ผู้เขียน หัวข้อ: ทันตแพทย์ลุกฮือ! ร้อง‘2 รัฐมนตรี สธ.-วท.’ หวั่นพ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯกระทบคลินิกใช้เค  (อ่าน 931 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 12 ตุลาคม ชมรมทันตแพทย์อาสา ประกอบด้วยทันตแพทย์ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ประมาณ 50 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กรณีได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งกำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีหรือเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรม จะต้องมีใบอนุญาตครอบครองเครื่องกำเนิดรังสี และผู้ใช้งานจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านรังสี โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัด สธ.เป็นผู้รับหนังสือ โดยก่อนหน้านี้วันเดียวกัน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เพื่อเรียกร้องเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

ทพ.สมชัย สุขสุธรรมวงศ์ ตัวแทนชมรมทันตแพทย์อาสา กล่าวว่า ทันตแพทย์ไม่ได้ใช้เครื่องกำเนิดรังสีหรือเครื่องเอกซเรย์ฟันในการรักษา แต่ใช้ในการตรวจเพื่อประกอบการวินิจฉัย ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วยทุกราย แต่ที่ผ่านมามีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยชนิดและจำนวนเครื่องมือ เครื่องใช้ ยาและเวชภัณฑ์หรือยานพาหนะที่จำเป็นประจำสถานพยาบาล พ.ศ.2558 ภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดว่า เครื่องเอกซเรย์ฟันเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่คลินิกทันตกรรมทุกแห่งต้องมี และหากต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านรังสี (RSO) ตามที่ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ กำหนดอีก ก็ต้องจ้างคนเพิ่มมาทำหน้าที่ ทั้งที่คลินิกทันตกรรมเล็กๆ ที่เน้นเรื่องงานส่งเสริมป้องกันอย่างการขูดหินปูน อุดฟัน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องเอกซเรย์ฟันอยู่แล้ว เรียกได้ว่า พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ กระทบต่อวิชาชีพทันตกรรมอย่างมาก

ทพ.สมชัยกล่าวว่า อยากขอให้ สธ.สั่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจความปลอดภัยเครื่องเอกซเรย์อยู่แล้ว และประสานทันตแพทยสภาในการหารือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในการผลักดันให้ออกกฎกระทรวง ภายใต้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ เพื่อยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ฟัน ซึ่งตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า เครื่องกำเนิดรังสีใดที่ไม่เป็นอันตรายก็ให้ยกเว้นได้ ซึ่งเครื่องเอกซเรย์ฟันไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เพราะไม่เคยมีทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ หรืผู้ป่วยรายใดในประเทศไทยและในโลกที่ได้รับผลกระทบหรืออันตรายจากเครื่องดังกล่าวมาก่อน นอกจากนี้ จะขอให้ประสานกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในการแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยชนิดและจำนวนเครื่องมือทางการแพทย์ประจำสถานพยาบาล พ.ศ.2558 ที่บังคับให้คลินิกทันตกรรมทุกแห่งต้องมีเครื่องเอกซเรย์ฟันด้วย เพราะบางคลินิกทันตกรรมก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หากให้บริการเพียงแค่ขูดหินปูน อุดฟัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องมี

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแผ่รังสีของเครื่องเอกซเรย์ฟันอยู่ในระดับใดถึงเรียกว่ามีความปลอดภัย ทพ.สมชัยกล่าวว่า พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ เป็นกฎหมายที่มีเจตนาดีในการดูแลอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ รังสีต่างๆ ที่อันตราย โดยเฉพาะในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งก็สนับสนุน แต่ขอให้ยกเว้นเครื่องเอ็กซเรย์ฟัน เพราะไม่มีอันตรายใดๆ ซึ่งการพิจารณาว่าอันตรายหรือไม่ ไม่อยากให้มองว่าเครื่องเอ็กซเรย์ฟันมีปริมาณรังสีเท่าไร แต่ต้องพิจารณาถึงตอนใช้ เพราะเมื่อเวลาใช้ก็ใช้เวลาเพียง 0.2 วินาทีในการฉายรังสีเท่านั้น และไม่ได้ฉายมากมายหลายครั้ง เมื่อใช้เสร็จก็ปิด ไม่ได้แผ่รังสีออกมาตลอดเวลา แม้แต่ทันตแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสียังไม่ได้รับอันตรายเลย ไม่เหมือนกับเครื่องเอ็กซเรย์กระเป๋าที่เปิดตลอดเวลาเกือบทั้งวัน

นพ.โสภณกล่าวว่า จะรับเรื่องนี้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สบส. พิจารณาดำเนินการ รวมทั้งจะประสานหารือกับ วท.เพื่อพิจารณาว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ สธ.และกลุ่มกฎหมายไปพิจารณาว่าในส่วนของ สธ.จะมีส่วนไหนกระทบจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่เพราะปัจจุบัน รพ.ชุมชนที่สังกัด สธ.ไม่ได้มีนักรังสีและเจ้าหน้าที่รังสีครบทุกแห่ง โดย 400 แห่ง จะมีเจ้าหน้าที่รังสี แต่ไม่มีนักรังสีที่จบปริญญาตรี ซึ่งสภาวิชาชีพรังสีเทคนิคก็ได้เสนอให้มีนักรังสีใน รพ.ชุมชนด้วย ซึ่งก็จะเร่งพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป


มติชนออนไลน์
วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559