ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปการอภิปรายสวัสดิการข้าราชการ  (อ่าน 4099 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
สรุปการอภิปรายเรื่อง
“มาตรฐานการกำหนดค่าใช้จ่ายและสิทธิประโยชน์ในสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลการของข้าราชการ”
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 เวลา 09.00 – 12.00 น.
ณ หอประชุมสุขุมนัยประดิษฐ  สำนักงาน ก.พ.  จังหวัดนนทบุรี


   นายจาดุร  อภิชาตบุตร นายกสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย : ผู้ดำเนินการอภิปรายกล่าวนำว่าปัจจุบันนี้มีข่าวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับสิทธิในสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวอยู่บ่อยๆ โดยมีการกล่าวว่าค่าใช้จ่ายในสวัสดิการข้าราชการสูงขึ้นมากกว่าค่าใช้จ่ายในกองทุนอื่นๆ  จนทำให้รัฐบาลมีความคิดที่จะลดค่าใช้จ่ายในเรื่องสวัสดิกาการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวลง  ด้วยความเป็นห่วงว่า การเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจะนำไปสู่นโยบายที่ส่งผลกระทบทางลบต่อระบบข้าราชการ สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทยและสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโสจึงจัดการสัมมนาครั้งนี้ขึ้น โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความรู้และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกคนเกิดความตระหนักและเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นและร่วมหาทางแก้ปัญหาให้กับเรื่องดังกล่าวด้วยความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

นายปรีชา  วัชราภัย อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน:
o   ความคาดหวังของข้าราชการทุกคนตั้งแต่เริ่มต้นการทำงาน คือ 1)มีบำเหน็จบำนาญ 2) มีเกียรติและศักดิ์ศรี 3) มีโอกาสได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 4) สวัสดิการ ในการรักษาพยาบาล โดยสิ่งที่นึกถึงอันดับแรกคือ สิทธิ์รักษาพยาบาลทั้งตัวเองและครอบครัว  สวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการมีความสำคัญทางใจค่อนข้างมาก ข้าราชการหวังพึ่งในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถึงแม้บางคนจะไม่ได้ใช้เลยตลอดชีวิตการรับราชการ
o   สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่ดูแลข้าราชการ ทั้งการทำงานและการจัดระเบียบข้าราชการให้ได้สัมฤทธิ์ผลกับภารกิจของรัฐ การทำงานให้มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับเงินเดือนหรือสวัสดิการ ซึ่งการจะรับราชการให้ได้ดีที่สุดขึ้นอยู่ที่การมีสุขภาพแข็งแรงของข้าราชการด้วย
o   ปัญหาการที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น ควรพิจารณาว่าต้นเหตุที่แท้จริงคืออะไร เช่น การพัฒนาของการแพทย์ที่ทำให้คนแข็งแรงขึ้น อายุยืนยาวขึ้น จึงจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น การลดสวัสดิการลงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด และคิดว่า เงิน 45,000 ล้านบาทต่อปีไม่ได้มากเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนคน 

   น.ส.สุวิภา  สุขวณิชนันท์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ กรมบัญชีกลาง :
o   งบประมาณในเรื่องค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการสูงขึ้นทุกปี จากปี 2545 ค่าเบิกจ่ายรักษาพยาบาลในภาพรวมอยู่ 20,000 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 54,904 ล้านบาท และ ปี 2552 เพิ่มเป็น 61,304 ล้านบาท ซึ่งใช้จ่ายเกินงบกลาง จึงได้นำเงินคงคลังมาชดเชย นับเป็นภาระหนึ่งที่ต้องควบคุมให้มีการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
o   ปัจจุบันพบว่ามีการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง หลังจากการทำระบบจ่ายตรงตั้งแต่ปี 2550 ค่าใช้จ่ายก็พุ่งสูงขึ้น จึงมีการตรวจสอบระบบและพบว่าราคาสูงที่รายการยา แต่จะเกิดจากราคายาสูงขึ้น หรือเกิดจากการใช้ยาฟุ่มเฟือย หรือเกิดจากการใช้ยาไม่เหมาะสมหรือเปล่า เป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างศึกษา กรมบัญชีกลางกำหนดว่ายาที่ให้เบิกได้ คือ ยาในบัญชียาหลัก และถ้าจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักก็ต้องมีคณะกรรมการแพทย์ 3 คน เซ็นต์ให้ และพบว่าจาก 34 โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสูง ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยนอกใช้ยานอกบัญชียาหลักประมาณ 60% ของค่ารักษาทั้งหมด ปัญหาคือว่าจำเป็นที่จะต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักหรือไม่
o   ขณะนี้กรมบัญชีกลางจะเสนอกระทรวงการคลังให้ตั้งคณะกรรมการมาช่วยกันศึกษาระบบการใช้จ่ายและความจำเป็นในการใช้ยานอกบัญชียาหลักของข้าราชการ

  ศ.พญ.แสงสุรีย์  จูฑา แพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็งเม็ดเลือด โรงพยาบาลรามาธิบดี:
o   เรื่องการเบิกจ่ายข้าราชการมีอยู่ 3 มุมมอง 1) มุมมองของรัฐในฐานะผู้จ่ายเงิน ซึ่งค่าใช้จ่ายของการเบิกใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มขึ้นทุกปีจากเดิม รัฐก็ย่อมที่จะต้องการพยายามจำกัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ แต่การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ยาใหม่ๆ ที่ดี ที่ได้ประสิทธิภาพ ราคาก็แพงขึ้นแน่นอน การได้มาซึ่งตัวเลขต่อหัวของระบบประกันสังคม  ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการข้าราชการนั้นไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายต่อหัวของระบบข้าราชการคือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ไปในแต่ละปีหารด้วยจำนวนของข้าราชการแล้วออกมาเป็นรายหัว แต่ค่าใช้จ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประกันสังคม คือจำนวนเงินที่องค์กรทั้ง 2 จ่ายให้กับโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยจากระบบ ซึ่งในความจริง โรงพยาบาลอาจมีค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลผู้ป่วยจากระบบทั้งสองมากกว่าที่รัฐบาลจัดให้
o   2) มุมมองของข้าราชการ ซึ่งยอมรับที่จะทำงานโดยได้รับเงินเดือนน้อย แต่มีเหตุจูงใจคือหากเจ็บป่วยจะได้รับสวัสดิการที่ดี  บิดา มารดา และลูก จะได้รับการดูแลรักษาอย่างดี
o   3) มุมมองของแพทย์ ในฐานะผู้ให้การรักษาผู้ป่วยย่อมอยากให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วย ดังนั้นแพทย์ต้องทำตามวิธีรักษาที่คิดว่าดีที่สุดในเวลานั้น ปัจจุบันมี ยาใหม่ที่สามารถรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง แล้วอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นสามารถทำงานได้เช่นปกติต่อไปอีกหลายสิบปี แพทย์ย่อมต้องการให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้ยาใหม่นี้และไม่สามารถบอกผู้ป่วยว่ายาที่รักษาได้ราคาสูงมากไม่คุ้ม ควรไปใช้ยาอีกชนิดที่ราคาถูกกว่าแล้วไม่นาน ก็เสียชีวิต

  รศ.ดร.ชมนาท  รัตนมณี อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต:
o   เมื่อเริ่มตกลงใจที่จะรับราชการ เพราะทราบว่าสิทธิที่ได้รับคือ บำเหน็จบำนาญและค่ารักษาพยาบาล เป็นสิ่งที่ข้าราชการทั้งหมดต้องการ ทั้งสิทธิในการรับยาจากแพทย์ หรือสิทธิในการรับการรักษาจากโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ของความรู้ความสามารถที่แพทย์พึงมี หากรัฐบาลจะปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการ จะต้องใช้แต่เฉพาะกับบุคคลใหม่ที่ยังไม่ได้เป็นข้าราชการอยู่แล้ว
o   ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลต้องมีคุณธรรม เจ้าของงบคือรัฐบาล และกรมบัญชีกลาง มีหน้าที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของรัฐให้มากที่สุด แต่ก็ต้องให้สิทธิแก่ข้าราชการมากที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้ ข้าราชการและอดีตข้าราชการทั้งหลาย เราก็ต้องมีความซื่อสัตย์ ต้องมีจริยธรรม และสุดท้ายคือแพทย์และโรงพยาบาล ต้องมีคุณธรรม ไม่สั่งยาผิด หรือราคาสูงโดยไม่จำเป็น ทุกฝ่ายควรเชื่อมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพซึ่งกันและกัน
o   ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อหาเสียงจากประชาชนให้ไม่พอใจสิทธิ์ที่พึงได้ของข้าราชการ

   นายณัฐจักร  ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองอธิบดีอัยการฝ่ายที่ปรึกษา สำนักงานอัยการสูงสุด:
o   การเป็นข้าราชการ สิ่งที่หวังมากที่สุดก็คือ ยามเจ็บป่วยมีคนมาดูแลเพราะข้าราชการเงินเดือนน้อยกว่ารัฐวิสาหกิจและเอกชน แต่ปัจจุบันที่ข้าราชการกำลังถูกลิดรอนสิทธิไปเรื่อยๆ ไม่ควรมีการนำค่าใช้จ่ายของข้าราชการมาเปรียบเทียบกับระบบอื่นๆ เพราะมีความแตกต่างกัน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งใช้เงินต่อหัวต่ำสุดได้ ผลักภาระค่าใช้จ่ายจริงเข้าไปสู่โรงพยาบาลเกือบทุกแห่ง โรงพยาบาลจึงต้องหาทางอยู่รอดโดยการเพิ่มค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น ผลก็คือการผลักภาระเข้ามาสู่ระบบสวัสดิการข้าราชการ ปัญหาในปัจจุบันคือการผลักภาระจากระบบหนึ่งเข้ามาสู่อีกระบบหนึ่งและมากระทบกับสิทธิข้าราชการซึ่งน้อยอยู่แล้ว
o   พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับรักษาพยาบาลปี 2523 กำหนดสิทธิไว้ชัดเจนเลยว่า สิทธิพื้นฐานของข้าราชการทั้งหลายมีถึงขนาดแค่ไหน เพียงใด สิทธิที่จะให้ได้กับบิดา มารดา คู่สมรส เขียนไว้ชัด ในตัวพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ หากรัฐจะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาเพื่อลิดรอนสิทธิตรงนั้น ข้าราชการสามารถฟ้องร้องได้ทั้งศาลปกครองและศาลอาญา
o   การรั่วไหลของระบบ เช่นการใช้สิทธิ์ฟุ่มเฟือยไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แล้วไม่พอใจก็ไปอีกแห่งหนึ่ง หรือทำการเบิกค่ารักษาโดยไม่จำเป็นคือพวกทุจริต ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
o   ยกตัวอย่าง ข้าราชการที่จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง หมดสติล้มลงบนพื้นในห้องน้ำ จากสาเหตุเนื้องอกในสมอง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง แต่การเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์มีจำกัด ต้องจ่ายเงินเพิ่มเองจำนวนมากและในที่สุดก็เสียชีวิต บุคคลนี้หากเลือกทำงานที่รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชน ด้วยความรู้ความสามารถถึงขนาดนี้น่าจะได้รับสวัสดิการที่ดีกว่านี้ นี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไข เพื่อให้มีข้าราชการที่มีคุณภาพ ไม่ควรมองว่าจะตัดงบประมาณหรือลดสิทธิ์ค่ารักษาพยาของข้าราชการลงไปอีก
o   กรมบัญชีกลางควรไปตรวจสอบว่าบัญชียาหลักมีปัญหาอะไร ทำไมแพทย์ที่มีคุณวุฒิและจรรยาบรรณทั้งหลายเลือกที่จะใช้ยานอกบัญชียาหลัก และหากทางรัฐควรยึดมั่นในหลักการเพื่อให้มีข้าราชการที่มีสวัสดิการดี มีสุขภาพสมบูรณ์ และขวัญกำลังใจดี เพื่อรับใช้ประเทศชาติต่อไป
 
ความเห็นจากผู้เข้าร่วมงานสัมมนา
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดที่ 15 แพทยสภา
o   สาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการใช้งบประมาณสูงขึ้นมากเป็นเพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเหตุ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จ่ายเงินให้โรงพยาบาลที่ให้บริการน้อยเกินไป และกันเงินส่วนหนึ่งไว้ที่สปสช. เพื่อบริหารจัดการเอง ทำให้โรงพยาบาลได้รับงบประมาณในการให้บริการทางการแพทย์แบบขาดทุน  โดยโรงพยาลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดทั่วประเทศคือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดมากที่สุดที่ต้องรับงบประมาณจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ทำการปรับเพิ่มราคาค่าบริการทั้งหมดของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้รับงบประมาณไม่ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย และราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้นนี้ โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกองทุนประกันสังคมได้ แต่จะเรียกเก็บได้เต็มราคาที่เพิ่มใหม่นี้ ได้จากงบสวัสดอการข้าราชการและประชาชนที่จ่ายเงินเองเท่านั้น เป็นเหตุให้ค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการข้าราชการเพิ่มขึ้นมากจนสังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจน
o    เนื่องจากแต่เดิมนั้น ก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โรงพยาบาลของทางราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข   ได้รับงบประมาณน้อย แต่ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็สามารถคิดค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยได้ในราคาถูก เพื่อเป็นสวัสดิการให้ประชาชน และเป็นรายได้อีกทางหนึ่งในการดำเนินการของโรงพยาบาล แต่เมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว โรงพยาบาลไม่สามารถเก็บเงินจากผู้ป่วยที่มีสิทธิ์บัตรทองได้  และงบประมาณรายหัวจากสปสช.ก็มีน้อย(ขาดดุลหรือขาดทุน)และกระทรวงสาธารณสุขเองก็ไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการโดยตรง แม้แต่งบประมาณเงินเดือนส่วนหนึ่งของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องเอามาจากงบประมาณรายหัวจากสปสช. โรงพยาบาลเหล่านี้ จึงต้องนำเงินบำรุงโรงพยาบาลที่เหลืออยู่มาใช้และพยายามหารายได้เพิ่ม โดยปรับขึ้นราคาค่าบริการตรวจรักษาพยาบาลและค่าบริการอื่นๆของโรงพยาบาลทั้งหมด รวมทั้งค่าห้องพิเศษ ค่ายา ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่ารักษา ค่าผ่าตัดฯลฯทุกชนิดในอัตราเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 30-100 เปอร์เซ็นต์ โดยค่าบริการต่างๆของโรงพยาบาลนี้ จะเก็บจากประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ไม่ได้ เพราะเป็นงบประมาณจำกัด( Fixed cost)  ฉะนั้นค่าใช้จ่ายต่างๆในการรับบริการทางการแพทย์ตามอัตราใหม่นี้ จึงมาเพิ่มขึ้นมากที่ระบบสวัสดิการข้าราชการ เพราะเป็นงบประมาณแบบปลายเปิด กล่าวคือโรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บเงินได้ตามอัตราเพิ่มใหม่นี้ จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ตัวเลขค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอยู่ระบบเดียว
o   ทั้งนี้เนื่องจากระบบอื่นเป็นงบประมาณตายตัว(ปลายปิด—ขอเพิ่มไม่ได้) ขอเพิ่มไม่ได้(เพิ่มเท่าที่รัฐบาลให้ก็ไม่สมดุลกับค่าใช้จ่ายจริง) โรงพยาบาลที่ขาดทุนจากระบบหลักประกันสุขภาพ จึงมีรายได้จากระบบสวัสดิการข้าราชการและรายได้จากค่าห้องพิเศษ (ตามอัตราเพิ่มใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546) มาช่วย “เกลี่ย”งบประมาณค่าใช้จ่ายให้โรงพยาบาลไม่ล้มละลายจากงบประมาณขาดดุลจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
o   หากต้องการความเสมอภาค ความเป็นธรรม รัฐบาลต้องแก้ไขในระบบประกันสุขภาพ 3 ระบบ ไม่ใช่หันมาลงโทษลดสิทธิ์ข้าราชการ ซึ่งเป็นผลกระทบปลายทาง

นายจาดุร  อภิชาตบุตร นายกสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย
   สรุปได้ว่า  สิทธิการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อข้าราชการ ข้าราชการแต่ละท่านมีความรู้ความสามารถผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามาโดยความยากลำบาก ตกลงที่จะยอมรับเงินเดือนน้อย โดยคาดหวังถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีแก่ตัวเองและครอบครัว ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งการใช้สวัสดิการในทางที่ผิดของข้าราชการบางกลุ่ม หรืองบประมาณที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ควรแก้ไขให้ตรงกับสาเหตุโดยตรง ไม่ใช่การแก้ไขได้ด้วยวิธีการลิดรอนสิทธิ์อันพึงมีของข้าราชการ