ผู้เขียน หัวข้อ: 20 ประเทศ ระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก 2015-2016  (อ่าน 812 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
กำลังเป็นข้อถกเถียงกันในวงกว้างกับระบบการศึกษาของเมืองไทย ที่หลายคนเกิดข้อสงสัยว่ามาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันทำให้เด็กไทยฉลาดและสามารถเก่งและทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ จริงหรือ? วันนี้ Life on campus จึงขอพาไปชม 20 ประเทศ ที่ทั่วโลกต่างยอมรับว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก และในทุกปีจะเห็นได้ว่าในอันดับ Top 5 ของโลกล้วนแล้วแต่เป็นประเทศในแถบทวีปเอเชียทั้งสิ้น ล่าสุดเว็บไซต์ mbctime.com ได้เผยแพร่ข้อมูล 20 ประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก “20 Best Education Systems In The World” ประจำปี 2015/2016 TerraAds โดยกล่าวถึงเกณฑ์ที่ใช้วิเคราะห์ระบบการศึกษาของแต่ละประเทศว่า ได้รวบรวมงานวิจัยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วโลกและนำเสนอผ่านดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม คะแนนในแต่ละประเทศก็จะได้มาจากอัตราการรู้หนังสือในผู้ใหญ่, การลงทะเบียนในระดับประถม, การลงทะเบียนในระดับมัธยม และค่าเฉลี่ยกลางของผู้หญิงที่ศึกษาในโรงเรียน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เป็นเกณฑที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางด้านการศึกษาที่ดีในแต่ละประเทศ และผลการวิจัยจากสหประชาชาติ รวมกับ SPI หรือ Social Progress Index ดัชนีวัดความก้าวหน้าทางสังคม

อันดับที่ 20 : สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland)
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ค่อนข้างสูง เด็กสวิตจะต้องจบการศึกษาระดับมัธยมตอนต้น จึงจะถือว่าจบการศึกษาภาคบังคับ ส่วนระดับอนุบาลนั้นไม่ถือว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับ จะเข้าเรียนอนุบาลก่อนหรือไม่ก็ได้ กล่าวกันว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นต้นกำเนิดของวิชาการโรงแรม จึงทำให้สาขานี้มีนักเรียนไทยให้ความสนใจไปเรียนต่อมากที่สุดนั่นเอง

อันดับที่ 19 : สาธารณรัฐเช็ก (czech republic)
แม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ใจกลางยุโรป แต่สาธารณรัฐเช็กก็เป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เรียนฟรีสำหรับการศึกษาภาคบังคับไปจนถึงอายุ 15 ปี หลักการเรียนรู้เน้นความเข้าใจของผู้เรียนเป็นหลักซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวเช็ก ระบบการศึกษาของประเทศมีทั้งสิ้น 5 หน่วยงาน คือ โรงเรียนอนุบาล, ประถมศึกษา, มัธยมศึกษา, วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย

อันดับที่ 18 : เบลเยี่ยม (Belgium)
เบลเยี่ยมเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก เน้นในเรื่องของมาตรฐานการศึกษา และพยายามเปิดโอกาสให้ประชาชนในประเทศทุกคนมีสิทธิทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน จึงไม่มีการสอบเข้า และไม่เก็บค่าเล่าเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงความหลากหลายของทุนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย ระบบการเรียนการสอนจึงมีความแตกต่างตามภูมิภาคทั้งภาษาดัตช์ เยอรมัน และฝรั่งเศส

อันดับที่ 17 : อิสราเอล (Israel)
อิสราเอลถือว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ค่อนข้างสูงประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านของการศึกษา ในทัศนะคติของคนอิสราเอลจะถือว่าการศึกษาถือเป็น “มรดกที่ล้ำค่า” การศึกษาภาคบังคับทั้งหมด 12 ปี (ตั้งแต่อายุ 5-16 ปี) และรัฐได้จัดการศึกษาฟรีจนถึงอายุ 18 ปี โดยการศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศจะใช้เป็นภาษาฮินดีและภาษาอาหรับเป็นหลัก

อันดับที่ 16 : นิวซีแลนด์ (New Zealand)
ในปี 2014-15 รัฐบาลของประเทศนิวซีแลนด์ได้ทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาในด้านการศึกษากว่า 13,183 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมประเทศนิวซีแลนด์ถึงได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีระบบการศึกษาที่ดีและมีมาตรฐาน ผลการสอบ PISA ในด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับ 7 ในขณะที่คณิตศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 13 จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 34 ประเทศ

อันดับที่ 15 : ออสเตรเลีย (Australia)
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักที่ใช้ในระบบการศึกษาของประเทศออสเตรเลีย และยังมีสถิติด้านการศึกษาที่น่าสนใจอีกคือ ประชากรชาวออสเตรเลียมีอัตราการรู้หนังสือเบื้องต้นในระดับประถมเกือบ 2 ล้านคน รวมแล้วมีอัตราการรู้หนังสือถึง 99% และการประเมินการศึกษาของประเทศออสเตรเลีย PISA ในส่วนของวิชาการอ่าน, วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 6, 7 และ 9 ตามลำดับ ประเทศออสเตรเลียยังเป็นประเทศยอดนิยมสำหรับนักศึกษาไทยที่นิยมไปเรียนต่อมากที่สุดอีกด้วย

อันดับที่ 14 : สหรัฐอเมริกา (USA)
การศึกษาภาคบังคับนักเรียนอเมริกันทุกคนจะได้รับสิทธิเรียนฟรีจนกระทั่งถึงเกรด 12 หรือจบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย บรรยากาศการศึกษาในห้องเรียนของชาวอเมริกันนั้น นักศึกษาจะต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โต้เถียงเพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง มีส่วนร่วมในการสนทนา และนำเสนองานของตน ซึ่งนักศึกษาชาวต่างชาติส่วนใหญ่เห็นว่าบรรยากาศภายในห้องเรียนเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นใจที่สุดของระบบการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา

อันดับที่ 13 : รัสเซีย (Russia)
รัสเซียเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษามาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ชาวรัสเซียส่วนมากจะสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคน และยังเป็นนักอ่านหนังสือพิมพ์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก มีการศึกษาหาความรู้กันอย่างจริงจัง ทำให้อัตราการรู้หนังสือของประชากรประเทศรัสเซียคิดเป็น 100% เต็ม อีกทั้งมีวิชาการ ความรู้และเทคโนโลยีเป็นของตนเองมาเป็นเวลานาน รวมถึงค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาก็นับว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อีกด้วย

อันดับที่ 12 : เยอรมนี (Germany)
เยอรมันเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่ม OECD ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก ๆ อยู่ในระดับสูงทั้งในระดับมัธยมศึกษา และในระดับอุดมศึกษา โดยการศึกษาภาคบังคับเริ่มตั้งแต่อายุ 6-18 ปี โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนรัฐบาล เรียนฟรีไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมัน หันมาพัฒนาการศึกษา และการวิจัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรวมประเทศ มีมหาวิทยาลัยเกือบ 120 แห่ง

อันดับที่ 11 : เดนมาร์ก (Denmark)
ประเทศเดนมาร์ก กฎหมายบังคับการศึกษาแต่ไม่บังคับการไปโรงเรียน เด็กทุกคนจะต้องไปเรียนเมื่อมีอายุครบ 7 ปี การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ไม่รวมชั้นเด็กเล็ก ระบบการศึกษาของเดนมาร์กจะให้ความสำคัญกับการแนะแนวมาก เพื่อให้เด็กทุกคนพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะกับศักยภาพของตนเอง และเด็ก ๆ ยังสามารถเลือกการศึกษาและโรงเรียนของตนได้อีกด้วย

อันดับที่ 10 : โปแลนด์ (Poland)
ประเทศโปแลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก และสาขาวิชาที่ขึ้นชื่อคือ “สาขาแพทย์” ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์สภา และเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในเครือข่าย European Union เพื่อแลกเปลี่ยนด้านอื่นๆ รวมทั้งการศึกษา ในปัจจุบันประเทศโรมาเนีย, เบลเยี่ยม, ฟินแลนด์, กรีซ, อิตาลี, สเปน, โปตุเกส และโปแลนด์ จะรับนักศึกษาโดยพิจารณาจาก GPA ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และ Biology, Chemistry ,Physic เป็นตัววัดการได้เข้าศึกษาถึง 90 % และ อีก 10 % คือคุณสมบัติพิเศษเช่นภาษาอังกฤษ

อันดับที่ 9 : ไอร์แลนด์ (Ireland)
ประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยมอันดับต้น ๆ ของโลก โดยรัฐบาลไอร์แลนด์มุ่งมั่นจะสร้างประเทศให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้นิยมมาเรียนภาษาอังกฤษมากที่สุด โดยในแต่ละปีจะมีจำนวนนักเรียนประมาณ 200,000 คน ที่มาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยมีหน่วยงานของรัฐบาลไอร์แลนด์รับรองคุณภาพทางการศึกษา

อันดับที่ 8 : เนเธอแลนด์ (Netherlands) 
ระบบการศึกษาของประเทศเนเธอร์แลนด์แตกต่างจากที่อื่น เพราะที่นี่จะให้อิสระโรงเรียนในการจัดการศึกษาอย่างเต็มที่ รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงเรื่องการบริหารจัดการ หรือวิธีการสอนของครูแต่อย่างใด ระบบการศึกษาของเนเธอร์แลนด์ออกเป็น 3 ระดับ ระดับแรกคือการศึกษาขั้นประถม (Basisonderwijs) ระดับที่ 2 คือ การศึกษาขั้นมัธยม (Voortgezet Onderwijs) และระดับที่ 3 คือขั้นอุดมศึกษา

อันดับที่ 7 : แคนาดา (Canada) 
อังกฤษและแคนาดา ทั้งสองประเทศถูกจัดว่านักเรียนระดับประถมศึกษาเป็นหนอนหนังสือมากที่สุดในโลก อัตราการอ่านออกเขียนได้ไม่น้อยกว่า 99% ระบบการเรียนของแคนาดา จะอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัดและมณฑล โดยจะมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ยกเว้นในควิเบก (Quebec) ซึ่งจะมีระบบการศึกษาที่แตกต่างออกไป ประกอบด้วยระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา วิทยาลัยทั่วไปและวิทยาลัยอาชีพ (CEGEP) นอกจากนี้ประเทศแคนาดายังเป็นประเทศที่มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีติดอันดับโลกอีกด้วย

อันดับที่ 6 : สหราชอาณาจักร (United Kingdom) 
การศึกษาภาคบังคับของสหราชอาณาจักร เริ่มตั้งแต่อายุ 5 ปี ไปจนถึง 16 ปี โรงเรียนมีทั้งประเภท โรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชน เด็กนักเรียนประมาณ 95% จะเรียนในโรงเรียนรัฐบาล การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยปัจจุบันมหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักรมีประมาณ 96 แห่ง เป็นของรัฐบาลเกือบทั้งหมด ยกเว้น University of Buckingham ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวการศึกษาระดับอุดมศึกษา

อันดับที่ 5 : ฟินแลนด์ (Finland) 
โรงเรียนในประเทศฟินแลนด์ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน ไม่มีการสอบเข้าสถานศึกษา ไม่มีค่าธรรมเนียมทางการศึกษา ไม่มีการจัดอันดับสถานศึกษา ไม่มีหน่วยงานคอยควบคุมวัดระดับเพื่อประเมินผล การศึกษาภาคบังคับเริ่มต้นเมื่อเด็กอายุ 7 ปี ไม่เน้นการเรียนอนุบาลแต่จะเน้นให้อยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด ระดับประถมจะใช้เวลาเรียนน้อยและให้เด็กได้ทำในสิ่งที่สนใจมากกว่า ที่สำคัญจะไม่เน้นเรื่องการแข่งขันจึงไม่มีเกรดเฉลี่ย

อันดับที่ 4 : ฮ่องกง (Hong Kong) 
หลังจากฮ่องกงได้ทำการปฏิรูปการศึกษายกเลิกระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมของอังกฤษทั้งหมด ก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม จนสามารถติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 9 ปี เป็น 12 ปี ขยายเวลาเรียนจบในระดับปริญญาตรีจาก 3 ปี เป็น 4 ปี ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีนกวางตุ้งเป็นภาษาหลักในตำราเรียน อัตราการรู้หนังสืออยู่ที่ 94.6% โดยในปีที่ผ่านมาฮ่องกงได้ทุ่มงบประมาณในด้านการศึกษาสูงถึง $39,420 ต่อหัวเลยทีเดียว

อันดับที่ 3 : สิงคโปร์ (Singapore) 
สิงคโปร์มีระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยมติดอยู่ใน Top 3 ของโลกเรื่อยมา ทุกโรงเรียนจะถูกควบคุมด้วยกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง แบ่งเป็นชั้นประถม 6 ปี และมัธยม 4 ปี ต่อจากนั้นก็จะเป็นการศึกษาที่สูงขึ้น เช่น โปลีเทคนิค จูเนียร์คอลเลจ และมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนในประเทศสิงค์โปร์นี้จะเน้นความง่าย เรียนจากความเป็นจริง และสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ 4 ด้านคือ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา

อันดับที่ 2 : ญี่ปุ่น (Japan) 
ความสำเร็จทางการศึกษาของญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ในการสอบวัดความรู้ด้านคณิตศาสตร์นานาชาติ เด็กญี่ปุ่นถูกจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆมาโดยตลอด ระบบนี้เป็นผลมาจากการสมัครเข้าเรียนสูง ตลอดจนอัตราการรับ ระบบการสอบเข้า (การสอบเอนทรานซ์) โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยมีอิทธิพลต่อการศึกษาทั้งระบบเป็นอย่างมาก ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก และเป็นสังคมที่มีระเบียบวินัย การศึกษาเป็นสิ่งที่น่าเคารพยกย่อง และความสำเร็จเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จในงานและในสังคม

อันดับที่ 1 : เกาหลีใต้ (South Korea)   
ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีแข่งขันกันอย่างสูสีว่าใครจะครองอันดับ 1 สำหรับประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก ประเทศเกาหลีทุ่มงบประมาณการศึกษาในปีที่ผ่านมา $11,300,000,000 มีอัตราการรู้หนังสือทั้งสิ้น 97.9% เพศชาย 99.2% และเพศหญิง 96.6% จะเห็นได้ว่านักเรียน-นักศึกษาประเทศเกาหลีจะเรียนหนักมาก ตารางเรียนแน่นเอียดทุกวัน ระบบการศึกษาของเกาหลีใต้เป็นระบบ 6 – 3 – 3 – 4 คือ ชั้นประถมศึกษา 6 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 3ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี และวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย 4 ปี

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์