ผู้เขียน หัวข้อ: เห็นชอบตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการระดับจังหวัด ตั้งเป้า 12 แห่งภายในปี 55  (อ่าน 1795 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
บอร์ด สปสช.เห็นชอบตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการระดับจังหวัด เปิดโอกาสให้ผู้พิการเกือบ 8 แสนคน เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ตั้งเป้า 12 แห่ง ภายในปี 2555
       
       วันนี้ (9  พ.ค.) นพ.วินัย สวัสดิวร  เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า  วันนี้มติบอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบในเรื่อง “การกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ซึ่งขณะนี้มีคนพิการลงทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน  795,000 ราย เพิ่มจากในปี 2548 ที่มีอยู่เพียงจำนวน  380,000 ราย ที่ผ่านมาพบปัญหาการเข้าถึงบริการของคนพิการ คือ คนพิการที่จำเป็นต้องได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพหรืออุปกรณ์เครื่องช่วยจำนวนมากยังไม่ได้รับบริการทั่วถึง  เนื่องจากข้อจำกัด เช่น ระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาล และระยะเวลาการครองเตียงสั้น ต้องกลับไปฟื้นฟูเองที่บ้าน การขาดแคลนบุคลากรด้านการฟื้นฟูในโรงพยาบาล ความยากลำบากในการเดินทาง ความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นยังมีไม่มาก
       
       
       นพ.วินัยกล่าวต่อว่า   ในปี 2554 สปสช.จัดสรรงบรายหัวเพื่อตั้งเป็นกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ 12 บาทต่อประชากร รวมเป็น 573.6 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนโรงพยาบาลจัดบริการฟื้นฟูทั้งในด้านกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด การฟื้นฟูการได้ยิน การแก้ไขการพูด การฟื้นฟูการเห็น และมีรายการอุปกรณ์ที่เบิกจ่ายมากสุด เช่น 1.เท้าเทียมที่ต้องใส่ร่วมกับขาเทียมแบบต่างๆ 2.สายเข็มขัดเทียม 3.แป้นสายเข็มขัด 4.รถนั่งคนพิการ 5.เบ้าขาเทียมใต้เข่า 6.ไม้เท้าอะลูมิเนียมแบบสามขา 7.ไม้เท้าสำหรับคนตาบอด 8.ไม้ค้ำยันรักแร้ เป็นต้น   โดยได้นำร่องจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในระดับจังหวัดตั้งแต่ปี 2552-2553  ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และหนองบัวลำภู เพื่อดูแลช่วยเหลือคนพิการได้อย่างครบวงจร โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเร่งเชิญชวนภาคท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมกองทุนฯ ให้ได้อย่างน้อย 12 จังหวัด ภายในปีงบประมาณ 2555
       
       
       “ในเรื่องของการจัดตั้งงบประมาณนั้น  สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณและมีการสมทบงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดและท้องถิ่นอื่น เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเข้าถึงบริการได้ทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบ รูปแบบการดูแล และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงมีมติออกเป็นประกาศเพื่อการดำเนินการในระดับจังหวัดทั่วประเทศต่อไป” นพ.วินัยกล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 พฤษภาคม 2554