ผู้เขียน หัวข้อ: สนธิสัญญาปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 ภารกิจจากพ่อสู่ลูก  (อ่าน 958 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
31 สิงหาคม 2559 จะเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญของประเทศเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพราะวันที่ 31 สิงหาคมคือวันแรกของ “การประชุมสันติภาพปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 (The Union Peace Conference- 21st Century Panglong)” ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 4 วัน ณ กรุงเนปิดอ เมืองหลวงของประเทศ โดยมีเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นายบัน คี มูน เป็นสักขีพยาน และเป็นผู้กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุม และในการประชุมครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมจาก 16 ตัวแทนจากรัฐบาล 16 ตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ 10 ตัวแทนจากพรรคการเมือง และตัวแทนทั้งจาก กองทัพ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งแน่นอนว่า หากการประชุมสัมติภาพครั้งนี้สามารถบรรลุข้อตกลงต่างๆ ที่จะประสานผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของเมียนมาได้แล้วล่ะก็ รากฐานสำคัญประการหนึ่งที่จะนำพาเมียนมาไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนก็จะสามารถลงหลักปักฐานได้
       
       ปัญหาชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่บางครั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธทำให้สถานการณ์ความมั่นคงภายในประเทศเมียนมาเป็นสิ่งที่ยากต่อการคาดการณ์ และกลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
       
       ปัจจุบัน เมียนมาประกอบด้วย 14 เขตการปกครอง โดย 7 เขตถูกเรียกว่า ภูมิภาค (region) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า อันได้แก่ เขตตะนาวศรี (Tanintharyi) เขตหงสาวดี (Bago) เขตมัณฑะเลย์ (Mandalay) เขตมาเกว (Magway) เขตย่างกุ้ง (Yangon) เขตสะกาย (Sagaing) และ เขตอิรวดี (Ayeyarwady)
       
       ในขณะที่อีก 7 เขต ถูกเรียกว่ารัฐ (State) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยตั้งหลักแหล่งอยู่มากกว่า พื้นที่เหล่านี้ได้แก่ รัฐกะฉิ่น (Kachin) รัฐกะยา (Kayah) รัฐกะเหรี่ยง (Kayin) รัฐฉานหรือรัฐไทใหญ่ (Shan) รัฐชิน (Chin) รัฐมอญ (Mon) และ รัฐยะไข่ (Rakhine)
       
       ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมียนมาก็เช่นเดียวกับประเทศไทยในอดีต นั่นคือ เราไม่ได้มีรูปแบบการปกครองแบบรัฐชาติที่มีเขตพื้นที่ทางการเมืองการปกครองที่ชัดเจนเหมือนในยุโรป แต่เราอยู่รวมกันในลักษณะของกลุ่มคน กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองคอยขยายอิทธิพลเข้ามา ในกรณีของเมียนมาในอดีต ก็ได้แก่ อาณาจักรพุกาม อาณาจักรตองอู และอาณาจักรคองบอง ซึ่งเป็น 3 จุดศูนย์กลางอำนาจใหญ่ที่เคยรวบรวมผู้คนจำนวนมากในอดีตไว้ได้
       
       แน่นอนว่าการรวมกลุ่มกันในลักษณะนี้ทำให้ มหาอำนาจตะวันตกในอดีตแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายึดครองเป็นอาณานิคมได้อย่างไม่ยากนักภายใต้แนวคิดแบ่งแยกแล้วปกครอง
       
       ในกรณีของเมียนมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐฉานหรือไทใหญ่ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของประเทศไทยภายใต้ชื่อ สหรัฐไทยเดิม ถูกกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาดูแล ทำให้เกิดการประชุมปางหลวง ครั้งที่ 1 ขึ้น เมื่อปี 1946 โดยตัวแทนของฝ่ายพม่านำโดย อู นุ (ซึ่งภายหลังจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ) พยายามเจรจากับฝ่ายเจ้าฟ้าไทใหญ่เพื่อขอให้นำเอารัฐฉานเข้าเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับประเทศพม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักร แต่ความพยายามครั้งนี้ล้มเหลว และนำไปสู่การประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 ในช่วงต้นของเดือนกุมภาพันธ์ 1947

สนธิสัญญาปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 ภารกิจจากพ่อสู่ลูก
นายพลอองซาน (แฟ้มภาพ)
        การประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากที่นายพลอองซาน (คุณพ่อของ ดอ อองซาน ซูจี) ลงนามใน Aung San – Atlee Agreement เมื่อช่วงเดือนมกราคม 1947 โดยสาระสำคัญของข้อตกลงนี้ก็คือสหราชอาณาจักรต้องคืนเอกราชให้กับพม่าในอีก 1 ปี ต่อจากนี้ โดยจะมีการรวมอาณานิคมทั้งหมดของสหราชอาณาจักรในบริเวณนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งแน่นอนสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำให้ในการประชุมช่วงแรกของปางหลวงครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1947 ไทใหญ่หรือรัฐฉานปฏิเสธการเข้ารวมตัวกับพม่า ตัวแทนฝ่านคะฉิ่นเข้าร่วมประชุมกับไทใหญ่เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ และตัวแทนจากรัฐฉิ่นเข้าร่วมเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ โดยทั้ง 3 กลุ่มชาติพันธุ์ตกลงจัดตั้ง Supreme Council of the United Hills Peoples (SCUHP) ขึ้นเพื่อต่อรองกับฝ่ายพม่า
       
       และในที่สุดพระเอกก็ออกโรงในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เมื่อนายพลอองซาน เข้าร่วมการเจรจา พร้อมกับ H.N.C Stevenson ตัวแทนฝ่ายสหราชอาณาจักรและสามารถเจรจจนหาข้อยุติได้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1974 โดยการลงนามของ ฝ่ายพม่า ไทใหญ่ คะฉิ่น และชิน ใน สนธิสัญญาปางหลวง (Panglong Agreement)
       
       โดยใจความสำคัญของสัญญาปางหลวง ก็คือ ตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาข้าหลวงเกี่ยวกับพื้นที่ของรัฐชายแดน, สมาชิกของ SCUHP ต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการบริหารเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและกิจการต่างประเทศ, ที่ปรึกษาข้าหลวงและผู้ช่วยที่ปรึกษา มีหน้าที่รับผิดชอบดินแดนของตนเอง, กำหนดรายละเอียดในการตั้งรัฐกะฉิ่น, ประชากรในรัฐชายแดนมีสิทธิเท่ากับประชากรในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ, การดำเนินงานตามสนธิสัญญาต้องไม่ละเมิดสิทธิทางการคลังของรัฐฉาน รัฐชิน และ รัฐกะฉิ่น
       
       และนั่นเองที่ทำให้อาณานิคมของสหราชอาณาจักรทั้งหมดสามารถรวมตัวกันได้ จนทำให้ประเทศได้รับเอกราชในอีก 1 ปีต่อมา นั่นทำให้สนธิสัญญาปางหลวงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกอบกู้เอกราช เช่นเดียวกับนายพลอองซานที่ก็ได้รับสถานะวีรบุรุษผู้กอบกู้ชาติด้วยเช่นกัน
       
       อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของพม่าในช่วงกลางปี 1947 โดยทุกกลุ่มคาดหวังจะเห็นประเทศเป็น สหพันธรัฐ ที่แต่ละกลุ่มน่าจะมีอำนาจในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทุกคนคาดไว้ เพราะ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 อองซานและคณะบริหารถูกลอบยิงและเสียชีวิตในอาคารที่กำลังประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญของประเทศ ทำให้ อูนุ ขึ้นมาเป็นผู้นำแทน และทำให้ใจความสำคัญของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป
       
       โดยสิทธิในการถอนตัวซึ่งเป็นใจความสำคัญของสนธิสัญญาปางหลวงได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญก็จริง แต่เป็นไปเพียงเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะการจะขอแยกตัวเพื่อตั้งรัฐอิสระตามที่ตกลงกันไว้ ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข คือ 1) ต้องผ่านไป 10 ปีจึงถอนตัวได้ 2) ต้องได้เสียง 2 ใน 3 ของสภาแห่งรัฐ 3) ผู้นำของรัฐต้องแจ้งให้ผู้นำของสหภาพทราบเพื่อดำเนินการลงประชามติ และในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญมีเพียงรัฐฉานกับรัฐกะยาเท่านั้นที่มีสิทธิถอนตัว รัฐคะฉิ่นและรัฐกะเหรี่ยงปฏิเสธการเข้าร่วมแต่แรก ส่วนรัฐชินถูกกำหนดให้เป็นเขตปกครองพิเศษจึงไม่มีสถานะเป็นรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้
       
       เท่านั้นยังไม่พอ รัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนานด้วย เพราะในปี 1962 นายพลเนวินก็ทำการรัฐประหารรัฐบาลที่ค่อนข้างล้มเหลวของอูนุ และเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบอบเผด็จการที่มีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมในรูปแบบของพม่าเอง จนถึงปี 1988 และกว่าที่ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นในเมียนมาก็ต้องรอจนถึงปลายปี 2015 ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไป และได้ประธานาธิบดี อู ทิน จ่อ ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งในรอบ 50 ปีของประเทศ
       
       แน่นอนว่า ดอ อองซาน ซูจี ลูกสาวนายพลอองซาน ผู้เป็นแรกผลักดันสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลรวมทั้งดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐ ย่อมต้องการเห็นการยุติความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเป็นปัญหาเรื้อรังมาต้องแต่สมัยคุณพ่อของเธอ รวมๆ แล้วก็ว่า 70 ปีจากการประชุมปางหลวงครั้งแรกในปี 1946 จนปัจจุบัน 2016
       
       ดอ อองซาน ซูจี แม้จะมีความขัดแย้งบ้างเล็กน้อยในช่วงของการเลือกตั้งทั่วไป ที่พรรค NLD ของเธอส่งตัวแทนเข้าไปลงสนามเลือกตั้งแข่งกับผู้สมัครจากกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลในเดือนเมษายน 2016 พอถึงเดือนพฤษภาคม คณะทำงาน Union Peace Dialogue Joint Committee (UPDJC) ก็เกิดขึ้น โดยกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ตัวแทนจากรัฐบาล 16 คน ตัวแทนจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จำนวน 16 คน และอีก 10 คนจากพรรคการเมือง ร่วมทำงานเพื่อให้เกิดการประชุม “การประชุมสันติภาพปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 (The Union Peace Conference- 21st Century Panglong) ในวันที่ 31 สิงหาคม 2559
       
       ภารกิจที่คุณพ่อของเธอทำยังไม่สำเร็จ และต้องรอคอยนานกว่า 70 ปี เพื่อให้ลูกสาวมาสานต่อจะสำเร็จหรือไม่ ต้องคอยจับตาดูครับ

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม       
31 สิงหาคม 2559
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000087219