ผู้เขียน หัวข้อ: กินน้ำเต้าหู้มากๆ ทำไมเป็นมะเร็งได้?  (อ่าน 680 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ถั่วเหลืองเป็นธัญพืชที่มีข้อถกเถียงกันอย่างมากว่าเป็นประโยชน์หรือโทษ เพราะถั่วเหลืองนั้นมีคุณค่าโปรตีนที่ไม่แพ้เนื้อสัตว์เลย รายงานคณะที่ปรึกษาร่วมกันระหว่างองค์การอาหารเกษตรแห่งองค์การสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ได้ระบุว่าคุณค่าทางชีวิภาพของโปรตีนถั่วเหลืองนั้นเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ ไข่ และเคซีนซึ่งเป็นโปรตีนในนมวัว

        ในคะแนนคุณค่าทางชีวภาพของโปรตีนเต็ม 100 โปรตีนสกัดแยกน้ำมันได้คะแนนคุณค่าทางชีวภาพประมาณ 74 น้ำนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้อยู่ที่ 91 ถั่วเหลืองทั้งเมล็ดอยู่ที่ 96 ในขณะที่ไข่มีคะแนนสูง 97
       
       การที่ถั่วเหลือง ให้คุณค่าโปรตีนสูงมาก จึงทำให้ประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก บางส่วนใช้ไปผลิตอาหารสัตว์ บางส่วนนำแปรรูปให้อาหารคน และบางส่วนเรามาใช้สกัดทำน้ำมันพืช
       
       แม้ถั่วเหลืองจะมีโปรตีนที่มีประโยชน์ แต่น้ำมันพืชที่มีอยู่ในถั่วเหลืองนั้นกลับเป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งมีผลทำให้น้ำมันในถั่วเหลืองสามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนจนเกิดอนุมูลอิสระง่าย หรือหากนำมาผัดทอดด้วยความร้อนสูงก็จะอาจจะเกิดเป็นไขมันทรานส์ที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดได้
       
       สำหรับน้ำมันถั่วเหลืองนั้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 ดร.คริสโตเฟอร์ อี. รัมส์เดน แพทย์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดโปงงานวิจัยของมลรัฐมินิโซต้า เมื่อ 40 กว่าปีก่อนว่า “มีข้อมูลสำคัญไม่ได้เปิดเผย” ข้อมูลที่ว่านั้น ก็คือ น้ำมันไม่อิ่มตัว (รวมน้ำมันถั่วเหลือง) มีกรดไลโนเลอิกสูง แม้จะทำให้คอเลสเตอรอลลดลงถึง 13.8% แต่คอเลสเตอรอลที่ลดลงนั้นไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงโรคหัวใจน้อยลง แต่กลับส่งผลตรงกันข้ามว่าคอเลสเตอรอลที่ลดลง 30 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จากการกินไขมันไม่อิ่มตัวมาก กลับมีความเสี่ยงเสียชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้น 22%
       
       จากข้อมูลโภชนาการ พบว่าถั่วเหลืองและน้ำเต้าหู้ให้ไขมันมากที่สุดประมาณ 43% มีโปรตีน 33% มีคาร์โบไฮเดรต 24% แต่ค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับต่ำมากคือถั่วเหลืองหนึ่งถ้วยให้ค่าดัชนีน้ำตาลถ่วงน้ำหนักประมาณ 6% แม้หลายคนคาดหวังว่าจะเป็นอาหารที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่ก็ต้องกลับมาคิดกันใหม่เพราะปัญหาน้ำมันไม่อิ่มตัวในถั่วเหลืองกลับทำให้เพิ่มความเสี่ยงเบาหวานได้มากขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในการทดลองกับหนูล่าสุดในวารสาร Plos ONE เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 โดย Poonamjot Deol และคณะ ซึ่งวิจัยในหัวข้อที่พบว่าน้ำมันถั่วเหลืองทำให้อ้วนและเป็นเบาหวานได้เมื่อกินน้ำตาลฟรุ๊คโตส (น้ำตาลผลไม้) ทั้งๆ ที่หนูที่ไม่กินน้ำมันถั่วเหลือง หรือหนูที่กินน้ำมันมะพร้าวมาก หากมากินน้ำตาลฟรุ๊คโตสแล้วจะไม่เป็นโรคเบาหวานแต่ประการใด
       
       พ้นจากเรื่องปัญหาของไขมันกับปัญหาหลอดเลือดแล้ว โปรตีนจากถั่วเหลืองนั้นมีประโยชน์หลายด้าน สมาคมการหยุดยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ เพื่อบำบัดรักษาโรคมะเร็งในสหรัฐอเมริกา พบว่าการรับประทานถั่วเหลืองทำให้การสร้างหลอดเลือดใหม่น้อยลงกว่าปกติถึง 63% ในขณะที่ถั่วเหลืองที่สกัดไขมันเหลือโปรตีนล้วนๆ นั้นทำให้การสร้างหลอดเลือดใหม่น้อยลงไปกว่าปกติถึง 84% ซึ่งเป็นผลทำให้เนื้องอกมะเร็งไม่สามารถมีเส้นเลือดใหม่ไปทำให้มะเร็งแพร่กระจายได้ และยังพบว่าถั่วเหลืองที่สกัดไขมันและแป้งออกไปแล้วสามารถหยุดยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ได้ดีกว่าการใช้ยามุ่งเป้าของแพทย์แผนปัจจุบันหลายชนิดเช่นเดียวกัน
       
       สอดคล้องกับนักเขียนชื่อดัง ดร.ที คอลิน แคมเบลล์ ก่อนหน้านี้ที่พบว่าเมื่อเป็นมะเร็งแล้วการกินโปรตีนจากนมวัวทำให้มะเร็งแพร่กระจายตามปริมาณของโปรตีนจากนมวัว แต่โปรตีนจากพืชนั้นเมื่อกินเข้าไปแล้วไม่ว่ามากหรือน้อยกลับไม่ได้ทำให้มะเร็งเจริญเติบโตแพร่กระจายได้แต่ประการใด
       
       ที่จริง โปรตีนจากถั่วเหลืองจึงมีประโยชน์อยู่หลายด้าน ซึ่งถ้าเป็นถั่วเหลืองที่เพาะปลูกในประเทศไทยนั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะประเทศไทยมีกฎหมายห้ามการเพาะปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรม แต่ปัญหาที่น่าจับตาและน่าสงสัยก็คือ ธัญพืชทั้งถั่วเหลืองและข้าวโพดที่ประเทศไทยนำเข้ามาเป็นอาหารสัตว์และอาหารคนนั้น “ส่วนใหญ่ตัดแต่งพันธุกรรม” ดังนั้น คนไทยอาจจะไม่ได้กินถั่วเหลืองปกติ แต่กำลังกินโปรตีนที่มีการตัดต่อพันธุกรรมจากต่างประเทศ
       
       การตัดต่อพันธุกรรมนั้นถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น แต่ถั่วเหลืองและข้าวโพดที่ตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมีเป้าหมายต้องการที่จะให้พืชเหล่านี้ทนทานต่อยาฆ่าวัชพืชได้มาก ผลก็คือธัญพืชเหล่านี้ทำให้มีสารฆ่าธัญพืชตกค้างมาก โดยเฉพาะสารที่เรียกว่า ไกลโฟเสท (Glyphosate) ที่กำลังถูกจับตามากที่สุดว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาการกลายพันธุ์ของสัตว์ที่กินเข้าไปรวมถึงคนที่กินเข้าไปด้วย ซึ่งรวมถึงเข้าโพดนำเข้า ถั่วเหลือง ผงถั่วเหลืองที่นำเข้ามาทำน้ำเต้าหู้ โปรตีนเกษตรจากถั่วเหลือง และรวมถึงอาหารแปรรูปที่มาจากพืชตัดแต่งพันธุกรรมเหล่านี้

        ทั้งนี้ วารสารวิทยาศาสตร์ชีวภาพนานาชาติ International Journal of Biological Sciences พ.ศ. 2552 ได้เคยตีพิมพ์งานวิจัยเปรียบเทียบพบว่าหนูที่กินข้าวโพดที่ตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมีการเจริญเติบโตของเนื้องอกอย่างผิดปกติ โดยพบว่าหนูเพศผู้มากกว่า 50% และหนูเพศเมียมากกว่า 70% ตายก่อนวัยอันควร มีก้อนเนื้อเจริญเติบโตขึ้นมากกว่า 200 % - 300 % แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะถูกตอบโต้และจับผิดก็ล้วนแล้วแต่มาจากการแสดงความเห็นจากนักวิจัยที่สนับสนุนพืชตัดแต่งพันธุกรรมและกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากทุนอาหารตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งกรณีฟ้องร้องนักวิทยาศาสตร์ในเรื่องเกี่ยวกับพืชตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมีอยู่ทั่วโลก แต่ก็มีกรณีศึกษาที่ฝรั่งเศสนั้น ศาลให้นักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยตรวจสอบในเรื่องนี้เป็นฝ่ายชนะคดีความอีกด้วย
       
       เช่นเดียวกันกับการค้นพบความผิดปกติอย่างมากของการกลายพันธุ์ในปศุสัตว์ที่ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเหล่าสัตว์กินธัญพืชที่มีสารไกลโฟเสท เช่น ไก่มีสี่ขา หมูหัวดำ หัวผิดปกติไม่เป็นรูปหน้าตา หมูมี 6 ขา ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาอย่างมากในเว็บไซต์ที่สนใจด้านสุขภาพทั่วโลก

        ไม่ว่าเรื่องการต่อสู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบความผิดปกติและอันตรายของพืชตัดแต่งพันธุกรรม กับนักวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนพืชตัดแต่งพันธุกรรม ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ที่แอบแฝงรับทุนและผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกลุ่มทุนอาหารตัดแต่งพันธุกรรม จะจบลงอย่างไร แต่อย่างน้อยประชาชนคนไทยควรจะมีสิทธิ์ที่จะเห็นฉลากอาหารทุกชนิดว่ามีพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือไม่ และมีสารไกลโฟเสท มียาฆ่าแมลง และมีย่าฆ่าวัชพืชตกค้างอยู่หรือไม่?

คอลัมน์ : ธรรมชาติบำบัด
       ผู้เขียน : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
       นิตยสารฟรีก็อบปี้ Good Health & Well-Being ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 19 มิ.ย.2559

โดย MGR Online       17 มิถุนายน 2559