ผู้เขียน หัวข้อ: ชูเมืองอัจฉริยะ ต้นแบบลดใช้พลังงาน  (อ่าน 813 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (SMART Cities – Clean Energy) โดยมี ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน, ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และ นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานสถาบันอาคารเขียวไทย ร่วมเปิดโครงการฯ ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับสถาบันอาคารเขียวไทย ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
        มูลนิธิอาคารเขียวไทยจับมือกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน หนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ หวังสร้างเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ เชื่อมโยงการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าเป็น Smart Cities - Clean Energy
       จำนวนประชากรโลกที่มีจำนวน 7,400 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 9,600 ล้านคนในปี 2593 จำนวนดังกล่าว 2 ใน 3 หรือประมาณกว่า 6,400 ล้านคนจะอาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ทำให้เมืองมีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่ทรัพยากรมีจำกัดและก่อให้เกิดปัญหา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรส่งเสริมให้ชุมชนเมืองมีระบบการขนส่งและการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ มีสุขพลานามัยที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ สะดวก สะอาด ปลอดภัย รองรับสังคมในอนาคต

        พลเอก.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP 21) ณ กรุงปารีส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายให้รักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ด้วยการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
       สำหรับประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าให้ไทยลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแผนพลังงานของประเทศให้มากขึ้น
       อย่างไรก็ดี การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานมากว่า 50 ปีแล้ว ในรูปแบบประชารัฐ ด้วยความร่วมมือของประชารัฐ เอกชน ประชาสังคม เอ็นจีโอและประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของประเทศที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 ของสหประชาชาติ
       ตั้งเป้าลดใช้พลังงานลง30%
       ดังนั้น เพื่อให้การปล่อยก๊าซลดลงตามเป้าหมาย และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนตามเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) ที่ตั้งเป้าลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลง 30% ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ กระทรวงพลังงานโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย จึงได้สนับสนุนโครงการการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) เพื่อเป็นแนวทางหรือแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic Design) การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ
       ทั้งนี้ จะเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid) ระบบการบริหารจัดการพลังงานระดับชุมชน (Community Energy Management Systems : CEMS) ระบบขนส่งอัจฉริยะและยานยนต์พลังงานทางเลือก เป็นต้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบาย ลดการใช้พลังงาน เกิดการใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
       โครงการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงาน ลดคาร์บอนไดออกไซด์ และยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City

        ร่วมมือสู่เมืองอนุรักษ์พลังงาน
       ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมือง การส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
       โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการประเมินเกณฑ์ และจะประกาศให้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการออกแบบเมืองอัจฉริยะ ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบหลัก คือ การจัดรูปเมืองและโครงสร้างพื้นฐานหลักของเมือง เช่น โครงสร้างระบบขนส่ง ระบบราง การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เต็มศักยภาพ ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูล มาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
       อีกทั้งยังเป็นการร่วมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ได้แนวทางการพัฒนาเมืองของชุมชนที่มีผลต่อการลดความต้องการพลังงานและการใช้พลังงานสูงสุด ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง และเกิดการเรียนรู้ด้านพลังงานสู่ชุมชนผ่านกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์

        นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานสถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวว่า เกณฑ์เบื้องต้นการประเมินเมืองอัจฉริยะ จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยรวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านตารางเมตร หรือความต้องการกำลังไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 เมกะวัตต์ หรือมีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 30,000 คน หรือสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่า 30,000 ตันต่อปี

โดย MGR Online       
14 กันยายน 2559