คุณภาพอย่างต่อเนื่องหรือสอดคล้องกับผู้ประกันตนส่วนใหญ่”
       
       เพราะฉะนั้นการที่ประชาชนจะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างยุติธรรม บัณฑิตย์ เสนอแนะว่าจะต้องมีการปฏิรูปเชิงบริหารก่อน โดยต้องไม่ให้หน่วยงานนี้ยึดโยงอยู่กับระบบราชการแบบปัจจุบัน เพื่อจะได้เกิดความยืดหยุ่นคล่องตัวในการสรรหาบุคลากรที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจด้านประกันสังคมเข้ามาบริหารอย่างโปร่งใส และพัฒนาแนวทางของหลักประกันเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกันตนมากที่สุด
       
       แก้แล้วแต่ 'ยังไม่ถึงใจ'
       
       การขยายสิทธิการประกันตนให้ครอบคลุมโรงพยาบาลสังกัดสธ. ทั้ง 94 แห่งทั่วประเทศนั้น เป็นเรื่องที่สร้างความเท่าเทียมในด้านการบริการสาธารณสุข อารยา พางาน พนักงานออฟฟิศ บอกเล่าความรู้สึกว่า หากประกันสังคมสามารถที่จะให้ใช้บริการทุกโรงพยาบาลได้ก็คงจะดีมาก เพราะที่ผ่านมาก็รู้สึกไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ ซึ่งต่างจากข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับเงินมากกว่าพวกประกันสังคมในการรักษาพยาบาล
       
        “คนที่ใช้สิทธิบัตรทองยังได้สิทธิรักษาดีกว่าประกันสังคมอีก ระบบสิทธิในการรักษามันเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่คนไทยควรได้รับอยู่แล้ว”
       
       ด้านผู้สื่อข่าวอย่าง เบญจรัตน์ ทองศิลา แสดงทัศนะเกี่ยวกับระบบประกันสังคมว่าเป็นการเริ่มต้นของสิทธิที่ผู้ประกันตนควรได้รับ
       
       “หากผู้มีประกันสังคมใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลก็คงดี เพราะประกันสังคมจำกัดสิทธิทั้งโรงพยาบาล และจำนวนครั้ง แล้วทุกวันนี้เราต้องเสียเงินในส่วนนี้ทุกเดือนหากมีการใช้ได้ทุกโรงพยาบาลจะถือว่า สังคมให้สิทธิมนุษย์เท่าเทียมกันเสียที และหากจะดีกว่านี้ก็ไม่ควรจำกัดจำนวนครั้งในการเข้ารักษาเพราะคนจะเจ็บจะป่วยไม่เลือกเวลาหรอก ให้ใช้ได้เหมือนสิทธิบัตรทองเลยยิ่งดี เพราะเราเสียเงินแต่ละเดือนก็อยากให้มันสะดวกสบายขึ้นไม่ใช่แย่ลง”
       
       ...........
       
       ถึงแม้วันนี้ 'ประกันสังคม' ยังมีข้อด้อยให้ยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกพอสมควร แต่นี่ก็ถือเป็นก้าวแรกที่จะปฏิรูปให้ระบบประกันสังคมที่ต้องหักเงินจากรายได้ประจำไปทุกเดือนเพื่อไปสมทบกองทุนจะได้มีการปรับปรุงทั้งเรื่องความสะดวกสบายในการหาสถานพยาบาลเพื่อใช้บริการขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก แม้จะเป็นแค่เครือข่ายโรงพยาบาลรัฐของกระทรวงสาธารณสุขก็ตาม ส่วนในเรื่องคุณภาพของการให้บริการและการรักษาก็ต้องต่อสู้กันต่อไปในแผนปฏิรูปที่จะดำเนินการไปตามขั้นตอนในอนาคต

ASTVผู้จัดการรายวัน    16 พฤษภาคม 2554