ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าจะล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท)  (อ่าน 821 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
 เมื่อวานนี้มีเพื่อนแพทย์คนหนึ่งของข้าพเจ้า(ผู้เขียนเรื่องนี้) ได้ส่งข้อความมาว่าในหน้า Facebook ของ KonthaiUk ได้ลงรูปของข้าพเจ้าและบรรยายว่า “โฉมหน้าคนที่ยื่นเรื่องล้ม 30 บาท พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ไม่สงสารชาวบ้านตาดำๆบ้างเลยหรือ พร้อมทั้งอ้างว่าเป็นtweeter:@saiyasasmith on twitter

ทั้งนี้เมื่อไปเปิด Facebook ก็พบว่าในหน้าของเฟซบุ้ค KonthaiUK นี้เป็นของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีรูปของนายทักษิณ ชินวัตรเป็นprofile picture
เท่ากับตอนนี้กลุ่มคนเสื้อแดงได้ออกข่าวว่า ข้าพเจ้ากำลังดำเนินการยื่นเรื่องให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาล “ล้ม 30 บาท”

และเมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าได้ไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมของมารดาเภสัชกรท่านหนึ่งของโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ได้มีเพื่อนแนะนำให้รู้จักกับพลตรีนายแพทย์ผู้หนึ่งของรพ.พระมงกุฎว่าพ้าพเจ้าคือ “หมอเชิดชู” เท่านั้นแหละ ท่านหมอทหารคนนั้นก็พูดว่า “อ๋อ คู่กรณีของหมอประทีป (ธนกิจเจริญ)” และบอกว่าเขาเป็น “เพื่อนรักกับหมอประทีป” เพื่อนคนที่แนะนำให้รู้จักหมอทหารท่านนั้น (พลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์) ก็เลยอธิบายกับ “เพื่อนรักของหมอประทีป” ว่าถ้า 30 บาทจะล้ม มันก็ล้มเพราะสนิมข้างในของมันเอง

แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าทำนั้น ไม่ได้ต้องการให้ล้มบัตรทอง แต่ต้องการขัดสนิมในสปสช.ออกไป เพื่อให้บัตรทองนั้นดียิ่งๆขึ้นไปต่างหาก (แต่เขาคงไม่เข้าใจเพราะเขามีอคติด้วยความที่”รัก”หมอประทีป)

ข้าพเจ้าก็เลยตระหนักว่าว่า กลุ่ม “คนที่รักหมอประทีป” กับกลุ่มคนเสื้อแดง ต่างก็คงมีความคิดเหมือนกันว่า ข้าพเจ้าต้องการล้มหมอประทีปและต้องการล้มบัตรทองด้วย (คิดว่าหมอประทีปคือระบบ 30 บาท?)

ข้าพเจ้าไม่ได้อธิบายให้หมอทหารท่านนั้นฟังว่า ปรากฎการณ์เกี่ยวกับหมอประทีปที่ไม่ได้รับการรับรองให้เป็นเลขาธิการสปสช. และการที่มีชมรมแพทย์ชนบทและคนเสื้อแดง ออกมากล่าวหาว่ามีการตั้งใจจะล้มบัตรทองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งกล่าวหาข้าพเจ้าด้วยนั้น มันเป็นคนละเรื่อง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการ “ล้ม 30 บาท”แต่อย่างใด

แต่เขา(หมอทหารคนนี้)หรือกลุ่มชมรมแพทย์ชนบท และคนเสื้อแดง ต่างก็ออกข่าว(เป็นแนวร่วม? หรือคิดแบบเดียวกัน) โดยเอาไปโยงใยเหตุการณ์ว่า การไม่รับรองหมอประทีปเป็นเลขาธิการสปสช.แสดงว่า มีความพยายามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่จะล้ม30 บาท
พร้อมทั้งให้เกียรติแก่ข้าพเจ้าว่าเป็นผู้ไป “ยื่นล้ม 30 บาท” ด้วย

ข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสนี้ บอกกล่าวแก่สาธารณชนทั่วไปว่า “การไม่รับรองหมอประทีป ธนกิจเจริญ” เป็นเลขาธิการสปสช.นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับ “การล้ม 30 บาท” และข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการที่จะ “ล้ม 30 บาท”

ซึ่งในส่วนของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเอง ท่านก็ได้แสดงออกแล้วว่า ท่านไม่ได้ต้องการจะล้ม 30 บาท โดยการเชิญนายมีชัย ฤชุพันธ์ประธารกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญและนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาปราศัยที่กระทรวงสาธารณสุข ว่าไม่มีแผนการณ์ที่จะล้ม 30 บาทแต่อย่างใด

สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าได้ไป “ยื่นเรื่อง” ที่หน้าห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม และไม่ได้พบกับท่านรัฐมนตรีแต่อย่างใด เพราะท่านไปราชการต่างประเทศ) การไปยื่นเรื่องครังนี้ ก็เรียกร้องให้รัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้พิจารณาเลือก “คนที่มีธรรมาภิบาลมาเป็นเลขาสปสช.”

พร้อมกันนั้น ข้าพเจ้าและสมาชิกกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง ได้แถลงข่าว่า นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ผู้ที่กรรมการสรรหาเพียงคนเดียวเสนอมา(ว่ามีคุณสมบัติไม่ขัดกฎหมาย)เพื่อให้ “บอร์ดรับรองให้เป็นเลขาธิการสปสช.” นั้น ได้ถูกบอร์ดปปท.(สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ) ชี้มูลในคดีทุจริต และกำลังจะส่งเรื่องนี้ไปยังปปช.เพื่อดำเนินการในทางอาญาต่อไป (นี่คือสิ่งที่แหล่งข่าวของปปท.แจ้งแก่ข้าพเจ้า)

และหลังจากนั้นอีก 2 วันคือในวันที่ 3 กรกฎาคม(ก่อนที่จะมีการประชุมบอร์ดสปสช. 1 วัน) นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ได้แถลงข่าวว่า จะฟ้องข้าพเจ้าในความผิดฐานหมิ่นประมาทเพราะอ้างข้อมูลเท็จ ในการที่ไปยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

และเมื่อบอร์ดสปสช.ไม่รับรองให้นพ.ประทีป เป็นเลขาธิการสปสช. ก็มีขบวนการออกมาโจมตีว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรวมทั้ข้าพเจ้าเองกำลังจะล้ม 30 บาท

ข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงว่า ข้าพเจ้าได้ไปยื่นเรื่องของนพ.ประทีป ด่อรัฐมนตรีจริง แต่ต้องการเตือนรัฐมนตรีว่าในฐานะประธานบอร์ดสปสช.ขอให้ท่านใช้ดุลพินิจเลือกคนที่มีธรรมาภิบาลมาเป็นเลขาธิการสปสช.

ข้าพเจ้าไม่ได้ไปยื่นเรื่องให้รัฐมนตรี “ล้ม 30บาท”แต่อย่างใดทั้งสิ้น

และการที่หมอทหารที่เป็นเพื่อนรักของหมอประทีป จะถือว่าข้าพเจ้าเป็น “คู่กรณี” ของหมอประทีปก็ไม่จริง เพราะข้าพเจ้าไม่ได้มีเรื่องโกรธเคืองหรือเรื่องส่วนตัวใดๆกับหมอประทีปทั้งสิ้น

ข้าพเจ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ที่เคยทำงานดูแลรักษาประชาชนในระบบราชการมา30 ปีก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และก็ยังทำงานในระบบราชการอีกเกือบ 10 ปี ภายหลังจากการมีระบบ 30 บาท

และข้าพเจ้าได้พบปัญหาต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งงชาติ และส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดแห่งปัญหา คือการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ขาดหลักธรรมาภิบาล

ซึ่งข้าพเจ้าและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ที่มองเห็นปัญหาใหญ่เช่นเดียวกัน ได้รวมกลุ่ม “เฝ้าระวัง”ปัญหาเพื่อเสนอให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ “ในการกำกับการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”ให้แก้ไขเสมอมา

จนพวกเรารวมกลุ่มเป็น สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) และต่อมามีกลุ่มนักวิชาการที่ไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่มีความเข้าใจและติดตามสถานการณ์ในระบบการแพทย์และสาธารณสุขและการประกันสุขภาพเช่นเดียวกัน มาร่วมกันศึกษาและติดตามเฝ้าระวังการบริหารหลักประกันสุขภาพเช่นเดียวกัน จึงรวมเป็น "กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง" เฝ้าระวังการทำงานของสปสช. เนื่องจากสปสช.เป็น “ผู้บริหารงบประมาณมากกว่า 100,000 ล้านบาท” และงบประมาณนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของพลเมืองไทย เพราะเป็นงบประมาณที่ใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพของพลเมืองไทย 48 ล้านคน และยังมีผลข้ามไปถึงพลเมืองในระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบประกันสังคมด้วย

ข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสนี้ ชี้แจงแก่พลเมืองไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงหรือเป็นสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทหรือเป็นคนที่ไม่เป็นคนกลุ่มใดว่า

การที่พวกเราได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการเลือกเลขาธิการสปสช.หรือการวิพากษ์วิจารณ์สปสช.นั้น ก็เพราะพวกเรากำลัง “ตามหาธรรมาภิบาลที่หายไปจากระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

ทั้งนี้ก็เพื่อให้พลเมืองไทยทุกคนได้รับการดูแลรักษาสุขภาพอย่างดี ตามมาตรฐานสากล เพื่อจะได้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ตายในขณะที่ยังไม่สมควรตาย

ข้าพเข้าและกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมืองไม่เคยมีเจตนารมณ์ที่จะ “ล้ม 30 บาท”แต่อย่างใด พวกเราต้องการ “ขจัดสนิมเหล็กจากท่อนเหล็กสปสช.” เท่านั้น

อนึ่งเพื่อสร้างความเข้าใจแก่พลเมืองไทยทุกคน ข้าพเจ้าจะค่อยๆเรียบเรียงบทความในชุด “ตามหาธรรมาภิบาลในระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ต่อไป

และถือว่า บทความเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าจะล้ม 30 บาท”นี้ เป็นบทแรกของบทความในชุด“ตามหาธรรมาภิบาลในระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

และไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการที่ใครก็ตามที่จะนำไปเผยแพร่บทความนี้ได้ในทุกวิธีการ

แต่ข้าพเจ้าต้องการให้ใครก็ตามที่ได้อ่านบทความนี้ ทำการคัดลอกบทความนี้ไปนำเสนอต่อได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่อย่าบิดเบือนสาระสำคัญหรือหลักการที่พวกเราทำมาตลอดว่า เราต้องการ “ขัดสนิม(เหล็ก) สปสช"เพื่อให้เหล็กสปสช.มีคุณภาพมาตรฐาน และยั่งยืนต่อไป เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี และระบบสาธารณสุขที่พัฒนาให้ทันโลกที่พัฒนาแล้ว ไม่ต้องการ “ล้ม 30 บาท” แต่อย่างใดทั้งสิ้น

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
13 กรกฎาคม 2559

ellmodare

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 3
    • ดูรายละเอียด
อ่าาเรื่องนี่ยาวแน่ๆครับ