ผู้เขียน หัวข้อ: ประเทศชาติเสียโอกาสจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเป็นโอกาสดีที่จะ “ปฏิรูป  (อ่าน 669 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
จากบทความเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า น่าเสียดาย “โอกาสที่หายไป” ใน วันที่ 18 สิงหาคม 2558 นั้น ผู้เขียนบทความนี้ได้กล่าวว่าประเทศชาติเสียโอกาสในการที่นานาประเทศยกย่องว่าประเทศไทยที่ยังยากจนแต่สามารถประสบความสำเร็จในการที่ทำให้ประชาชนมี “หลักประกันความมั่นคงทางสุขภาพ” โดยใช้เงินงบประมาณเพียงหนึ่งในแปดของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เป็นที่น่าเสียดายที่มีความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขที่เป็นมาอย่างยาวนาน และทำให้คนไทยเสียโอกาสในการที่จะได้รับการบริการที่มีคุณภาพจากความร่วมมือในการทำงานของสองหน่วยงานไปอย่างน่าเสียดาย
       
       ผู้เขียนเรื่องที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้เจาะจงว่าความขัดแย้งของในระบบสาธารณสุขที่กล่าวถึงนี้ เป็นความขัดแย้งระหว่างใคร แต่จากข่าวในสื่อมวลชนที่ประชาชนทั้งหลายรับรู้ทั่วกันก็คือ ความขัดแย้งระหว่าง สปสช. และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับ ผู้บริหารและบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข
       
       จนมีข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการจนให้มีการสั่งย้ายปลัดกระทรวงออกไป “แขวน”ไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อปลัดกระทรวงได้รับการตรวจสอบว่าไม่ได้มีความผิดใดๆ ได้รับคำสั่งให้กลับมาเป็นปลัดกระทรวงตามเดิม แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีการแก้ปัญหาในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำให้ รพ. ในกระทรวงสาธารณสุข ต้องขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนในการทำงานบริการรักษาประชาชนในระบบ 30 บาทหรือไม่?
       
       ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยว่างบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนเป็นภาระแก่งบประมาณแผ่นดิน และมีบุคคลหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นว่าประชาชนที่ไม่ยากไร้น่าจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจ่ายเงินในการ “ประกันสุขภาพ” เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณแผ่นดิน และสามารถทำให้ดำรงระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง
       
       ในบทความนี้ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ กล่าวว่ามีการ “อ้างวาทกรรม” ว่า 30 บาทเป็นนโยบายประชานิยม และทำให้เป็นภาระของประเทศ และไปเปรียบเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ และยืนยันว่าการสร้างหลักประกันสุขภาพเป็นความจำเป็น ในการสร้างคุณภาพชีวิต สร้างคุณภาพคน เพื่อที่จะทำให้คนสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับคืนมา
       
       รวมทั้งยังบอกว่านานาประเทศต่างก็ยกย่องว่าประเทศไทยสามารถสร้างหลักประกันด้นสุขภาพให้แก่ประชาชนได้ทั้งๆที่ยังไม่ใช่ชาติที่ร่ำรวย มีหลายๆประเทศมาดูงานที่ประเทศไทย
       
       แต่ยังไม่เห็นมีประเทศไหนในโลกที่หันมาดำเนินการในการให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแก่ประชาชนแบบประเทศไทยเลย เพราะว่าความจริงที่เกิดขึ้นจากระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยก็คือ
       ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยที่เอาไปอวดอ้างกับทั่วโลก ว่าดีเลิศกว่าที่ใดๆในโลกนั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาในระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของประเทศไทยมาอย่างยาวนานตลอดเวลา 13 ปี นับจากการอุบัติขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
       
       น่าจะถึงเวลาที่ประชาชนจะได้รับรู้ความจริงทั้งหมดของระบบหลักประกันสุขภาพ (ไม่) ถ้วนหน้าเสียที ว่าการที่อ้างนานาชาติ "ชื่นชม" ประเทศไทยที่สามารถดำเนินการให้หลักประกัน"ถ้วนหน้า"แก่ประชาชนพลเมืองของประเทศไทยนั้น เป็น "ความจริง"ส่วนหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ
       
       1.การที่สปสช.โฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ก็ไม่จริง เพราะระบบนี้ ให้หลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนเพียง 48 ล้านคนเท่านั้น ไม่ได้ให้หลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนทั้งหมด เพราะว่าประชาชนอีก 10 ล้านคนต้องจ่ายเงินตัวเองสมทบกับนายจ้างและรัฐบาลจึงจะได้รับการประกันสังคม และประชาชนอีก 5 ล้านคนก็ได้รับการประกันสุขภาพจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
       
       2.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" ก็ไม่เป็นความจริง เพราะกรรมการบอร์ดหลักประกันฯ จะ ออกระเบียบข้อบังคับ (และเปลี่ยนแปลง) ทุกปี ว่าจะให้การรักษาแก่ผู้ป่วยโรคใดเพิ่มขึ้นจากเดิมหรือลดลงจากเดิมบ้าง (ถ้าให้การรักษาทุกโรคจริง ทำไมจะต้องประกาศเปลี่ยนแปลงทุกปี ว่าจะรักษาผู้ป่วยโรคใด กลุ่มใดบ้าง)
       
       3.มีการ”จำกัดรายการยา”สำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท โดยสปสช.จะกำหนดรายการยาไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่จะอนุญาตให้แพทย์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ในกรณีโรคที่รุนแรงที่จำเป็นต้องใช้ยาที่มีราคาสูง เช่นโรคมะเร็ง สปสช.ก็จะกำหนด “สูตรสำเร็จในการรักษา”ว่าจะให้แพทย์ใช้ยาอะไรได้บ้าง เช่น อนุญาตให้ใช้ยา ก+ข+ค ท่านั้น ถ้าแพทย์ผู้รักษาเห็นว่า ผู้ป่วยควรใช้ยา ก+ข+ง เพราะจะได้ผลดีกว่า สปสช.ก็จะไม่ยอมจ่ายค่ารักษาทั้งหมดให้แก่โรงพยาบาลเลย (เป็นการบีบบังคับให้แพทย์รักษาผู้ป่วยตามที่สปสช.กำหนด ซึ่งอาจจะทำให้โรคดื้อยา รักษาไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่ดี และเสียโอกาสในการที่จะหายจากอาการป่วย
       
       นอกจากนั้น สปสช.ยังเอาเงินค่ารักษาผู้ป่วย ไปซื้อยาและเครื่องมือแพทย์เอง หรือสั่งให้องค์การเภสัชกรรม ทำหน้าที่ซื้อยาแทนสปสช. ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของสปสช. และให้รพ.ไปเบิกยาหรือเครื่องมือแพทย์จากสปสช.มาใช้สำหรับรักษาผู้ป่วย แต่พบว่ายาและเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน เนื่องจากยาที่องค์การเภสัชกรรมไปซื้อมานั้น เป็นการไปเหมามาในราคาถูกๆ และไม่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานของตัวยา (เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องตรวจสอบมาตรฐานยา) และเครื่องมือแพทย์ที่องค์การเภสัชกรรมไปซื้อแทน สปสช.นั้น ก็ไม่ได้ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน เช่น ขดลวดถ่างเส้นเลือดหัวใจ (stent) หรือเลนส์แก้วตาเทียมราคาถูกแต่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและโรคตา ต่างก็บอกว่า ทั้งขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจและเลนส์แก้วตาเทียมที่สปสช.มอบให้องค์การเภสัชกรรมจัดซื้อมานั้น ทำให้เกิดปัญหาแก่ผู้ป่วยว่า ทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่ในเวลาไม่นาน ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหายในการต้องไปทำผ่าตัดซ้ำ ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับขดลวดถ่างเส้นเลือดหัวใจและเลนส์แก้วตาเทียมที่มีคุณภาพมาตรฐาน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อเปลี่ยนเครื่องมือแพทย์เหล่านี้
       
       นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่ สปสช. “ออกระเบียบกำหนดให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย ต้องล้างไตผ่านทางหน้าท้องก่อน ไม่ว่าการล้างไตแบบนี้จะเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยไม่ยินยอมรับการรักษาตามที่ สปสช.กำหนด ผู้ป่วยก็จะไม่ได้รับสิทธิในการรักษาในระบบ กล่าวคือผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง
       
       4. ผลเสียหายต่อผู้ป่วยจากกฎระเบียบของ สปสช. ผลจากการออกระเบียบข้อบังคับของสปสช.ในการรักษาผู้ป่วยในระบบ30 บาทดังกล่าวแล้วนี้ ทำให้ "ผลลัพธ์การรักษา"ของผู้ป่วยในระบบบัตรทอง มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าและเร็วกว่าผู้ป่วยในระบบ"สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ" ตามผลการวิจัยของ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิจัยของ TDRI
       
       5. สปสช.บอกความจริงแก่นานาชาติเพียงส่วนเดียว กล่าวคืออ้างว่าประชาชนได้รับการประกันสุขภาพมากกว่า 98% ประชาชนมีความพึงพอใจในการรักษา แต่ไม่ได้กล่าวถึง “ผลลัพธ์ในการรักษา”ว่าดีหรือไม่ อัตราตายสูงหรือไม่ จึงทำให้สปสช.อ้างว่านานาประเทศทั่วโลกให้การชื่นชมยกย่องประเทศไทยในการที่เป็นประเทศยากจน แต่สามารถให้ "หลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน"ได้เกือบทุกคนนั้น เป็นเพราะว่ารัฐบาลไทย มอบให้ สปสช.เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่นานาชาติ โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าสปสช.ได้บอก "ความจริงแก่ชาวโลกเพียงบางส่วนเท่านั้น” กล่าวคือ บอกว่าชาวไทยมีหลักประกันสุขภาพมากกว่า 98% กล่าวคือรวมเอาประชาชนที่ได้รับการประกันสุขภาพในระบบอื่นๆ ร่วมด้วย และไม่ได้บอกว่า ประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น นอกจากจะไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมหรือมีมาตรฐานการแพทย์ที่ดีแล้ว ประชาชนเหล่านั้นยังต้องเสียเวลาในการรอคอยนานมากบางทีก็ใช้เวลาทั้งวันกว่าจะได้รับการตรวจรักษา และบางครั้งก็ไม่สามารถได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคตามความจำเป็น นอกจากนั้นหลายๆโรงพยาบาลก็ไม่มีอาคารสถานที่และเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยอย่างพอเพียง ผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวตามระเบียง เตียงเสริม เตียงแทรก หรือบางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด ผู้ป่วยก็อาจไม่มีเตียงนอน ต้องปูเสื่อนอนหน้าบันได หน้าห้องน้ำ
       
        นอกจากจะขาดเตียงในการรับผู้ป่วยทั่วไปแล้ว สำหรับผู้ป่วยหนักที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในหน่วยพิเศษที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก ที่ต้องการเครื่องมือแพทย์ในการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสัญญาณชีพของผู้ป่วย เช่น หน่วยผู้ป่วยหนักเช่น ICU (Intensive Care Unit) ก็มีไม่เพียงพอ บางครั้งทำให้ผู้ป่วยต้องถูกส่งไปในรถ ambulance และตระเวนไปหลายแห่ง กว่าจะมีเตียง ICU ที่จะรองรับได้
       
       แต่ สปสช.ไม่ได้บอกความจริงทั้งหมดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้นานาชาติหรือประชาชนชาวไทยเองได้รับทราบว่าโรงพยาบาลที่ต้องรับภาระในการรักษาผู้ป่วยส่วนมากในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งได้แก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นอกจากจะขาดแคลนอาคารสถานที่ อุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยี รวมทั้งขาดแคลนยาและขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำงานบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนแล้ว รพ.ในกระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนบุลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆแทบทุกสาขา ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ต้องรับภาระในการรักษาผู้ป่วยมากเกินไป เช่นแพทย์คนหนึ่งๆอาจจะต้องตรวจรักษาผู้ป่วยวันละ100-200 คน หรือต้องทำงานในการดูแลรักษา/ผ่าตัดผู้ป่วยติดต่อกันตลอดเวลา 24 ชั่วโมง หรือพยาบาลหนึ่งคนมีภาระที่ต้องให้การพยาบาลผู้ป่วยหลายสิบเตียง
       ภาระงานที่มากเกินไปนี้ มีส่วนในการได้ทำให้มาตรฐานการรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่ออันตรายจากการรักษา และอาจจะทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการไป “รับบริการสาธารณสุข”
       
       แต่แทนที่ผู้รับผิดชอบในการบริหารกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มกรรมการบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะพยามป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในการรับบริการสาธารณสุขแก่ผู้ป่วย แต่พวกเขาเหล่านั้นได้ออกมาสนับสนุนการเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้มีการออกกฎหมาย "คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2553 โดยมีรายชื่อบุคคลที่ออกมาสนับสนุนการนำเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายนี้ (ตั้งแต่รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลเหล่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่ากลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการก่อตั้ง สปสช. ได้แก่นพ.ประเวศ วะสี นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ รวมทั้งกรรมาธิการการสาธารณสุขของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต่างก็แสดงความคิดเห็นในการสนับสนุนว่าจะต้องมีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขให้ได้
       
       แสดงว่าทั้งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารหรือกรรมการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่างก็เชื่อว่า ระบบบริการสาธารณสุขในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายมากขึ้น แม้จะมีมาตรา 41 ไว้รองรับการช่วยเหลือความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขแล้ว กลุ่มผู้ที่เป็นแกนนำในการบริหารจัดการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ยังต้องการสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายเฉพาะในการช่วยเหลือผู้เสียหายตลอดมา แทนที่จะไปพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหาย
       
       6. การยกร่างพ.ร.บ.เพื่อรวมกองทุนสุขภาพ นอกจากกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อ "คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข”แล้ว ยังพบว่า มีกลุ่มบุคคลที่เคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และ ดร.อัมมาร สยามวาลา ยังมีความเห็นที่จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.กำกับการประกันสุขภาพภาครัฐ โดยมีความประสงค์ที่จะ "รวมกองทุนสุขภาพ 3 กองทุน" เข้ามาบริหารเอง ทั้งๆที่หลักการ วัตถุประสงค์ และที่มาของระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบบสวัสดิการข้าราชการ นั้นไม่เหมือนกัน และ ในร่างพ.ร.บ.รวมกองทุนนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้ยกร่างพ.ร.บ.นี้มีความประสงค์ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารองค์กรที่เกิดใหม่ ที่เรียกว่า "สภาประกันสุขภาพแห่งชาติ" เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ปี โดยไม่กำหนดเพดานอายุสูงสุดของผู้ที่จะอยู่ในตำแหน่ง และ ผู้ยกร่างพ.ร.บ.กำกับการประกันสุขภาพภาครัฐนี้ ต้องการให้กรรมการสภาประกันสุขภาพแห่งชาติต้องการมีอำนาจเหนือการควบคุมตรวจสอบจากรัฐบาล โดยกำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.นี้ว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 3 กระทรวงที่เป็นกรรมการของสภาสุขภาพแห่งชาตินี้ "ไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงลงมติใดๆในที่ประชุมเลย"
       
        และก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากผู้ที่ยกร่าง พ.ร.บ.นี้มา นั่นก็คือ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้มีส่วนสำคัญในการยกร่าง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งมีตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาแล้วว่า นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ผู้มีส่วนในการยกร่าง พ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ก็มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สวรส.คนแรก และเป็นอยู่ครบ 2 วาระ 8 ปี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ยกร่างและเสนอ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ก็มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.คนแรกและถึงแก่กรรมในขณะที่ดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ผู้ยกร่างและผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ก็มาเป็นเลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) วาระที่ 1 และ 2 และกำลังจะครบวาระในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สช. ในปลายปีนี้
       
       นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ.กำกับการประกันสุขภาพภาครัฐ ยังกำหนดวงเงินที่คณะกรรมการสภาประกันสุขภาพแห่งชาติจะได้ใช้ในการบริหารสภาแห่งนี้ถึง 0.5 % ของงบประมาณประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ซึ่งน่าจะเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่าปีละ 1,500 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และยังกำหนดให้คณะกรรมการสภาประกันสุขภาพฯนี้มีอำนาจในการ "สั่งปิดสถานพยาบาลเอกชน และกรรมการสภาประกันสุขภาพฯนี้ไปดำเนินการสถานพยาบาลแทนได้" เท่ากับมีอำนาจยึดโรงพยาบาลเอกชนมาดำเนินการได้เอง และยังมีอำนาจลงโทษผู้บริหารโรงพยาบาลที่ไม่ทำตามคำสั่งของสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการปรับหรือจำคุกได้อีกด้วย
       
       ถ้าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับการรับรองออกมาเป็นกฎหมาย จะทำให้กรรมการสภาประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีเงินงบประมาณแผ่นดินไปใช้จ่ายในการบริหาร มีอำนาจในการควบคุมการดำเนินงานในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนทั้งประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไป "ควบคุมกำกับหรือร่วมลงมติด้วย" ก็จะเป็นสภาเผด็จการเต็มรูปแบบ และจะอยู่ภายใต้การสั่งการของกรรมการสภาและผู้บริหารสำนักงานสภาฯนี้อย่างแน่นอน โดยยังกำหนดไว้ว่าเลขาธิการสภาประกันสุขภาพแห่งชาตินี้สามารถดำรงตำแหน่งได้วาระละไม่เกิน 5 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ แสดงว่าเลขาธิการสภาประกันสุขภาพแห่งชาติจะอยู่ในตำแหน่งได้ถึง 10 ปี
       
        ฉะนั้นไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือจากการปฏิวัติรัฐประหารกี่รัฐบาล(เพราะรัฐบาลของประเทศไทยจะมีอายุอยู่ไม่นาน) แต่เลขาธิการสภาประกันสุขภาพแห่งชาตินี้อาจจะดำรงตำแหน่งจนตายคาเก้าอี้ได้อีกเหมือนกัน เนื่องจากไม่มีการกำหนดอายุมากที่สุดที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้ได้
       
       7. การอ้างว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการทำงาน "เสียโอกาสที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย"ตามการวินิจฉัยของ คตร.นั้น ที่จริงก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะมาตรา 41ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นั้น กำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือเฉพาะผู้ "รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเท่านั้น" สำหรับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ใน "หน่วยบริการ" ที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติงานนั้น โรงพยาบาลที่เป็น"ต้นสังกัด" ของบุคลากรเหล่านั้น จะต้องมีมาตรการหรือระเบียบในการช่วยเหลือ/ชดเชยผู้ปฏิบัติงานเพื่อบริการประชาชน เหมือนในกรณีข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือลูกจ้างทั่วไป ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือชดเชยความเสียหายจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ เหมือนในหน่วยงานอื่นๆในประเทศและเหมือนในนานาอารยะประเทศทั่วโลก ที่จะต้องมีการ “คุ้มครองความปลอดภัยของข้าราชการ พนักงานของรัฐ” เหมือนกับการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ลูกจ้างทั่วไปอีกด้วย
       
       8.ปัญหาความไม่สุจริตโปร่งใสจากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ประเทศไทยได้ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือที่เรียกว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" (ตามที่สปสช.โฆษณาชวนเชื่อ)มานานถึง 13 ปีแล้ว และมีผลเสียหายแก่ระบบการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขมากมาย ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นแล้ว แต่ยังมีปัญหาความไม่สุจริตโปร่งใสในการบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตลอดมา ว่าใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เหมาะสม มีการส่งเงินที่ควรจะต้องส่งให้รพ.ของกระทรวงสาธารณสุข ไปให้แก่มูลนิธิหลากหลายมูลนิธิที่มีพวกพ้องของกรรมการบอร์ดเป็นผู้บริหารมูลนิธิเหล่านั้น ทำให้รพ.ของกระทรวงสาธารณสุขขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย มีการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ขาดหลักธรรมาภิบาล ที่สำคัญคือ ไม่รับฟังความคิดเห็นของหน่วยบริการที่รายงานต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและเปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไปว่ารพ.ต่างๆนั้นขาดเงินทุนทำงาน จนทำให้รพ.หลายแห่งเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย
       
       แต่ สปสช.ไม่รับฟังความคิดเห็นจากโรงพยาบาลและนำไปแก้ไข แม้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอให้มีการบริหารจัดการด้านการเงินใหม่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพก็ไม่ยอมรับฟังและไม่ยอมแก้ไข แต่จะอ้างว่าเกิดจากความขัดแย้งระหว่างสปสช.และรพ.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้งที่ไม่มีเหตุผลสมควรดังกล่าว แต่รพ.ของกระทรวงสาธารณสุข ต้องการให้มีการแก้ไขการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้โรงพยาบาลมีเงินเพียงพอในการบริหารจัดการเพื่อให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยให้ได้ดีมีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย
       การที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ยอมรับฟังข้อเสนอจากกกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยบริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากกว่า 90 % นอกจากจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆในการบริหารจัดการด้านการเงินในระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาการขาดคุณภาพมาตรฐานของระบบบริการสาธารณสุขของประเทศอีกด้วย
       
       9. จึงมีความเห็นว่าขณะนี้ เป็นโอกาสอันดี ที่จะต้องมีการ "ปฏิรูปหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ให้เป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการโดยยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด กล่าวคือมีการบริหารตามกฎหมาย ยึดหลักคุณธรรม ยึดหลักความสุจริตโปร่งใส หลักความรับผิดชอบ หลักความมีส่วนร่วม และหลักการที่ถูกตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในระบบนี้ ได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและดูแลรักษาสุขภาพของตนและครอบครัว และสปสช.ไม่ควรมากำหนดและจำกัดขอบเขตในการรักษาหรือการใช้ยาของแพทย์ เป็นการทำงานนอกเหนืออำนาจหน้าที่และเป็นการก้าวก่ายการประกอบวิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์โดยมิชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย
       
       ที่สำคัญที่สุดก็คือต้องมีการตรวจสอบผลงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำทุกปีว่าได้บริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ (เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง) และมีประสิทธิผล (มีประโยชน์คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ใช้ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย)โดยดูที่ผลลัพธ์การรักษา และสุขภาพของประชาชนดีขึ้น มีอัตราการเกิดโรคน้อยลง มีอัตราป่วยตายลดลง มีโรคแทรกซ้อนลดลง ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นและมีชีวิตยืนยาว
       
       สิ่งสำคัญที่ทำให้สปสช.สามารถบริหารกองทุนโดยขาดหลักธรรมภิบาลมาได้ยาวนานถึง 13 ปี ก็เนื่องจากสปสช.เป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ โดย พ.ร.บ.นี้มีจุดอ่อนที่ทำให้คนเพียงกลุ่มเดียวเข้ามายึดอำนาจในการบริหารกองทุนได้ โดยไม่ผ่านการตรวจสอบประเมินผลอย่างเข้มงวดและถูกต้องตามกฎหมาย สามารถบริหารงานโดยไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและคุณธรรม (เห็นชีวิตคนไม่สำคัญ)แทนที่จะบริหารเงินให้เอามาใช้เพื่อรักษาชีวิตประชาชน กลับนำเงินไปแจกจ่ายแก่พรรคพวกของตน กลุ่มกรรมการบอร์ดและNGOแต่ไม่จ่ายเงินงบประมาณนี้ให้แก่โรงพยาบาลให้ครบถ้วนดังกล่าว แม้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและคตร.จะตรวจสอบว่าใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย คณะกรรมการบอร์ดก็ไม่แก้ไข มีการบริหารงบประมาณแผ่นดินโดยไม่ยึดหลักกฎหมาย เช่นการให้เลขาธิการสปสช.มีอำนาจสั่งจ่ายเงินซื้อยาได้ครั้งละ 1,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องขออนุมัติบอร์ด ทำให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้โดยง่าย เกิดการรั่วไหลของงบประมาณแผ่นดินมากมาย
       
       จึงเห็นว่าควรจะแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้โอนหน่วยงานนี้มาเป็นระบบราชการ ทำหน้าที่เหมือนกรมบัญชีกลางในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่ทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด สามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่าปัจจุบันที่ถูกปล่อยปละละเลยมาอย่างยาวนาน
       
       10. การพัฒนาระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข นอกจากการ “ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” แล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่มีมาตรฐานก็คือ การพัฒนาระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องพัฒนาโรงพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐาน จัดให้มีงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่ อุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งการจัดระเบียบการให้บริการละการส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนมีการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และสามรถรับผิดชอบดูแลรักษาโรคเบื้องต้นได้เอง ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยได้อีกเป็นอย่างดีอีกด้วย


โดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา       26 สิงหาคม 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า น่าเสียดาย “โอกาสที่หายไป”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    
18 สิงหาคม 2558

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์
       ผอ.สปสช.เขต 8 อุดรธานี
       
       จากสถานการณ์ความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขที่เกิดขึ้นมายาวนาน และดูเหมือนว่ายังไม่มีที่ทางจะคลายตัวได้นั้น ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ คือ ความขัดแย้งครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่า เป็น “ทวิภพ” ที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ในทัศนะของคนสองกลุ่ม ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงทั้งความคิดและการกระทำ อันที่จริง ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยของเรา กลับถูกคนบางกลุ่มตอกลิ่มให้ “ร้าวลึก” อย่าง “จงใจ” จนน่าหวั่นใจว่า กว่าจะสามารถสมานรอยร้าวได้ อาจต้องใช้เวลายาวนานไปอีกหลายปี และทำให้คนไทยเสียโอกาสในการรับบริการที่ดีมีคุณภาพ จากความร่วมมือในการทำงานของทั้งสองหน่วยงานไปอย่างน่าเสียดาย
       
       น่าเสียดาย ขณะที่นานาชาติเห็นความสำเร็จจนองค์การสหประชาชาติยกให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างในการพัฒนาให้กับนานาประเทศ ชื่นชมยินดีกับคนไทยที่มีหลักประกันความมั่นคงทางสุขภาพ แม้ประเทศจะไม่ได้ร่ำรวยแบบชาติตะวันตก แต่ก็ทำได้ดีกว่าหลายประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าประเทศไทย อย่างน่าอิจฉา ช่องว่างของการเข้าถึงการบริการสุขภาพระหว่างคนจนกับคนรวยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่สหรัฐฯ ใช้งบประมาณต่อหัวประชาชนมากกว่าประเทศไทยกว่า 8,000 เหรียญต่อปี หรือมากกว่าไทยถึง 8 เท่า แต่มีคนอีกกว่า 30 ล้านคน ที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีความเหลื่อมล้ำและการฟ้องร้องทางการแพทย์มากมาย และความสำเร็จของไทยนี้เกิดได้เพราะความร่วมมือของทุกภาคส่วน จากหน่วยบริการในระบบ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กองทัพ กระทรวงต่าง ๆ ที่มีหน่วยบริการ รพ. มหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยบริการเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ที่มีส่วนร่วมผลักดันกันมาตั้งแต่ต้น
       
       น่าเสียดายที่ รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ใช้จุดแข็งของระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เพื่อเปิดประตูให้ประเทศเข้าสู่เวทีสากล โดยใช้จุดแข็งที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรทุกคนในประเทศไทยซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ เห็นได้จากการที่นานาประเทศชักแถวขอเข้ามาศึกษาดูงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุข และที่ สปสช. อย่างไม่ขาดสาย ผู้นำองค์กรระดับโลกต่างให้การยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ผู้อำนวยการธนาคารโลก และผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ประเทศไทยควรใช้จุดเด่นนี้ “เป็นลมหายใจที่มีค่ายิ่งต่อการยืนบนเวทีโลกอย่างสง่างาม” ขณะที่การยอมรับประเทศไทยจากนานาชาติในเรื่องอื่น ๆ มีพื้นที่เหลือน้อยลงอย่างน่าใจหาย
       
       น่าเสียดาย ที่วาทกรรมที่สร้างให้ “ระบบหลักประกันสุขภาพ” หรือ “บัตรทอง” เป็น “ภาระของประเทศ” เป็น “ประชานิยม” ทั้ง ๆ ที่รัฐได้ใช้จ่ายในเรื่องอื่น ๆ มากกว่านี้มากมาย เช่น ปี 58 งบประมาณเรื่องการศึกษาที่ครอบคลุมเฉพาะนักเรียนนักศึกษา ก็มีมากกว่า 5 แสนล้านบาท เทียบกับงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองที่ สปสช. ได้รับ และของกระทรวงสาธารณสุขรวมกันที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งมีเพียง 2 แสนกว่าล้าน ก็มากกว่า 2 เท่า เรื่องหลักประกันสุขภาพเป็น “ความจำเป็น” เป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงของประเทศ เป็นความสำคัญที่รัฐต้องลงทุน เพราะเป็นการสร้างคุณภาพชีวิต สร้างคุณภาพคน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาชาติที่ได้ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจกลับคืนมามากกว่าที่ลงทุนไปหลายเท่าตัว ยังไม่รวมเรื่องอื่น ๆ ที่รัฐบาลจ่ายไปโดยประเมินความคุ้มค่าได้ไม่ชัดเจนซึ่งสมควรทบทวนและปรับประสิทธิภาพอย่างจริงจัง และถ้าหากมีการซื้อของที่ไม่จำเป็นแจกเพียงเพื่อหาเสียงหรือ หวังผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือผลทางการเมือง นั่นแหละถึงจะเรียกว่า “ประชานิยม”
       
       น่าเสียดาย กับโอกาสที่หายไป ตลอดระยะเวลา 13 ปี ที่ระบบหลักประกันสุขภาพเคลื่อนตัวมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันความมั่นคงทางสุขภาพในฐานะมนุษย์ที่สมควรได้รับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยตามความจำเป็นไม่ว่ายากดีมีจน ซึ่งเป็นผลงานของผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานในระบบหลักประกันสุขภาพ นานาชาติให้การยอมรับ และกล่าวถึงความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ คุณค่านี้มิใช่ว่าประเทศใดหรือใครจะได้มาง่ายๆ เหมือนปลูกต้นไม้กว่าจะงอกงามเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงานั้น ต้องใช้เวลาหลายปี
       
       น่าเสียดายที่หลายคนไม่ทราบความจริง บางคนรับฟังมาจากปากคนอื่น บางคนอาจเชื่อโดยขาดการแยกแยะ หากทบทวนกันให้ดี มีหลายเรื่องที่ปรับเปลี่ยนไปหลายครั้งตามเสียงสะท้อนของผู้เกี่ยวข้อง จนบางครั้งก็ถูกบ่นว่า “เปลี่ยนเร็วไป” หลายเรื่องที่คิดว่าจะใช้ไปสักระยะหนึ่งก่อน ก็ถูกสะท้อนกลับอีกด้านว่า “ทำไม่ไม่ยอมเปลี่ยน” และสิ่งที่คนทั่วไปอาจไม่ทราบคือ กระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ มีคณะทำงานระดับประเทศที่ประกอบด้วยทุกฝ่ายทั้ง ผู้ซื้อบริการ ผู้ให้บริการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนวิชาชีพ ประชาชน กระบวนการตัดสินใจไม่สามารถทำได้เพียงลำพังโดย สปสช.
       
       กลายเป็นว่า หลายปีที่ผ่านมา พวกเราทั้งผู้มีหน้าที่บริหารเงินกองทุนฯ และผู้บริหารงานบริการ ต้องมาขัดแย้งกันอย่างหนัก โดยเวลาส่วนใหญ่ได้เสียไปกับการทะเลาะเบาะแว้ง แทนที่จะได้ใช้เวลาในการร่วมกันสร้างสรรค์งานเพิ่มประสิทธิภาพของระบบและเพิ่มคุณภาพของบริการ รวมทั้งช่วยกันต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งงบประมาณจากรัฐบาลหรือร่วมกันสังเคราะห์ข้อเสนอให้มีแหล่งรายได้เข้าสู่กองทุนในรูปแบบหรือช่องทางต่างๆ อย่างเพียงพอและไม่เกิดการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยไม่ว่าจะรวยหรือจน หากช่วยกันอย่างจริงจังและจริงใจ อะไร ๆ ก็คงจะดีกว่านี้อย่างแน่นอน ว่าแต่ว่า นี่จะเป็นจริงได้ หรือเป็นเพียง “ความฝัน” ลม ๆ แล้ง ๆ
       
       น่าเสียดาย ที่สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นแต่กลับต้องสะดุด ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการ คตร. มีความเห็นว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ขัดต่อวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
       
       ทำให้ สปสช. จำเป็นต้องหยุดการจ่ายเงินดังกล่าวแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายไปก่อน จนกว่าจะมีข้อยุติที่ให้จ่ายได้ ซึ่ง สปสช. พยายามแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนโดยเสนอให้บอร์ดเห็นชอบอนุมัติให้ใช้งบสนับสนุนกิจการภาครัฐที่ได้รับจากองค์การเภสัชกรรมจ่ายช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ให้บริการไปพลางก่อน
       
       น่าเสียดายหรือไม่ หากความเสียหายของบุคลากรที่ตั้งใจบริการประชาชน จะไม่สามารถใช้เงินกองทุนเหมาจ่ายรายหัวได้ ทั้งที่เกี่ยวกับการบริการประชาชนจริง ๆ
       
       การช่วยเหลือนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ให้บริการ โดยเป็นเงินช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ ให้กับตัวผู้ได้รับความเสียหาย หรือมอบให้กับครอบครัว นอกจากเป็นการช่วยเหลือด้านการเงินโดยตรงแล้วยังสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการคุ้มครอง นอกจากการมุ่งสร้างหลักประกันสุขภาพรองรับสิทธิของประชาชนแล้ว พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังให้ความสำคัญและคุ้มครองดูแลผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน
       
       กรณี “พยาบาลเดินทางไปกับรถพยาบาลเพื่อนำผู้ป่วยส่งต่อ แต่รถส่งต่อประสบอุบัติเหตุพยาบาลเสียชีวิต” “แพทย์ให้บริการผู้ติดเชื้อวัณโรคแล้วป่วยเป็นวัณโรค” “พยาบาลถูกผู้ป่วยจิตเวชทำร้าย” ไม่เกี่ยวกับการบริการตรงไหน งบที่ได้มาก็เพื่อบริการ สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดบริการ การสร้างหลักประกันความมั่นใจ ความอบอุ่นใจ แก่บุคลากรให้มีกำลังใจในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพแก่ประชาชน หากบอกว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. ก็ต้องบอกว่า
       
       น่าเสียดายกับ “โอกาสที่หายไป” จริงๆ