ผู้เขียน หัวข้อ: มดแดงแรงฤทธิ์(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3212 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ถ้ามนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลกจริง  อย่าเพิ่งหัวเสีย  หากพวกเขาร้องทักทายว่า “พาเราไปพบมดของพวกเจ้าหน่อยสิ”  มดตัวที่ว่านั้นอาจเป็นนางพญามดที่มีน้ำหนักพอๆกับเกลือไม่ถึงหยิบมือ  แต่เมื่อรวมกับนางพญามดตัวอื่นและอาณาจักรของพวกมันทั่วทั้งโลกแล้ว น้ำหนักอาจสูสีกับผู้คนเจ็ดพันล้านคนที่แออัดยัดเยียดอยู่บนโลกทุกวันนี้ก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น นางพญามดและวงศ์วานว่านเครือยังอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ที่สลับซับซ้อนและร่วมไม้ร่วมมือกันทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การรบทัพจับศึกแบบมีกลยุทธ์ ไปจนถึงการทำเกษตรและเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นเวลาอย่างน้อย 50 ล้านปีมาแล้ว

สำหรับภารกิจนี้ ผมขอเสนอชื่อมาร์ก มอฟเฟตต์ ช่างภาพและนักกีฏวิทยา ให้เป็น “พี่เลี้ยง” ของอาคันตุกะจากต่างดาว ในช่วงเวลาหลายปีของการสำรวจผืนป่า  มอฟเฟตต์ค้นพบมดชนิดใหม่ๆ และพฤติกรรมอันน่าพิศวงของพวกมัน แม้ขณะกำลังทานมื้อเช้าในป่าดิบชื้นของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียนี้ เขาก็ยังครุ่นคิดว่า เราควรจะถือว่ามดเป็นสัตว์ที่สมบูรณ์ในตัวเอง หรือวิวัฒน์ขึ้นในลักษณะเป็นหมู่ใหญ่กันแน่ ในเมื่อพวกมันอยู่รวมกันเป็นสังคม ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดร่วมกัน ไม่ได้แยกกันอยู่แบบตัวใครตัวมัน

แค่แหงนมองขึ้นไปบนเรือนยอดของป่าดิบชื้นแห่งนี้ เราก็พบเห็นสังคมเกือบสมบูรณ์แบบนั้นได้แล้ว ในป่าเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อนอื่นๆ มดหลายสิบชนิดอาจอาศัยอยู่บนต้นไม้ต้นเดียวกัน แต่คงแทบไม่มีที่ว่างสำหรับการอยู่ร่วมกันในบริเวณที่มดซึ่งรู้จักกันในชื่อ Oecophylla อาศัยอยู่ มดสกุลนี้ชนิดหนึ่งอยู่ในทวีปออสเตรเลียและเอเชียใต้ ส่วนอีกชนิดหนึ่งอยู่ในบางส่วนของทวีปแอฟริกา มดพวกนี้มีขายาวและลำตัวอ่อน พวกมันวางก้ามยึดครองอาณาเขตกว้างไกลบนเรือนยอดไม้ จนชาวบ้านขนานนามว่ามดต้นไม้ หรือที่เรารู้จักคุ้นเคยในชื่อมดแดง

หรือคุณจะเรียกพวกมันว่ามดสร้างรังด้วยใบไม้ (weaver ant) ก็คงไม่ผิดกติกา เนื่องจากมดเหล่านี้ทำรังขนาดเท่าลูกฟุตบอลระหว่างกิ่งไม้โดยการถักทอใบไม้เข้าด้วยกัน คอโลนีมดแดงแต่ละคอโลนีอาจมีรังมดตั้งแต่ห้ารังไปจนถึงกว่าร้อยรังในเวลาเดียวกัน เหล่ามดงานและมดทหารที่มีการปกครองตามลำดับชั้นช่วยกันดูแลและปกป้องอาณาเขต ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ยอดไม้ลงมาถึงพื้นป่า โดยทำงานประสานกันผ่านการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง พวกมันใช้ปาก ขาหน้า และหนวดสัมผัสกัน ทิ้งหรือฝากกลิ่นจากต่อมที่ต่างกันเพื่อส่งข้อความแตกต่างกันออกไป ทั้งยังปล่อยฟีโรโมนไปในอากาศเพื่อส่งสัญญาณอย่างรวดเร็วและกว้างไกล ยิ่งไปกว่านั้น พวกมันถึงขนาดแสดงพฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น โยกย้ายส่ายลำตัวคล้ายกับกำลังต่อสู้เพื่อเตือนพวกพ้องว่าศัตรูกำลังบุกรุกเข้ามา

การสร้างรังของมดแดงเริ่มจากมดงานตัวหนึ่งยืนอยู่บนใบไม้และเหยียดขาไปจับขอบใบไม้อีกใบที่อยู่ใกล้ๆ ถ้าระยะห่างมากเกินไป มดงานตัวที่สองจะปีนหลังมดตัวแรก เจ้ามดตัวที่อยู่ด้านล่างจะเกี่ยวเอวคอดกิ่วของมดตัวบนไว้ แล้วดันออกไปให้ใกล้เป้าหมายยิ่งขึ้น ถ้านั่นยังไม่พอ มดตัวที่สามจะปีนขึ้นไปบนหลังมดสองตัวแรกและถูกดันออกไปให้ไกลขึ้นอีก ห่วงโซ่มีชีวิตที่เกิดจากมดตัวแล้วตัวเล่านี้ยื่นออกในอากาศ เมื่อคว้าใบไม้ที่เป็นเป้าหมายได้แล้ว พวกมันจะออกแรงดึงอย่างพร้อมเพรียงกัน มีอยู่บ่อยครั้งที่พวกมันต้องต่อตัวเป็นโซ่ขนานกันไปและเสริมความแข็งแกร่งด้วยการต่อไขว้กันเป็นกากบาทเพื่อดึงขอบใบไม้ให้ชนกัน ฝูงมดงานจะเริ่มจัดแถวให้เหมือนกับลวดเย็บกระดาษไปตามแนวตะเข็บหรือรอยต่อระหว่างใบไม้ โดยใช้ขาเกาะขอบใบไม้ใบหนึ่งไว้ ส่วนปากก็งับขอบใบไม้อีกใบหนึ่ง ต่อจากนั้นพวกมันจะรอเวลาจนตกเย็นและความชื้นเพิ่มสูงขึ้น มดงานจากรังบริเวณใกล้เคียงจะมาสมทบ พวกมันนำตัวอ่อนที่กำลังเข้าสู่ระยะดักแด้และจะเปลี่ยนรูปร่างเป็นมดตัวเต็มวัยมาด้วย มดตัวเต็มวัยตัวหนึ่งจะยืนคร่อมบนรอยต่อระหว่างใบไม้ และใช้หนวดเคาะหัวตัวอ่อนที่คาบไว้ในปาก นัยว่าเป็นการบอกให้ตัวอ่อนปล่อยใยออกมาจากต่อมน้ำลาย

ในรังที่สร้างเสร็จสมบูรณ์รังหนึ่ง นางพญามดซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามดงานทั่วไปหลายเท่ากำลังวางไข่ เมื่อตัวอ่อนฟักออกจากไข่ มดงานบางตัวจะคอยเลี้ยงดูและทำความสะอาดตัวอ่อน รวมทั้งขนย้ายตัวอ่อนบางส่วนไปอนุบาลที่รังอื่นๆ บางครั้งบางคราวมดรุ่นใหม่ประกอบด้วยเพศเมียและเพศผู้จำนวนมากที่สามารถสืบพันธุ์ออกลูกหลานได้ พวกมันจะสยายปีกออกแล้วบินออกไปจับคู่ผสมพันธุ์ จากนั้นมดเพศเมียที่ตั้งท้องอาจสร้างคอโลนีใหม่ขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว ลูกที่เกิดจากนางพญามดมักกลายเป็นเพศเมียที่ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ พวกมันจะคอยตรวจตราอาณาเขตของคอโลนี ตระเวนหาอาหาร และต่อสู้กับผู้บุกรุก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรับใช้นางพญาและอุทิศชีวิตเพื่อความอยู่รอดของคอโลนีทั้งหมด

ในฐานะนักล่า มดแดงล่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังทุกชนิดที่ตัวใหญ่พอจะเป็นอาหารได้ และมีประสิทธิภาพ  จนเราแทบไม่เห็นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆเลย หรือถ้ามีก็น้อยเต็มที ชาวสวนในจีนสังเกตเห็นความสามารถนี้ตั้งแต่เมื่อ 1,700 ปีก่อน และนำรังมดแดงไปไว้ตามสวนผลไม้เพื่อปกป้องพืชผลจากแมลงวันผลไม้ หนอนผีเสื้อ และแมลงศัตรูพืชอื่นๆ มดแดงจึงถือเป็นวิธีการควบคุมทางชีวภาพเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบกัน

ทันทีที่มดทหารตัวหนึ่งจับเหยื่อได้ มดตัวอื่นจะเข้าไปช่วยดึงขาหรือหนวด ภายในชั่วไม่กี่อึดใจ มดทหารราวหกตัวหรือมากกว่านั้นก็สามารถจัดการเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นผีเสื้อกลางคืนที่มีปีกอ่อนนุ่ม มดทหารจากคอโลนีอื่น หรือแมงป่องตัวเขื่อง โดยจับขึงพืดจนแทบฉีกขาดออกเป็นชิ้นๆ มดสาวสองสามตัวจะเข้ามาแทะส่วนที่ร่องแร่งของเหยื่อให้ขาดออกจากกัน เหล่ามดงานจะช่วยกันแบกและลำเลียงชิ้นส่วนเหยื่อแห่กลับรัง ซึ่งเต็มไปด้วยเหยื่อที่ได้จากการล่าครั้งอื่นๆ

ในเวลาเดียวกัน มดทหารหน่วยอื่นๆจะคอยดูแลเพลี้ยหอยและเพลี้ยชนิดอื่นๆ (ที่ดูดน้ำเลี้ยงของพืชเป็นอาหาร) พวกมดจะต้อน “ปศุสัตว์” เหล่านี้ไปยังแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ คอยปกป้องพวกมันจากศัตรู และรวบรวมหยดน้ำหวานที่อุดมไปด้วยน้ำตาลซึ่งแมลงเหล่านี้ขับออกมา จากนั้นจึงช่วยกันขนกลับไปเป็นอาหารกองกลางเพื่อแบ่งปันกันในหมู่เพื่อนร่วมรังเช่นเดียวกับอาหารอื่นๆ

แม้แต่นักวิทยาศาสตร์หัวโบราณที่สุดก็เริ่มยอมรับแนวคิดที่ว่า คอโลนีของมดเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ (superorganism) ความคิดของมอฟเฟตต์ยิ่งแปลกไปกว่านั้น เขาพยายามอธิบายให้ผมฟังว่า มดแดงทำงานอย่างไรในโลกที่เป็นผลพวงจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ซึ่งอวกาศหรือปริภูมิโค้งงอ ลองนึกภาพตัวคุณหดเล็กลงเท่ามดและเริ่มเดินไปบนใบไม้ ภาพที่เห็นจะเป็นภาพสองมิติ เว้นแต่ว่าภาพนั้นโค้งและบิดงอ และหลังจากผ่านไปพักหนึ่ง จู่ๆคุณก็รู้สึกเหมือนตัวเองร่วงหล่นสู่ความเวิ้งว้างว่างเปล่า แต่ไม่เป็นไร เพราะคุณเพิ่งจะไต่ข้ามขอบใบไม้และเดินต่อไปบนด้านล่างของใบไม้ใบเดียวกัน

มอฟเฟตต์อาจเป็นบุคคลเดียวที่มองและเข้าใจมดแดงในโลกแห่งนวนิยายวิทยาศาสตร์ สตาร์วอร์ส ที่ซึ่งกฎของเวลาและแรงโน้มถ่วงดูจะไร้ความหมาย กระนั้น พวกเราที่เหลือก็สามารถเห็นฝูงมดปีนป่ายไปทั่วเกือบทุกที่ และเตือนตนเองว่า ธรรมชาติได้รังสรรค์หนทางมากมายเพื่อให้สรรพสัตว์สำแดงพลัง และมีวิถีทางหลากหลายที่จะทำให้พวกมันฉลาดหลักแหลม

พฤษภาคม 2554