ผู้เขียน หัวข้อ: หากไม่ปฏิรูปตำรวจ อะไรจะเกิดขึ้น (1)  (อ่าน 980 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
  ปัญญาพลวัตร
       โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

        ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้มีเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมได้ไม่น้อย หากมีการดำเนินการอย่างจริงจัง แต่กลับกลายเป็นว่าผู้บริหารประเทศทั้งที่เป็นนักการเมืองและทหารไม่แสดงออกถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างมุ่งมั่นในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด เรื่องที่ว่าคือการปฏิรูปตำรวจ
       
       แม้การปฏิรูปตำรวจจะไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริหารประเทศ แต่กลับเป็นเรื่องที่ภาคประชาชนแทบทุกกลุ่มทุกฝ่าย รวมทั้งตำรวจน้ำดีทั้งหลายที่เกษียณไปแล้วล้วนเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่ง สำคัญและมีความจำเป็นลำดับต้นๆของการปฏิรูปประเทศ
       
       ทำไมผู้บริหารประเทศที่ผ่านมาจึงไม่ดำเนินการปฏิรูปตำรวจ ทั้งที่พวกเขาก็ทราบดีอยู่แล้วว่าประชาชนจำนวนมากต้องการให้มีการปฏิรูป จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการแสวงหาคำตอบอยู่ไม่น้อยว่าจุดยืนและเหตุผลที่พวกเขาอ้างคืออะไร และมีความเหมือนหรือความต่างกันหรือไม่
       
       เราเริ่มจากผู้บริหารที่เป็นนักการเมืองก่อน ผมคิดว่ามีเหตุผลหลักสองประการที่ทำให้นักการเมืองไม่กล้าปฏิรูปตำรวจ ประการแรกคือความหวาดกลัวต่อการสูญเสียฐานคะแนนเสียงทางการเมือง และประการที่สองคือความหวาดกลัวต่อปฏิกิริยาต่อต้านและการตอบโต้จากตำรวจ
       
       ความหวาดกลัวต่อการสูญเสียฐานคะแนนเสียงทางการเมืองมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าตำรวจเป็นหน่วยงานที่มีกำลังพลเป็นจำนวนมากหรือประมาณสองแสนคน และหากบวกกับครอบครัวและเครือญาติอีกไม่น้อยกว่าสามแสนคนแล้ว ก็จะทำให้ตัวเลขของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับตำรวจมีไม่น้อยกว่าห้าแสนคน ดังนั้นหากพรรคการเมืองใดที่เป็นรัฐบาลประกาศนโยบายปฏิรูปตำรวจ โดยมีแนวทางที่ส่งผลกระทบกับสถานภาพ อำนาจ และความมั่งคั่งของตำรวจแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าตำรวจและเครือข่ายของพวกเขาจะไม่สนับสนุนรัฐบาลอีกต่อไป
       
       หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ด้วยความที่ตำรวจเป็นกลุ่มทางสังคมที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ จึงมีความเป็นไปได้ว่าตำรวจจะดำเนินการด้วยกลวิธีหลากหลายประการ เพื่อโน้มน้าวและชักจูงให้ประชาชนไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่สร้างผลกระทบต่อพวกเขา และด้วยความที่ตำรวจเป็นกลุ่มทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อประชาชนไม่น้อย ก็มีความเป็นไปได้ว่าประชาชนจำนวนมากมีแนวโน้มเชื่อและปฏิบัติตามในสิ่งที่ตำรวจชี้นำ ผลที่ตามมาคือพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายปฏิรูปตำรวจก็อาจสูญเสียคะแนนนิยมไปไม่น้อย และอาจส่งผลให้จำนวน ส.ส.ของพรรคลดลงได้ในการเลือกตั้งก็ได้
       
       ตำรวจยังอาจใช้ยุทธวิธีต่อต้านรัฐบาลที่คิดปฏิรูปพวกเขาโดยการการประท้วงเงียบ ด้วยการวางเฉยในการปฏิบัติงาน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ใส่เกียร์ว่าง” รูปแบบการวางเฉยมีความหลากหลาน เช่น การดำเนินคดีล่าช้าหรือไม่ดำเนินคดี การละเลยไม่ทำการป้องกันอาชญากรรม การตรวจตราความปลอดภัยแบบพอเป็นพิธี การไม่กระตือรือร้นในการปราบปรามอาชญากรรม และการลดการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร หากตำรวจใช้ยุทธวิธีต่อต้านรัฐบาลพร้อมกันหลายวิธี ผลที่ตามมาคืออาชญากรรมจะเพิ่มมากขึ้นและจะเกิดความโกลาหลในการจราจร ประชาชนก็จะหงุดหงิดและตำหนิรัฐบาล และมองว่ารัฐบาลไม่มีน้ำยาในการสั่งการตำรวจให้รักษาความสงบปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ท้ายที่สุดก็จะทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลลดลง
       
       ยิ่งกว่านั้นหากตำรวจเพิ่มระดับความเข้มข้นในการต่อต้านรัฐบาลที่คิดจะปฏิรูปพวกเขา โดยใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาข้อมูลสืบสวนประวัติของบรรดานักการเมืองพรรครัฐบาล และนำข้อมูลด้านลบของนักการเมืองพรรครัฐบาลออกไปสู่สาธารณะผ่านเครือข่ายสื่อมวลชนหลากหลายช่องทาง ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้ความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองที่คิดปฏิรูปตำรวจลดลง เพราะนักการเมืองจำนวนมากในแทบทุกพรรคเป็นผู้มีอิทธิพล บางคนดำเนินธุรกิจสีเทา บางคนก็สีดำ และบางคนก็เคยทำสิ่งผิดกฎหมายที่ร้ายแรงมาก่อน เช่น เป็นเจ้าของซุ้มมือปืน ค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน
       
       ตำรวจอาจยังใช้ยุทธวิธีการบั่นทอนกลไกทางการเมืองของนักการเมือง ด้วยธรรมชาติของการเมืองการเลือกตั้งไทย นักการเมืองและพรรคการเมืองจะใช้หัวคะแนนเป็นกลไกในการหาคะแนนเสียงด้วยความที่หัวคะแนนจำนวนมากของนักการเมืองมีธุรกิจและพฤติกรรมผิดกฎหมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักการเมืองที่เป็นลูกพี่ของพวกเขา โดยเป็นเจ้าของบ่อนการพนัน เป็นเจ้ามือหวยเถื่อน เป็นพ่อค้าน้ำมันเถื่อน เป็นต้น หากตำรวจเห็นว่าพรรคการเมืองใดหรือนักการเมืองคนใดที่ท่าทีว่าคุกคามสถานภาพ อำนาจและความมั่งของพวกเขา ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าพวกเขาจะตอบโต้โดยใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อจัดการกับบรรดาหัวคะแนน บรรดาหัวคะแนนก็ไม่อาจอยู่นิ่งได้เพราะว่ากระทบต่อธุรกิจของพวกเขา ทางเลือกที่พวกเขาจะทำคือ การไปร้องขอหรือกดดันลูกพี่ของพวกเขาที่เป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลให้ไปสื่อสารกับรัฐบาลเพื่อยุติการปฏิรูปตำรวจ
       
       นักการเมืองก็ย่อมต้องเอาใจหัวคะแนนเพื่อรักษาเครือข่ายและกลไกทางการเมืองของตนเองเอาไว้ จึงต้องรับเรื่องและไปดำเนินการกดดันผู้บริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลให้ยกเลิกความคิดการปฏิรูปเสีย ผู้นำพรรคก็ต้องฟังนักการเมืองที่เป็นลูกพรรคเพื่อรักษาสถานภาพและตำแหน่งของตนเอง ท้ายที่สุดก็ต้องยกเลิกความคิดการปฏิรูปตำรวจ ดังนั้นการปฏิรูปตำรวจจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้บริบทที่พรรคการเมืองแบบเก่าๆครองอำนาจรัฐ
       
       ครั้นเมื่อผู้บริหารประเทศเปลี่ยนเป็นทหาร ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็คาดหวังว่าจะสามารถทำให้เกิดการปฏิรูปตำรวจได้ แต่ประชาชนเหล่านั้นก็ฝันสลายเพราะว่าลืมความจริงประการหนึ่งว่าทหารกับตำรวจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน กลุ่มผู้นำของตำรวจและทหารต่างเคยเรียนในระดับมัธยมร่วมกันมาก่อน เป็นเพื่อนร่วมรุ่น เป็นรุ่นพี่ เป็นรุ่นน้องกัน และบางคนก็เป็นเครือญาติกัน โดยทั่วไปแล้วพวกเขามีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดและยึดความสัมพันธ์เหล่านั้นเป็นหลัก
       
       เมื่อบรรดานายพลกลายเป็นผู้บริหารประเทศและถูกประชาชนกดดันให้ปฏิรูปประเทศ พวกเขาจะปฏิเสธเสียทั้งหมดก็ไม่ได้เพราะว่าประชาชนจำนวนมากที่เรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศเป็นกลุ่มที่สนับสนุนพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงต้องประกาศให้มีการปฏิรูปประเทศ แต่เพราะว่าการปฏิรูปประเทศคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้างและระบบบริหารประเทศ เปลี่ยนแปลงกฎหมาย เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผลของการปฏิรูปจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆที่มีอยู่เดิมด้วย
       
       โดยทั่วไปแล้ว ธรรมชาติของการปฏิรูปส่วนใหญ่จะทำให้กลุ่มที่เคยได้ประโยชน์จากระบบและวัฒนธรรมเดิมอย่างไม่เป็นธรรม จะต้องสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์บางส่วนไป เพื่อให้สังคมโดยรวมได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น และกลุ่มคนที่สูญเสียประโยชน์จำนวนไม่น้อยก็เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในเครือข่ายของผู้บริหารประเทศ ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจเลือกจำกัดขอบเขตของการปฏิรูป โดยเลือกปฏิรูปในเรื่องที่ไม่กระทบต่อเครือข่ายความสัมพันธ์ของตนเองมากนัก
       
       ส่วนเรื่องที่กระทบกับเครือข่ายความสัมพันธ์ก็ผลักภาระไปให้กับรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในยุคต่อไป วิธีคิดเช่นนี้สร้างความผิดหวังแก่คนจำนวนมากที่คาดหวังว่ากลุ่มนายพลจะมีความกล้าหาญในการจัดการกับปัญหาเรื้อรังของประเทศมากกว่านักการเมือง แต่พอเอาเข้าจริงกลับผลักภาระความรับผิดชอบในเรื่องที่ทำยากอย่างการปฏิรูปตำรวจให้นักการเมืองทำ ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่านักการเมืองไม่มีทางทำสำเร็จ
       
       นอกจากความกลัวว่าการปฏิรูปตำรวจจะไปกระทบความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนพ้องน้องพี่ของพวกเขาแล้ว เหตุผลอีกอย่างที่รัฐบาลนายพลตัดสินใจไม่เดินหน้าการปฏิรูปตำรวจคือ กลัวว่าการปฏิรูปจะสร้างความไม่พอใจแก่ตำรวจและทำให้ตำรวจดำเนินการต่อต้านทั้งในทางลับและเปิดเผย หากตำรวจต่อต้านโดยไม่ฟังคำสั่ง หรือฟังแต่ทำตามแบบขอไปที ก็อาจเกิดผลประทบต่อมาตรการในการรักษาความสงบของประเทศก็ได้
       
       สำหรับอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งเป็นเหตุผลที่ใช้สำหรับการไม่ปฏิรูปหน่วยงานข้าราชการหน่วยงานอื่นด้วยคือ รัฐบาลนายพลอ้างว่าต้องการใช้ข้าราชการและตำรวจเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ การอ้างเหตุผลเช่นนี้เป็นเรื่อง “ตลกร้าย” เพราะว่าปัญหาต่างๆมากกว่าครึ่งในสังคมไทยเกิดจากการที่ข้าราชการและตำรวจจำนวนมากปฏิบัติหน้าที่ไร้ประสิทธิภาพ ไร้มาตรฐาน ไม่ยึดความสุจริตและผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง คำพูดและความเชื่อที่ได้ยินกันเสมอว่า “ข้าราชการส่วนมากเป็นคนดี และส่วนน้อยเป็นคนไม่ดี” อาจเป็นจริงสำหรับบางหน่วยงาน แต่หลายหน่วยงานกลับมีความจริงตรงกันข้ามกับความเชื่อดังกล่าวและตำรวจก็เป็นกลุ่มนี้
       
       เรื่องตลกร้ายคือการนำเอากลุ่มคนที่ควรจะถูกปฏิรูปทั้งในด้านระบบความคิด ประสิทธิภาพ ความโปร่งใส คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อประเทศ มาเป็นกลไกในการปฏิรูปประเทศ หากมีวิธีคิดและการกระทำแบบนี้ต่อไป ผมคิดว่าผ่านไปอีกหลายทศวรรษ การปฏิรูปก็คงเกิดขึ้นได้ยาก

โดย ผู้จัดการรายวัน       10 มิถุนายน 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
หากไม่ปฏิรูปตำรวจ อะไรจะเกิดขึ้น (2)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2016, 00:45:13 »
             คำถามว่าหากไม่ปฏิรูปตำรวจแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ในปีที่ผ่านมามีคำตอบปรากฏให้เห็นชัดเจนหลายเรื่อง สำหรับเรื่องสร้างความอับอายขายหน้ากันทั้งบางก็คือ การโยกย้ายตำรวจซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะทำเสร็จ ครั้นเมื่อเสร็จแล้วกลับมีความผิดพลาดที่เราแทบไม่เคยได้ยินมาก่อนหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น การมีรายชื่อผู้เสียชีวิตอยู่ในบัญชีโยกย้าย การลดยศของผู้ที่ถูกโยกย้าย การมีชื่อของผู้ต้องคดีสำคัญในบัญชีโยกย้าย และการโยกย้ายกลุ่มนายตำรวจที่ทำงานดีจนประชาชนยกย่องจากสถานีตำรวจชั้นดี ไปยังสถานีตำรวจที่มีสถานภาพต่ำกว่า เป็นต้น
       
        การบริหารสำนักงานตำรวจฯ ที่ไร้การปฏิรูปในเรื่องการโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งมีลักษณะ เป็นการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ ผบ.ตร.เพียงผู้เดียว ซึ่งทำให้การโยกย้ายเกิดความผิดพลาดและขาดความเป็นธรรมได้ง่าย เพราะคนๆ เดียวย่อมไม่มีทางรู้พฤติกรรมการทำงานของคนร่วมสองแสนคนได้อย่างละเอียด คนฝีมือดีๆ หลายคน แต่ผู้มีอำนาจไม่รู้จักจึงต้องไปอยู่ทุ่งอยู่ดอย ถดถอยลงไปเรื่อยๆ ขณะที่คนใกล้ชิดหรือคนที่รู้จักกลับอยู่กรุงอยู่เมือง รุ่งเรืองในตำแหน่งหน้าที่
       
       การรวมศูนย์อำนาจยังมีโอกาสถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทางการเมืองในระดับสูงกว่าได้ง่ายอีกด้วย เพราะว่าการสั่งคนเดียวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมง่ายกว่าการสั่งคนหลายคนที่อยู่ในรูปคณะกรรมการ
       
       การตัดสินใจโยกย้ายผู้คนจำนวนมากด้วยวิธีการการรวมศูนย์อำนาจ ผู้มีอำนาจตัดสินใจย่อมมีความจำเป็นในการมีมือมีไม้ที่เป็นคนใกล้ชิดช่วยทำงานเพื่อคัดเลือก กลั่นกรอง และจัดทำบัญชีรายชื่อบรรดาผู้ที่อยู่ในข่ายโยกย้าย วิธีการแบบนี้ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่กลั่นกรองรายชื่อและจัดทำบัญชีมีอำนาจมาก และเป็นอำนาจที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบทางการบริหาร อีกทั้งไม่ต้องถูกตรวจสอบจากกลไกอื่นใดที่เป็นทางการ เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้ที่รับผิดชอบต่อสาธารณะและรับผลกระทบจากความผิดพลาดก็คือ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจนั่นคือ ผบ.ตร. เพียงผู้เดียวเท่านั้น
       
       การตัดสินใจแบบรวมศูนย์อำนาจยังทำให้โอกาสการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้นได้ง่ายอีกด้วย เพราะบัญชีรายชื่อที่ส่งมาให้ ผบ.ตร.อนุมัตินั้น ต้องผ่านกลไกกลั่นกรองเสนอมาตามลำดับชั้น ใครที่ต้องการมีชื่ออยู่ในบัญชีโยกย้าย ก็อาจต้องจ่ายเงินแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเสนอชื่อเข้าสู่บัญชี ซึ่งในกระบวนการแบบนี้ รายชื่อในบัญชีจะมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่มีทางที่ผบ.ตร.จะสามารถรู้และตรวจสอบได้ครบถ้วนทุกคน ผู้ที่จ่ายเงินซื้อตำแหน่งจึงมีโอกาสได้รับตำแหน่งตามที่ตนเองซื้อเอาไว้สูง เช่นนี้แล้วความไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นธรรมในการโยกย้ายก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       
       เมื่อความไม่เป็นธรรมในการโยกย้ายเกิดขึ้นก็ส่งผลให้ตำรวจน้ำดีขาด กำลังใจในการทำงาน ขณะที่ตำรวจน้ำเน่าซึ่งทำงานไม่ได้เรื่อง แต่วิ่งเต้นเก่งหรือ ใกล้ชิดเจ้านายกลับได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว เมื่อตำรวจน้ำเน่าไปดำรงตำแหน่งระดับสูงซึ่งมีอำนาจหน้าที่กว้างขวาง แทนที่พวกเขาจะใส่ใจปฏิบัติงานตามหน้าที่เพื่อสร้างสันติสุขแก่สังคมและรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน ก็มักจะใช้เวลาในการเอาใจเจ้านาย และการหาแหล่งรายได้เพื่อถอนทุนคืนจากที่ต้องเสียไปในการจ่ายค่าซื้อตำแหน่งนั่นเอง
       
       หากยังไม่ปฏิรูปตำรวจ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่พิกลพิการก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ในปัจจุบันสภาพที่เราพบเห็นได้อยู่เสมอเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายมีอยู่ ๓ ลักษณะคือ การบังคับใช้กฎหมายแบบเข้มงวด การบังคับใช้กฎหมายแบบผ่อนปรน และการละเลยไม่บังคับใช้กฎหมาย
       
       การบังคับใช้กฎหมายแบบเข้มงวดมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายที่เป็นคนธรรมดาที่ไม่มีสถานภาพทางสังคมสูง หรือเป็นชาวบ้านทั่วไป เมื่อคนเหล่านี้ทำผิดกฎหมายตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย จนไปถึงเรื่องใหญ่ ตำรวจก็จะใช้แนวทางเข้มงวด ประโยคที่มักได้ยินบ่อยยามที่ประชาชนเหล่านี้พยายามขอร้องให้ผ่อนปรนคือ “ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย” “ผิดนิดเดียวก็ผิด” “ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”
       
       สำหรับการบังคับใช้อย่างผ่อนปรนมักใช้กับคนสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคนที่ตำรวจรู้จัก ซึ่งเป็นลูกเมีย เครือญาติ เป็นเพื่อนบ้าง เป็นลูกน้องบ้าง เป็นเจ้านายบ้าง เมียเจ้านายบ้าง ฯลฯ กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มีตำแหน่งและอำนาจสูงในแวดวงการเมืองและราชการ โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมือง กลุ่มตำรวจด้วยกัน กลุ่มทหาร กลุ่มอัยการ ฯลฯ และกลุ่มที่สามคือกลุ่มคนร่ำรวยที่มีฐานะดีและมีชื่อเสียงในสังคม เมื่อคนเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย เรื่องใหญ่ก็จะถูกทำให้เป็นเรื่องเล็ก (เช่น เปลี่ยนจากฆ่าคนตายโยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า เป็นทะเลาะวิวาท) ส่วนเรื่องเล็กก็ถูกทำให้สูญหายไป (เช่น มีคนยักยอกทรัพย์ผู้อื่น ต่อมาเมื่อผู้นั้นถูกจับได้จึงเอาทรัพย์ที่ยักยอกไปคืนแก่เจ้าของ ตำรวจก็ไม่ดำเนินคดีโดยอ้างว่าผู้ยักยอกได้คืนทรัพย์นั้นแก่เจ้าของไปแล้ว)
       
       การบังคับใช้กฎหมายจึงแปรผันไปตามอำนาจ ความมั่งคั่ง และสถานภาพทางสังคมของผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามบางกรณีก็มีข้อยกเว้นสำหรับเรื่องที่ปรากฎเป็นข่าวโด่งดังในสาธารณะ เพราะหากเรื่องใดที่ปรากฏเป็นข่าวดังในสาธารณะ ตำรวจก็จะถูกกดดันให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นธรรมมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าอำนาจของผู้กระทำผิดมีมากน้อยขนาดไหนด้วย เพราะหากผู้กระทำผิดมีอำนาจมาก ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเถื่อน ความเข้มข้นการบังคับใช้กฎหมายก็จะอ่อนกำลังลงไป
       
       สำหรับการละเลยไม่บังคับใช้กฎหมายมีหลายกรณี แต่ส่วนใหญ่เกิดจากกฎหมายบางอย่างของประเทศไทยมีผู้ละเมิดเป็นจำนวนมาก เพราะผู้ออกกฎหมายมิได้คำนึงถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตของประชาชนสังคมไทย เมื่อออกกฎหมายมาแล้วกลับกลายไปว่าไปฝืนค่านิยมและนิสัยของคนไทย จึงทำให้เกิดการละเมิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย และตำรวจก็ไม่กล้าบังคับใช้กฎหมายกับคนจำนวนมากที่ละเมิด จึงปล่อยเลยตามเลย เช่น การละเมิดกฎหมายจราจรของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ การเล่นพนันหวยเถื่อน การบุกรุกที่ดินสาธารณะและป่าสงวน
       
       การทำงานของตำรวจก่อนการปฏิรูปจึงเป็นการทำงานที่มีปมปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความเป็นธรรมสูง เพราะว่าลักษณะการทำงานมีแบบแผนที่ชัดเจนอยู่ ๔ ประการคือ ทำตามใจ ทำตามสั่ง ทำตามแรงกดดัน และทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์
       
       ทำตามใจขึ้นอยู่กับว่าใจของตำรวจว่าอยากทำหน้าที่เรื่องใดบ้าง ในกรณีที่เกี่ยวกับคดีความ บางคดีอยากทำเพราะเห็นเป็นเรื่องสำคัญและต้องการให้ความเป็นธรรมแก่คู่คดี ก็มุ่งมั่นทำด้วยความเป็นธรรม แต่บางคดีอยากทำเพราะมีน้ำมันหล่อลื่นให้เดินเครื่อง ส่วนคดีไหนไม่มีใจ ไม่มีน้ำมันหล่อลื่นก็มักจะทำไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็ดองเอาไว้ดื้อๆจนคดีหมดอายุความ
       
       ทำตามสั่งเป็นการทำตามที่เจ้านายสั่ง หากเจ้านายสั่งให้ทำเรื่องที่ถูกต้องเป็นไปตามครรลองกฎหมายก็ดีไป แต่บางเรื่องคำสั่งของเจ้านายหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมายก็ยังต้องทำอยู่ดี ความกล้าในการทักท้วงหรือแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งที่ดูเหมือนละเมิดกฎหมายของเจ้านายไม่อยู่ในระบบคิดของตำรวจไทยเท่าไรนัก เราจึงมักได้ยินข่าวว่ามีตำรวจบางคนไปพัวพันกับเรื่องผิดกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ จนไปถึงการเรื่องใหญ่ๆ อย่างการทำให้บุคคลหายสาบสูญ
       
       ด้านการทำตามแรงกดดันมักเป็นเรื่องที่สังคมมีการรับรู้อย่างกว้างขวาง และเป็นข่าวใหญ่ตามสื่อมวลชนทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนักข่าวและผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างร่วมกันตั้งคำถามและติดตามความคืบหน้าของการทำคดีอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นกระแสสังคมและสร้างแรงกดดันแก่ตำรวจ แรงกดดันทางสังคมยังส่งอิทธิพลต่อไปรัฐบาลและผู้มีอำนาจในสังคมอื่นๆ หรือบางกรณีก็ยังส่งไปถึงรัฐบาลต่างประเทศ และในท้ายที่สุดแรงกดดันจากหลายๆฝ่ายก็พุ่งตรงไปยังตำรวจ ในฐานะที่เป็นฝ่ายรับผิดชอบเบื้องต้นต่อการดำเนินคดี
       
       ปรากฎการณ์ที่พบเห็นจนเป็นแบบแผนซึ่งคนทั่วไปสามารถทำนายได้ก็คือ เมื่อแรงกดดันจากสังคมทั้งภายในและต่างประเทศมีมากขึ้น ตำรวจก็มักจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นไปด้วย ทำให้มีหลายคดีที่สามารถคลี่คลายลงไปได้ แต่หากแรงกดดันอ่อนตัวลงไป ดูเหมือนประสิทธิภาพในการทำงานของตำรวจก็มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย
       
       อย่างไรก็ตามการทำงานตามแรงกดดัน อาจนำไปสู่ความผิดพลาดได้ง่าย เพราะตำรวจจะเกิดความรู้สึกว่าต้องดำเนินการสืบสวน สอบสวน และส่งฟ้องอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่าย หากมีการเร่งดำเนินงาน แต่มีความรู้ ความสามารถและเทคนิควิทยาการไม่เพียงพอหรือขาดประสิทธิภาพ ผู้ปฏิบัติงานมักมีแนวโน้มใช้วิธีการที่เบี่ยงเบนจากครรลองคลองธรรม เพื่อปิดคดีให้ได้
       
       ดังนั้นหากคดีใดมีการจับกุมและส่งฟ้องผู้ต้องหาอย่างรวดเร็ว ก็เราจึงมักได้ยินคำถามจากสังคมเสมอว่า ผู้ที่ถูกจับกุมนั้นเป็นแพะหรือเปล่า หรือไม่ก็จะมีคนตั้งคำถามว่า มีการทรมานผู้ต้องหาให้รับสารภาพหรือเปล่า จนทำให้ตำรวจผู้รับผิดชอบดำเนินคดีต้องแถลงข่าวชี้แจงและแก้ตัวอยู่บ่อยครั้ง
       
       การทำงานของตำรวจอีกลักษณะหนึ่งคือการทำงานเพื่อสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมที่ทำให้หน่วยงานดูดีในสายตาของประชาชน บางโครงการก็มีเนื้อหากิจกรรมและวิธีการทำงานที่ดีสอดคล้องกับพันธกิจของตำรวจ แต่บางโครงการก็เน้นการสร้างภาพลักษณ์เป็นหลัก แต่เนื้อสาระที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจหลักของตำรวจเท่าไรนัก
       
       กล่าวได้ว่าการบริหารองค์การของตำรวจก่อนการปฏิรูปนั้นเป็นการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะและหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมการบริหารแบบระบบอุปถัมภ์ซึ่งส่งผลให้ระบบธรรมาภิบาลไม่อาจแพร่ขยายได้ทั่วทั้งองค์การ ไม่อาจสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อย่างทั่วถึง มีแนวโน้มที่ทำให้ถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจเหนือกว่าได้ง่าย มีความเสี่ยงต่อการเกิดการซื้อขายตำแหน่งสูง และมีความเป็นไปได้ในการเกิดความผิดพลาดสูงยิ่ง
       
       เมื่อการบริหารมีแนวโน้มเป็นดังทิศทางดังกล่าว ก็ส่งผลให้การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล รวมทั้งการเป็นเสาหลักแห่งการดำรงความยุติธรรมให้แก่สังคมก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้ การใช้อำนาจหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายมีแนวโน้มแปรผันตามสถานภาพ ความมั่งคั่ง และอำนาจของผู้ที่ละเมิดกฎหมาย และการทำงานก็มีแนวโน้มมิได้มุ่งไปยังพันธกิจหลักที่สร้างความเป็นธรรมและความปลอดภัยแก่สังคม ตรงกันข้ามกลับมีแนวโน้มมุ่งตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์และอำนาจของตนเองและองค์การเป็นหลัก


โดย ผู้จัดการรายวัน       17 มิถุนายน 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
หากไม่ปฏิรูปตำรวจ อะไรจะเกิดขึ้น (จบ)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2016, 00:46:08 »
 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนิด้าโพลได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ ผลการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 60.88 เห็นว่า ควรปฏิรูปตำรวจให้เสร็จในยุคคสช. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความคาดหวังสูงต่อรัฐบาลปัจจุบันในการปฏิรูปตำรวจ ขณะที่มีเพียงร้อยละ14.24 เท่านั้นที่เห็นว่าควรรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ดูเหมือนมีประชาชนจำนวนไม่น้อยคือร้อยละ 16.56 ที่ไร้ความหวังอย่างสิ้นเชิงในการปฏิรูปตำรวจ โดยมองว่าการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องเพ้อฝันไม่มีรัฐบาลใดที่จะทำได้จริง
       
       ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเจตจำนงร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งพวกเขาคิดว่ายังอาจจะพอทำได้ภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน ผมคิดว่าเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนคิดเช่นนี้ก็เพราะว่ารัฐบาลปัจจุบันมีอำนาจอย่างมากมายในมือ และการปฏิรูปตำรวจก็ต้องอาศัยอำนาจที่แข็งแกร่งจึงจะทำได้ พวกเขาจึงคิดว่าควรจะดำเนินการให้เสร็จในยุคนี้
       
       เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลก็ควรนำเรื่องนี้มาพิจารณาอย่างจริงจัง และควรดำเนินการไปในทิศทางเดียวกับเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ สำหรับปัญหาของตำรวจที่ประชาชนเห็นว่าควรมีการปฏิรูป เรื่องแรกคือพฤติกรรมการประพฤติมิชอบ ถัดมาเป็นเรื่องประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และระบบงานของตำรวจ จากนั้นก็เป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายและการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
       
       ปัญหาต่าง ๆที่ประชาชนเห็นว่าควรมีการปฏิรูปมีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ หากพิจารณาในเรื่องแรกเกี่ยวกับพฤติกรรมการประพฤติมิชอบ จะเห็นได้ว่าสังคมมีการรับรู้ในเรื่องราวเหล่านี้ปล่อยครั้งเพราะมักปรากฎเป็นข่าวอยู่เสมอ เช่น การรีดไถ การเรียกเก็บส่วย การเรียกรับสินบน การใช้อำนาจหน้าที่ข่มขู่คุกคาม การเป่าคดี ฯลฯ หากถามว่าสำนักงานตำรวจมีระเบียบ กฎหมายในการลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้มีพฤติกรรมประพฤติมิชอบหรือไม่ ทุกคนก็ทราบดีว่า มีอยู่มากมายและโทษทัณฑ์ของการละเมิดก็หนักอยู่เอาการ และก็มีตำรวจจำนวนไม่น้อยที่ถูกลงโทษสั่งให้ออกจากราชการในแต่ละปี แต่คำถามถัดมาคือทำไมพฤติกรรมเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่จนปรากฎเป็นข่าวออกมาสู่สังคมวงกว้างอยู่เสมอ
       
       เมื่อปรากฎการณ์เป็นอย่างนี้ก็แสดงว่า ระเบียบ กฎหมายและกลไกบังคับใช้ระเบียบภายในองค์การเพื่อควบคุมพฤติกรรมของตำรวจไร้ประสิทธิภาพ และมีความอ่อนแอจนไม่สามารถทำให้ตำรวจที่ประพฤติมิชอบเกิดความหวาดกลัวได้แม้แต่น้อย ดังนั้นในแง่นี้ หากจะปฏิรูปสิ่งที่ควรจะทำการปรับปรุงแบบยกเครื่องคือ การพัฒนาระบบ กลไก และกระบวนการตรวจสอบภายใน
       
       กระนั้นก็ดี แม้ว่าการพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ยังไม่เพียงพอในการปรับพฤติกรรมของตำรวจ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบการควบคุมจากภายนอกผสมผสานเข้าไปด้วย ระบบการควบคุมภายนอกเป็นการผนวกรวมกลไกทางสังคมและใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุม หากใช้ภาษาที่รัฐบาลนี้ชอบใช้ก็คือ ต้องพัฒนาระบบ “ประชารัฐ” ขึ้นมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมตำรวจที่คิดประพฤติมิชอบนั้นเอง
       
       พฤติกรรมประพฤติมิชอบ ความไร้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และปัญหาอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกัน ผมคิดว่ามีสาเหตุสำคัญจากโครงสร้างการบริหารที่รวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น และการมีวัฒนธรรมองค์การที่ไม่สอดคล้องกับเป้าประสงค์และพันธกิจขององค์การดำรงอยู่ วัฒนธรรมองค์การเหล่านั้นคือ วัฒนธรรมแบบระบบอุปถัมภ์นิยม และวัฒนธรรมแบบธุรกิจนิยมนั่นเอง
       
       การจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารและวัฒนธรรมขององค์การได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการบริหารองค์การเป็นลำดับแรก กระบวนทัศน์เดิมในการจัดตั้งองค์การตำรวจคือ การมองว่างานของตำรวจเป็นงานด้านความมั่นคงของชาติ ภายใต้กระบวนทัศน์นี้สังคมไทยจึงมีการจัดตั้งองค์การตำรวจแบบองค์การทหาร ซึ่งมีระบบการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น มีการกำหนดชั้นยศเช่นเดียวกับทหาร และมีการรวมศูนย์อำนาจในการบริหารอย่างเข้มข้น
       
       ขณะที่ประเทศทั้งหลายในโลกที่มีระบบการบริหารตำรวจอย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีกระบวนทัศน์ต่อการทำงานของตำรวจว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความปลอดภัยของสาธารณะ” ภายใต้กระบวนทัศน์นี้จึงทำให้มีการจัดตั้งองค์การและการจัดโครงสร้างการบริหารตำรวจแบบ “กระจายอำนาจและความรับผิดชอบ” ไปสู่ท้องถิ่น โดยเชื่อว่าท้องถิ่นมีศักยภาพในการดูแลเรื่องความปลอดภัยสาธารณะด้วยตนเอง องค์การตำรวจในหลายประเทศจึงสังกัดท้องถิ่น
       
       แต่สำหรับประเทศไทยการกระจายอำนาจการดูแลความปลอดภัยสาธารณะไปสู่ท้องถิ่นนั้นดูเหมือนจะยังไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะสังคมขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพและความเที่ยงธรรมของผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามรูปแบบการกระจายอำนาจในการบริหารองค์การเป็นสิ่งที่จำเป็น และมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถคิดค้นและสร้างรูปแบบให้เกมาะสมกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันได้ไม่ยากนัก แต่สิ่งที่สำคัญก็คือต้องยึดกุมหัวใจหลักให้ได้ว่าควรมีการกระจายอำนาจและควรใช้ “โรงพักเป็นศูนย์กลาง” ในการบริหารและดำเนินงานตำรวจ
       
       การเริ่มต้นง่ายๆของการกระจายอำนาจคือ การมอบอำนาจในการบริหารงานงานบุคคลของตำรวจไปยังจังหวัด โดยจัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารงานตำรวจจังหวัด” ขึ้นมา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีกรรมการที่ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะและผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคประชาชนจำนวนหนึ่ง ให้คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่บริหารงานบุคคลของตำรวจและบริหารยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยภายในจังหวัดนั้น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้ง การโยกย้าย การพิจารณาความดีความชอบ และการดำเนินงานขับเคลื่อนและประเมินผลยุทธศาสตร์ รูปแบบคล้ายๆกับ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนั่นเอง
       
       สำหรับการใช้โรงพักเป็นศูนย์กลาง เริ่มแรกคือการพยายามจัดกำลังคนให้เต็มตามอัตราที่โรงพักแต่ละแห่งพึงได้รับตามที่มีการวิเคราะห์และกำหนดเอาไว้ ไม่ใช่มีแต่อัตราแต่ไม่มีกำลังคนดังเช่นในปัจจุบัน การทำเรื่องนี้ได้อย่างง่ายๆคือ การลดงานที่ไม่ใช่งานตำรวจลง การลดตำรวจหน้าห้อง การตำรวจติดตาม รวมทั้งการลดขนาดกองบัญชาการลงไป และให้คนเหล่านั้นไปทำงานในโรงพัก เพื่อทำงานจริง ๆ ของตำรวจเสียที ปัจจุบันมีตำรวจจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยทำงานตำรวจตามความหมายและภารกิจของคำว่า “ตำรวจ”
       
       การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และจัดโครงสร้างองค์การในรูปลักษณ์ใหม่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการปฏิรูปตำรวจ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริหารและการทำงานเสียใหม่ สำหรับวิธีการการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์การต้องอาศัยทีมผู้นำและการมีส่วนร่วมของตำรวจทุกระดับชั้น รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและการกล่อมเกลาทางสังคมแก่บุคลากรใหม่ด้วย
       
       การดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์การหรือไม่ เราสามารถพิจารณาได้จากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในการบริหารและปฏิบัติงาน ผมจะไม่กล่าวรายละเอียดเรื่องวิธีการและกระบวนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมมากนัก เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน และต้องใช้เวลามามาก แต่จะขอกล่าวเป็นแนวทางหลักๆเอาไว้ดังนี้
       
       เริ่มแรกคือรัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์การของตำรวจ (ควต.)ขึ้นมาก่อน จากนั้นให้คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอย่างเป็นขั้นตอน การทำงานของคณะกรรมการควรเริ่มจากการวินิจฉัยและหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์การตำรวจในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาว่า มีวัฒนธรรมแบบใดบ้าง จากนั้นก็ร่วมกันวินิจฉัยและหาข้อสรุปร่วมกันว่า วัฒนธรรมองค์การที่พึงประสงค์ของตำรวจในอนาคตควรมีอะไรบ้าง และนำมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ความแตกต่าง และความหมายของสิ่งที่วินิจฉัยให้ชัดเจน พร้อมกับระบุว่าวัฒนธรรมแต่ละอย่างเชื่อมโยงกับพฤติกรรมแบบใด จากนั้นก็พิจารณาว่าจะต้องยกเลิกวัฒนธรรมแบบใดบ้าง ต้องเพิ่มวัฒนธรรมแบบใดบ้าง โดยระบุแต่ละประเด็นให้ชัดเจน
       
       เมื่อได้ประเด็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้วก็นำมาเขียนเป็นยุทธศาสตร์ว่าจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างทั้งในแง่พฤติกรรม ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างการบริหาร โดยปกติยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมมีทั้งยุทธศาสตร์แบบนิ่มนวลแต่ฝังลึก โดยการสร้างค่านิยมใหม่ผ่านเรื่องเล่าในเชิงบวกที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมใหม่ที่จะสร้างขึ้นมา และมีกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมผ่านทีมงานและเพื่อนร่วมงาน ส่วนอีกแบบคือยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงแบบเข้มข้นผ่านระบบการให้รางวัลและการลงโทษอย่างจริงจัง โดยให้รางวัลแก่ผู้ที่ดำเนินการตามวัฒนธรรมแบบใหม่ และลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม
       
       ด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมนั้นควรเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงในสิ่งเล็ก ๆหรือเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ก่อน ควรมีการสนับสนุนทางสังคมโดยสร้างทีมงานและพันธมิตรในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง มีการออกแบบระบบติดตามและความรับผิดชอบที่ชัดเจน มีการสนับสนุนข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลง และมีการวัดประเมินผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบและนำเสนอต่อสาธารณะ รวมทั้งมีการอธิบายเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงและต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงเนื้อหาพฤติกรรม กระบวนการทำงานและสัญลักษณ์
       
       ข้อเสนอในการปฏิรูปตำรวจของผมเป็นเพียงละอองทางความคิดในมหาสมุทรแห่งปัญหา อันที่จริงในปัจจุบันมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจมากมายที่ผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศนี้เคยศึกษาและนำเสนอมาแล้ว เพียงแต่ว่าจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปที่ทรงพลังนั้นยังไม่เกิดขึ้น และยังมีความคิดนำเรื่องนี้ไปทำในอนาคต ทั้งที่การสำรวจของนิด้าโพลก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้มีออำนาจรัฐในปัจจุบันขยับขับเคลื่อนการปฏิรูปตำรวจ มากกว่าที่จะรอการปฏิรูปในอนาคต ซึ่งทุกคนตระหนักดีว่าคงยากยิ่งกว่าการเข็ญครกขึ้นภูเขา
       
       ผมคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยากเห็นสภาพที่ตำรวจดี ๆ ต้องอยู่อย่างตัวลีบ แต่ตำรวจเลวชูก้ามอวดเบ่ง ตำรวจที่ทำงานเพื่อประชาชนอย่างทุ่มเทและตรงไปตรงมาต้องอยู่อย่างหวาดผวา ขณะที่ตำรวจที่ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง เอาอำนาจหน้าที่เป็นเครื่องมือทางธุรกิจในการหาเงินเข้ากระเป๋าอย่างฉ้อฉล กลับอยู่อย่างสบายไร้ความกังวลใด ๆ ตำรวจที่ไร้เส้นไร้สายต้องตรากตรำทำงานอย่างหนัก แต่กลับไม่มีความก้าวหน้า ย่ำอยู่กับที่ แต่ตำรวจที่เส้นใหญ่ เดินไปเดินมา ประจบเจ้านาย กลับก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงอย่างรวดเร็ว
       
       ทั้งยังไม่อยากเห็นสภาพตำรวจที่ซื่อสัตย์และกล้าหาญถูกมองว่าไม่ฉลาดและไม่ยืดหยุ่น ส่วนตำรวจตำรวจที่ตามน้ำ ตามนาย กลับถูกมองว่าฉลาดในการเอาตัวรอด และก็ไม่อยากเห็นตำรวจที่กล้ายืนหยัดในความถูกต้องและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายถูกเพื่อนร่วมงานและเจ้านายมองว่าเป็นแกะดำ `แต่ตำรวจที่เงียบ ทำเป็นมองไม่เห็น ไม่รับรู้สิ่งที่เพื่อนร่วมงานทำผิด กลับได้รับความชื่นชมว่ารักพวกพ้อง รักองค์การ
       
       สภาพที่ผมกล่าวมาคือ สภาพที่ประชาชนจำนวนมากเห็นและสัมผัสได้ในยุคที่ยังไม่มีการปฏิรูปตำรวจ และสภาพแบบนี้จะทำให้วิกฤติศรัทธาต่อตำรวจเพิ่มขึ้นมากขึ้น จนในวันหนึ่งในอนาคต อาจมีคำถามกระหึ่มในสังคมว่า “จะมีตำรวจไว้ทำไม” เกิดขึ้นก็ได้ ผมคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยากให้เกิดสถานการณ์แบบนั้น และผมคิดว่าสถานการณ์แบบนั้นหลีกเลี่ยงได้ หากมีการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ครับ
       

โดย ผู้จัดการรายวัน       24 มิถุนายน 2559