ผู้เขียน หัวข้อ: ถึงเวลาปฏิรูประบบค่าตอบแทนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข?  (อ่าน 3167 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด


ตอนที่ ๑
สถานการณ์

การทำงานของบุคลากรสาธารณสุขเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม และเป็นเครือข่าย แนวทางการจ่ายค่าตอบแทนปัจจุบันไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม  การแก้ไขปัญหานี้ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานน่าจะได้รับการทบทวนและหาหนทางใหม่ ในการจ่ายค่าตอบแทน ไม่ใช่การแก้ไขเพียงบางจุดบางส่วนเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่พวกเราอยากจะได้จากผู้บริหารกระทรวง คือ “...จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด”
ข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ตั้งแต่ ฉบับ ๔, ๖, ๗ จนถึง ๘ และ ๙ ได้สร้างความแตกแยก ความขัดแย้ง  ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทั้งระหว่างโรงพยาบาล ระหว่างวิชาชีพและภายในแต่ละวิชาชีพ รวมทั้งหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้สร้างภาระ และไม่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของการจ่ายค่าตอบแทน

กระทรวงสาธารณสุขต้องไม่แบ่งแยกบุคลากร โดยใช้ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนเป็นตัวแบ่งแยกเหมือนที่ผ่านมา (เริ่มจากข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่๔ เป็นต้นมา) ซึ่งมีแต่การสร้างความแตกแยก และความขัดแย้งอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาบุคลากรสาธารณสุขอยู่ภายใต้ข้อบังคับ กฎ และระเบียบเดียวกัน ไม่ว่าจะปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลอะไร คือ เงินเดือน(ตามบัญชีเงินเดือนของ ก.พ.), เงินประจำตำแหน่ง (ตามกฎ ก.พ.ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่ง) เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข พ.ต.ส. (ตามระเบียบ ก.พ.) และค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ

สิ่งที่แบ่งแยกชัดเจนระหว่างโรงพยาบาลเล็ก(โรงพยาบาลชุมชน-รพช. น้อยกว่า ๒๐๐ เตียง)และโรงพยาบาลใหญ่(โรงพยาบาลทั่วไป-รพท. น้อยกว่า ๕๐๐ เตียง และโรงพยาบาลศูนย์- รพศ. มากกว่า ๕๐๐ เตียง) คือ

บุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน ได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย(เพิ่มเติมจากค่าตอบแทนพื้นฐาน) ตามข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ (ปัจจุบัน คือ) ฉบับ๘  

ในขณะที่บุคลากรโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป(ส่วนใหญ่) ได้รับค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน(เพิ่มเติมจากค่าตอบแทนพื้นฐาน) ตามข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ (ปัจจุบัน คือ) ฉบับ๙

ข้อแตกต่างระหว่างข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯฉบับ ๘ กับ ๙ คือ

ฉบับ๘ (จะปรับเปลี่ยนเป็น ฉบับที่ ๑๑)
-   จ่ายเพื่อเป็นการชดเชยค่าเสียโอกาสในการดำรงชีวิตที่สะดวกสบาย สามารถหารายได้จากการประกอบวิชาชีพในพื้นที่ที่เจริญ หรือพื้นที่  เมืองใหญ่ที่มีโอกาสในการประกอบวิชาชีพอิสระ และต้องมีแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในหน่วยบริการที่ยังมีปัญหาสภาพความไม่พร้อมสมบูรณ์ของทรัพยากรและสิ่งสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างเต็มศักยภาพ
-   อัตราค่าตอบแทนสูงกว่า ใช้ระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และพื้นที่เป็นเกณฑ์
-   เป็นปลายเปิด

ฉบับ ๙ (จะปรับเปลี่ยนเป็น ฉบับที่ ๑๒)
-   จ่ายตามภาระงานและปริมาณงานที่เกิดขึ้นจริงที่เกินกว่าปริมาณงานปกติตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
-   อัตราค่าตอบแทนน้อยกว่า ใช้ปริมาณงานเป็นเกณฑ์
-   เป็นปลายปิด



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 กรกฎาคม 2016, 13:14:21 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ตอนที่๒
เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เบี้ยเลี้ยงที่ไม่ใช่เบี้ยเลี้ยง

คำว่า "เบี้ยเลี้ยง" หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อให้เป็นค่าอาหารประจำวัน ในกรณีที่ออกทำงานนอกสถานที่ตั้งประจำ

หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ใช้ว่าคำว่า เบี้ยเลี้ยง ตามความหมายดังกล่าว นั่นคือ เมื่อเดินทางไปทำงานนอกสถานที่ จึงมีสิทธิเบิกเบี้ยเลี้ยงได้เช่นเดียวกับมีสิทธิเบิก ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎ ระเบียบที่แต่ละองค์กรกำหนดไว้

ในประมวลรัษฎากร(กฎหมายสรรพากร)มีคำว่า เบี้ยเลี้ยง ในเงินได้พึงประเมิน มาตรา ๔๐(๑) และ มาตรา ๔๒(๑)

ในพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ มีข้อความ  “เบี้ยเลี้ยงเดินทาง”  “อัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางในประเทศ” “อัตราเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว” เป็นต้น

เบี้ยเลี้ยงเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว ให้เลือกเบิกในลักษณะเหมาจ่าย หรือลักษณะจ่ายจริงก็ได้
แต่เบี้ยเลี้ยงเดินทางในประเทศ ทางราชการกำหนดให้เบิกได้ในลักษณะ “เหมาจ่าย” ตามอัตราที่กำหนดไว้โดยไม่ต้องแสดงหลักฐาน หรือใบเสร็จ

“เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย” ที่ให้เฉพาะบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน(ไม่ให้โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป) ก็น่าจะมีเหตุผล เพราะบุคลากรดังกล่าวต้องเดินทางไปราชการ(ประชุม)ที่ตัวจังหวัดอยู่เนืองๆ หรือต้องเดินทางไปประชุมที่จังหวัดอื่น หรือที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นครั้งคราว การจ่าย”เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย”เป็นรายเดือนก็เป็นการอำนวยความสะดวก และสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรได้

ส่วนบุคลากรโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปซึ่งประชุมในตัวจังหวัด(ไม่สามารถเบิกเบี้ยเลี้ยงได้) นานๆทีถึงได้ไปราชการหรือประชุมที่อื่นที การเบิกเบี้ยเลี้ยงเป็นครั้งๆไป ก็ดูสมเหตุสมผลพอรับฟังได้

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้เหตุผลในการจ่ายว่า เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในชนบทสามารถให้การดูแลผู้มารับบริการได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพยิ่งขึ้น
                 (๑) พื้นที่ปกติ (มีจำนวนเตียงไม่เกิน ๖๐ เตียง และมีแพทย์ประจำ ไม่เกิน ๖ คน)
แพทย์และทันตแพทย์   ปฏิบัติงานปีแรกได้รับคนละ  ๒,๐๐๐ บาท/เดือน  ปฏิบัติงานปีต่อ ๆ ไป ๒,๒๐๐ บาท/เดือน  เภสัชกร  ๑,๗๐๐ บาท/เดือน ปฏิบัติงานปีต่อ ๆ ไป ได้รับคนละ ๑,๙๐๐ บาท/เดือน (พยาบาลไม่ได้)
                 (๒) พื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลน ระดับ ๑
แพทย์และทันตแพทย์  ๑๐,๐๐๐ บาท/เดือน เภสัชกร ๕,๐๐๐ บาท/เดือน พยาบาลวิชาชีพ ๑,๐๐๐ บาท/เดือน
                 (๓) พื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลน ระดับ ๒
แพทย์และทันตแพทย์   ๒๐,๐๐๐ บาท/เดือน เภสัชกร   ๑๐,๐๐๐ บาท/เดือน  พยาบาลวิชาชีพ ๒,๐๐๐ บาท/เดือน

* แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาลวิชาชีพที่เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แล้ว จะใช้สิทธิเพื่อเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงในลักษณะอื่นอีกไม่ได้  
* เงินค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจากเงินงบประมาณ
* ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีปรับปรุงพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลน ให้เหมาะสม ทุก ๆ ๒ ปี

ข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๔๔

ข้อ ๖ มีค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากร โดยมีหลักเกณฑ์เหมือนประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ๒๕๔๑ แต่เพิ่มพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลและขาดแคลนบุคลากร(๒,๐๐๐บาท/เดือน)  ข้อบังคับฉบับนี้ให้จ่ายจากเงินบำรุง  ข้อความ “ไม่เป็นภาระต่อสถานะเงินบำรุงของหน่วยบริการ”ก็เริ่มมีให้เห็น

ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ พ.ศ.๒๕๔๘
ฉบับนี้งงๆนิดหนึ่ง คือ จ่ายให้แก่แพทย์ ทันตแพทย์  เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (แพทย์ ทันตแพทย์ ๑๐,๐๐๐ บาท/เดือน เภสัชกร ๕,๐๐๐ บาท/เดือน พยาบาลวิชาชีพ ๑,๐๐๐ บาท/เดือน) กับจ่ายให้แพทย์ ทันตแพทย์กับเภสัชกรในโรงพยาบาลอำเภอในพื้นที่ปกติที่ปฏิบัติงานเกินกว่า ๓ ปี (พื้นที่ทุรกันดารไม่ได้ พยาบาลก็ไม่ได้) แพทย์ ทันตแพทย์ ๒,๘๐๐บาท/เดือน เภสัชกร ๖๐๐ บาท/เดือน ระเบียบฉบับนี้จ่ายจากงบประมาณ และไม่แน่ใจว่า on top จากข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขฯ(๒๕๔๔)หรือไม่

ข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่๓)พ.ศ.๒๕๔๙
ยกเลิกข้อจำกัดการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายโรงพยาบาลชุมชนมีจำนวนเตียงไม่เกิน ๖๐ เตียง และมีแพทย์ประจำ ไม่เกิน ๖ คน คือ จ่ายได้ทุกโรงพยาบาลเลยทีนี้

ข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่๔)พ.ศ.๒๕๕๑
มี เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเพื่อการจ่ายเงินค่าตอบแทนในการสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน หรือพื้นที่ทุรกันดารและแก้ไขความขาดแคลนบุคลากร ฉบับนี้แพทย์ ทันตแพทย์ได้สูงสุดถึง ๗๐,๐๐๐ บาท (ในขณะที่พยาบาลได้สูงสุด ๔,๕๐๐ บาท) ฉบับนี้ทำให้เกิดการประท้วงกันใหญ่โต ทั้งพยาบาลและเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน และบุคลากรโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป

ฉบับนี้ชัดเลยว่า ค่าตอบแทน ที่เรียกว่า เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ไม่ใช่ เบี้ยเลี้ยงแล้ว (เบี้ยเลี้ยง หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อให้เป็นค่าอาหารประจำวัน ในกรณีที่ออกทำงานนอกสถานที่ตั้งประจำ)
ค่าอาหารสำหรับแพทย์ทำไม ห่างจากค่าอาหารของพยาบาลขนาดนั้น
ทำไมแพทย์กินจุมากกว่าวิชาชีพอื่นๆ
เบี้ยเลี้ยงอะไรมากกว่าเงินเดือน มากกว่าเงินประจำตำแหน่งอีก
อย่างนี้ไม่ควรใช้คำว่า เบี้ยเลี้ยงแล้ว  จะใช้คำอื่นอะไรก็ว่ากันไป ให้สื่อความหมายที่ถูกต้อง

ข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่๘)พ.ศ.๒๕๕๖
มี เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพื่อเป็นการชดเชยค่าเสียโอกาสในการดำรงชีวิตที่สะดวกสบาย สามารถหารายได้จากการประกอบวิชาชีพในพื้นที่ที่เจริญ หรือพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีโอกาสในการประกอบวิชาชีพอิสระ และต้องมีแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในหน่วยบริการที่ยังมีปัญหาสภาพความไม่พร้อมสมบูรณ์ของทรัพยากรและสิ่งสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างเต็มศักยภาพ (ฉบับนี้เป็นการปรับแก้จากฉบับที่๔) ก็ยังใช้คำว่า เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย อยู่อีก สำหรับฉบับที่๑๑ ที่จะปรับแก้จากฉบับที่๘ ขอให้แก้ไขให้ถูกต้อง จะใช้คำว่า “เบี้ยเสียโอกาส” “เบี้ยจูงใจ” “เบี้ยขาดแคลน” "เบี้ยกำลังใจ" หรือเบี้ยอะไรสักอย่างก็ได้ อย่าได้ใช้คำว่า"เบี้ยเลี้ยง"เลย เพราะมันไม่ใช่"เบี้ยเลี้ยง" ขอให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข “แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด”เสียที

อีกคำหนึ่งที่ควรจะเปลี่ยนคือ รพ.สต. หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่เปลี่ยนมาจาก สถานีอนามัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๒  นี่ก็เหมือนกัน คำว่า โรงพยาบาล เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปและทั่วโลกว่า โรงพยาบาลต้องมีแพทย์ พยาบาล ต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ต้องมีเตียงรับผู้ป่วยใน ต้องผ่าตัดได้ (ถ้าผ่าตัดใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องผ่าตัดเล็กได้) ถ้าไม่มีขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยได้แบบนี้ ก็ไม่ควรเรียกว่า โรงพยาบาล ใช้คำอื่นๆที่เหมาะสมดีกว่า หรือคำเดิม “สถานีอนามัย” ก็ไม่ได้ขี้เหร่เลย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 กรกฎาคม 2016, 23:51:35 โดย story »