ผู้เขียน หัวข้อ: เอ็นจีโอร้อง สธ.ยกเลิกลดสิทธิคลอด-ทำฟัน “บัตรสุขภาพต่างด้าว” ปลัด สธ.ยันไม่มีลด  (อ่าน 557 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 เอ็นจีโอ ยื่น สธ. ยกเลิกลดสิทธิประโยชน์ท้อง - ทำฟัน “บัตรสุขภาพแรงงานต่างด้าว” เผย บางพื้นที่เริ่มแล้ว อ้างคำสั่งจากส่วนกลาง หวั่นถอยหลังเข้าคลอง คุมโรคไม่ได้ แฉ แรงงานต่างด้าวถูกยกเลิกบัตรหลังตรวจเจอวัณโรค ด้าน สธ. ยันไม่มีการลดสิทธิ เร่งตรวจสอบพื้นที่ทำเข้าใจผิด ย้ำ ให้บัตรสุขภาพต่างด้าวก่อนผลตรวจสุขภาพออก หากเจอโรคต้องห้ามยกเลิกบัตร แต่ยังรักษาให้ฟรี
       
       วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการฯ  น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผอ.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ พร้อมตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้ยกเลิกการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ของบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าว
       
       น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ขณะนี้มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หลายแห่ง มีการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการและแรงงานข้ามชาติ ว่า จะมีการปรับเปลี่ยนชุดสิทธิประโยชน์ของบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวในปีงบประมาณ 2560 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป โดยอ้างว่าเป็นการสั่งจากส่วนกลางผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ และจะออกแนวปฏิบัติมา โดยจะมีการปรับเปลี่ยน 2 เรื่อง คือ 1. สิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุมถึงการตรวจและดูแลเพื่อส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ (ฝากครรภ์) การคลอด และการดูแลหลังคลอด  และ 2. การให้บริการทันตกรรมทั่วไป เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน คุ้มครองไม่เกิน 500 บาท ตลอดระยะเวลาการคุ้มครอง 2 ปี ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 เป็นต้นมา พบว่า บางพื้นที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไปรับบริการคลอดที่โรงพยาบาล คลอดปกติ 6,000 บาท ผ่าตัดคลอด 12,000 บาท แต่ยังไม่พบว่ามีการออกประกาศเป็นทางการแต่อย่างใด
       
       “เรื่องนี้ถือว่าน่ากังวลมาก หากมีการปรับเปลี่ยนสิทธิเช่นนี้ ถือว่าเป็นการถอยหลังกลับไปสู่จุดเดิม ทั้งที่ประเทศไทยเพิ่งได้รับการรองรับจากองค์การอนามัยโลก ว่า เป็นประเทศที่สองของโลกที่สามารถยุติปัญหาการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้เป็นผลสำเร็จ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ไปรับใบประกาศ ก็ระบุว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เพราะให้บริการแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติทั้งคนไทยและไม่ใช่คนไทยเสมอกัน แต่การไม่คุ้มครองเรื่องหญิงตั้งครรภ์เช่นนี้ จะทำให้แรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์ไม่มาฝากครรภ์ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าบริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการป้องกันโรคในภาพรวม” น.ส.สุภัทรา กล่าว
       
       น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ใน จ.ชลบุรี ยังพบปัญหาแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว (One Stop Service) ซึ่งขณะตรวจสุขภาพไม่พบว่าเป็นโรคต้องห้ามทำงาน ก็ได้รับบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวมา แต่ภายหลังพบว่าผลตรวจสุขภาพออกมาเป็นวัณโรค ซึ่งเป็นโรคต้องห้ามทำงาน กลับมีการยกเลิกบัตร แล้วให้จ่ายค่ารักษาเอง ซึ่งตรงนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อต้องจ่ายค่ารักษาเองแรงงานต่างด้าวย่อมไม่มีเงินรักษา สุดท้ายก็ไม่ได้รักษาต่อ จะส่งผลทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา และอาจแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการยกเลิกบัตรแล้วส่งคืนกลับประเทศก็ต้องได้รับการรักษาก่อนส่งตัวกลับประเทศ เพราะสาธารณสุขมูลฐานประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมีปัญหา และยังมีหนทางในการกลับเข้ามาประเทศไทยอีก จึงอยากขอให้ สธ. ที่ดูแลกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ถือบัตรนี้กว่า 1.2 ล้านคน ยกเลิกการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ดังกล่าว และขอให้ใช้สิทธิประโยชน์เป็นมาตรฐานเดียวกับบัตรทอง
       
       นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า ยืนยันว่า บัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งบัตรมีระยะเวลาคุ้มครอง 2 ปี สิทธิการดูแลสุขภาพเท่ากับสิทธิบัตรทอง ไม่ได้มีการปรับลดสิทธิแต่อย่างใด ซึ่งการจะไปลดสิทธิทั้งที่ประกาศเป็นข้อสัญญาตั้งแต่แรกก่อนที่จะให้ซื้อบัตรแล้วนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยัง นพ.สสจ.ชลบุรี กรณีไม่รักษาผู้ป่วยวัณโรคที่เป็นต่างด้าว ก็พบว่าไม่ใช่ ยังรักษาเหมือนเดิม ส่วนการตัดสิทธิแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์ได้ส่งเรื่องให้ทางกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ตรวจสอบว่ามีใครไปสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องบ้าง แต่เบื้องต้นจากการตรวจสอบไม่มีใครไปจัดประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ สสจ. เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์จากส่วนกลางเลย จึงอยากให้หาข้อมูลตัวเลขมาเลยว่า มีกี่แห่งที่มีปัญหา หรือมี สสจ. พื้นที่ใดไปประกาศตัดสิทธิบ้าง และมีที่ไหนเรียกเก็บเงินรักษาพยาบาลเพิ่ม หากมีตัวเลข มีข้อมูลก็จะไปดำเนินการทันที เพราะหากทำจริงย่อมไม่ถูกต้อง
       
       นพ.ศิริชัย ลิ้มสกุล นพ.สสจ.ชลบุรี กล่าวว่า กระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวและออกบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวนั้น จะมีการตรวจสุขภาพก่อน ซึ่งการตรวจสุขภาพต้องรอเวลาไม่ใช่ได้ผลตรวจในทันที จึงออกใบอนุญาตทำงานให้ไปก่อน แต่หากภายหลังพบว่าเป็นโรคต้องห้ามในการทำงานก็จะยกเลิกบัตรไปก่อน และทำการรักษา ซึ่งยืนยันว่า ไม่คิดค่าใช้จ่ายตามหลักมนุษยธรรม และเมื่อรักษาหายก็สามารถทำบัตรใหม่ได้ ซึ่งแรงงานต่างด้าวคนดังกล่าวผลตรวจออกมาหลังได้รับบัตรว่าเป็นวัณโรคระยะแพร่กระจาย จึงต้องยกเลิกบัตรไปก่อน แต่ก็มีการรักษาฟรี ไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย ที่ทำแบบนี้เพราะต้องคำนึงถึงแรงงานต่างด้าวที่ไม่ป่วยด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรอ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีบัตรหรือไม่มีบัตรก็ให้บริการทั้งหมด ซึ่งโรงพยาบาลมีหนี้ที่เรียกเก็บจากตรงนี้ไม่ได้รวม 3 ปีตั้งแต่ปี 2556 - 2558 เป็นเงิน 20 ล้านบาท แต่เราก็ยังดูแลแรงงานต่างด้าวมาตลอด หลายครั้งที่ลงไปที่แคมป์ต่างด้าว ไปตรวจรักษา ให้วัคซีนขั้นพื้นฐานแก่เด็ก ๆ เหมือนเด็กไทยด้วย

โดย MGR Online       10 ตุลาคม 2559