ผู้เขียน หัวข้อ: ยัน “บัตรทอง” ไม่ต้องหาแหล่งทุน-ร่วมจ่าย หากรัฐให้งบ 4.2% พร้อมเดินหน้าสิทธิ  (อ่าน 572 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 ผลศึกษาชี้ บัตรทองยังไม่ต้องหา “แหล่งเงินทุน” เพิ่ม ทั้งภาษีพิเศษ - ร่วมจ่าย ยันงบประมาณจากรัฐเพียงพอ หากคงตัวเลขที่ร้อยละ 4.2 เร่งเดินหน้ากำหนดสิทธิประโยชน์หลัก - เสริม ทั้ง 3 กองทุน พร้อมออก พ.ร.บ. รองรับ ชี้ รับบริการพิเศษเพิ่มเติมจากคุณภาพมาตรฐานต้องจ่ายเพิ่ม
       
       จากกรณีมีข้อเสนอแนวทางปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ โดยการจัดทำชุดสิทธิประโยชน์หลัก และชุดสิทธิประโยชน์เสริมนั้น
       
       วันนี้ (11 ต.ค.) ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการฯ  ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการคลัง และระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า จากการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 - 11 ต.ค. 2559 สามารถสรุปสาระสำคัญ คือ ได้เสนอให้มีการจัดชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพ 2 แพ็กเกจ คือ 1. ชุดสิทธิประโยชน์หลัก ซึ่งต้องเท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม  และ 2. ชุดสิทธิประโยชน์เสริม ซึ่งแต่ละกองทุนจะไปคิดว่าจะมีสิทธิประโยชน์ใดเพิ่มเติม โดยนายจ้างหรือเจ้าของกองทุนเป็นผู้จ่ายงบประมาณ ส่วนกรณีการร่วมจ่ายจะยังไม่มีในขณะนี้ แต่จะเป็นการจ่ายเพิ่มส่วนบุคคลของผู้ป่วยแต่ละสิทธิเอง เช่น ป่วยเข้าโรงพยาบาล อยากเข้าห้องพิเศษต้องจ่ายเพิ่มเติม เป็นต้น ส่วนประเด็นการแยกงบเงินเดือนและค่าตอบแทนออกจากงบบัตรทอง ยังมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ต้องมีการตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
       
       ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานศึกษาด้านความยั่งยืน ในคณะอนุฯ ขับเคลื่อนและปฏิรูปฯ กล่าวว่า ความยั่งยืนทางการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพ จากการหารือและจัดทำข้อเสนอแผน 20 ปี พบว่า รัฐจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.2 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราคู่ขนานกับการขยายตัวด้านงบประมาณของรัฐบาล แต่หากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ งบประมาณด้านสุขภาพยังต้องคงไว้ที่ตัวเลขดังกล่าว เพราะเป็นตัวเลขที่ระบบการบริการด้านสุขภาพจะยังอยู่ได้ และยังไม่จำเป็นต้องมีการแหล่งเงินทุนอื่นเพิ่ม ทั้งกรณีการเก็บภาษีพิเศษเพิ่ม เนื่องจากงบประมาณก็มาจากภาษีอยู่แล้ว หรือการร่วมจ่าย ยกเว้นหากต้องการมาตรฐาน คุณภาพ การรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขงบประมาณร้อยละ 4.2 ไม่จำเป็นต้องเขียนลงไปในกฎหมาย แต่ต้องมีเหตุผลที่เชื่อมโยงถึงความจำเป็นในการใช้งบประมาณสุขภาพอย่างแท้จริง
       
       ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานคณะทำงานศึกษาความเป็นธรรม ในคณะอนุฯ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอสิทธิประโยชน์หลักและสิทธิประโยชน์เสริม จะมีการจัดทำเป็น พ.ร.บ. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลของสภาปฏิรูประบบสุขภาพ โดยปกติการผลักดันเป็นกฎหมายใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่ในภาวะนี้อาจรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องชุดสิทธิประโยชน์หลัก แต่ละกองทุนจะต้องมีความเหมือนกันมากที่สุด เพื่อสร้างความเป็นธรรม ซึ่งแต่ละกองทุนจะไปกำหนดสิทธิประโยชน์ร่วมกันว่ามีอะไรบ้างที่ต้องเหมือนกัน ส่วนสิทธิประโยชน์เสริมอยู่ที่แต่ละกองทุนไปพิจารณาเอง แต่ทั้งหมดจะต้องรอร่าง พ.ร.บ.ออกมาก่อนจึงจะดำเนินการได้
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางดังกล่าวมีต้นแบบมาจากประเทศใด  ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าวว่า มีการศึกษาจากหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เยอรมนี เบลเยียม และ ฝรั่งเศส ซึ่งก็นำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย เรียกว่า เป็นของใหม่ แต่ทั้งหมดเน้นในเรื่องของความเป็นธรรมและเท่าเทียมของประชาชนในทุกสิทธิสุขภาพ

โดย MGR Online       11 ตุลาคม 2559