ผู้เขียน หัวข้อ: “หมอชนบทดีเด่น” ชี้ ม.44 ช่วยทะลวงปัญหางบบัตรทอง ติดข้อ กม.ฝากเลขาฯ ใหม่ดูแล  (อ่าน 564 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
“หมอชนบทดีเด่น” ชี้ สปสช. ออกระเบียบล็อกตัวเอง กระทบคนทำงานในพื้นที่ใช้เงินบัตรทองไม่ได้ หนุน คสช. ออก ม.44 ช่วยทะลวงปัญหา แก้ความเข้าใจผิดฝ่ายตรวจสอบ ไม่เชื่อล้มบัตรทอง ฝากเลขาฯ สปสช. คนใหม่ขยายพันธกิจบัตรทองดูแลคนไร้สถานะ คนชายขอบไม่มีเลข ปชช.

        นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวถึงกรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง ม.44 แก้ปัญหางบบัตรทองที่ติดขัดในข้อกฎหมาย ว่า ตนเห็นด้วยกับการออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อมาแก้ปัญหาให้โรงพยาบาลสามารถใช้งบประมาณกองทุนบัตรทองที่มีการตีความว่าผิดวัตถุประสงค์ จนไม่สามารถนำเงินมาใช้ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อบริการทางการแพทย์ทั้งสิ้น ซึ่งปัญหาหลัก ๆ มาจาก พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และการออกหลักเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เองที่ล็อกตัวเอง ทำให้เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เมื่อตีความออกมาว่าผิดวัตถุประสงค์ ผิดระเบียบ พ.ร.บ. คนทำงานในพื้นที่นั้นไม่สามารถทำงานได้
       
       “การไม่สามารถเอาเงินกองทุนบัตรทองไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าตอบแทนบุคลากร หรือซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้นั้น ตรงนี้มันบกพร่องมาตั้งแต่แรกที่ สปสช. ไปแยกเงินออกมาเป็นหมวด ๆ ว่า หมวดนี้ใช้ได้เฉพาะอันนี้เท่านั้น ทำให้ใช้เงินข้ามหมวดไม่ได้ หากใช้ถือว่าผิด ทั้งที่เงินบางหมวดยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แต่ก็เอามาจ่ายในส่วนที่มีความจำเป็นก่อนไม่ได้ สุดท้ายก็กลายเป็นเงินค้างท่อ สมมติค่าไฟจะถูกตัดอยู่แล้ว แต่ก็เอาเงินหมวดอื่นที่เหลืออยู่ไปจ่ายไม่ได้ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเงินที่ต้องจ่ายเหมือนกัน เป็นเงินภาพรวมประเทศที่จะเอามาใช้ในการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ อย่างนี้เราทุจริตหรือไม่ ก็เปล่า แค่จ่ายผิดหมวดผิดประเภท แล้วเหมาะสมหรือไม่ที่ต้องมีการแก้ไข เพราะระเบียบมันล็อกตัวเอง” นพ.วรวิทย์ กล่าว
       
       นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า การออกมาตรา 44 เหมือนเป็นการแก้ความเข้าใจผิดของฝ่ายตรวจสอบ เช่น สตง. ว่าสิ่งที่เขาตีความไปไม่ใช่ว่าจะถูกต้อง เพราะเขาตีความตามตัวอักษร ไม่ได้ตีความถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในสังคม อย่างงบค่าเสื่อมตีความว่าเอาไปซื้อได้เฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่ใช้โดยตรงกับคนไข้ แต่กลับนำเงินไปซื้อเครื่องปั่นไฟไม่ได้ เพราะไม่ได้ใช้กับคนไข้โดยตรง แต่ความเป็นจริงการผ่าตัดต้องใช้ไฟ หากไฟฟ้าดับแล้วไม่มีเครื่องปั่นไฟสำรองก็ผ่าตัดไม่ได้ หรือกำลังผ่าตัดอยู่ต้องใช้ไฟฉายส่องอย่างนั้นหรือ คล้ายกรณีของบจาก สสส. ที่ตีความว่าเป็นผู้รับเหมารับจ้าง สสส. ต้องจ่ายภาษี ทั้งที่เราไปขอเงินเขามาให้คนในพื้นที่ทำงาน ไม่ได้เป็นลูกจ้าง แต่ต้องโดนภาษีเช่นนี้คนก็เข็ด ตรงนี้เกิดจากความเข้าใจผิดของฝ่ายตรวจสอบทั้งสิ้น การออก ม.44 ก็ถือว่าดี แก้ปัญหาได้เร็ว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกคำสั่ง ม.44 เป็นการใช้อำนาจมากเกินไปหรือไม่ และบางกลุ่มมองว่าเป็นการล้มบัตรทองและโยกอำนาจกลับมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า คงไม่ถึงขั้น ถ้าคนที่ถืออำนาจแล้วใช้อำนาจในทางที่มีผลลบมากกว่าผลบวกก็จะอยู่ไม่ได้ จึงใช้อำนาจพร่ำเพรื่อไม่ได้ เพราะเมื่อเกิดผลลบขึ้นมาสังคมก็จะตอบสนองทันที ส่วนการล้มบัตรทองนั้นตนไม่เชื่อ เพราะเราเดินมาไกลมาก หากจะล้มจริงต้องมีคนออกมาค้านจำนวนมากรวมถึงตนด้วย แต่ถ้าเพื่อแก้ปัญหาคงามเข้าใจไม่ตรงกันของฝ่ายตรวจสอบเช่นนี้ตนเห็นด้วย ส่วนประเด็นโยกอำนาจกลับมา สธ. น่าจะเป็นเรื่องมุมมองทางการเมืองมากกว่า ตนไม่ทราบรายละเอียด และไม่ได้คิดไปถึงขั้นนั้น เพราะมองแค่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ ซึ่งคำสั่งนี้ถือว่าช่วยแก้ปัญหา
       
       เมื่อถามว่า ควรมีการแก้ประเด็นอะไรใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า อย่างที่บอกว่ากฎหมาย สปสช. มีข้อจำกัดที่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้วทำให้คนในพื้นที่ทำงานไม่ได้ ประเด็นใหญ่เลย คือ การตีความภัยคุกคามทางด้านสุขภาพของประเทศนั้นยังไม่ครอบคลุม เพราะตีความว่าบัตรทองจะช่วยเฉพาะคนไทยที่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลักเท่านั้น แต่ความเป็นจริงคนพื้นที่ชายแดนที่ยังไม่ได้รับเลขบัตรประชาชน ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยมานานมากจนมีลูกมีหลาน แบบนี้ก็ไม่ได้รับการดูแล ทั้งที่หากเป็นโรคขึ้นมาก็ส่งผลกระทบกับคนประเทศ อย่างนี้ถือว่าเป็นภัยความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศเช่นกัน ก็ต้องแก้กฎหมายในเรื่องนี้ด้วย ก็อยากจะฝากไว้กับเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ที่จะต้องขยายพันธกิจของค์กรให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

โดย MGR Online       8 กรกฎาคม 2559