ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 พ.ค.-4 มิ.ย.2559  (อ่าน 729 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 พ.ค.-4 มิ.ย.2559
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:49:50 »
1. แพทยสภามีมติส่งหมอไม่ต่ำกว่า 5 คนเข้าตรวจ “ธัมมชโย” รอตอบรับอย่างเป็นทางการ ด้านดีเอสไอประชุม 3 ฝ่าย ยังไร้ข้อสรุป-นัดใหม่ 6 มิ.ย.!

        ความคืบหน้ากรณีพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่ยอมรับเข้ารับทราบข้อกล่าวหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ตามหมายเรียกของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ถึง3 ครั้งโดยอ้างว่าป่วย แต่มีภาพหลุดไปร่วมปล่อยนกงานวันเกิดลูกศิษย์วัดพระธรรมกายได้ กระทั่งศาลอนุมัติหมายจับ แต่ดีเอสไอยังให้โอกาสพระธัมมชโยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 พ.ค.แทนการบุกไปจับ แต่ฝ่ายพระธัมมชโยต่อรองขอไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.คลองหลวง ตรงข้ามวัดพระธรรมกายแทน ซึ่งดีเอสไอยอม แต่สุดท้ายพระธัมมชโยไม่ออกมาจากวัดมารับทราบข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าวิงเวียน หน้ามืด ระหว่างเคลื่อนย้าย ด้านดีเอสไอจึงอยู่ระหว่างดำเนินการ 2 ทาง คือ 1.รวบรวมข้อมูลเพื่อขอหมายค้นจากศาล เพื่อเข้าไปจับกุมพระธัมมชโยที่วัดในเวลาที่เหมาะสม โดยมีการประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอกำลังสนับสนุนด้วย 2.ทำหนังสือถึงมหาเถรสมาคม(มส.) และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้ช่วยอีกทาง
       
        ปรากฏว่า ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากสมเด็จช่วง และ มส. โดยที่ประชุม มส.เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ไม่มีการหารือเรื่องพระธัมมชโยแต่อย่างใด ทั้งนี้ วันเดียวกัน มีข่าวลือกล่าวหาว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรียกเงิน 2,000 ล้านบาท จากพระธัมมชโย เพื่อล้มคดี ส่งผลให้ทั้งฝ่ายธรรมกายและ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่างออกมายืนยันว่า ไม่มีกรณีดังกล่าว พล.อ.ไพบูลย์ ยังขอให้ศิษย์วัดพระธรรมกายแยกแยะระหว่างความศรัทธากับการปฏิบัติตามกฎหมาย และขอให้นึกถึงคนที่ต้องหมดเนื้อหมดตัวกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นบ้าง แล้วจะเข้าใจ พล.อ.ไพบูลย์ ย้ำด้วยว่า จะไม่ให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย
       
        ส่วนความเคลื่อนไหวของวัดพระธรรมกาย ได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้ดีเอสไอบุกค้นวัด เช่น นำรถแบ็กโฮมาปิดกั้นประตูเข้าวัด นำรั้วลวดหนามมาขึงบนกำแพงรั้ววัด เพิ่มกล้องวงจรปิดติดตามจุดต่างๆ ในวัด ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ โดยเฉพาะการนำลวดหนามมาล้อมวัด ทำให้ดูเหมือนค่ายหรือเหมือนจะมีศึกสงครามมากกว่า บวกกับมีภาพหลุดแนวร่วมคนเสื้อแดงที่ถูกระบุว่าเคยเป็นการ์ด นปช.อยู่ในวัดพระธรรมกาย ยิ่งทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่า หากดีเอสไอนำกำลังบุกค้นวัดพระธรรมกายเพื่อจับพระธัมมชโย อาจเกิดความรุนแรงหรือการสร้างสถานการณ์ขึ้นได้
       
       ทั้งนี้ ทางดีเอสไอได้ทำหนังสือถึงพระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต พระอารามหลวง เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งได้มีการพบพูดคุยพื่อหาแนวทางให้พระธัมมชโยรับทราบข้อกล่าวหา โดยพระเทพรัตนสุธี รับที่จะช่วยดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยหลายฝ่าย ทั้งดีเอสไอ-พระเทพรัตนสุธีและฝ่ายธรรมกาย แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ได้มีการพูดคุยระหว่างดีเอสไอ-พระเทพรัตนสุธีและนายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่จะทำหน้าที่ประสานงานกับวัดพระธรรมกาย
       
        หลังการหารือ พระเทพรัตนสุธีกล่าวว่า ดีเอสไอขอให้ช่วยเจรจาให้เกิดความนุ่มนวล ดีงาม เรียบร้อยแก่ประเทศชาติ ขณะที่นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การหารือได้พูดคุยถึงเงื่อนไขต่างๆ หลายข้อ เชื่อว่าจะเป็นไปด้วยดีในอนาคต และคงจะจบลงด้วยกันได้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ พร้อมยืนยันว่า ดีเอสไอไม่ได้มีเงื่อนไขที่เข้มงวด และว่า หลังจากนี้ จะมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายอีกครั้งในวันที่ 6 มิ.ย. เวลา 14.00 น. ที่วัดเขียนเขต
       
        ด้าน พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย เผยว่า ดีเอสไอได้รับความเมตตาจากพระเทพรัตนสุธี ช่วยเป็นผู้ประสานกับทางวัดพระธรรมกาย โดยจะนำข้อเสนอเงื่อนไขกลับไปหารือกับอธิบดีดีเอสไอ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษอีกครั้ง โดยข้อเสนอส่วนใหญ่รับได้ แต่บางข้อเสนอต้องกลับไปประชุมกัน
       
        ทั้งนี้ แหล่งข่าวใกล้ชิดมหาเถรสมาคมคนหนึ่ง เผยว่า ข้อสรุปจากที่ประชุมที่วัดเขียนเขตเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ได้แก่ แพทย์ที่จะเข้าไปตรวจพระธัมมชโย มีมติให้ใช้แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และในวันที่เข้าไปตรวจ จะแจ้งข้อกล่าวหาในวันเดียวกัน โดยเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีจะเข้าไปร่วมในการแจ้งข้อกล่าวหาด้วย และเมื่อแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ทางดีเอสไอต้องทำสัญญาให้พระธัมมชโยประกันตัวในวันนั้นเลย เป็นต้น
       
       ส่วนความคืบหน้ากรณีแพทย์ที่รักษาพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกายได้ขอให้แพทยสภาส่งแพทย์เข้าไปตรวจอาการพระธัมมชโย เพื่อยืนยันว่าพระธัมมชโยป่วยจริงหรือไม่นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. แพทยสภามีคำตอบแล้วว่า จะส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากทางราชวิทยาลัย 5 สาขา คือ โลหิตวิทยา ศัลยกรรมหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ และ รังสีแพทย์ ไปตรวจอาการอาพาธพระธัมมชโย โดยจะทำหนังสือขออนุญาตตรวจพระธัมมชโย และหนังสือให้ความยินยอมให้ตรวจ รวมถึงยินยอมให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงจากการตรวจต่อสาธารณชน ไปยังวัดพระธรรมกาย ส่วนผลจะเป็นอย่างไรต้องให้ทางพระธัมมชโย เป็นผู้ตัดสินใจ คาดว่า จะไปตรวจพระธัมมชโยได้ในวันที่ 10 มิ.ย. นอกจากนี้แพทยสภายังได้ให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดเฉพาะกิจ ตรวจสอบเรื่องใบรับรองแพทย์ของแพทย์โรงพยาบาลค่ายภานุรังษี จ.ราชบุรี บางคนที่ออกให้พระธัมมชโย หากพบว่าไม่ได้ป่วยตามใบรับรองแพทย์ จะถือว่าเป็นการออกใบรับรองเท็จ ซึ่งแพทย์ที่ออกให้จะมีความผิด
       
       ทั้งนี้ นอกจากพระธัมมชโยจะมีคดีความทางโลกแล้ว ล่าสุด เริ่มมีคดีความทางสงฆ์แล้ว โดยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ นพ.ดร.มโน เลาหวณิช อาจารย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ายื่นหนังสือคำฟ้องกล่าวหาพระธัมมชโย กระทำการอวดอุตริมนุสธรรม ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยอันเป็นครุกาบัติ ต่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น และพระราชวิสุทธิเวที เจ้าคณะภาค 1 ในฐานะผู้พิจารณาชั้นต้น ที่วัดพิชยญาติการามวรวิหาร(วัดพิชัยญาติ)
       
       สำหรับประเด็นที่กล่าวหาพระธัมมชโย ได้แก่ 1. การอวดอ้างว่าพบเห็นวิญญาณของนายชาติชาย โรจน์กีรติกาญจน์ อยู่สวรรค์ชั้นที่ 2 ฝากข่าวมาบอกลูกว่ามีความสุขสบายดี ขอให้ลูกทำบุญอุทิศไปให้มากๆ ทั้งที่ข้อเท็จจริง นายชาติชายยังไม่ได้เสียชีวิตแต่อย่างใด 2. อ้างว่าพบเห็นวิญญาณของสตีฟ จ็อบส์ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา 3. เรื่องพบเห็นพุทธทาสภิกขุตกอยู่ในนรก เพราะสอนธรรมะผิดและเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรื่องพบเห็นพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อยู่ในนรก เพราะหลงว่าตนเป็นพระอรหันต์ ธัมมชโยจึงช่วยขึ้นมาบำเพ็ญบารมีต่อที่ชั้นดาวดึงส์ และ 4. การอวดอ้างว่าตนเป็นต้นธาตุ ต้นธรรม เป็นพระพุทธเจ้า ทั้งฝ่ายโปรดและฝ่ายปราบ เหนือกว่าพระพุทธเจ้าธรรมดา สามารถให้ธรรมแก่ผู้ใดให้บรรลุธรรมกาย หรือปราบจับขังไว้ในตู้เซฟไม่ให้ได้ผุดได้เกิดก็ได้
       
       นายไพบูลย์ ชี้ว่า การอวดอ้างดังกล่าว เป็นข้อพิสูจน์ว่าพระธัมมชโยกับพวกไม่มีญาณวิเศษจริง แต่กลับเผยแพร่ทางเว็บไซต์ธรรมกาย เพื่อหวังเงินบริจาคจากประชาชนที่หลงเชื่อในคุณวิเศษที่ไม่มีอยู่จริง จึงครบองค์แห่งอาบัติปาราชิก คล้ายกับกรณีหลวงปู่เณรคำ แห่งวัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ ที่กล่าวอ้างระหว่างเทศนาธรรมว่า เคยมีเพื่อนเป็นพระอินทร์ สามารถระลึกชาติได้ และเคยเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยพระพุทธเจ้าตรัสว่า หลวงปู่เณรคำจะได้เป็นผู้กอบกู้ศาสนา และเวียนว่ายตายเกิดมาจนถึงยุคปัจจุบันเพื่อนำพาศาสนิกชนให้หลุดพ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการอวดอุตริมนุสธรรม จึงขอให้เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และเจ้าคณะภาค 1 ดำเนินการไต่สวนตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 ว่าด้วยการลงนิคหกรรม และรายงานข้อเท็จจริงต่อมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาดำเนินการให้พระธัมมชโย สละสมณเพศตามอำนาจหน้าที่และขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21
       
       2. ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา “พล.ต.อ.วาสนา-ปริญญา” อดีต กกต. กรณีถ่วงเวลาสอบเรื่อง ทรท.จ้างพรรคเล็ก!

        เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อายุ 67 ปี อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.), นายปริญญา นาคฉัตรีย์ อายุ 68 ปี และนายวีระชัย แนวบุญเนียร อดีต กกต. (เสียชีวิตแล้ว) เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541มาตรา 24 และ 42 กรณีที่ไม่เร่งสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ข้อร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.49 โดยพลันตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและการวินิจฉัย พ.ศ.2542 มาตรา 37 และ 48 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ
       
        คดีนี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.ย.49 ให้จำคุก พล.ต.อ.วาสนา , นายปริญญา และนายวีระชัย จำเลยที่ 1-3 คนละ 3 ปี แต่ในทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี พร้อมกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี ต่อมาวันที่ 14 พ.ค.51 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยระหว่างฎีกา นายวีระชัย จำเลยที่ 3 ได้เสียชีวิตลง
       
        ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1-2 สั่งประชุม กกต. เพื่อพิจารณาผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงจากการร้องเรียนเลือกตั้งไม่สุจริต ที่ให้สอบสวนเพิ่มเติมในส่วนของพรรคไทยรักไทย ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และเพื่อเป็นคุณต่อพรรคไทยรักไทยหรือไม่ ศาลเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 136-148 กำหนดให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่อิสระในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริต รวมทั้งมีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่สุจริต โดยมาตรา 147 บัญญัติว่า หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่ไม่สุจริตเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็ให้อำนาจ กกต.ตั้งอนุกรรมการสอบสวนและสั่งการโดยพลัน ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯ แล้ว ได้มีการรายงานผลว่า เชื่อว่ามีการกระทำผิดของผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย รวมทั้งพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ซึ่งต่อมาจำเลยได้มีมติให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ กกต. ที่ได้แก้ไขข้อมูลทะเบียนสมาชิกพรรคที่ขาดคุณสมบัติเรื่องการสังกัดพรรค 90 วัน ให้มีคุณสมบัติครบเพื่อลงเลือกตั้งในเขตที่พรรคไทยรักไทยลงสมัครเพียงพรรคเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ที่ต้องได้คะแนนเสียงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมทั้งให้ดำเนินการกล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและ ผอ.พรรคเล็ก และแจ้งให้อัยการสูงสุดยุบพรรคเล็ก
       
        นอกจากนี้ ตามรายงานของอนุกรรมการไต่สวนฯ ยังมีพยานที่เชื่อได้ว่า พรรคเล็กมีการรับเงินค่าตอบแทนจาก พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย แต่จำเลยกลับสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทย เนื่องจากเห็นว่ามีการพาดพิงผู้บริหารพรรคไทยรักไทยหลายคน โดยนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาได้มีหนังสือแจ้งมาที่จำเลยที่ 1 ว่าไม่จำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติมอีก แต่จำเลยไม่ได้ตระหนัก อีกทั้งยังออกหนังสือเชิญให้ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เดินทางมาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดใหม่ กระทั่งเมื่ออนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดใหม่ได้สรุปสำนวนส่งให้จำเลยแล้ว จึงได้ประชุมและมีมติให้ส่งสำนวนพรรคไทยรักไทยให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา ตามความเห็นของนายนาม ประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดก่อน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าพวกจำเลยเชื่อตามสำนวนสอบสวนของนายนาม
       
        อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏแต่แรกว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้รับตำแหน่งสำคัญเป็นถึงรัฐมนตรี เมื่อมีการดำเนินการใดย่อมส่งผลกระทบต่อพรรค แต่จำเลยไม่สั่งการให้ดำเนินการกับพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ก่อนหน้า กลับสั่งให้วินิจฉัยสอบสวนพรรคไทยรักไทยเพิ่มเติม กระทั่งเมื่อมีการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.49 แล้ว จำเลยได้ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเร่งรีบ ที่จะมีผลให้ทางพรรคไทยรักไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่จำเลยสั่งดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กกต. และพรรคเล็กทันที จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ
       
        ศาลจึงเชื่อว่าจำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า การดำเนินคดีย่อมส่งผลต่อพรรคไทยรักไทยอย่างรุนแรง จำเลยที่ 1 เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองย่อมแจ้งต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้พิจารณาส่งสำนวนให้ศาลยุบพรรคไทยรักไทยได้ การประชุมของจำเลยและลงมติให้สอบสวนเพิ่มเติมจนเวลาล่วงเลยถึงการเลือกตั้ง จึงเป็นคุณต่อพรรคไทยรักไทย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ซึ่งเป็นความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.กกต. พ.ศ.2541 มาตรา 24 และ 42 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา จึงไม่เกินคำขอ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
       
        ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลรอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยมีอายุมาก สุขภาพไม่แข็งแรง ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำเลยเคยรับราชการ ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาตินั้น ศาลเห็นว่า การที่จำเลยรับตำแหน่งสำคัญและทำคุณงามความดีจนได้รับเลือกเป็น กกต. จำเลยต้องทราบดีว่า การเป็น กกต.จัดการเลือกตั้ง ต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้น จำเลยต้องดำรงความซื่อสัตย์สุจริต เป็นคุณต่อประเทศมากที่สุด แต่จำเลยกลับกระทำตรงข้าม แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมละทิ้งคุณงามความดีที่ได้กระทำมาทั้งหมด จำเลยจึงไม่ควรยกมาอ้าง แม้จำเลยจะมีอายุมากและสุขภาพไม่ดีก็ไม่เพียงพอจะให้รอการลงโทษ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ 2 ปี พร้อมกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัว พล.ต.อ.วาสนา และนายปริญญา ไปคุมขังยังเรือนจำทันที โดยสื่อมวลชนไม่ได้บันทึกภาพแต่อย่างใด
       
       3. ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ ม. 61 วรรค 2 พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ชัดเจน หวั่นทำประชาชนสับสน เตรียมชงศาล รธน.วินิจฉัย!

        เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ว่ามาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ขอให้วินิจฉัย คาดว่าจะเสนอเรื่อง พร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ในวันที่ 6 มิ.ย.
       
        สำหรับความเห็นของผู้ตรวจการฯ มองว่า การที่มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” นั้น แม้จะมีพจนานุกรมระบุความหมายของคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย แต่ในทางปฏิบัติก็จะมีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ประชาชนอาจจะสับสน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขัดต่อเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ และอาจจะมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าว จนอาจนำไปสู่การดำเนินการกับประชาชน
       
        นายรักษเกชา กล่าวว่า “ถึงแม้สุดท้ายแล้วศาลจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย แต่ระหว่างที่ถูกดำเนินการ ก็ต้องถือว่าประชาชนได้รับผลกระทบไปแล้ว ซึ่งโทษตามกฎหมายดังกล่าวเป็นโทษทางอาญา การดำเนินการทางคดีอาญา ผู้ตรวจการฯ เห็นว่าจะต้องมีความชัดเจน หากไม่ชัดเจนก็จะขัดต่อหลักการพิจารณาคดีทางอาญา และที่สุดแล้วการออกเสียงประชามติครั้งนี้อาจจะเกิดความวุ่นวายมากกว่าความสงบเรียบร้อย”
       
        เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบทบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการปลุกระดม หรือใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกินขอบเขตหรือไม่ นายรักษเกชากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะดูแล ซึ่งในการออกเสียงประชามติปี ‘50 กฎหมายประชามติขณะนั้นก็ไม่มีบทบัญญัติในลักษณะนี้ แต่ก็สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้
       
        ส่วนวรรคสามและวรรคสี่ของ พ.ร.บ.ประชามติที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ได้เสนอให้วินิจฉัยด้วยนั้น ผู้ตรวจการฯ เห็นว่าเป็นดุลพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นบทลงโทษที่อยู่ในดุลยพินิจของศาลยุติธรรม ผู้ตรวจการฯ จึงไม่ก้าวล่วง อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การวินิจฉัยครั้งนี้ของผู้ตรวจการฯ ได้มีการรวบรวมข้อมูล ข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึงขั้นตอนในการพิจารณาออกกฎหมายแล้วอย่างครบถ้วน
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสนอให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เลื่อนการออกเสียงประชามติ หลังผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสอง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ถึงเวลาค่อยว่ากัน ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องเลื่อน หากไม่ผิดก็ต้องดำเนินการต่อ ขณะเดียวกันไม่รู้ว่าศาลจะมีการพิจารณาเมื่อใด และจะทันวันที่ 7 สิงหาคมหรือไม่ แต่ส่วนตัวจะไปสั่งเลื่อนไม่ได้ และจะไม่ใช้ มาตรา 44 ดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นคดีจำนำข้าวก็สามารถสั่งได้เลย ไม่ต้องฟ้องศาล
       
     

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 พ.ค.-4 มิ.ย.2559(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:50:09 »
 4. ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง “สนธิ-ASTV” พาดพิง “ทักษิณ” ทำสถาบันกษัตริย์อ่อนแอ ชี้ปราศรัยติชมด้วยความเป็นธรรม!

        เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 โจทก์ และ นายทักษิณ ชินวัตร โจทก์ร่วมยื่นฟ้อง บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด โดยนายพชร สมุทวณิช และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช กรรมการผู้มีอำนาจ, บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กรรมการผู้มีอำนาจ และนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลย ที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียงหรือภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีปราศรัยหมิ่นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
       
        โดยคำฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2551 นายสนธิ แกนนำพันธมิตรฯ จำเลยที่ 3 ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ บริเวณทำเนียบรัฐบาล ผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมฟังทำนองว่า นายทักษิณจาบจ้วงสถาบัน และพยายามซื้อรากหญ้า ยึดตำรวจและเอาเงินไปจ่ายให้ทหารบางคนเพื่อให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ ทำลายรากฐานของกษัตริย์ โดยมีจำเลยที่ 1-2 เป็นผู้ถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และเว็บไซต์ผู้จัดการ ซึ่งข้อความที่นายสนธิกล่าว ทำให้นายทักษิณ เสื่อมเสียชื่อเสียง ขณะที่จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
       
        คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง ต่อมาอัยการโจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นข้อความที่จำเลยที่ 3 กล่าวว่า “วันนี้ผมไม่รู้ว่าสื่อมวลชน นักคอลัมนิสต์ คนที่ทำงานโทรทัศน์จะโง่ หรือว่าแกล้งโง่ที่ยังดูไม่ออกอีกหรือว่ารัฐบาลชุดนี้ ภายใต้บงการของนายทักษิณ ชินวัตร ใช้เงินมาซื้อข้าราชการและประชาชนบางส่วน...” นั้น แม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาท ที่ทำให้โจทก์ร่วมเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ที่ฝ่ายจำเลยนำสืบนั้นปรากฎว่า มีบุคคลอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวพันร่วมกับโจทก์ร่วมในทางการเมือง บุคคลใกล้ชิดและบริวารโจทก์ร่วม เช่น นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เคยถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามมาตรา 112 จึงเห็นว่าจำเลยที่ 3 มีความเชื่อหรือสงสัยว่าโจทก์ร่วมอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อันเป็นการแสดงความเห็น หรือกล่าวติชม ด้วยความเป็นธรรมในเรื่องบ้านเมืองและกิจการสาธารณะ ที่บุคคลและประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) เมื่อศาลพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิด จำเลยที่ 1 และ 2 จึงไม่มีความผิดด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากยืนยกฟ้อง
       
       5. อัยการสั่งฟ้อง “สรยุทธกับพวก” คดีปลอมเอกสารเพื่อโกงค่าโฆษณา อสมท 138 ล้าน พร้อมนำตัวส่งศาล ก่อนได้ประกันตัว!

        เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงผลการพิจารณาคดีบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ปลอมแปลงเอกสาร อสมท ภายหลังรับมอบสำนวนหลักฐานจากพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่กล่าวหาบริษัท ไร่ส้ม, น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม, น.ส.อังคณา วัฒนมงคลศิลป์, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม, น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่บริษัท ไร่ส้ม และนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือนางชนาภา บุญโต อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 1-6 ฐานร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และร่วมกันทำให้เสียหาย และทำลายเอกสารของผู้อื่น จากกรณีที่ไม่ชำระค่าโฆษณาส่วนเกินกว่า 138 ล้านบาท โดยสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องบริษัท ไร่ส้ม, นายสรยุทธ, น.ส.มณฑา และนางพิชชาภา ผู้ต้องหาที่ 1, 4-6 ฐานร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันปลอมเอกสารฯ และเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง น.ส.สุกัญญา และ น.ส.อังคณา ซึ่งเป็นพนักงานบริษัท ไร่ส้ม
       
        ร.ท.สมนึกกล่าวว่า คณะทำงานฯ พิจารณาพยานหลักฐานทั้งในสำนวนสอบสวนและหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าประเด็นที่ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมทั้งหมด รับฟังได้เฉพาะข้อหาร่วมกันฉ้อโกงที่ขอให้อัยการสั่งยุติการดำเนินคดี คณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นควรยุติการดำเนินคดีข้อหาดังกล่าวกับผู้ต้องหาทั้งหมด เพราะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว และผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้ว ไม่ว่าจะฟ้องก่อนหรือหลังจากที่พนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวน ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 55(9)
       
       ส่วนประเด็นอื่นที่ร้องขอความเป็นธรรม ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานในสำนวนคดีได้ คดีมีหลักฐานพอฟ้อง เห็นควรสั่งฟ้องบริษัท ไร่ส้ม, นายสรยุทธ, น.ส.มณฑา และนางพิชชาภา ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอม และร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่นในอันที่น่าเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 188, 264, 265 และ 268 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ขอริบใบคิวโฆษณาของกลาง และขอนับโทษต่อจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลอาญา ที่อัยการยื่นฟ้องตามความผิด พ.ร.บ.พนักงานองค์การของรัฐฯ ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุกนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา คนละ 13 ปี 4 เดือน และจำคุกนางพิชชาภา 20 ปี ปรับบริษัท ไร่ส้ม 8 หมื่นบาท และคดีอาญาของศาลแขวงพระนครเหนือ และเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 2-3 ในข้อหาดังกล่าว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
       
        ทั้งนี้ หลังเห็นควรสั่งฟ้อง อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลในวันเดียวกัน โดยอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ไร่ส้ม, นายสรยุทธ, น.ส.มณฑา และนางพิชชาภา เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอม และร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,188,264, 265 และ 268 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
       
        โดยคำฟ้องระบุว่า จากกรณีเมื่อประมาณกลางเดือน ก.ค. 2549 จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและทำให้เสียหาย ทำลายซึ่งเอกสาร และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำเอกสารใบคิวโฆษณารายการคุยคุ้ยข่าวระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ค. 2549 จำนวน 139 แผ่น ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยร่วมกันทำปลอมขึ้น ไปใช้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นหลักฐานในการโฆษณาและคิดค่าโฆษณาส่วนเกินในรายการคุยคุ้ยข่าว ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ อสมท หลงเชื่อว่าเอกสารใบคิวโฆษณานั้นเป็นเอกสารจริง ทำให้บริษัท ไร่ส้ม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องเสียค่าโฆษณาหรือเสียค่าโฆษณาส่วนเกินน้อยกว่าความเป็นจริง การกระทำดังกล่าวทำให้บริษัท อสมท ได้รับความเสียหาย ต่อมาวันที่ 29 ต.ค. 2550 เจ้าพนักงานได้ร่วมกันยึดเอกสาร ใบคิวโฆษณาปลอมจำนวน 139 แผ่นไว้เป็นของกลาง จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอให้นับโทษต่อจากคดีของศาลอาญา ที่อัยการยื่นฟ้องตามความผิด พ.ร.บ.พนักงานองค์การของรัฐฯ ซึ่งศาลพิพากษาแล้วให้จำคุกนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา คนละ 13 ปี 4 เดือน จำคุก น.ส.พิชชาภา 20 ปี ปรับบริษัท ไร่ส้ม 8 หมื่นบาท และคดีอาญาของศาลแขวงพระนครเหนือ
       
        ทั้งนี้ ศาลได้ประทับรับฟ้องไว้ จากนั้น นายสรยุทธและจำเลยทั้งหมดได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างสู้คดี ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกันคนละ 3 แสนบาท พร้อมนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. จากนั้น นายสรยุทธได้เดินทางกลับทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ
       
        อย่างไรก็ตาม นายสรยุทธได้ชี้แจงผ่านอินสตาแกรมในภายหลัง โดยอ้างว่า อัยการฟ้องซ้ำซ้อนกับคดีที่ อสมท.ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.2558 ซึ่งศาลอยู่ระหว่างไต่สวนมูลฟ้องว่าศาลจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาต่อหรือไม่ อัยการจึงไม่จำเป็นต้องฟ้องคดีเองอีก พร้อมชี้ว่า การที่อัยการดำเนินคดีกับตนหลายครั้งจากการกระทำครั้งเดียว น่าจะขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39(4) และทำให้ตนและบุคคลอื่นๆ ได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรจากการถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อน “ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ของผม และขอใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผมในศาลอาญาต่อไป”

MGR Online       4 มิถุนายน 2559