ผู้เขียน หัวข้อ: ‘สมคิด’ ชี้ บทบาท สธ.ช่วยลดเหลื่อมล้ำ-สร้างเศรษฐกิจใหม่ด้วยอุตสาหกรรมการแพทย์  (อ่าน 707 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษ “กระทรวงสาธารณสุขกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” ชี้บทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มี 2 ประเด็นใหญ่ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมในโอกาส ลดค่าใช้จ่าย ให้ผู้ยากไร้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงบริการสุขภาพของประเทศ และยกระดับความสามารถของประเทศ การสร้างเศรษฐกิจใหม่ ด้วยอุตสาหกรรมทางการแพทย์

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วาระพิเศษ โดยได้เชิญ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจของประเทศ บรรยายพิเศษ เรื่อง“กระทรวงสาธารณสุขกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” พร้อมถ่ายทอดเสียงไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ  เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างขวัญกำลังใจในการการทำงาน ซึ่งมุมมองจากภายนอกจะช่วยให้การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขสมบูรณ์มากขึ้น

ในการเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจกับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะช่วยเหลือและดูแลประเทศ มี 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

1.การลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสร้างโอกาส ให้คนมีรายได้น้อยและด้อยโอกาส ลดรายจ่าย ให้คนมีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประเทศ ส่วนเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ การรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทสูงในการรวมพลังองค์กรด้านนี้ของประเทศ ทั้งด้านการวิจัย การพัฒนาด้านสังคม เป็นต้น ทำหน้าที่เป็นแกนหลักรวบรวมกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงาน วางแผนการทำงานร่วมกัน เสนอของบประมาณร่วมกัน ดำเนินการลักษณะ “ประชารัฐ” ที่มีผู้รับผิดชอบ  มีงบประมาณ มีแผน  มีกิจกรรมที่รองรับชัดเจน เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่ยากไร้ในชนบทและในเมือง ให้ได้รับการดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม 

2.การยกระดับความสามารถของประเทศ ในหลายเรื่องสามารถรวมกันเป็นคลัสเตอร์ (Cluster) สามารถยกระดับเป็นเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เช่น ด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไบโอเมด ยา สปา สมุนไพร เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ในอนาคต สาธารณสุขเป็นหลักได้ด้วยการรวมพลัง นอกจากนี้ได้หารือกัน ในประเด็นที่ อย.พัฒนาวิธีการทำงานให้รวดเร็ว และการสร้างอุตสาหกรรมยา 

“กระทรวงสาธารณสุข เป็นองค์กรรัฐแนวหน้า ไม่ใช่แค่สังคม แต่ด้านเศรษฐกิจด้วย ในแนวทางประชารัฐ ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า ถ้าต้องการให้ช่วยเหลือก็ยินดีจะรวบรวมภาคเอกชน ภาควิชาการ ช่วยขับเคลื่อนงานประชารัฐด้านสังคมด้านนี้ให้ก้าวหน้าไปข้างหน้า ขอย้ำว่าในอนาคตการทำงาน หรือแม้แต่งบประมาณ ต้องเอาทุกภาคส่วนมาร่วม ไม่ใช่เฉพาะแค่งบประมาณของรัฐบาล ภาคเอกชนก็สามารถมาเกื้อกูลได้ เพียงแต่ขอให้มีแนวทางชัดเจน ทั้งนี้ มั่นใจว่าภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ สำหรับปัญหาในอดีตที่มีอยู่ก็ช่วยกัน พร้อมทั้งมองภาพรวมให้มากๆ และมองไปข้างหน้า” นายสมคิด กล่าว

Mon, 2016-07-11 16:57 -- hfocus

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
“สมคิด” จี้ สธ.ทำงานเชิงรุกลดเหลื่อมล้ำ ดึงเอกชนลงทุนงานวิจัยต่อยอดธุรกิจ ขอหมอ ๆ เลิกทะเลาะ

  “สมคิด” แนะ สธ. ปรับรูปแบบการทำงาน จัดบริการเชิงรุก ดึง นศ.แพทย์ปี 4 ช่วยดูแลสุขภาพคนในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ เปลี่ยนบทบาทเป็นฝ่ายวางแผน ดึงเอกชนลงทุนงานวิจัยนวัตกรรมมหา'ลัย ต่อยอดเป็นธุรกิจการแพทย์รายใหม่สร้างรายได้ เน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เชื่อเปลี่ยนชนบทได้ ขอแค่หมออย่าทะเลาะกัน
       
       วันนี้ (11 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี บรรยายเรื่อง “กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ” ในวาระพิเศษการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ว่า ที่ผ่านมา ไทยหลอกตัวเองมาตลอดว่า เป็นประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income) แต่ตนมองว่ายังคงเหลื่อมล้ำ เพราะคนรวยน้อย คนจนมาก การจับจ่ายใช้สอยไม่ทั่วถึง ดังนั้น พื้นฐานจึงสำคัญมาก แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ดูแลอย่างเต็มที่ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรให้คนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และอยู่ในต่างจังหวัดได้มีโอกาส มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งโจทย์ใหญ่ของการลดความเหลื่อมล้ำ คือ 1. การเพิ่มรายได้ และ 2. การลดรายจ่าย ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่อาจมองหน้าที่ของ สธ. คือ ดูแลสุขภาพอนามัย โรคภัยไข้เจ็บ แต่ตนมองต่างออกไป คือ สธ. มีหน้าที่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำด้วย คือทำอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียมในโอกาส
       
       นายสมคิด กล่าวว่า สิ่งที่ สธ. สามารถทำได้ คือ ทำให้คนกว่า 7 หมื่นหมู่บ้าน ได้รับการดูแลเรื่องสุขอนามัย โดยต้องจัดทำเป็นบริการเชิงรุก อาจมีรถบริการเคลื่อนที่ไปถึงหมู่บ้านโดยตรงในโรคภัยที่ไม่ซีเรียสมาก โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องมารอในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ หรือไปตั้งศูนย์จังหวัดใหญ่ ๆ เหมือนสินค้าที่ผลิตออกมาก็ต้องพยายามหาช่องทางไปถึงชาวบ้าน หรือ การให้นักศึกษาแพทย์ทุกมหาวิทยาลัยที่เรียนปี 4 ลงไปในพื้นที่ไปช่วยดูแล มิเช่นนั้น กำลังที่จะออกไปยังพื้นที่อาจไม่พอ นี่คือ ตัวอย่างของ สธ. ในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ส่วนเรื่องการป้องกันโรค การสอนผ่านทางไกล มีระบบเทคโนโลยีรองรับอยู่แล้ว
       
       “การทำงานของ สธ. ต้องปรับบทบาท โดย สธ. ต้องเป็นเสาหลักในการสร้างโอกาสและวางแผนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อสม. กองทุนหมู่บ้านก็หยิบสิ่งเหล่านี้มาใช้ และร่วมมือกับโรงพยาบาลทุกแห่ง มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ยกตัวอย่าง การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สธ. ก็ต้องวางแผนการดำเนินงานมาเป็นแพกเกจ ดึงคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมในการวิจัยในการหาองค์ความรู้ ดึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มาร่วมในการพัฒนาชุมชน เป็นต้น” รองนายกฯ กล่าว
       
       นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนการเพิ่มรายได้ สามารถทำได้ด้วยการคิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหมือนกลุ่มอุตสาหกรรมรายใหม่ หรือธุรกิจ Start Up ซึ่งในทางการแพทย์และสาธารณสุข มองว่า เมดิคัล ฮับ ธุรกิจสปา และบริการสุขภาพ ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นได้ เพียงแต่ สธ. ต้องเป็นเสาหลักในการวางแผน และดึงมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์มาร่วมในการคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ เช่น ยา สปา ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร แทนที่จะปล่อยให้วิจัยกันอย่างสะเปะสะปะ แต่จะต้องประสานให้เกิดการวิจัยที่ภาคเอกชนจะเอาไปต่อยอดได้ และเข้ามาร่วมทุนในการวิจัย เพราะต้องเข้าใจว่าภาครัฐไม่ได้มีเงินเพียงพอ ตรงนี้ก็จะทำให้เกิดธุรกิจรายใหม่ขึ้นอีกมาก แทนที่จะถูกคุมโดยบริษัทรายใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งการร่วมมือกับเอกชนนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ เพราะหากทำด้วยความโปร่งใสก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการตรวจสอบ จะเห็นได้ว่า ความร่วมมือเช่นนี้ถือเป็นการเดินหน้าตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงแต่เรื่องการเมืองเท่านั้น
       
       “อย่างเรื่องการพัฒนาสมุนไพรนั้น สธ. ต้องเป้นแกนเรียกประชุมมหาวิทยาลัย แม้สังคมอาจารย์อาจจะคุยกันยากหน่อย ยิ่งสังคมอาจารย์หมอยิ่งหนักไปอีก เพราะทุกคนความเชื่อมั่นสูง ผมรู้ เพราะผมเคยเป็นอาจารย์มาก่อน แต่ผมเชื่อทำได้ มิตินี้จึงสำคัญ โดยต้องลิงก์ระหว่างรัฐ มหาวิทยาลัย เอกชน และนำต่างประเทศเข้ามาร่วม รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บางอย่างมีขั้นตอนเยอะ อย่างยาบางตัว ลิขสิทธิหมดไปแล้ว ซึ่งจริง ๆ เราควรผลิตได้ แต่การขออนุญาตทั้งหลายใช้เวลานานมาก บางตัวเป็นปีก็ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็ต้องปรับปรุงด้วย จริง ๆ งานต่าง ๆ เหล่านี้หมอทำได้ กล้าที่จะทำด้วย แต่ต้องอย่าทะเลาะกัน หมอมีตั้งเท่าไรอยู่ในชนบท ในต่างจังหวัด คุณเปลี่ยนชนบทได้” นายสมคิด กล่าวและว่า ส่วนการร่วมมือกับเอกชนแล้วติดระเบียบของฝ่ายตรวจสอบอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำให้ไม่สามารถทำได้ ก็ขอให้รัฐมนตรีจัดทำเป็นโครงการแล้วเสนอเข้ามาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหาก ครม. อนุมัติให้ทำ ฝ่ายตรวจสอบก็ต้องไปปรับตาม หรืออาจต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อสามารถทำได้


โดย MGR Online       11 กรกฎาคม 2559