ผู้เขียน หัวข้อ: WHO ตั้งเป้าลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง 10% ลดตายจากโรคไม่ติดต่อทั่วโลก 25% ในปี 2025  (อ่าน 784 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
WHO หนุนเพิ่มกิจกรรมทางกาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งเป้ามีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอลดลง 10% และลดอัตราตายจากโรค NCDs ทั่วโลก 25% ภายในปี 2025 เน้นกลุ่มเด็ก - วัยรุ่น หลังพบ 80% เนือยนิ่ง ขณะที่งานประชุม ISPAH 2016 สุดคึกคัก ไทย ท้าผู้ร่วมประชุมไทย - ต่างชาติ วิ่ง BOGIE99
       
       เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) หรือ ISPAH 2016 Congress ดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการแผนกโรคไม่ติดต่อและอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก องค์การอนามัยโลก กล่าวในหัวข้อบทบาทการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นทิศทางการพัฒนาของสังคมโลก แม้ว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายจะไม่ได้อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง แต่เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า เป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย อย่างน้อย 6 ใน 17 เป้าหมาย เช่น การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาเมือง การเดินทาง การศึกษา
       
       “การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งทางตรง และทางอ้อม และยังส่งผลต่อไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น การส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย จึงเป็นความท้าทายของสังคมไทย โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายของโลก ในการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอลดลง 10% ในปี 2025 และลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2030 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ - ตะวันออก ควรมุ่งลงทุนสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งพบว่า 80% ยังมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการทำงานป้องกันปัญหาในระยาว ที่จะมีผลตอบแทนต่อสังคมสูง” ดร.นพ.ทักษพล กล่าว
       
       ดร.คาซุยูกิ ยูจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนานโยบายสาธารณสุข จาก UNDP กล่าวว่า การที่จะทำให้การพัฒนากิจกรรมทางกายเกิดความยั่งยืนได้ ต้องหาแนวร่วมหน่วยงานอื่นๆ นอกเหนือจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทำให้เห็นความสำคัญ และเข้ามามีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งทางด้านทัศนคติ พฤติกรรม ตลอดจนถึงระดับนโยบาย ตัวอย่างเช่น การจัดกีฬาโอลิมปิก เป็นการนำกิจกรรมการทางกายไปใช้เพื่อสร้างสันติภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการจัดการแข่งขันริโอเกมส์ ที่ประเทศบราซิล มีการดึงคนกลุ่มน้อย กลุ่มผู้ลี้ภัย กลุ่มเพศทางเลือก ให้เข้ามาร่วมการแข่งขันกีฬา เพื่อส่งสัญญาณให้โลกรับรู้ถึงว่าจะต้องไม่มีการกีดกั้น ไม่แบ่งแยก เพราะการมีกิจกรรมทางกาย หรือกีฬาเป็นเรื่องที่ไม่แบ่งชนชาติ เพศ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมค่านิยมการเคารพกติกา ไม่กีดกั้นแตกแยก UNDP ใช้กีฬาในการพัฒนาและทำงานหลายด้าน เช่น โรนัลโด นักฟุตบอลชื่อดัง เข้ามาเป็นอุปทูต ร่วมสร้างสันติภาพ รวมถึงนำกีฬาไปใช้ฟื้นฟูจิตใจกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ
       
       ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในอาเซียน ว่า กิจกรรมทางกายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งการขาดกิจกรรมทางกาย ถือเป็น 1 ใน 4 ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญของไทย  โดยสสส. มีแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ซึ่ง สสส. ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานโดยใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลัง คือ พลังปัญญา พลังนโยบาย และพลังทางสังคม ขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมาย ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด โดยมีพื้นฐานสำคัญสองประการ ได้แก่ ความมีคุณธรรม และธรรมาภิบาล เป็นเงื่อนไขกำกับ โดยใช้งบประมาณในการลงทุนด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 6 - 7% ของงบประมาณของ สสส.
       
       “สสส. ทำงานด้านการมีกิจกรรมทางกายระดับบุคคล โดยกระตุ้นให้เกิดกระแสการออกมาเดินวิ่ง ซึ่งเป็นวิธีการออกกำลังกายที่ง่าย จนเป็นนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เช่น งาน Thai Health Day run2016 ที่เพิ่งมีการจัดกิจกรรมไป ส่วนด้านสถานที่ที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย สสส. ร่วมกับ กทม. ในการปรับปรุงพัฒนาสวนเบญจกิติ ให้เหมาะสมกับการมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย หรือ โครงการเมืองปั่นได้เมืองปั่นดี ที่ใช้ยุทธศาสตร์ 3 ส ซึ่งร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาพื้นที่ให้เอื้อต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ในด้านนโยบายที่สนับสนุนกิจกรรมทางกาย สสส. ได้มีการตั้งศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ เพื่อทำงานรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้การสนับสนุนการวิจัยและร่วมผลักดันแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติด้วย” ดร.สุปรีดา กล่าว
       
       นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการประชุมระดมสมองร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเกิดเป็นแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ ได้มีการตั้งเป้าหมายในการเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 75 ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งขับเคลื่อนโดยใช้ยุทธศาสตร์ 5x5x5 คือ 5 กลุ่มวัย ได้แก่ ตั้งครรภ์ เด็กเยาวชน วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ 5 ด้านการส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Sector/Setting approach) คือ
1. ระบบการศึกษา
2. ระบบธุรกิจ/สถานประกอบการ
3. สวนสาธารณะ นันทนาการ สถานออกกำลังกาย และกีฬามวลชน
4. สถานพยาบาลในระบบสาธารณสุข
5. คมนาคมขนส่ง ผังเมือง และชุมชน

และ 5 ระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (Supporting System) คือ
1. กระบวนการ
2. วิจัย
3. ติดตามประเมินผล
4. พัฒนาศักยภาพ
5. การรณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย นอกจากนี้ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กในโรงเรียน และ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้มีการลงทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์การเพิ่มกิจกรรมทางกาย
       
       ขณะที่บรรยากาศในการประชุม ISPAH 2016 วันที่สอง เป็นไปอย่างคึกคัก โดยในช่วงเย็น ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เป็นผู้นำในการท้าผู้เข้าร่วมประชุมในกิจกรรม Bogie99 running challenge ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ นายทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ เป็นผู้ริเริ่มขึ้น สำหรับกิจกรรม bogie99 5K challenge เป็นการวิ่งขบวนรถไฟ ระยะทาง 5 กม.  จำนวน 99 คนขึ้นไป มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย และการแบ่งปัน

MGR Online       17 พฤศจิกายน 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 เปิดผลสำรวจพบ “เด็กทั่วโลก” เนือยนิ่ง กิจกรรมทางกายต่ำ เผย “เด็กสโลวีเนีย” เกรดเฉลี่ยดีสุด ด้าน “เด็กไทย” อยู่ระดับกลางๆ สูงกว่าสหรัฐฯ อังกฤษ และแคนาดา แต่สอบตกเรื่องปล่อยเด็กเล่นกระฉับกระเฉง พบพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน ห่วงประเทศรายได้สูงเด็กยิ่งเคลื่อนไหวน้อย
       
       ดร.มาร์ค เทรมเบลย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิถีชีวิตสุขภาพและโรคอ้วน สถาบันวิจัยโรงพยาบาลเด็กออนตาริโอตะวันออก นำเสนอรายงานผลการศึกษากิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชน 38 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นผลการศึกษาครั้งที่ 2 ของโลก (The Global Matrix 2.0 on Physical Activity for Children and Youth) ในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทงกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (ISPAH 2016) ว่า การศึกษาในครั้งนี้ได้แบ่งโลกออกเป็น 6 ภูมิภาค คือ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย โดยอาศัยตัวชี้วัด 9 ตัว เป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ คือ
1. การมีกิจกรรมทางกายทั่วไปในแต่ละวัน 
2. การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬา 
3. การเล่นอย่างกระฉับกระเฉง (Active Play)
4. พฤติกรรมเนือยนิ่ง 
5. การเดินทางที่ใช้แรงกาย 
6. การสนับสนุนจากครอบครัว และบุคคลรอบข้าง 
7. โรงเรียน 
8. ชุมชน สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และ
9. กลยุทธ์และทุนสนับสนุนจากรัฐบาล
       
       ดร.มาร์ค กล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณาการมีกิจกรรมทางกายจะแบ่งออกเป็น 11 เกรด ดังนี้
A คือ 81-100% 
B+ คือ 76-80% 
B คือ 66-75%
B- คือ 61-65% 
C+ คือ 56-60% 
C คือ 46-55%
C- คือ 41-45% 
D+ คือ 36-40%
D คือ 26-35%
D- คือ 21-25% และ
F คือ 0-20%
ซึ่งผลการศึกษาการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนของทั้ง 38 ประเทศ ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยแต่ละประเทศได้เกรด ดังนี้
       
       โซนอเมริกาเหนือ ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา D-  2. เม็กซิโก C   3. แคนาดา D-
       
       โซนอเมริกาใต้ ได้แก่ 1. บราซิล C-  2. โคลอมเบีย D  3. ชิลี F  4.เวเนซุเอลา D
       
       โซนแอฟริกา ได้แก่ 1. แอฟริกาใต้ C  2. ไนจีเรีย C  3. เคนยา C  4. กานา D  5. ซิมบับเว C+  6. โมซัมบิก C
       
       โซนเอเชีย ได้แก่ 1. ฮ่องกง D  2. จีน F  3.มาเลเซีย D  4. กาตาร์  F  5.เกาหลีใต้ D-  6.ไทย C  7.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  D-  8. ญี่ปุ่น  INC  9. อินเดีย C-
       
       โซนยุโรป ได้แก่ 1. โปแลนด์  D  2. เนเธอร์แลนด์  D  3. เดนมาร์ก D+  4. เบลเยียม F+  5. อังกฤษ D-  6. เอสโตเนีย F  7. สโลวีเนีย A-  8. สเปน D-  9. เวลส์  D-  10. สวีเดน D  11. สกอตแลนด์  F  12. โปรตุเกส  D  13. ไอร์แลนด์ D  14. ฟินแลนด์ D
       
       โซนโอเชียเนีย ได้แก่ 1. ออสเตรเลีย  D-  2. นิวซีแลนด์ B-
       
       “ผลการสำรวจดังกล่าวเรียกได้ว่า การมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนค่อนข้างแย่ โดยภาพรวมโซนเอเชีย อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ถือว่าเกรดค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับโซนยุโรป แอฟริกา และโอเชียเนีย โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยให้เด็กเล่นอย่างกระฉับกระเฉง ประเทศในเอเชียยังค่อนข้างต่ำมาก และแทบไม่มีการสำรวจพฤติกรรมของเด็กเลย สำหรับประเทศที่ภาพรวมเกรดเฉลี่ยดีที่สุดคือ สโลวีเนียที่ได้ A- ส่วนที่น่าสนใจ คือ ประเทศที่มีรายได้น้อยจะได้เกรดที่ค่อนข้างดีกว่าประเทศที่มีรายได้สูง เนื่องจากการใช้ชีวิตที่ยุ่ง หรือเร่งรีบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ส่งผลให้เด็กไม่ค่อยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม จากทั้ง 9 ตัวชี้วัดพบว่า ในแต่ละประเทศมีจุดดีจุดด้อยแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละประเทศสามารถมาเรียนรู้และพัฒนาส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กได้ เช่น บางประเทศแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง แต่ก็ยังมีกิจกรรมให้เด็กได้ทำ เป็นต้น ทั้งนี้ ทุกประเทศอยากให้มีความพยายามในเรื่องของการให้เด็กเล่นอย่างกระฉับกระเฉงเป็นพฤติกรรมหลักที่ควรมีในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ทางเลือก อย่าไปกำหนดอะไรมาก ให้เขาได้มีการออกกำลังกายและเรียนรู้ในแบบของเด็กๆ จะดีกว่า” ดร.มาร์ค กล่าวและว่า สำหรับการสำรวจในครั้งที่ 3 หรือ The Global Matrix 3.0 คาดว่า จะเชิญอีกหลายประเทศเข้าร่วมเป็น 75 ประเทศ และมีผลให้ทราบภายในปี 2018
       
       ผศ.เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับการศึกษาการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย (Thailand Report Card on Physical Activity for Children and Youth) ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 6 - 17 ปี จำนวน 16,788 คน จาก 336 โรงเรียน ใน 27 จังหวัด 9 ภูมิภาคทั่วประเทศไทยและกรุงเทพฯ โดยภาพรวมประเทศอยู่ในเกรด C แต่เมื่อดูจากตัวชี้วัดทั้ง 9 จะพบว่า การมีกิจกรรมทางกายทั่วไปในแต่ละวันยังอยู่ D- การเล่นอย่างกระฉับกระเฉง ได้ F การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมาก คือ D ขณะที่การเดินทางที่ใช้แรงกายและการสนับสนุนจากครอบครัวและบุคคลรอบข้างค่อนข้างดี คือ B ส่วนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬา โรงเรียน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และกลยุทธ์ของรัฐบาลอยู่ระดับกลางๆ คือ C โดยข้อมูลนี้จะนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสำหรับเด็กและเยาวชนต่อไป

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เด็กไทยยังขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ นั่งอยู่กับที่ถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน จากการนั่งเรียน นั่งเล่นสมาร์ทโฟน การดูโทรทัศน์ ทั้งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเด็กและเยาวชนควรมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักประมาณ 60 นาทีต่อวัน ซึ่ง สสส. จะเข้าไปร่วมสนับสนุนในการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เด็กออกมาเล่นอย่างกระฉับกระเฉงมากขึ้น ผ่านแคมเปญ Kids Active Play โดยเฉพาะการมีกิจกรรมทางกายให้ได้ 60 นาที ต่อวัน เช่น ให้มีกิจกรรมทางกายก่อนเดินทาง และก่อนเข้าเรียนให้ได้รวม 10 นาที ส่วนขณะเรียนจะต้องมีเพิ่มการเคลื่อนไหว เช่น การลุกถามตอบ การเดินเปลี่ยนคาบเรียน ต้องรวมให้ได้ 20 นาที และหลังเลิกเรียนควรมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม เช่น เล่นกีฬา ตรงนี้ให้ได้อย่างน้อย 30 นาที ก็จะได้ตามมาตรฐาน คือ 60 นาทีต่อวัน ที่สำคัญคือครอบครัว ชุมชน และครูต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นด้วย

โดย MGR Online       17 พฤศจิกายน 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 “บิ๊กเข้” เปิดประชุมกิจกรรมทางกายระดับโลก “ISPAH 2016” เผย คนไทยตายจากโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น 11% เหตุเคลื่อนไหวน้อย สูญงบประมาณปีละ 2.4 พันล้านบาท เร่งชงยุทธศาสตร์ฉบับแรก ตั้งเป้า 5 ปี คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ สสส. ชี้ ไม่ขยับเกิดโรคได้มากกว่าสูบบุหรี่ เตรียมออกปฏิญญากรุงเทพ เสนอ WHO แก้ปัญหากิจกรรมทางกาย ชูโขนช่วยร่างกายเคลื่อนไหวมาก พัฒนาสมอง
       
       วันนี้ (16 พ.ย.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) ภายใต้หัวข้อ “Active Living for All : Active People, Active Place, Active Policy” หรือการสร้างเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อทุกคน : การมีกิจกรรมทางกายระดับบุคคลสถานที่ที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย และนโยบายที่สนับสนุนกิจกรรมทางกาย ซึ่ง สสส. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 19 พ.ย. นี้ โดยภายในงานมีนักวิชาการ นักวิจัย ภาครัฐ และองค์กรต่างๆ เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จาก 80 ประเทศ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเวลา 89 วินาที ก่อนการประชุม หลังจากนั้น มีการแสดงโขนไทยจากสถาบันคึกฤทธิ์ ในชุด “ยกรบ” ก่อนเปิดการประชุม โดยมีการติดเครื่องมือวัดผลคลื่นสมองและการเคลื่อนไหวของร่างกายให้เห็นชัดเจนด้วยว่า การเล่นโขนช่วยพัฒนาสมองและเพิ่มกิจกรรมทางกายได้
       
       พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะการพัฒนางานวิจัย ข้อมูลวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนสังคมและนโยบายอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้ กิจกรรมทางกายถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยด้วย คือ มุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีของประชากรในทุกช่วงวัย โดยลดอัตราการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NonCommunicable Diseases หรือ NCDs) ให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573
       
       “องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า การขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 6 ของประชากรทั่วโลก และเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคไม่ติดต่อต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน สำหรับประเทศไทยพบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs เพิ่มขึ้นจาก 314,340 คน ในปี 2552 เป็น 349,090 คน ในปี 2556 หรือมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยข้อมูลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet พบว่า ทั่วโลกสูญเสียค่ารักษาร่วมกับค่าเสียโอกาสเมื่อป่วยด้วยโรค NCDs เฉพาะส่วนที่มีผลมาจากการขาดกิจกรรมทางกาย ราว 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เฉพาะประเทศไทย ราว 2,400 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายแห่งชาติฉบับแรกของไทยมีเป้าหมายขับเคลื่อนให้เห็นผลจริงภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีแผนดำเนินการในทุกช่วงวัย สนับสนุนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของประชาชนในสถานที่ต่างๆ เช่น ชุมชน โรงเรียน สถานประกอบการ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
       
       ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีวิชาการ การวิจัยที่จะได้มาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายหรือสร้างการตื่นตัวให้กับสังคม เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกประสบปัญหาและความท้าทายด้านสาธารณสุขที่เปลี่ยนไป จากอดีตที่เผชิญการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม อาทิ การกินอาหารรสหวาน มัน เค็ม การขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถิติของผู้ป่วยด้วยโรค NCDs เพิ่มสูงขึ้น ทำให้แต่ละประเทศต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ การประชุมจะช่วยผลักดันนโยบายระดับประเทศผ่านกลไกการขับเคลื่อนในระดับโลกที่ทุกประเทศมีส่วนในการออกแบบร่วมกันหรือเรียกว่าปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ที่จะเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ เพื่อเสนอต่อองค์การอนามัยโลก พิจารณาเป็นกลไกประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิกผ่านการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกปีหน้า เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของทุกคน
       
       “การไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย (Physical Inactivity) อาทิ นั่งทำงานตลอดเวลา มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคได้เท่ากับหรือมากกว่าการสูบบุหรี่ ถึงขั้นในต่างประเทศมีคำกล่าว Sitting is the new smoking ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายในแต่ละวันให้เพียงพอ ต้องส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัว ให้ทุกคนมีพฤติกรรมทางกายที่เพียงพอ และจำเป็นต้องอาศัยการจัดปัจจัยสภาพแวดล้อม การสนับสนุนเชิงนโยบาย หรือระบบสนับสนุน โดยคำนึงถึงปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ รวมไปถึงการจัดระบบการศึกษา การคมนาคมขนส่ง การจัดพื้นที่ทางกายภาพเพื่อสร้างความสะดวกให้กับประชาชนในการเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เช่น ทางเท้าหรือเส้นทางที่เอื้อต่อการเดิน การเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ ดังนั้น ต้องอาศัยการทำงานที่บูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชนและประชาสังคมที่จะเข้ามามีบทบาทสนับสนุน” ดร.สุปรีดา กล่าว
       
       ทั้งนี้ ภายในงานประชุมมีการเปิดวิดีโอจาก ดร.มาการ์เร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก โดยกล่าวว่า กิจกรรมทางกายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสุขภาพประชากรโลก ช่วยป้องกันและลดอัตราตายของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งที่ผ่านมาทั่วโลกมีผู้ตายจากโรคดังกล่าวจำนวนกว่า 3.2 ล้านคน ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมของทุกประเทศ ดังนั้น ต้องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างน้อย 10% ในปี 2025 โดยผู้ใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ต้องมีกิจกรรมทางกายให้ได้ในระดับกลาง คือ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ กลุ่มวัยรุ่นและเด็กต้องทำให้ได้อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน ปัญหาคือวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 4 มีกิจกรรมทางกายไม่ถึงเป้าหมาย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่น ถนนไม่มีความปลอดภัย อากาศไม่บริสุทธิ์ ดังนั้น จึงต้องเน้นประเด็นสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมด้วย
       
       ดร.ฟิโอน่า บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ ยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยยังให้โอกาสในการประชุมงานระดับโลก ทั้งที่อยู่ในช่วงไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการพัฒนาสุขภาพทางกายและใจ เช่น การออกกำลังกาย พระองค์ท่านทรงล่องเรือใบ อีกทั้งเป็นต้นแบบด้านสาธารณสุขและสุขภาพที่ดีมาโดยตลอด  ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ สมาพันธ์ฯ รวบรวมข้อมูลความรู้จากนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญที่เสนอทางออกในการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นท้าทาย คือ การมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืนในกลุ่มประชากรทุกชนชั้น ที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และร่วมกันหาทางออกเพื่อป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นข้อกังวลลำดับต้นๆ ที่ทำให้เราต้องพัฒนากิจกรรมทางกายให้เกิดแก่ประชากรโลกทุกช่วงวัย ทุกชนชั้น ซึ่งยังไม่บรรลุเป้าหมายในขณะนี้ แต่ในอนาคต หวังว่าจะบรรลุได้ เพราะเรื่องนี้สหประชาชาติได้เคยแสดงความห่วงใยอย่างชัดเจน ซึ่งสมาพันธ์ฯ และ สสส. จะสานต่อความร่วมมือภายหลังการลงนามในปฏิญญากรุงเทพ ในพิธีปิดการประชุม ISPAH ในวันที่ 19 พ.ย.
       
       ด้าน นายเจษฎา อานิล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการติดตั้งเครื่องมือวัดผลคลื่นสมองและการเคลื่อนไหวของร่างกายขณะการแสดงโขน จะเห็นได้ว่า สมองแต่ละส่วนมีการทำงานที่สัมพันธ์กัน โดยสมองส่วนกลางควบคุมเรื่องของการเคลื่อนไหว สมองส่วนหน้าควบคุมเรื่องของการตัดสินใจ สมองส่วนท้ายคุมส่วนของการรับรู้มองเห็น และส่วนข้างเป็นเรื่องของการฟัง อย่างขณะการรำจะเห็นได้ว่าสมองส่วนกลางสัมพันธ์กับส่วนข้าง เพราะต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากและต้องอาศัยการฟังจังหวะให้ดี เป็นต้น ส่วนค่าการเคลื่อนไหวของร่างกาย ในส่วนของตัวพระเกิดการเผาผลาญของกล้ามเนื้อ 12 แคลอรี พลังงานที่ใช้ในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแขนอยู่ที่ 48% ขา 45% และน่อง 52% ส่วนตัวลิง เผาผลาญ 17 แคลอรี พลังงานที่ใช้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแขนอยู่ที่ 52% ขา 47% และน่อง 59% ส่วนตัวยักษ์ เผาผลาญ 14 แคลอรี พลังงานที่ใช้เคลือ่นไหวกล้ามเนื้อแขนอยู่ที่ 41% ขา 47% และน่อง 52% เรียกได้ว่าโขนช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกายมาก และช่วยเรื่องการทำงานของสมองด้วย

โดย MGR Online       16 พฤศจิกายน 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ปิดประชุม “ISPAH 2016 Congress” 80 ชาติ ร่วมประกาศ “ปฏิญญากรุงเทพ” แนวปฏิบัติส่งเสริมกิจกรรมทางกายฉบับแรกของโลก ย้ำ 6 ข้อเรียกร้อง หนุนทั่วโลกมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น เน้นลงทุน - มีส่วนร่วม - พัฒนาคน - เทคโนโลยี - เฝ้าระวังและประเมินผล - งานวิจัย
       
       เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยมีกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพร่วม และองค์การอนามัยโลก เป็นผู้สนับสนุนสำคัญ ทั้งนี้ ภายในงานมีการประกาศประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้าคือ ประเทศอังกฤษ
       
       โดย ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวว่า จากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องกิจกรรมทางกายและสุขภาพในการประชุมตลอด 4 วันที่ผ่านมา ทำให้ทุกประเทศทราบสถานการณ์ปัญหาที่คุกคามสุขภาพของประชากรโลก และรับรู้โดยทั่วกันว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังกำลังเป็นภัยเงียบที่ขยายตัวรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ภาวะเนือยนิ่งขาดกิจกรรมทางกาย พบว่า ระดับการมีกิจกรรมทางกายทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน อายุ 11 - 17 ปี ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ที่ทั่วโลกต้องมีมาตรการจำเป็นเร่งด่วนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ทำให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันประกาศปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาวะโลก และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นปฏิญญาฉบับแรกของโลกที่เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติการเพื่อกิจกรรมทางกายอย่างแท้จริง
       
       ศ.ดร.ฟิโอนา บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย กล่าวว่า ประกาศปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาวะโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน เสนอข้อเรียกร้องต่อทุกภาคส่วน 6 ข้อ คือ 1. ยืนหยัดเป้าหมายและเพิ่มการลงทุนการดำเนินการตามนโยบายที่นำไปสู่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั่วโลก และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 2. สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับชาติและสร้างเวทีประสานความร่วมมือ ทุกประเทศสมาชิกควรดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ที่มีการกำหนดกลไกและทรัพยากรที่สร้างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 3. พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทุกวิชาชีพ อาทิ สุขภาพและสาธารณสุข นักวางแผนผังเมืองและการคมนาคม สถาปนิกและภูมิสถาปนิก กีฬาและสันทนาการ นักการศึกษา และผู้กำหนดนโยบาย
       
       ศ.ดร.ฟิโอนา กล่าวต่อว่า 4. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างประเทศและภูมิภาค โดยพัฒนายุทธศาสตร์และขับเคลื่อนความช่วยเหลือในเชิงเทคนิคที่มีอยู่ให้ไปสู่ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ 5. สร้างความเข้มแข็งด้านการติดตามประเมินผลและการเฝ้าระวัง โดยปัจจุบันยังมีช่องว่างในระบบการเฝ้าระวังสถานการณ์กิจกรรมทางกายในกลุ่มเยาวชน รวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มอายุระหว่าง 5 - 13 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ โดยหลายประเทศยังไม่มีระบบการติดตามแนวโน้ม หรือการรายงานข้อมูลได้อย่างทันเวลา และ 6. ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและการประเมินผล เพื่อพัฒนางานวิจัยและฐานข้อมูลเชิงประจักษ์โดยเฉพาะในด้านที่ยังขาดองค์ความรู้ เช่น การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ การวิจัยเชิงปฏิบัติการในประชากร การประเมินผลนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งต้องมีการจัดตั้งและสนับสนุนการวิจัยแบบสหวิทยาและโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพสำหรับทำงานวิจัย
       
       “ปฏิญญากรุงเทพจะเป็นข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิก เพื่อเรียกร้องต่อภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้ทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงองค์การอนามัยโลก และประเทศสมาชิก องค์การสหประชาชาติ และองค์กรที่มิใช้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคส่วนเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เพื่อร่วมกันสนับสนุนและนำปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยเรื่องกิจกรรมทางกายนี้ไปปฏิบัติใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.ดร.ฟิโอนา กล่าว
       
       ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ผู้จัดการกองทุน สสส.) กล่าวว่า การดำเนินการของประเทศไทยตามปฏิญญากรุงเทพ เพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอนั้น สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ยกร่างยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งจะเป็นแนวทางการทำงานให้แก่กระทรวงต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายได้ตามบริบทการทำงานของแต่ละกระทรวง ซึ่งมาตรการสำคัญที่จะส่งเสริมให้คนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น คือ การมีผังเมืองที่ดีที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย การคมนาคม ตลอดจน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่จะมีสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมเอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายตามช่วงวันที่เหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยต่างๆ ที่จำเป็นด้วย

โดย MGR Online       20 พฤศจิกายน 2559