ผู้เขียน หัวข้อ: อนาคตรพ.กรุงเทพ โตยั่งยืน-มีอินโนเวชั่น  (อ่าน 1764 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
"สาธิต วิทยากร" ทายาท รพ.กรุงเทพ มององค์กรโตยั่งยืนต้องมีอินโนเวชั่นส์
การเติบโตของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยไม่น้อย

โดยภาพของหัวเรือใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรในเชิงรุกคง หนีไม่พ้น ชื่อของ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร และ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ   ในฐานะผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ร่วมกันกำหนดแนวทางในการรุกคืบธุรกิจ  จนทำให้กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ

ภายใต้การเติบโตที่ก้าวกระโดดของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพนั้น นอกเหนือจากนายแพทย์พงษ์ศักดิ์  หมอปราเสริฐ และทีมผู้บริหารมืออาชีพแล้ว ต้องให้เครดิตทายาทคนเดียวของนายแพทย์พงษ์ศักดิ์อย่าง "ดร.สาธิต วิทยากร"  ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BGH ที่ได้ร่วมฝ่าฟันอุปสรรคในทุกวิกฤติจนถึงวันนี้

ถือเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นของนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ก็ว่าได้  แม้เขาไม่ได้จบตรงทางด้านการแพทย์ แต่เขาก็สามารถขึ้นมาอยู่บนแถวหน้าในฐานะนักบริหารรุ่นใหม่ของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ  ซึ่งการเติบโตในเส้นทางธุรกิจของ ดร.สาธิต ไม่ใช่แค่ถูกโปรโมทขึ้นมาเพียงเพราะเป็นทายาทของผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น แต่เข้าได้บ่มเพาะประสบการณ์จริงด้วยตัวเองร่วม 20 ปี  โดยมีผู้เป็นพ่อเป็นแม่แบบในการบริหารกิจการ

ดร.สาธิต ได้ย้อนรอยถึงความเป็นมาก่อนจะถึงวันนี้ให้ฟังว่า  หลังจากที่จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ไม่นานก็ต้องเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทที่สหรัฐ อเมริกา จนกระทั่งสำเร็จปริญญาโท MBA ด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย Golden Gate University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยได้เข้าทำงานที่บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) ในตำแหน่งวิศวกรประจำโรงกลั่นน้ำมันที่ศรีราชา

และในช่วงนั้นโรงพยาบาลกรุงเทพกำลังขยายกิจการไปที่พัทยา จึงได้มอบหมายให้ดูแลการก่อสร้างตั้งแต่แรกจนกระทั่งสร้างเสร็จ

เขาได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมารับดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการวางระบบบริหารและการจัดการทั้งหมด ทั้งการจัดการทีมแพทย์และพยาบาลรวมทั้งบุคลากร

ความสำเร็จในการบริหารกิจการแห่งแรกของธุรกิจครอบครัวนั้นสะท้อนได้จากจำนวนเตียงที่ให้บริการของโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา ที่เริ่มจาก 100 เตียง จนปัจจุบันมีมากกว่า 300 เตียง  มีผู้มาใช่บริการเริ่มจาก 50 คนต่อวัน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 1 พันคนต่อวัน ส่วนทีมแพทย์นั้นเริ่มจาก 10 คน เพิ่มเป็น 120 คนในปัจจุบัน ซึ่ง ดร.สาธิต บอกว่าการเติบโตของ รพ.กรุงเทพ พัทยา นั้น จะก้าวกระโดดทุกๆ 3 ปี  โดยอาศัยกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ถือว่าบูมมาก

การขยายตัวของโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยานั้นบูมขึ้นมาเพราะนักท่องเที่ยว ในช่วงนั้นแม้จะเป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ก็โตสวนกระแส  ตอนนั้นหลายโรงพยาบาลมีปัญหา แต่เรากลับโตก้าวกระโดด”
การบริหารกิจการโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ ดร.สาธิต มีบทบาทในการบริหารกิจการอย่างจริงจัง แต่ไม่ได้จบเพียงแค่นี้ เพราะด้วยความสามารถที่แสดงให้เห็นจากผลงานดังกล่าว เมื่อเกิดวิกฤติของโรงพยาบาลในกลุ่มอีกแห่งคือ โรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เขาได้ถูกสั่งการให้ไปกอบกู้กิจการที่ภูเก็ต  ซึ่งในช่วงนั้นมีปัญหาหนัก  เพราะมีการกู้เงินจากต่างประเทศเป็นหลัก เมื่อมีการลอยค่าเงินบาท ก็ทำให้มีปัญหา

เขาเล่าให้ฟังว่า การพลิกฟื้นฐานะของโรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต นั้น จะใช้วิธีรัดเข็มขัดบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ  ทำการตลาด จัดทำทีมเวิร์ครวมทั้งหาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่มาใช้บริการ จัดกิจกรรมด้านสุขภาพภายในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้มาใช้บริการ สุดท้ายก็ทำให้โรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ตพลิกฟื้นฐานะขึ้นมาได้

"ธุรกิจโรงพยาบาลต้องทำให้คนไว้ใจ และที่ต่างจังหวัดเราก็จัดอีเวนท์บ่อยๆ  คอนเซปต์ก็คือดึงคนเข้ามาเดินในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความคุ้นเคย คิดอะไรไม่ออกก็จัดตลาดนัดในโรงพยาบาล สุดท้ายก็ฟื้นโรงพยาบาลที่ภูเก็ตได้ ประสบการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ ดร.สาธิต ได้นำไปปรับใช้ในการขยายสาขาของโรงพยาบาลกรุงเทพในจังหวัดอื่นๆ ตามลำดับต่อมาทั้ง  โรงพยาบาลกรุงเทพ สมุย และ โรงพยาบาลกรุงเทพ ระยอง  และมีโอกาสได้เข้ามาบริหารกิจการในเขตกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกที่โรง พยาบาลบีเอ็นเอช ที่ซอยคอนแวนต์ สีลม โรงพยาบาลบีเอ็นเอช เราก็ซื้อมาจากสถาบันการเงิน ตอนนั้นเศรษฐกิจไม่ดีเราก็เข้าไป สักพักหนึ่งเราก็เข้าไปปรับปรุงภายใน คอนเซปต์แรกของโรงพยาบาลเอกชนภาพต้องดูดีก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มมีโรงพยาบาลในเครือมากขึ้น ซึ่งก็มีการวางระบบร่วมกันในเครือ"

นอกเหนือจากการเป็นนักบริหารแล้ว ดร.สาธิต ยังได้นำระบบไอทีเข้ามาปรับใช้ในกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้บุกเบิกจัดระบบด้านบัญชีโดยอาศัยระบบไอทีเข้ามาช่วย พยายามหาอินโนเวชั่นส์ใหม่เข้ามาใช้ในธุรกิจ เพราะเขามีความเชื่อว่า องค์กรที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนจะต้องมีอินโนเวชั่นส์

"องค์กรที่ยั่งยืนต้องมีอินโนเวชั่นส์  โดยใช้ไอทีเข้าไปช่วย  เราจะเน้นเรื่องของเซอร์วิส เพื่อความสะดวกของผู้ที่มาใช้บริการ"

ดร.สาธิต ยังมีบทบาทในการออกแบบและพัฒนาระบบการจัดซื้อรวมของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพได้ สำเร็จ แม้ว่าการลงทุนด้านระบบไอทีนั้นมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการเชื่อมโยงข้อมูลของคนไข้ไปยังโรงพยาบาลกรุงเทพสาขาต่าง ๆ มีการแบ่งปันความรู้ระหว่างสาขาทั้งทีมแพทย์และพยาบาล ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปีจะสามารถดำเนินการได้

ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่  ยังได้กล่าวตบท้ายให้ฟังว่า หัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจโรงพยาบาลจะมีความแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป เพราะนอกจากความเชื่อมั่นขององค์กรแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ทีมแพทย์ และพยาบาล รวมทั้งการบริการจะต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนที่มาใช้บริการ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องยากของฝ่ายบริหารในการที่จะประสานทีมแพทย์เพื่อดึงมา ร่วมงาน เพราะวิชาชีพดังกล่าวจะมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งเขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เป็นพ่ออย่างนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ที่คอย ให้คำแนะนำ

ดร.สาธิต ยังได้เปิดมุมมองเกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในอนาคตว่า ธุรกิจโรงพยาบาลจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและแข็งแกร่งได้จะต้องอาศัย ระบบพันธมิตรของธุรกิจโรงพยาบาล หรือ Alliance Strategy of Hospitals  เพราะการประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยการผนึกกำลังสนับสนุนซึ่งกันและกัน 

เขาได้เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของการใช้ Alliance Strategy ในการรุกธุรกิจให้ฟังว่า คนภายนอกอาจจะมองว่ากลุ่ม รพ.กรุงเทพ จะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา แต่ความเห็นส่วนตัวมองว่าช้ามากต้องใช้เวลาร่วม 40 ปี ในการสร้างเครือข่ายให้แข็งแรง  แต่ภาพการโตของเราชัดเจนมากขึ้นเมื่อเรามาควบรวมกับกลุ่มพญาไท ทำให้จำนวนโรงพยาบาลในเครือเพิ่มขึ้นจาก 20 แห่งเป็น 28 แห่งทันที  แต่หากต้องมีการลงทุนเองตั้งแต่เริ่มแรก  นอกจากจะใช้เวลานานแล้ว ยังต้องใช้เงินลงทุนสูงด้วย

ส่วนการเปิดเสรีอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้นั้น ดร.สาธิต ประเมินว่า จะไม่กระทบต่อภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมากนัก แต่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว  ซึ่งในส่วนของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพก็ มั่นใจว่าจะรับมือได้ แม้จะมีคู่แข่งใหญ่ๆ  เข้ามา แต่มองว่าต่างชาติต้องการที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรกับเรามากกว่าที่จะแข่งกับ เรา  อย่างไรก็ตามการที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรกันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

"การที่ผมมองว่ากลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพโต ช้า  เพราะเราใช้เวลาถึง 40 ปีค่อย ๆ สร้างทีละโรงพยาบาล  แต่พอเรารวมกับพญาไท ก็มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นทันที 8 แห่ง ถ้าฝรั่งเงินเยอะ ก็น่าจะเข้ามาเป็นพันธมิตร  ทั่วโลกแนวโน้มจะไปทาง Alliance Strategy มากกว่า เพราะโตเร็วมาก  แต่ถ้าฝรั่งเข้ามาและเดินกลยุทธ์แบบเดิมๆ ของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ  ต้องใช้เวลานานมาก"

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ น่าจะอยู่ในโฟกัสของนักลงทุนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่างชาติที่มองหาพันธมิตรในธุรกิจโรงพยาบาล  และแน่นอนว่าผู้บริหารอย่าง ดร.สาธิต ก็เป็นนักบริหารรุ่นใหม่ที่อยู่ในความสนใจด้วยเช่นกัน

กรุงเทพธุรกิจ
26 เมษายน 2554