ผู้เขียน หัวข้อ: ยิ่งกินยาปฏิชีวนะ ยิ่งเสี่ยงมะเร็งลำไส้!!  (อ่าน 794 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2559 วารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อ Digestive Diseases and Sciences ได้เผยแพร่ผลการวิจัยว่า การใช้ยาปฏิชีวนะนั้นมีความสัมพันธ์ทำให้เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้!
       
       งานวิจัยดังกล่าวนั้นชื่อ “Frequent Use of Antibiotics is Associated with Colorectal Cancer risks: Results of Nested Case-Control Study.” โดย Dik VK และคณะ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการสำรวจฐานข้อมูลจากกลุ่มประชากรที่ได้จากบริษัทประกันสุขภาพถึงกลุ่มที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะกับความสัมพันธ์ในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ระหว่างปี พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2554 โดยเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะตามใบสั่งยาและติดตามผลต่อเนื่อง 5 ปี
       
       ผลปรากฏว่าพบความสัมพันธ์ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาปฏิชีวนะถึง 26%!!!

        จากงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้จะต้องมีการศึกษากันต่อไปว่ายาปฏิชีวนะที่เพิ่มมากขึ้นนั้นมีความเสี่ยงในการเพิ่มมะเร็งลำไส้ด้วยเงื่อนไขใด
       
       วารสาร Science Illustrated ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ได้รายงานว่า ในโลกของจุลินทรีย์นั้น แบคทีเรียที่มีชีวิตทั้งในและบนร่างกายของมนุษย์นั้น มียีนที่แตกต่างกันมากกว่า 8 ล้านยีน เมื่อเทียบกับร่างกายของเราที่มี 20,000 ยีน พูดในทางพันธุกรรมแล้วร้อยละ 99.75 ของมนุษย์คือแบคทีเรีย
       
       และในระบบย่อยอาหารนั้น คือบริเวณที่มีแบคทีเรียอุดมสมบูรณ์ที่สุด อยู่ในที่มืดและอบอุ่นของลำไส้ ที่ซึ่งแบคทีเรียนับพันล้านคอยย่อยอาหารของมนุษย์อยู่ ลำไส้แบ่งออกเป็นพื้นที่ต่างๆ ที่มีการต่อสู้แย่งชิงเสมอ แบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสู้กับแบคทีเรียใหม่ที่เป็นอันตรายและมากับอาหาร แบคทีเรีย 500-1,000 ชนิด คือจำนวนชนิดของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ผู้ใหญ่ แบคทีเรียรวมกันมีน้ำหนักราว 2 กิโลกรัม
       
       จากหนังสือคู่มือแห่งการหมักอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพที่ชื่อ Handbook of Fermented Functional Foods. โดย Edward R. Farnworth พ.ศ.2551 ได้รายงานเอาไว้อย่างชัดเจนว่า อาหารที่มีจุลินทรีย์ชนิดดี (โปรไบโอติก) นั้นจะช่วยเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ในการกำจัดเซลล์มะเร็งตามธรรมชาติที่เรียกว่า Natural Killer Cells
       
       สอดคล้องกับงานวิจัยทางด้านเคมีและวิศวกรรมวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ฟรีด ฮาร์ดเดแมน ร่วมกับศูนย์วิจัยมะเร็งสถาบันเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Jerry. T Thornthwaite และคณะ ก็ได้รายงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 พบว่าอาหารและสมุนไพรหลายชนิดที่มีลักษณะเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ (พรี-ไบโอติก) จะช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งได้ จากงานวิจัยเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่าจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ นั้นมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะในการต่อต้านมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
       
       อย่างไรก็ตาม แม้มนุษย์จะมีความสามารถในการคิดค้นยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับฆ่าแบคทีเรียที่ไม่ดี ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถรอดพ้นจากโรคติดเชื้อได้อย่างมากมายมหาศาล ซึ่งเราต้องขอบคุณผู้คิดค้นยาปฏิชีวนะที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ
       
       แต่การที่มนุษย์กินยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ในการฆ่าแบคทีเรียมาก ก็ได้ส่งผลทำให้แบคทีเรียชนิดที่ดีทยอยตายลงไปเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาตามมาในอีกหลายด้าน เริ่มตั้งแต่การทำให้ระบบการย่อยแย่ลง ทำให้ลำไส้อักเสบเพราะเสียสมดุลจากการที่เชื้อยีสต์แย่งชิงพื้นที่แบคทีเรียในลำไส้มากเกินไป จนส่งผลทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ เพราะระบบการดูดซึมขนาดโมเลกุลของลำไส้ผิดปกติไปจากการย่อยไม่สมบูรณ์ และทำให้เชื้อก่อโรคเจริญเติบโตในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น และเมื่อมีปัญหาที่ลำไส้มากขึ้นตามมา
       
       และนั่นก็เป็นสาเหตุทำให้หลายคนเกิดความสงสัยจนเกิดงานวิจัยตามมาว่า หากกินยาปฏิชีวนะตามใบสั่งยานั้น ยิ่งกินมากเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ กลับเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้มากขึ้นหรือไม่
       
       และผลสรุปที่เพิ่งรายงานผลการวิจัยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2559 นั้น ก็ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนว่ายาปฏิชีวนะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ได้จริง!!

        แต่สำหรับคนไทยแล้วพบว่ามีการบริโภคยาปฏิชีวนะกันมาก โดยในปี พ.ศ.2555 พบว่าคนไทยใช้ยากว่า 4.7 ล้านเม็ด หรือเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด เมื่อหารด้วยประชากร ก็แปลว่าคนไทยโดยเฉลี่ยกินยาวันละ 2 เม็ด และยาที่กินมากที่สุดอันดับที่หนึ่งก็คือ “ยาปฏิชีวนะ” แซงหน้า “ยาแก้ไข้” ไปแล้ว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนยาแก้ไข้ก็มีผลทำให้การทำงานของตับแย่ลงเช่นเดียวกัน
       
       ทั้งนี้ กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557 โดย ดร.นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการองค์การอาหารและยากล่าวว่า
       
       “คนไทยส่วนใหญ่กินยาปฏิชีวนะผิด เพราะส่วนใหญ่ อาการหวัดเจ็บคอถึง 80% มักเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ มีเพียงส่วนน้อยเพียง 20% ที่อาจเกิดจากแบคทีเรีย และอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ หากประชาชนไม่รู้ข้อเท็จจริงนี้ และกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งที่เป็นหวัดเจ็บคอ เขาจะได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นถึง 80% เลยทีเดียว”
       
       ลำพังแค่กินยาปฏิชีวนะผิดถึง 80% ก็ไม่ได้แก้ปัญหาเจ็บคอที่ถูกต้องแล้ว จากงานวิจัยล่าสุดคนที่กินยาปฏิชีวนะแบบนี้ก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้สูงขึ้นด้วย
       
       แต่เรายังมียาปฏิชีวนะที่เรากินเข้าไปแบบไม่รู้ตัวในรูปแบบอื่นอีกด้วย!!!
       
       เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณะสุข ได้รายงานว่า “ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ” นั้นเป็นยาปฏิชีวนะ แต่ปริมาณการผสมน้อยไม่เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อ แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ดีนั้นดื้อต่อยาปฏิชีวนะ
       
       และที่สำคัญยังเกิดคำถามว่าจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็อาจจะมีจำนวนลดน้อยลง เมื่อถูกเชื้อที่ไม่ดีดื้อยานั้นเข้าชิงพื้นที่ในร่างกายเรามากขึ้น
       
       แต่สิ่งที่เราอาจไม่คาดคิดว่าเนื้อสัตว์หลายชนิดก็มีการใช้ยาปฏิชีวนะเข้าไปด้วย ผลก็คือคนที่กินเนื้อสัตว์มากก็อาจจะได้รับยาปฏิชีวนะผ่านการเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ไม่เว้นแม้แต่เนื้อปลา นั่นหมายถึงว่าเรากำลังทำลายแบคทีเรียชนิดดีที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้เพิ่มมากขึ้น
       
       และต้องไม่ลืมว่านมวัว และผลิตภัณฑ์นมวัว (ชีสและเนย) ในยุคหลัง ที่มีการใช้เครื่องรีดนมวัวเกือบตลอดเวลาตามแนวทางเร่งผลผลิตของอุตสาหกรรมยุคใหม่ พักการรีดนมวัวน้อยเกินไป ทำให้ต้องมีการฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการอักเสบของนมวัว
       
       ผลก็คือเราได้รับยาปฏิชีวนะมาเต็มๆ ผ่านนมวัว และผ่านผลิตภัณฑ์นมวัวมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว!!!
       
       อีกทั้งเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะทำลายแบคทีเรียมากขึ้นแล้ว น้ำตาลแลคโตสในนมวัวเมื่อถูกย่อยแล้วก็จะได้ทั้งกาแลคโตสและกลูโคส กลายเป็นอาหารให้กับยีสต์แคนดิด้าขยายตัวชิงพื้นที่ในลำไส้แทนแบคทีเรียชนิดที่ดีตายลงไป ทำให้เกิดลำไส้อักเสบ เกิดการดูดซึมอาหารที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่เกินไป ร่างกายจึงรับรู้เป็นสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ตามมา
       
       ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ที่ดื่มนมวัวมาก ลูกที่ออกมาก็ได้รับผลกระทบไปด้วย คือระบบย่อยไม่ดี เป็นโรคภูมิแพ้ง่าย!!!

 คอลัมน์ : ธรรมชาติบำบัด
       ผู้เขียน : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
       นิตยสารฟรีก็อบปี้ Good Health & Well-Being ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันเสาร์ที่ 21 - อาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2559