ผู้เขียน หัวข้อ: จักรวรรดิอินคา (สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2515 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
บ่ายแดดจ้าวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ไบรอัน เบาเออร์ นักโบราณคดี ยืนอยู่กลางลานจัตุรัสเมากายักตา ทางใต้ของเมืองกุสโก ซึ่งชาวอินคาใช้ประกอบพิธีกรรม  เขาดื่มน้ำอึกใหญ่แล้วชี้ไปที่โขดหินสีเทาสูงตระหง่านเยื้องไปทางทิศตะวันออก ตรงยอดขรุขระมีการสกัดหินเป็นขั้นบันไดขนาดมหึมาอันเป็นส่วนหนึ่งของแท่นบูชาหลักของชาวอินคา เบาเออร์อธิบายว่า เมื่อราว 500 ปีก่อน นักแสวงบุญจะเดินทางมาทำพิธีบูชาที่โขดหินสูงชันแห่งนี้ ซึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งในจักรวรรดิ  เพราะเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์อินคา

เบาเออร์มาที่เมากายักตาเป็นครั้งแรกตอนต้นทศวรรษ 1980 เพื่อค้นคว้าเรื่องต้นกำเนิดจักรวรรดิอินคา ในยุคนั้น นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีส่วนใหญ่เชื่อกันว่า  ราวต้นศตวรรษที่สิบห้า ปาชากูเตก กษัตริย์หนุ่มผู้ทรงพระปรีชาสามารถ  ทรงเป็นกษัตริย์อินคาพระองค์แรกที่พลิกโฉมหมู่กระท่อมดินเล็กๆให้กลายเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ได้ในชั่วอายุคนเดียว แต่เบาเออร์ไม่ปักใจเชื่อ เขาคิดว่าต้นกำเนิดของราชวงศ์อินคาน่าจะหยั่งรากลึกมากกว่านั้น และดูเหมือนเมากายักตาเป็นที่ที่เหมาะจะสืบเสาะเรื่องนี้มากที่สุด แต่เขาก็ต้องแปลกใจ เพราะหลังจากขุดค้นมาแล้วสองฤดูก็ยังไม่พบร่องรอยใดๆของบรรพกษัตริย์ก่อนหน้ากษัตริย์หนุ่มปาชากูเตกเลย

ด้วยเหตุนี้ เบาเออร์จึงเบนเข็มไปยังหุบเขากุสโกทางเหนือของเมากายักตา พร้อมกับเพื่อนร่วมงานชื่อ   อาร์. อแลน โควีย์ และทีมผู้ช่วยชาวเปรู เขาปีนขึ้นลงภูเขาสูงชันอยู่ถึง 4 ฤดูขุดค้น และบันทึกรายละเอียดเศษภาชนะดินเผาทุกชิ้นที่กระจัดกระจายอยู่ หรือชิ้นส่วนกำแพงหินทุกชิ้นที่พบ ในที่สุดเบาเออร์กับเพื่อนร่วมงานก็ค้นพบแหล่งโบราณคดีของชาวอินคาหลายพันแห่งที่ไม่เคยมีใครพบมาก่อน และหลักฐานใหม่ที่บ่งชี้เป็นครั้งแรกว่า จักรวรรดิอินคารุ่งเรืองขึ้นเนิ่นนานกว่าที่เคยเชื่อกันมาก คือระหว่างปี ค.ศ. 1200 ถึง 1300 เดิมทีดินแดนแถบนี้มีเหล่ากษัตริย์แห่งจักรวรรดิวารี (Wari หรือ Huari) อันยิ่งใหญ่ปกครองอยู่ โดยมีนครหลวงอยู่ใกล้กับเมืองไอย์อากูโชในปัจจุบัน แต่พอถึงปี 1100 จักรวรรดินี้ก็ล่มสลาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความแห้งแล้งรุนแรงในแถบเทือกเขาแอนดีสที่กินเวลายาวนานราวร้อยปีหรือมากกว่านั้น หัวหน้าเผ่าน้อยใหญ่ทั่วทั้งเทือกเขาแอนดีสต่างต่อสู้แย่งชิงน้ำที่หาได้ยากยิ่ง และออกปล้นสะดมหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากหลบหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูงกว่า 4,000 เมตร

แต่ชนเผ่าอินคาที่ตั้งหลักแหล่งในหุบเขาใกล้กับเมืองกุสโก ซึ่งมีดินดีและน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ไม่ยอมละทิ้งถิ่นฐานหรือถอดใจกับการต่อสู้แย่งชิง พวกเขารวมกำลังกันต่อต้านผู้รุกราน และรู้จักใช้ประโยชน์จากอากาศที่อุ่นขึ้นในแถบเทือกเขาแอนดีสระหว่างปี 1150 ถึง 1300

กษัตริย์อินคาเริ่มสนพระทัยในดินแดนและทรัพยากรของเผ่าอื่น ทรงผูกมิตรโดยการอภิเษกสมรสกับธิดาของหัวหน้าเผ่าใกล้เคียง และพระราชทานเครื่องบรรณาการให้พันธมิตรใหม่ๆอย่างเหลือเฟือ แต่เมื่อหัวหน้าเผ่าคนใดไม่ยอมรับไมตรีหรือมีท่าทีคุกคาม กษัตริย์อินคาก็ทรงสำแดงแสนยานุภาพทางทหารเพื่อกำราบ ด้วยวิธีนี้หัวหน้าชนเผ่าต่างๆที่อยู่โดยรอบหุบเขาจึงยอมสวามิภักดิ์ทีละคน เมื่อถึงตอนนี้ กษัตริย์อินคาทรงเริ่มมองไกลออกไปยังดินแดนอุดมสมบูรณ์รอบทะเลสาบตีตีกากา ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งหลังปี ค.ศ. 1400 ปาชากูเตก อินคา ยูปังกี กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของอินคา ทรงเริ่มวางแผนรุกคืบลงใต้ นับเป็นการเปิดศักราชความเกรียงไกรของจักรวรรดิอินคาอย่างแท้จริง

ล่วงถึงกลางศตวรรษที่สิบห้า บนที่ราบสูงเปรูอันหนาวเหน็บทางเหนือของทะเลสาบใหญ่ กองทัพชนเผ่าโกยาตั้งประจันหน้าท้าทายให้นักรบอินคาเข้าโรมรัน บรรดาผู้ปกครองชนเผ่าในแถบทะเลสาบตีตีกากาล้วนเย่อหยิ่งทระนง ดินแดนเหล่านี้ล้วนอุดมสมบูรณ์และน่ายึดครอง สายแร่ทั้งเงินและทองแทรกตัวอยู่ตามขุนเขา ในทุ่งหญ้าเขียวขจีมีฝูงอัลปากาและลามาแทะเล็มหญ้า ความสำเร็จทางการทหารในภูมิภาคแอนดีสขึ้นอยู่กับปศุสัตว์เหล่านี้ หากปาชากูเตกทรงไม่อาจเอาชนะหัวหน้าเผ่ารอบตีตีกากาผู้เป็นเจ้าของฝูงปศุสัตว์เหล่านี้ได้ เห็นทีพระองค์คงไม่มีวันเป็นสุข เพราะต้องคอยพะวงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า คนพวกนี้จะมายึดดินแดนของพระองค์ไปสักวัน

ปาชากูเตกประทับบนพระเสลี่ยงที่ประดับประดาอย่างมลังเมลือง และมีพระบัญชาให้กองทัพเข้าประจัญบาน ทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกันอย่างดุเดือด เมื่อการตะลุมบอนเริ่มซาลง ร่างของนักรบเผ่าโกยาก็นอนเกลื่อนทั่วสมรภูมิ

หลายปีหลังจากนั้น ปาชากูเตกและกษัตริย์พระองค์ต่อๆมาทรงปราบปรามหัวหน้าเผ่าที่อยู่ทางใต้ได้ทั้งหมด ภารกิจต่อมาคือการควบคุมชนเผ่าต่างๆ ตั้งแต่ชนชั้นผู้ปกครองจนถึงไพร่และข้าทาสไม่ให้กระด้างกระเดื่อง

ถ้าเมืองใดคิดคดทรยศ  กษัตริย์อินคาจะมีพระบัญชาให้โยกย้ายพลเมือง โดยอัปเปหิพวกหัวแข็งเข้าไปอยู่ใจกลางอาณาจักร และส่งพวกที่จงรักภักดีออกไปอยู่ที่เมืองนั้นๆแทน ชาวบ้านในหมู่บ้านห่างไกลที่มีกำแพงล้อมรอบจะถูกกวาดต้อนไปยังเมืองใหม่ๆ ซึ่งอยู่ในการควบคุมของชาวอินคาตามถนนสายหลักๆ นอกจากนี้ ผู้ปกครองตามหัวเมืองต่างๆยังสั่งให้สร้างยุ้งฉางไว้ตามรายทาง และกะเกณฑ์ชาวบ้านในท้องถิ่นให้จัดหาเสบียงมาตุนไว้

ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอินคา อารยธรรมแถบเทือกเขาแอนดีสเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าครั้งใดในอดีต วิศวกรชาวอินคาปรับปรุงถนนหนทางที่ไม่ปะติดปะต่อกันจนกลายเป็นเครือข่ายทางหลวงที่เชื่อมถึงกันหมด เกษตรกรชาวอินคาประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกบนที่สูง พวกเขาปลูกพืชพื้นเมืองได้ราว 70 ชนิดและบ่อยครั้งสามารถเก็บผลผลิตไว้พอเพียงสำหรับบริโภคได้นาน 3-7 ปี

ล่วงถึงรัชสมัยของกษัตริย์อวยนา กาปัก ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ราวปี 1493 ก็แทบไม่มีสิ่งใดไกลเกินเอื้อมสำหรับราชวงศ์อินคาอีกแล้ว พระองค์ทรงเกณฑ์แรงงานให้สร้างพระตำหนักในชนบทแห่งใหม่ชื่อว่า กิสปีกวานกา เพื่อเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ให้เมืองหลวงแห่งใหม่ของพระองค์ในเอกวาดอร์

ทว่าในปี 1531 ผู้รุกรานต่างชาติยกพลขึ้นบกทางตอนเหนือของจักรวรรดิ คนพวกนี้สวมเกราะโลหะ ถืออาวุธร้ายแรงแบบใหม่ กองทหารสเปนผู้พิชิตเหล่านี้บุกเข้ามาทางเมืองกาฮามาร์กาซึ่งอยู่ทางเหนือ  และจับกษัตริย์อาตาอวลปาเป็นเชลยที่นั่น   แปดเดือนต่อมาพวกเขาก็สำเร็จโทษเชลยสูงศักดิ์พระองค์นี้เสีย    และในปี 1533 ฟรัน-ซิสโก ปีซาร์โร ผู้นำกองทัพสเปน ก็เลือกเจ้าชายหนุ่มพระนามว่า มังโก อินคา ยูปังกี ขึ้นเป็นกษัตริย์หุ่นเชิด

ตลอดหลายเดือนต่อมา ผู้รุกรานชาวสเปนเข้ายึดปราสาทราชวังในเมืองกุสโก และพระตำหนักน้อยใหญ่อันกว้างขวางในชนบท รวมทั้งนำสตรีสูงศักดิ์ในราชสำนักมาเป็นนางบำเรอหรือภรรยา ทำให้กษัตริย์หนุ่มถึงกับพิโรธโกรธกริ้ว ในที่สุดก็ทรงก่อกบฏขึ้นเมื่อปี 1536 และเมื่อกองทัพของพระองค์ประสบความปราชัย ก็ทรงหนีไปซ่องสุมกำลังอยู่ที่เมืองบิลกาบัมบา แล้วทำสงครามกองโจรซุ่มโจมตีพวกสเปน จนกระทั่งปี 1572 พวกสเปนจึงทำลายฐานที่มั่นนี้ลงได้

ในช่วงหลายสิบปีแห่งความระส่ำระสาย เครือข่ายถนนหนทาง ยุ้งฉางเก็บเสบียง วัดวาอาราม และปราสาทราชวังเริ่มทรุดโทรมผุพัง ขณะที่จักรวรรดิกำลังคลอนแคลน ชาวอินคาและลูกหลานพยายามธำรงไว้ซึ่งสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจอย่างกล้าหาญ ส่วนข้าราชบริพารก็ช่วยกันเก็บรักษามัมมี่บรรพกษัตริย์โดยซุกซ่อนไว้ตามที่ต่างๆรอบเมืองกุสโก และทำการสักการบูชาอย่างลับๆ พอถึงปี 1559 ควน โปโล เด ออนเดการ์โด ข้าหลวงประจำเมืองกุสโก ก็ประกาศห้ามลัทธิบูชาบรรพบุรุษนี้ ก่อนจะออกตามหาและยึดพระศพกษัตริย์อินคาได้ 11 พระศพ ตลอดจนพระศพราชินีอีกหลายพระศพ

ผู้ปกครองอาณานิคมนำมัมมี่ของกษัตริย์ปาชากูเตก, อวยนา กาปัก และเชื้อพระวงศ์อีกสองพระองค์ออกแสดงให้ผู้คนชมอยู่หลายเดือนที่โรงพยาบาลซานอันเดรสในกรุงลิมา แต่ไม่ช้าความชื้นจากทะเลก็ทำให้มัมมี่เริ่มเน่าเปื่อย เจ้าหน้าที่ชาวสเปนจึงจัดแจงฝังพระศพของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดากษัตริย์อินคาไว้ที่กรุงลิมาอย่างลับๆ ห่างไกลจากเทือกเขาแอนดีสและประชาชนผู้รักและเทิดทูนพระองค์

พฤษภาคม 2554