ผู้เขียน หัวข้อ: ๑๐๐ ปีมรดกธรรม ปัญญานันทภิกขุ(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2568 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เสียงเพลงฟังสบายๆจากวงจีวันบนลานเวทีกลางแจ้ง  ท่ามกลางแมกไม้สูงที่แผ่ร่มเงาให้สถานที่แห่งนี้ดูร่มรื่น แม้จะเป็นช่วงเที่ยงวัน ด้านหลังเวทีมีภาพพระสงฆ์สูงอายุหน้าตาใจดีพร้อมข้อความ “ฟ้าสางที่กลางอุโมงค์” โครงการอาจาริยบูชา วาระ 100 ปีชาตกาล หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ณ วัดอุโมงค์  จังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พระพรหมมังคลาจารย์ หรือชื่อที่คุ้นหูชาวไทยว่า  “หลวงพ่อปัญญานันภิกขุ” เป็นเจ้าของฉายามากมาย ตั้งแต่บิดาแห่งพระนักเทศน์ และนักเทศน์ฝีปากกล้า ไปจนถึงพระนักปฏิรูปพิธีกรรม และแม่ทัพธรรมแห่งวงการพุทธศาสนาไทย  ในศตวรรษที่ 20  ผู้ปลุกให้ชาวพุทธตื่นจากความหลับใหลในไสยศาสตร์และหวนคืนสู่วิถีแห่งพุทธแท้

เปิดตำนานพระนักเทศน์

ช่วงปีพ.ศ. 2492-2502 คือยุคทองแห่งการแสวงธรรมของหนุ่มสาวและพุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่ เมื่อภิกษุหนุ่มใหญ่  วัย 38 เดินทางจากมาเลเซียไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอุโมงค์  หลังจากเจ้าชื่น สิโรรส นักธุรกิจโรงบ่มใบยาผู้ใฝ่ธรรม ได้อาราธนาท่านพุทธทาสให้ไปประกาศธรรมที่เชียงใหม่ ท่านพุทธทาสไม่สามารถไปได้ด้วยตนเองจึงเขียนจดหมายขอให้ท่านปัญญาผู้เป็นสหายธรรมไปทำหน้าที่นี้แทน เจ้าชื่นถูกอัธยาศัยท่านปัญญา มาแต่เดิม เนื่องจากประทับใจบทความของท่านเรื่อง “ภิกษุกับการเรี่ยไร” ซึ่งมีสาระสำคัญว่า การกระทำของบุคคลผู้นุ่งเหลืองมักส่อไปในทางที่มุ่งให้ชาวบ้านผู้ศรัทธาถวายปัจจัยเพื่อหวังผล คือสวรรค์ในโลกหน้า เป็นโรคร้ายที่ทำลายพุทธศาสนา ผู้ที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่อยากเข้าวัด  ส่วนผู้ที่เลื่อมใสจะยอมซื้อใบเบิกทางทุกครั้งไป เป็นการกีดขวางความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมอยู่มาก

 “สมัยนั้นพระนั่งเทศน์บนธรรมาสน์ คนฟังนั่งพับเพียบพนมมือ ท่านปัญญา ยืนเทศน์ ส่วนคนฟังนั่งเรียงกันบนม้านั่งไม้ยาว ไม่ได้มีพนักพิงหลังเหมือนสมัยนี้ และไม่ต้องพนมมือ ท่านเทศน์ม่วน” ป้าเพ็ญฉาย สิโรรส วัย 79 ปี  ธิดาของเจ้าชื่น เท้าความหลังสมัยอายุ 17 ปี   

ตามรอยพุทธองค์

การ “เทศน์เพื่อแก้ ไม่ได้เทศน์เพื่อเอาใจคน” ของท่านปัญญา เป็นที่ถูกใจของหลายคน แต่บางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบถึงพระเถระผู้ใหญ่  และนักการเมืองระดับสูง  ท่านจึงถูกตำหนินับครั้งไม่ถ้วน  ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก  ราชบัณฑิต เล่าว่า “ครั้งหนึ่งกลายเป็นเรื่องฮือฮา เพราะหนังสือพิมพ์ลงข่าวทั่วประเทศ เมื่อท่านเทศน์ทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลว่า นักการเมืองกินจอบกินเสียม จอมพลที่เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นโกรธมาก ตำหนิพนักงานว่าไม่ตรวจสำนวนก่อน ที่จริงท่านเทศน์สดๆ ตั้งแต่นั้นท่านโดนสั่งห้ามไม่ได้เทศน์ทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์อีก ท่านใช้คำพูดสละสลวย ไหลรื่นดุจสายน้ำไหล ต่อเนื่องไม่ติดขัด ท่านพูดเรื่อยๆ แต่วาทะแสบๆ คันๆ มีแทรกอารมณ์ขันแบบตลกหน้าตาย งานปาฐกถาธรรมส่วนมากฟังแล้วประทับใจ แต่ถ้าอ่านเป็นเนื้อเรื่องไม่ค่อยกินใจ ต้องฟังสดๆ  สมัยนี้ไม่มีใครดังเท่าท่านหรอก”

ตั้งแต่อยู่ที่เชียงใหม่ท่านปัญญาตั้งหลักใจไว้ว่า “ร่างกายชีวิตเป็นของพระรัตนตรัย ข้าพเจ้าเป็นทาสพระรัตนตรัยโดยสมบูรณ์ ความมุ่งหมายของข้าพเจ้าอยู่ที่ประกาศคำสอนที่แท้ของพุทธศาสนา ข้าพเจ้าจึงต้องเป็นคนกล้าพูดความจริงทุกกาลเทศะ” เนื้อหาที่เทศน์จึงเน้นเรื่องธรรมะของพุทธแท้ แนะชาวพุทธให้เลิกงมงายไหว้ผีสางเทวดา บนบานสานกล่าว ท่านเทศน์ในคราวหนึ่งว่า “แม้รูปเทวดาหน้าโรงแรม คนก็ไปไหว้เต็มไปหมด ดูแล้วแสนจะสงสารญาติโยมทั้งหลายว่า ทำไมจึงงมงายขนาดนั้น แล้วมีใครบ้างในเมืองไทยที่จะกล้าบอกญาติโยมอย่างนั้น เขาไม่กล้าเพราะกลัวจะไปขัดผลประโยชน์ ไม่คิดจะสอนให้เข้าใจธรรมะ คิดแต่ว่าจะเอาใจญาติโยมเพียงประการเดียว แล้วศาสนามันจะไปรอดได้อย่างไร" 

ชาติกำเนิด

11 พฤษภาคม พ.ศ. 2454  ด.ช. ปั่น เสน่ห์เจริญ เกิดที่จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของนายวันและนางคล้าย บิดามารดามีอาชีพทำนา ฐานะพอมีพอกิน เป็นพุทธบริษัทที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ครอบครัวมีควาย 20 ตัว ให้เพื่อนบ้านยืมไป 18 ตัว เพราะถือว่าเขาลำบากกว่า ตอนเด็กรับหน้าที่เลี้ยงวัวควายแบ่งเบาภาระบิดามารดา เด็กชายปั่นได้รับการปลูกฝังให้มีใจใฝ่ในธรรมะจากคุณยายสองท่าน ซึ่งเป็นยายแท้ๆและพี่สาวของยายที่ตื่นเช้าใส่บาตรทุกวัน และก่อนนอนก็มักเตือนหลานชายว่า “ไอ้หมาเอ้ย เองกราบหมอนหรือยัง” แต่ไม่ทราบว่ากราบทำไมเพราะยายเรียนน้อย หลังบวชเรียนแล้วท่านจึงรู้ว่ายายให้กราบพระ เนื่องจากมีนิสัยไม่ชอบสู้รบตบมือกับใคร เวลาโดนเพื่อนรังแกก็มักวิ่งไปหลบใกล้ห้องพักครู ต่อมาเมื่อบิดาล้มป่วยจึงจำต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานดูแลทางบ้าน ท่านเป็นคนประหยัด เคยเป็นกรรมกรเหมืองแร่หาบดินได้ค่าจ้างวันละ 1.30 บาท หลังเลิกงานเพื่อนๆ เที่ยวซ่องคืนหนึ่งหมดไปแปดบาท แต่ท่านเสียดายเงินที่หามาได้ รวมทั้งกลัวโรคผู้หญิง พออายุได้ 18 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอุปนันทนาราม จังหวัดระนอง โดยมีพระรณังควินัยมุนีวงศ์เป็นพระอุปัชฌาย์ และสองปีต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามความประสงค์ของมารดาที่วัดนางลาด จังหวัดพัทลุง โดยมีพระครูจรูญกรณีย์เป็นพระอุปัชฌาย์

แสดงธรรมครั้งแรกโดยไม่ตั้งใจ

ดร. พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ ลูกศิษย์ของท่านปัญญา เล่าไว้ในหนังสือ “ชีวิตและงานของท่านปัญญานันทะ” ว่าเมื่อครั้งท่านเป็นนักธรรมโท จำวัดอยู่ที่วัดปากนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าอาวาสไปธุระกลับไม่ทันทำวัตรเย็น ญาติโยมนั่งรอคอยฟังธรรม และคาดคั้นให้พระปั่นเทศน์แทน “แม้จะมือไม้สั่น ไม่รู้ว่าพูดอะไรออกไปบ้าง หูอื้อตาลายไปหมด จนกระทั่งจบ ญาติโยมเปล่งเสียงสาธุดังลั่นศาลา พอพระปั่นลงจากธรรมาสน์ ต่างเข้ามาบอกว่าเทศน์ดี ฟังสนุกดี” แม้ว่า  การแสดงธรรมครั้งแรกจะประหม่าไปบ้าง แต่ลีลาการแสดงธรรมที่ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าได้กลายเป็นบุคลิกพิเศษของท่านในเวลาต่อมา จากนั้นการเทศน์เริ่มแพร่หลายออกไป เช่น เทศน์ตามงานศพในตลาดบ้าง สมัยก่อนไม่มีรถท่านต้องเดินเท้าเปล่าข้ามวัน ข้ามจังหวัดเพื่อไปเทศน์ตามกิจนิมนต์ เดินจนชายสบงขาด แม้พายุมาตะเกียงดับขณะเทศน์ ก็ยังเทศน์ไม่หยุด 

คณะภิกษุใจสิงห์

ปี พ.ศ. 2476 พระโลกนาถ ภิกษุชาวอิตาลี ผู้ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันเนื้อสัตว์ เดินทางเข้ามาเมืองไทย หนังสือพิมพ์ลงข่าวเกรียวกราวว่า ท่านประกาศหา "ภิกษุสามเณรใจสิงห์" ให้ร่วมเดินทางเผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วโลก ธุดงค์เท้าเปล่าจากไทยผ่านพม่า อินเดีย สู่ประเทศอิตาลี  พุทธบริษัทพากันตื่นเต้นและมีพระเณรตัดสินใจร่วมเดินทางตามพระโลกนาถจำนวนไม่น้อย รวมทั้งพระปั่น  และสามเณรน้อยอีกรูปซึ่งต่อมาคืออาจารย์กรุณา กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ

                ในตอนแรก พระปั่นประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย  จึงขอให้พระลูกวัดช่วยเขียนใบปลิวแจกไปในเมืองว่า ท่านมีเจตนาจะไปแสวงธรรมต่างแดนกับพระโลกนาถ ให้คนมาฟังเทศน์เพื่อนำปัจจัยไปใช้ในการเดินทาง มีคนมาฟังมากมาย หนึ่งในนั้นคือมารดาของท่านที่รีบเดินทางมาแจ้งข่าวว่าบิดาป่วยหนัก เพราะไม่อยากให้พระลูกชายไปเมืองนอก ท่านจึงเทศน์ให้มารดาฟังว่าไปเพื่อพระศาสนา  แต่มารดาก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี เพียงแต่ไม่กล้าคัดค้าน ท่านจึงยืนเทศน์อีกครั้งหลังสถานีรถไฟก่อนออกเดินทางมากรุงเทพฯ  ท่านปัญญาเท้าความหลังว่า เมื่อเห็นคนยืนฟังพระลูกชายเนืองแน่น มารดาที่มาทัดทานก็ใจอ่อนลง

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่พระปั่นเห็นกรุงเทพฯ และได้พบกับพระโลกนาถที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงอุปถัมภ์พระเณรรูปละ 50 บาท ก่อนออกจากกรุงเทพฯ คณะไปกราบพระแก้วมรกต แล้วมุ่งหน้าขึ้นเหนือโดยเดินเท้าไปตามแนวรางรถไฟบ้าง หลีกออกจากทางรถไฟบ้าง ผ่านจังหวัดอยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย และแม่สอด   ก่อนเข้าเขตพม่า  ทว่าระหว่างพำนักอยู่ในย่างกุ้งเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น พระปั่นจึงตัดสินใจกลับบ้าน มุ่งหน้าสู่มาตุภูมิพร้อมกับพระอีกสองรูป  แม้จะไปไม่ถึงอิตาลี แต่ท่านได้นำความรู้และประสบการณ์กลับมาใช้ประกอบข้อธรรมอันเป็สที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนในเวลาต่อมา

ปณิธานสามสหายธรรม

ช่วงปี พ.ศ. 2480  ท่านจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสและหลวงพ่อบุญชวน เขมาภิรัต ทั้งสามกลายเป็นพี่น้องทางธรรมร่วมอุดมการณ์สืบสายแก่นธรรม  ท่านพุทธทาสเขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชญาณกวี (บ.ช. เขมาภิรัต) ว่า “ข้อตกลงที่ทำไว้ระหว่างเราสามคนเมื่อจำพรรษาที่สวนโมกข์ พุมเรียง ยังอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม คือเจตนาที่จะรักษาเกียรติของประเทศไทย  เมืองพุทธ ต้องไม่น้อยหน้ากว่าประเทศใดในการมีพุทธศาสนา... ร่างกายแตกสลายไป แต่คุณค่าของชีวิตยังเหลืออยู่อย่าง    ไม่ต้องสลายตามไปด้วย”

วัดต้นแบบ

เมื่อพูดถึงวัดชลประทานรังสฤษฎ์ จังหวัดนนทบุรี ผู้คนจำนวนมากรู้จักวัดนี้ บ้างมาทำบุญฟังธรรมวันพระและวันอาทิตย์ บ้างมาบวชระยะสั้น  แม้คนที่เพิ่งเคยมาวัดชลประทานฯ เป็นครั้งแรกยังสังเกตได้ว่า วัดนี้ต่างจากวัดทั่วไป คือไม่มีพระเครื่องให้เช่า มีแต่ร้านหนังสือ และห้องสมุดธรรมะ มีต้นไม้พูดได้ หรือป้ายคติธรรมที่ติดตามต้นไม้ คล้ายกับที่สวนโมกข์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ 

วันนี้แม้ท่านปัญญาจะละสังขารไปแล้วกว่าสี่ปี ในแต่ละเดือนชายไทยไม่ว่ายากดีมีจนไม่ต่ำกว่าร้อยคน ยังมุ่งหน้ามาบวชเรียนที่วัดชลประทานฯ ซึ่งท่านปัญญา เป็นเจ้าอาวาสมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503  เนื่องจากท่านปฏิรูปการบวชให้ทำแบบประหยัด ไม่มีการทำขวัญนาค ไม่มีงานเลี้ยงฉลองข้ามคืนอย่างที่นิยมทำกัน และต้องบวชอย่างน้อย 15 วัน  ท่านปัญญาเคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “วัดเราต้องแก้ เวลาใครจะบวชก็บอกกับเขา ถ้าไม่เอาแบบนี้ก็ไปบวชวัดอื่น”

นอกจากการบวชแบบเรียบง่ายแล้ว วัดชลประทานฯ ยังโด่งดังเรื่องการเทศน์ในงานศพท่านเห็นว่าการสวดในงานศพนั้นไม่ใช่สวดผี เพราะคนตายหมดทุกข์แล้ว ที่จริงทำศพแล้วไม่ต้องสวดเลยก็ได้ แม้ในสมัยพุทธกาลก็ไม่มีการสวดผีกัน แต่เมื่องานศพส่วนใหญ่มีคนมาประชุมกันมากจึงเป็นโอกาสที่ดีที่ท่านจะสอน เป็นกำไรที่พระไม่ต้องป่าวร้องให้ญาติโยมมาวัด ท่านกล่าวว่า “สวดเรียบๆบ้าง สวดสรภัญญะบ้าง แล้วคนที่ฟังจะรู้เรื่องอะไร แม้พระที่สวดเอง บางทีก็ไม่รู้ว่าสวดอะไรเหมือนกัน ต่างคนต่างไม่รู้ แล้วมันจะได้อะไร” แทนที่จะสวดอภิธรรมสี่จบแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน ท่านคิดใหม่เป็นการสวดจบเดียวแล้วเทศน์เลย จุดมุ่งหมายของการเทศน์ในงานศพคือ แสดงธรรมให้ญาติโยมเอาธรรมะเป็นเครื่องประโลมใจ เพื่อให้เข้าใจถึงสภาพธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่มีเกิดมีดับ และคลายจากความโศกเศร้า

สร้างคน-สร้างธรรม

ผู้ที่ได้อ่านประวัติชีวิตของท่านปัญญา คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านสร้างงานไว้มากมายตลอดชีวิต ทั้งด้านศาสนา สังคมสงเคราะห์ และงานด้านวิชาการ ท่านอุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาจวบจนละสังขารเมื่อปี พ.ศ. 2550 ด้วยปณิธานว่า “งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน” ครั้งหนึ่งท่านป่วยนอนพักในโรงพยาบาล  ถึงวันอาทิตย์  ซึ่งปกติทางวัดชลประทานฯมีกิจกรรมทำบุญ  ท่านปัญญา ขออนุญาตคุณหมอว่า “คุณหมอ ขอลาป่วยนะ”  “จะไปไหนครับหลวงพ่อ” คุณหมอถาม ท่านให้เหตุผลว่า “จะไปแสดงธรรมให้โยมเขาฟังก่อนแล้วค่อยมาป่วยใหม่”

สืบทอดเจตนารมณ์
เคยมีผู้กล่าวไว้ว่าโฉมหน้าของพุทธศาสนาในเมืองไทยในปัจจุบันคงเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ หากขาดพระเถระผู้ทรงคุณสองท่าน คือ ปัญญานันทภิกขุ และพุทธทาสภิกขุ เพราะศาสนาอาจตามคนรุ่นใหม่ไม่ทัน พุทธศาสนาในเมืองไทยแม้จะเป็นเถรวาทแบบลังกา แต่ยังผสมความเชื่อแบบพราหมณ์ที่ยึดถือชนชั้นวรรณะและพีธีกรรม ขณะที่คณะสงฆ์ส่วนใหญ่หมกมุ่นกับพิธีกรรมและลาภยศ ท่านพุทธทาสหันหลังให้กับความไร้แก่นสารของการกระทำดังกล่าว ชี้ชวนให้ชาวพุทธเข้าใกล้พุทธศาสนาครั้งพุทธกาล ตีความแก่นธรรมในแนวปฏิบัติที่พึ่งตนเองได้ไม่ต้องรอชาติหน้า ส่วนท่านปัญญาเป็นแรงผลักดันให้ชาวพุทธพ้นจากความมืดมนของสิ่งที่แฝงมาในพุทธศาสนา ทั้งสองท่านจึงเป็นต้นแบบที่อยู่ในใจของพระรุ่นใหม่ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในเวลาต่อมา

พฤษภาคม 2554