ผู้เขียน หัวข้อ: กล้องออบสกูรา(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2835 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ความงามและสิ่งแปลกตาจะบังเกิด  ยามที่แสงเดินทางผ่านรูเปิดเล็กๆเข้าสู่ที่มืด อาริสโตเติลอธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้เมื่อราว 400 ปีก่อนคริสตกาล  ลีโอนาร์โด ดา วินชี  จิตรกรสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี  ได้ร่างภาพกระบวนการดังกล่าวไว้  ตัดภาพมาที่ห้องเรียนห้องหนึ่งในเมืองบอสตัน ปี 1988 อะเบลาร์โด มอเรลล์ อาจารย์ผู้เกิดในคิวบาซึ่งกำลังสอนวิชาการถ่ายภาพเบื้องต้นที่วิทยาลัยศิลปะแห่งหนึ่ง คิดที่จะย้อนกลับใช้เทคนิคเดียวกันนี้ ดังนั้นในวันแดดจัดวันหนึ่ง เขาจึงนำแผ่นพลาสติกสีดำสนิทมาปิดหน้าต่างห้องเรียนทุกบาน ทำให้ห้องมืดมิดราวกับถ้ำ แล้วจึงตัดพลาสติกเป็นรูเล็กๆ และบอกให้นักเรียนคอยจับตาดู ทันใดนั้น ผนังหลังห้องก็มีชีวิตชีวาขึ้นมาราวกับจอภาพยนตร์ บนพื้นผิวปรากฏเป็นภาพเลือนรางของผู้คนและรถราที่สัญจรผ่านถนนฮันทิงตันนอกอาคาร  ครั้นเมื่อมองชัดๆอีกครั้ง ภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพกลับหัว ท้องฟ้าอยู่บนพื้นห้อง ผืนดินอยู่บนเพดาน กฎแห่งแรงโน้มถ่วงดูกลับตาลปัตรไปหมด

มอเรลล์เปลี่ยนห้องเรียนทั้งห้องให้กลายเป็นกล้องออบสกูรา (camera obscura) หรือห้องมืด  ซึ่งเป็นคำภาษาละตินที่ใช้เรียกอุปกรณ์การถ่ายภาพที่อาจพูดได้ว่าเก่าแก่ที่สุด  และเป็นบรรพบุรุษของกล้องถ่ายรูปในยุคปัจจุบัน (กล้องออบสกูราหรือกล้องทาบเงามีหลักการทำงานเหมือนกล้องถ่ายรูป คือให้เงาของวัตถุหรือทิวทัศน์ฉายไปตกบนฉากกระดาษหรือกระจก แล้วจิตรกรจะร่างภาพจากเงานั้น แต่เดิมกล้องทาบเงาเป็นห้องมืดที่ปราศจากเลนส์ ภาพจะสะท้อนเข้าไปในห้อง แล้วจิตรกรจะร่างภาพในห้องมืดนั้น)

กล้องออบสกูราจะรับภาพเหมือนกับที่ตาเห็นผ่านรูเปิดเล็กๆ และแสดงเป็นภาพกลับหัว  ลำแสงจากด้านนอก     จะเดินทางผ่านรูเปิดโดยทำมุมหัวกลับ  กล่าวคือแสงสะท้อนจากวัตถุที่อยู่สูง เช่น ยอดไม้ จะเดินทางโดยทำมุมกดลง ขณะที่แสงสะท้อนจากวัตถุที่อยู่ต่ำกว่า เช่น ดอกไม้ จะเดินทางโดยทำมุมเงยขึ้น  ลำแสงทั้งสองจะตัดกันและเข้าสู่ห้องมืดของกล้องออบสกูราทำให้เกิดภาพกลับหัว  ดูเหมือนปาฏิหาริย์ไม่มีผิด  แต่นี่เป็นเพียงหลักฟิสิกส์ง่ายๆในห้องเรียน ในชีวิตจริงสมองจะปรับแก้ภาพที่ตาเห็นโดยอัตโนมัติ ส่วนในกล้องทั่วไป กระจกจะทำหน้าที่พลิกกลับภาพ

กล้องออบสกูราฉบับพกพาที่จำลองห้องมืดให้อยู่ภายในกล่องและติดตั้งเลนส์ไว้ที่รู  เริ่มเป็นที่แพร่หลายในศตวรรษที่สิบเจ็ด   จิตรกรอย่างโยฮันเนส เวอร์เมียร์ และกานาเลตโต นำมาใช้เป็นเครื่องช่วยในการร่างภาพ นักประดิษฐ์ในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเก้าคิดค้นวิธีบันทึกภาพที่ตกกระทบ โดยนำกระดาษหรือแผ่นโลหะเคลือบน้ำยาเคมีไวแสงมาใส่ไว้ที่ด้านหลังกล้องออบสกูราอันใหญ่โตเทอะทะ และแล้วศิลปะแห่งการถ่ายภาพก็ถือกำเนิดขึ้น

สำหรับอาจารย์สอนวิชาถ่ายภาพอย่างมอเรลล์แล้ว  เหตุการณ์ในห้องเรียนวันนั้นเปรียบเสมือนการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ “พอได้เห็นปฏิกิริยาตื่นตะลึงของนักศึกษาแล้ว ผมก็รู้ทันทีว่านี่เป็นสิ่งที่มีพลังมาก”

โครงการแรกของเขาซึ่งเจ้าตัวมองว่าเป็นเครื่องมือในการสอนวิชาถ่ายภาพ  คือการถ่ายรูปกระบวนการทำงานของกล้องออบสกูรา ผลที่ได้คือภาพ “หลอดไฟ” เมื่อปี 1991 มอเรลล์ใช้วัสดุธรรมดาๆที่หาได้ในบ้าน อธิบายกลไกการทำงานของกล้องรูเข็ม (pinhole camera) แสดงให้เห็นว่าภาพถ่ายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้อย่างไร

หลังจากนั้น มอเรลล์จึงตั้งเป้าในการถ่ายภาพที่ให้ความรู้สึกเหนือธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นภายในห้องที่ปรับให้เป็นกล้องออบสกูรา  มอเรลล์ใช้เวลาหลายเดือนในการวางโครงสร้างทางเทคนิค การคำนวณหาขนาดรูเพื่อให้ได้ภาพที่มีความสว่างและความคมชัด   ตลอดจนกำหนดระยะเวลาในการเปิดรูรับแสงที่เหมาะสม เพื่อให้ฟิล์มเก็บรายละเอียดได้มากที่สุด จากนั้น สิ่งที่ต้องทำคือเลือกเฟ้นหาห้องที่มีทิวทัศน์ (ภายนอก) ควรแค่แก่การเก็บภาพมากที่สุด

แล้วมอเรลล์ก็พบสิ่งที่มองหาที่บ้านของเขาเองในควินซี ชานเมืองบอสตัน เขาติดตั้งกล้องใช้ฟิล์มขนาดใหญ่ บนขาตั้งกล้องในห้องนอนลูกชาย โดยมีแสงลอดผ่านช่องขนาดเท่ารูเข็มเข้ามา  เขาเปิดชัตเตอร์ ออกจากห้อง และรอเป็นเวลาถึง 8 ชั่วโมง  ผลที่ได้ช่างน่าตื่นตะลึง  ภาพที่ได้จากการล้างและอัดขยายเป็นภาพแมกไม้และบ้านกลับหัวจากฟากถนนตรงข้าม  ล่องลอยอยู่เหนือของเล่นของลูกชายเหมือนเทพนิยายไม่มีผิด  มอเรลล์เล่าว่า “ผมตื่นเต้นสุดๆอย่างกับเป็นคนค้นพบการถ่ายภาพด้วยตัวเองเลยละครับ”

ภาพผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากกล้องออบสกรูราของมอเรลล์มีตั้งแต่ภาพพานอรามาสวยสดของมหานครนิวยอร์ก ไปจนถึงทิวทัศน์อันอบอุ่นในอิตาลี   เมื่อไม่กี่ปีก่อน  เขาเปลี่ยนมาถ่ายภาพสีและชื่นชอบความแรงของแสงสี และยังเริ่มกลับภาพให้เป็นปกติแบบที่ตาเห็นโดยใช้ปริซึมด้วย

เมื่อมอเรลล์เปลี่ยนจากฟิล์มมาใช้เซนเซอร์ดิจิทัลซึ่งไวแสงกว่า  ช่วยร่นระยะเวลาการเปิดรูรับแสงจากหลายชั่วโมงเหลือเพียงไม่กี่นาที   และยังทำให้เขาสามารถเก็บภาพก้อนเมฆ เงา และรูปทรงของวัตถุที่วูบไหวหรือเคลื่อนผ่านไปในชั่วพริบตาได้

“ผมอยากให้คนเห็นโลกในมุมมองใหม่ๆ บ้าง” มอเรลล์บอก  ภาพถ่ายของเขาซึ่งทลายกำแพงหรือเส้นกั้นแบ่งระหว่างภาพภูมิทัศน์และภาพฝันได้เปิดตาเราให้เห็นโลกใหม่ใบนั้นแล้ว

 พฤษภาคม 2554