ผู้เขียน หัวข้อ: อึ้ง!ผู้สูงอายุตรวจคัดกรองโรคตามนโยบาย สปสช.แค่ 2 ล้าน พบด้อยบริการ-จ่ายยาเปลือง  (อ่าน 1232 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
สวปก.ชี้ผู้สูงอายุไทยเข้าไม่ถึงระบบริการสุขภาพที่รัฐจัดให้ อึ้ง! พบผู้สูงอายุตรวจ คัดกรองโรค ตามนโยบาย สปสช.แค่ 2 ล้าน จาก 8 ล้าน เหตุระบบแผนการฟื้นฟูสุขภาพยังด้อยทั้งเรื่องบริการ-การจ่ายยาเปลือง คาดอีก 10 ปี มีผู้สูงอายุเพิ่ม ค่าใช้จ่ายจะมากกว่าเดิมเกือบ 4 เท่าตัว เสนอ สปสช.เร่งจัดระเบียบบริการคัดกรองโรค และฟื้นฟูสุขภาพรองรับ
       
       วันนี้ (12 พ.ค.) นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวในงานเสวนา เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำในการรับบริการบริการสุขภาพของผู้สูงอายุ” ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. ซึ่งจัดโดยความร่วมมือของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 ระหว่างปี 2551-2552 พบว่า มีผู้สูงอายุเพศชาย 4% และเพศหญิง 3% เป็นโรคเบาหวานไม่รู้ตัว ผู้สูงอายุเพศชาย 20% และผู้สูงอายุเพศหญิง 16% เป็นความดันโลหิตสูงไม่รู้ตัว แม้ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจัดให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองโรคประจำทุกปี แต่ปรากฏว่าในปี 2553 มีผู้สูงอายุได้รับการคัดกรองเพียง 2 ล้านคนจาก 8 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด
       
       “สำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพต้องครอบคลุมทั้งการป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแสดงความต้องการ แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน แสดงให้เห็นถึงความต้องการบริการดังกล่าว โดยดูจากจำนวนผู้สูงอายุที่นอนโรงพยาบาลนานเกิน 2 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากหลักพันคนในปี 2551 เป็น 16,000 คนในปี 2553 สาเหตุหลักมาจากการจัดระบบบริการสุขภาพด้านการฟื้นฟูยังไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ” นพ.ถาวรกล่าว
       
       นพ.ถาวรกล่าวว่า จากการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีสมมติฐานว่าประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 12% ในปี 2553 เป็น 17% ส่วนในปี 2563 พบว่า ค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพจะเพิ่มขึ้นเป็น 37% จาก 34% ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือเกือบ 4 เท่าตัว โดยปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มอัตราการใช้บริการ และค่ายา รัฐจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการ ปรับปรุงระบบบริการสุขภาพเชิงรุกและเชื่อมโยงโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม และจัดระบบบริการฟื้นฟูสภาพที่เป็นระบบต่อเนื่อง เพื่อดูแลสุขภาพในระยะยาว
       
       ด้านนพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้จัดการกองทุนพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ สปสช.กล่าวว่า สำหรับนโยบายสาธารณสุขของผู้สูงอายุโดยเฉพาะนั้น สปสช.ยังไม่มีให้เห็นในภาพใหญ่ แต่มีการจัดรายการดูแลในลักษณะรายโรค โดยไม่ได้เน้นกลุ่มเป้าหมายใดเป็นพิเศษ เช่น การคัดกรองต้อกระจก หรือการให้บริการรักษาฟันเทียม ซึ่งในอนาคตจะให้บริการสาธารณสุขแก่กลุ่มผู้สูงอายุเป็นพิเศษหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 พฤษภาคม 2554