ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 พ.ค.2559  (อ่าน 739 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 พ.ค.2559
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:46:31 »
1.ศาลอนุมัติหมายจับ “ธัมมชโย” แล้ว ด้านดีเอสไอให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา 26 พ.ค. หากเบี้ยว พร้อมใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก!

        ความคืบหน้ากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ออกหมายเรียกครั้งที่สามให้พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในวันที่ 16 พ.ค.
       
       ปรากฏว่า ก่อนถึงกำหนดนัด ทนายความของพระธัมมชโยได้แจ้งดีเอสไอ ขอเปลี่ยนสถานที่รับทราบข้อกล่าวหา จากที่ดีเอสไอ เป็นที่วัดพระธรรมกายแทน โดยอ้างว่า พระธัมมชโยอาพาธ ไม่สามารถเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอได้ พร้อมกันนี้ ทนายความได้นำใบรับรองแพทย์ยื่นให้ดีเอสไอด้วย ด้านดีเอสไอได้กำหนดประชุมเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 พ.ค.
       
       หลังประชุม(16 พ.ค.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้นำทีมแถลงว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ประชุมร่วมกับพนักงานอัยการแล้ว เห็นว่า เอกสารที่ทางวัดพระธรรมกายยื่นต่อดีเอสไอยังไม่ครบถ้วน ยังขาดเอกสารบางอย่าง เช่น เวชระเบียนการรักษาผู้ป่วย และเอกสารการมอบอำนาจยังไม่ถูกต้อง จึงให้ทางวัดฯ นำมามอบให้ดีเอสไอในวันที่ 17 พ.ค.แล้วดีเอสไอจะประชุมพิจารณาอีกครั้ง
       
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกและกลุ่มคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายประมาณ 200 คน ได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อร้องเรียนกล่าวโทษดีเอสไอ ว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีออกหมายเรียกพระธัมมชโยให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร อย่างไรก็ตาม ที่ จ.ภูเก็ต ชมรมคนภูเก็ตไม่เอาธรรมกาย ได้พากันเข้ายื่นหนังสือคัดค้านกรณีมีกลุ่มคนอ้างว่าคนภูเก็ตสร้างกระแสต่อต้านดีเอสไอไม่ให้ดำเนินคดีพระธัมมชโย โดยยืนยันว่า คนภูเก็ตไม่ได้ต่อต้านดีเอสไอตามที่มีการแอบอ้างแต่อย่างใด
       
       วันต่อมา(17 พ.ค.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้นำทีมแถลงกรณีทนายความพระธัมมชโยได้มอบเอกสารเพิ่มเติมตามที่ดีเอสไอแจ้งแล้วว่า เอกสารการมอบอำนาจถูกต้องแล้ว แต่เอกสารเวชระเบียนและใบรับรองแพทย์ ยังไม่ครบ นอกจากนี้เวชระเบียนและใบรับรองแพทย์ยังไม่สอดรับกัน ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติขอศาลอนุมัติหมายจับพระธัมมชโย โดยนอกจากจะใช้เอกสารเวชระเบียนและใบรับรองแพทย์ยื่นต่อศาลแล้ว ยังจะนำภาพที่พระธัมมชโยกำลังปล่อยนกในงานวันเกิดของลูกศิษย์วัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ให้ศาลพิจารณาด้วย
       
       ด้านพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้แถลงชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่ภาพพระธัมมชโยกำลังปล่อยนกในงานวันเกิดลูกศิษย์วัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ 4 พ.ค. โดยยอมรับว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ไม่ใช่วันที่ 4 พ.ค. พร้อมปฏิเสธว่า สถานที่ในภาพ ไม่ใช่บ้านลูกศิษย์ แต่เป็นบริเวณหน้ากุฎิใกล้ๆ ภายในวัด โดยพระธัมมชโยนั่งรถไปยังบริเวณดังกล่าว
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังทราบข่าวว่าดีเอสไอจะขอศาลออกหมายจับ นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความของพระธัมมชโย ได้เดินทางไปศาลอาญา เพื่อยื่นคัดค้านการขอหมายจับ โดยนายสัมพันธ์ ยืนยันว่า พระธัมมชโยป่วยจริง ไม่มีพฤติการณ์ขัดขืนหรือหลบหนี นอกจากนี้ยังได้เตรียมเวชระเบียน 2 ฉบับมายืนยันด้วย โดยฉบับหนึ่งจากคลินิกภายในวัด ส่วนอีกฉบับจากสถานพยาบาลของรัฐ มีรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี จ.ราชบุรี และผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา เป็นผู้ออกเอกสารใบรับรองให้ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดพระธัมมชโยจึงไม่ไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลนั้น นายสัมพันธ์อ้างว่า ในวัดมีเครื่องมือที่สะดวกเช่นเดียวกับโรงพยาบาล รวมถึงมีคณะแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด
       
       นายสัมพันธ์ ยังบอกด้วยว่า ช่วงเช้าวันเดียวกัน(17 พ.ค.) แพทย์ที่รักษาได้แจ้งผลตรวจร่างกายพระธัมมชโยว่า มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง ส่งผลให้คลื่นไส้ อาเจียนอย่างหนัก จึงได้เตรียมเอกสารใบรับรองแพทย์และหนังสือรับมอบอำนาจจากพระธัมมชโย มาขอความเมตตาจากพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ให้เลื่อนการเข้าแจ้งข้อกล่าวหาพระธัมมชโยออกไปก่อน จนกว่าพระธัมมชโยจะพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมยืนยันว่า การขอเลื่อนนี้ไม่ใช่การประวิงเวลาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีแต่อย่างใด แต่แพทย์แนะให้พักเป็นเวลา 2 เดือน
       
       ทั้งนี้ หลังจากดีเอสไอและอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 ได้นำพยานหลักฐานยื่นศาลเพื่อขอออกหมายจับพระธัมมชโยเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 พ.ค. ปรากฏว่า หลังศาลใช้เวลาสอบถามนานกว่า 5 ชั่วโมง ได้อนุมัติหมายจับ เนื่องจากศาลเชื่อว่า พระธัมมชโยมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงไม่มารับทราบข้อกล่าวหา หลังจากดีเอสไอได้ออกหมายเรียกถึง 3 ครั้ง
       
       วันต่อมา(18 พ.ค.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้แถลงหลังประชุมว่า จะทำหนังสือแจ้งพระธัมมชโยว่า ตามที่ศาลได้อนุมัติหมายจับ ขอให้พระธัมมชโยเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 26 พ.ค.นี้ ตามเวลาราชการ หากพระธัมมชโยเดินทางมาตามกำหนด พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหาและพิจารณาให้ประกันตัวตามกฎหมายต่อไป แต่หากไม่มา ดีเอสไอจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีใบรับรองแพทย์ที่ทนายพระธัมมชโยนำมายืนยันถึงอาการอาพาธของพระธัมมชโยว่า ไม่สามารถเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาได้ เริ่มบานปลาย หลังมีการตรวจสอบพบว่า น่าจะเป็นเอกสารเท็จ โดยแหล่งข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี จ.ราชบุรี ได้ทำหนังสือถึงดีเอสไอ ชี้แจงกรณีรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี ซึ่งเป็นทหารยศ “พ.ท.” ออกใบรับรองแพทย์และเวชระเบียนให้พระธัมมชโยนั้น ถือเป็นเอกสารที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการกระทำส่วนตัวที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล เนื่องจากพระธัมมชโยไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษากับโรงพยาบาลเลย ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรายดังกล่าวแล้ว ส่วนแพทย์รายอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบรับรองแพทย์ โรงพยาบาลต้นสังกัดกำลังสอบสวนทางวินัย หากทำผิดจริง จะเสนอแพทยสภาเพิกถอนใบประกอบโรคศิลปะ และลงโทษทางวินัยต่อไป
       
       สำหรับการเคลื่อนไหวแสดงความเห็นของศิษย์วัดพระธรรมกายนั้น มีรายงานว่า หากยังมีการโจมตีดีเอสไอ หรือปลุกระดมให้เชื่อว่า พระธัมมชโยไม่ได้ผิดจริง แต่ถูกออกหมายจับ ทางดีเอสไออาจจะฟ้องฐานหมิ่นประมาท รวมถึงอาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลด้วย เพราะศาลเป็นผู้พิจารณาและอนุมัติหมายจับพระธัมมชโย
       
       ล่าสุด มีรายงานว่า พระวัดพระธรรมกายกำลังเคลื่อนไหวให้ศิษย์วัดลงชื่อในเว็บไซต์ทำเนียบขาว ให้ได้ 100,000 ชื่อ โดยอ้างว่า หากได้ตามจำนวนดังกล่าว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จะพิจารณาช่วยเหลือพระธัมมชโย
       
       2. “บิ๊กตู่” คลายกฎ ให้ กกต.จัดประชุมชี้แจงร่าง รธน.แก่ทุกพรรค-ทุกกลุ่ม ด้าน “วิษณุ” เผย หาก รธน.ไม่ผ่านประชามติ ใช้เวลาร่างใหม่ 2 เดือน!

        เมื่อวันที่ 19 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้จัดประชุมชี้แจงเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” ที่สโมสรทหารบก โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วม เช่น ตัวแทนคณะรัฐมนตรี(ครม.) คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) คือ นายอุดม รัฐอมฤต และนายประพันธ์ นัยโกวิท ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คือ นายกล้านรงค์ จันทิก และนายสมชาย แสวงการ ตัวแทนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) คือ นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายเสรี สุวรรณภานนท์
       
        นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากพรรคการเมืองที่ตอบรับเข้าร่วมจำนวน 50 พรรค เช่น พรรคเพื่อไทย มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรค นำทีมมา, พรรคประชาธิปัตย์ นำทีมโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น ขณะที่ตัวแทนจากกลุ่มการเมือง มีเพียงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่นำทีมโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เข้าร่วม ส่วนกลุ่ม กปปส.ไม่ได้ส่งใครเข้าร่วม ซึ่งภายหลัง นายอิสระ สมชัย แกนนำ กปปส.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เหตุที่ กปปส.ไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เนื่องจาก กปปส.ไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้เวลาฝ่ายอื่นได้ซักถามมากกว่า นอกจากนี้ กปปส.ยังมองว่า การประชุมดังกล่าวเน้นไปที่พรรคการเมืองมากกว่า ไม่เกี่ยวกับ กปปส.
       
        สำหรับการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีขึ้นตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่ต้องการผ่อนคลายสถานการณ์ รวมทั้งสร้างการรับรู้และความเข้าใจ พร้อมตอบคำถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดย คสช.อนุญาตให้ กกต.เชิญพรรคการเมืองทุกพรรคมาทำความเข้าใจ
       
        ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงในการประชุมว่า บทบาทของรัฐบาลในการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ คือ “3 ร.” โดย ร.ที่หนึ่ง คือ รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อเดินไปสู่การออกเสียงประชามติ ส่วน ร.ที่สอง คือ ร่วมมือกับ กกต. งบประมาณ ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ด้านต่างๆ และ ร.ที่สาม คือ เดินตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
       
        นายวิษณุ ยังพูดถึงแนวทางที่จะเกิดขึ้นหลังทำประชามติด้วยว่า มี 3 ทาง คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบ แต่คำถามพ่วงไม่ได้รับความเห็นชอบ ถือว่ารัฐธรรมนูญผ่านแล้ว จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน จากนั้น กรธ.ทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ แต่จะทำ 4 ฉบับที่สำคัญก่อน ได้แก่ กฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และว่าด้วยการสรรหา ส.ว. ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เมื่อประกาศใช้ครบ 4 ฉบับ ก็ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน 2.ร่างรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงผ่าน ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญให้เข้ากับคำถามพ่วง และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่คำถามพ่วงผ่านหรือไม่ผ่าน จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือเมื่อไม่ผ่าน รัฐบาลต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อจะได้ทราบว่า จะทำอย่างไรต่อไป แต่คาดว่าจะมีการเตรียมทำไว้ก่อนวันที่ 7 ส.ค. เพราะเมื่อรู้ว่าไม่ผ่าน จะได้เสนอแก้ไขทันทีภายใน 15 วัน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 1-2 เดือน คงไม่ยุ่งยาก เพราะไม่ต้องรื้อใหม่
       
        ทั้งนี้ ในการประชุม คำถามที่ผู้เข้าร่วมให้ความสนใจซักถามเหมือนกัน คือความไม่ชัดเจนของมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามว่า มาตราดังกล่าวห้ามว่า อย่านำความเท็จมาพูด และถ้าพูดความจริงต้องไม่รุนแรง ก้าวร้าว จึงขอคำตอบจาก กกต.ให้กับประชาชนว่า ตีความคำว่า ก้าวร้าว หยาบคาย รุนแรง ปลุกระดม และข่มขู่ อย่างไร พร้อมขอให้ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น บุคคลที่สวมเสื้อหรือขายเสื้อ รับ ไม่รับ ทำได้หรือไม่
       
        ซึ่งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ชี้แจงว่า มาตรา 61 ได้ระบุฐานความผิดไว้ 7 ข้อ ส่วนมาตรฐานของคำว่า หยาบคาย ใช้มาตรฐานของชนชั้นกลาง เช่น คำว่า “กู มึง” ไม่ถือว่าหยาบคาย ไม่ถือว่าผิด ส่วนการขายเสื้อ ใส่เสื้อ ถ้าไม่ได้เป็นการรณรงค์ ก็ไม่ถือว่าผิด รวมทั้งการขายแถวโบ๊เบ๊ ก็ไม่ถือว่าผิด แต่หากขายเสื้อ แจกจ่ายในแบบที่เป็นการรณรงค์ และแจกของที่มีมูลค่า ถือว่าเป็นความผิดคล้ายกับการซื้อเสียง ซึ่ง กกต.จะเฝ้าดูว่าการขายเสื้อที่นำไปสู่การปลุกระดมให้รับหรือไม่รับหรือไม่ หากดูแล้วพบหลักฐานชัดเจน จะมีความผิดทันที
       
        ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.กล่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมรับฟังและซักถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่า ตลอดเวลาเกือบ 5 ชั่วโมงที่พูดคุยกัน รู้สึกว่าเนื้อหาสาระยังคงเป็นประเด็นเดิมๆ ไม่ได้รู้อะไรมากขึ้นกว่าการติดตามข่าวสารจากหน้าหนังสือพิมพ์ และสุดท้ายก็อธิบายได้เป็นเพียงภาพว่า ผู้มีอำนาจส่งสัญญาณที่ผ่อนคลายมากขึ้นในการเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น
       
        ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. กกต.ได้แถลงข่าวเปิดตัวแอพพลิเคชั่น “ฉลาดรู้ประชามติ” โดยแอพฯ ดังกล่าวมีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติสืบค้นข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการออกเสียงประชามติ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ มีทั้งรูปแบบตัวหนังสือและอินโฟกราฟฟิก ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพฯ นี้ได้ทั้งระบบ IOS และ Android ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
       
       3. คณะทำงาน ป.ป.ช.มีมติไม่ถอนฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯ เตรียมชงกรรมการ ป.ป.ช.เคาะ 26 พ.ค. ด้านพันธมิตรฯ ยังไม่วางใจ ยื่นศาลฎีกาฯ ค้านถอนฟ้องคดี!

แกนนำพันธมิตรฯ พร้อมผู้บาดเจ็บและญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค.51 ยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ค้าน ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯ
        ความคืบหน้ากรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ เป็นประธาน ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาว่าควรถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 หรือไม่ หลังจากจำเลยบางคนในคดีที่ถูก ป.ป.ช.ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.) ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา โดยอ้างว่ามีหลักฐานใหม่ และขอให้ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดี
       
        ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. คณะทำงานที่ ป.ป.ช.ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องการถอนฟ้องคดี ซึ่งมีนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นประธาน ได้ประชุมนัดสุดท้ายเพื่อพิจารณาว่าควรถอนฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่ หลังประชุม นายสรรเสริญ เผยว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปแล้วว่า จะเสนอแนวทางอย่างไร โดยให้เลขานุการของคณะทำงานฯ สรุปรายละเอียดและเรียบเรียงจัดทำเอกสาร เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานฯ ลงนามมติดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 24 พ.ค. ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 26 พ.ค. อย่างเป็นทางการ “ขณะนี้คณะทำงานได้แนวทางที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีความเห็นชอบอย่างไรนั้น คงจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง สำหรับแนวทางที่เสนอนั้น ไม่ได้มีเป็นข้อๆ แต่เป็นเพียงภาพรวมที่ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความคิดเห็นต่างๆ”
       
       ส่วนประเด็นที่สื่อมวลชนสงสัยว่า คณะทำงานฯ จะมีข้อเสนอแนะต่อประธาน ป.ป.ช.(พล.ต.อ.วัชรพล) ว่า ควรจะร่วมลงมติหรือไม่นั้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ของคณะทำงานฯ เพราะมีหน้าที่เพียงพิจารณากรอบการทำงาน ตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
       
       ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ยืนยันว่า คณะทำงานมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ไม่ควรถอนฟ้องคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องยื่นเข้ามา ไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ นอกจากนี้ได้ชี้แจงเหตุผลต่อข้อร้องเรียนเป็นข้อๆ จนสิ้นข้อสงสัยแล้ว
       
       ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ แม้คณะทำงานที่ ป.ป.ข.ตั้งขึ้นจะมีมติว่า ป.ป.ช.ไม่ควรถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ แต่พันธมิตรฯ ก็ยังไม่วางใจ เพราะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.อีกรอบในวันที่ 26 พ.ค. แกนนำพันธมิตรฯ พร้อมด้วยผู้บาดเจ็บและญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา และองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้พิจารณาดำเนินคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ต่อไป โดยเรวัต เฉลียวศิลป์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ
       
       นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่สำนักงาน ป.ป.ช. มาแล้ว เนื่องจากผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เห็นด้วยที่มีข่าวว่า ป.ป.ช. จะถอนฟ้องคดีดังกล่าว และแม้ว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.จะมีข่าวว่า คณะทำงานของ ป.ป.ช. จะไม่เห็นควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีก็ตาม แต่ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล เป็นประธาน จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร จึงต้องมาขอความเป็นธรรมจากศาล นายพิภพ ยังกล่าวด้วยว่า อยากให้จำเลยมาเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดี และนำหลักฐานมาแสดงกันในศาลมากกว่า พร้อมเชื่อว่า ถ้า ป.ป.ช. มีมติไม่ถอนฟ้อง จะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างเต็มที่
       
       ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความพันธมิตรฯ กล่าวว่า ต้องขึ้นอยู่กับประธาน ป.ป.ช.ว่า จะพิจารณาและมีมติอย่างไรในวันที่ 26 พ.ค.นี้ ขณะเดียวกันก็มองว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้วที่คณะทำงานมีความเห็นไม่ควรถอนฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯ พร้อมย้ำว่า พ.ร.บ. ป.ป.ช. ก็ไม่เปิดช่องให้มีการถอนฟ้องคดีเช่นกัน
       
     

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 พ.ค.2559(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:46:46 »
 4. “ทรู-ดีแทค” ไม่ร่วมประมูล 4G คลื่น 900 ส่งผล “เอไอเอส” ไร้คู่แข่ง ด้าน กสทช.เผย แค่เคาะยืนยันราคา 75,654 ล้านบาท ก็ได้คลื่นไปครองทันที!

        เมื่อวันที่ 16 พ.ค. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จะจัดให้มีการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 900 MHz ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ของบริษัทฯ มีมติไม่เข้าร่วมประมูล 4G คลื่น 900 MHz ดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบัน กลุ่มบริษัททรูฯ มีคลื่นความถี่ครบถ้วน และเพียงพอที่จะให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว
       
        ขณะที่ดีแทคก็ไม่เข้าร่วมประมูล 4G คลื่น 900 MHz เช่นกัน โดยนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ทางดีแทคขอยืนยันว่า จะไม่เข้าประมูลคลื่น 900 MHz แน่นอน เนื่องจากดีแทคยังมีคลื่นความถี่เพียงพอต่อการให้บริการได้อย่างดีมากถึง 50 MHz อีกทั้งคลื่นความถี่ที่ กสทช.นำไปจัดประมูล ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 MHz ยังเป็นคลื่นความถี่ที่เป็นการเรียกคืนจากคู่แข่งตลาดอีก 2 ราย ฉะนั้นการที่ดีแทคไม่ได้คลื่นความถี่คืนมาในครั้งนี้ จึงไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการในปัจจุบัน
       
        ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้เดินทางมายื่นเอกสารเพื่อขอเข้าประมูล 4G คลื่น 900 MHz ในนามบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือเอไอเอส โดยมีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้รับมอบเอกสาร
       
        นายฐากรเผยว่า หลังจากบริษัท ทรูฯ และดีแทคไม่เข้าร่วมประมูล จึงเหลือเอไอเอสเพียงรายเดียว และการที่เอไอเอสมายื่นเอกสารเข้าประมูลคลื่นความถี่พร้อมเอกสารครบถ้วน และหลักประกันการเข้าประมูลเป็นเช็คเงินสดมูลค่า 3,783 ล้านบาท จากธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ในวันที่ 27 พ.ค. ทาง กสทช.จะมีการจัดการประมูลคลื่น 900 MHz แน่นอน โดยขั้นตอนหลังจากนี้ วันที่ 23 พ.ค. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz วันที่ 25 พ.ค. ทดลองระบบและการเคาะราคาการประมูล และวันที่ 27 พ.ค. เวลา 09.00 น. เริ่มเปิดเคาะราคา และว่า กสทช.ได้เตรียมงบประมาณที่ใช้จัดการจัดการประมูลทั้งสิ้นประมาณ 10 ล้านบาท โดย บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ที่ทิ้งใบอนุญาตก่อนหน้านี้ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว
       
        นายฐากรกล่าวอีกว่า กสทช.คาดว่า การประมูลจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที เนื่องจากมีผู้ประมูลเพียงรายเดียว จึงเป็นการเคาะราคาเพียง 1 ครั้ง เพื่อยืนยันสิทธิในราคาตั้งต้นการประมูลที่ 75,654 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้สำนักงาน กสทช.กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีการประชุมเพื่อรับรองผลการประมูลอย่างเป็นทางการภายในช่วงบ่ายของวันที่ 27 พ.ค. เพื่อให้กระบวนการนำไปสู่การให้ประชาชนมีคลื่นความถี่ใช้งานได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งหลังจากรับรองผล จะมีเวลาให้ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูล 90 วัน เดินทางมาชำระเงินค่าประมูลงวดที่ 1 และหนังสือรับรองจากสถาบันการเงิน(แบงก์การันตี) ในจำนวนเงินเท่ากับเงินค่าใบอนุญาตที่ต้องจ่ายในงวดที่เหลือ ซึ่งคาดว่า เอไอเอสน่าจะมาชำระเงินค่าประมูลพร้อมรับใบอนุญาตก่อนวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการคุ้มครองการใช้งานของลูกค้า 2G ที่ค้างการใช้งานอยู่บนคลื่น 900 MHz หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “หากเรารู้ก่อนหน้านี้ว่า การประมูลรอบใหม่มีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียว ก็คงไม่ต้องจัดการเคาะราคาให้เป็นพิธี แค่ตรวจเอกสารและชำระเงินได้เลยคงทำได้ แต่ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้จึงต้องจัดให้มีการเข้าห้องประมูลเพื่อเคาะราคาเพียง 1 ครั้ง เพราะประกาศ คสช. ได้มีการกำหนดข้อบังคับต่างๆ ไว้ทั้งหมด จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ ได้”
       
        นายฐากรกล่าวด้วยว่า แม้เอไอเอสจะเป็นผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียว แต่หลักเกณฑ์ในการเข้าประมูลก็บังคับไว้แล้ว เอไอเอสต้องเข้าสู่ช่วง “ไซเลนต์ พีเรียด” หรือการห้ามให้ข่าว หรือให้สัมภาษณ์ใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการเข้าประมูล จนกว่าจะมีการรับรองผลการประมูลคลื่น 900 MHz อย่างเป็นทางการ เพราะอาจเข้าข่ายสมยอมการประมูลหรือฮั้วการประมูลได้ ซึ่งในเรื่องความโปร่งใสต่างๆ ทาง กสทช.จะมีการตั้งคณะกรรมการด้านธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นบุคคลนอก กสทช. เข้ามาตรวจสอบ
       
       5. แฟนวอลเลย์บอลทั้งไทย-ต่างชาติสวดยับผู้ตัดสินชาวเม็กซิกันเข้าข้างญี่ปุ่น ทำไทยพ่ายอย่างน่ากังขา ขณะที่สมาคมวอลเลย์ฯ ไทยเตรียมจี้ “เอฟไอวีบี” สอบด่วน!

        เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวในการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง โอลิมปิกเกมส์ 2016 รอบคัดเลือก ระหว่างวันที่ 14-22 พ.ค. ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการลงสนามนัดที่ 4 ของทีมนักตบลูกยางสาวไทย อันดับ 13 ของโลก โดยพบกับญี่ปุ่น เจ้าภาพ ทีมอันดับ 5 ของโลก
       
        ทั้งนี้ หลังการแข่งขันผ่านไป 4 เซต โดยเซตแรก ไทยชนะญี่ปุ่น 25-20 เซตสอง ไทยแพ้ 23-25 เซตสาม ไทยชนะ 25-23 เซตสี่ ไทยแพ้ 23-25 ปรากฏว่า เซตสุดท้าย ซึ่งช่วงแรก ไทยนำห่าง แต่ภายหลังได้เกิดปัญหากับระบบเปลี่ยนตัว(change) และการขอดูภาพช้า(challenge) ซึ่งเดิมเคยใช้วิธีชูป้าย มาเป็นการกดผ่านไอแพดหรือแท็บเล็ต ปรากฏว่า “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร เฮดโค้ชทีมลูกยางสาวไทย ได้กดผ่านแท็บเล็ตแล้ว แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตจาก หลุยส์ เกราร์โด้ มาเชียส ผู้ตัดสินชาวเม็กซิกัน เมื่อโค้ชอ๊อตไปถามผู้ตัดสิน กลับถูกผู้ตัดสินให้ใบแดง และไปเพิ่มคะแนนให้ฝ่ายญี่ปุ่น 2 แต้มอย่างน่ากังขา ส่งผลให้ทีมไทยพ่ายญี่ปุ่นไปในเซตสุดท้าย 13-15 ทำให้โอกาสที่ทีมวอลเลย์บอลสาวไทยจะลุ้นโควตาไปแข่งโอลิมปิกเกมส์ริบหรี่ลงทันที
       
        ด้านโค้ชอ๊อต กล่าวว่า “ใบแดงที่ให้ เขาหาว่าผมดีเลย์เกม ถ่วงเวลา ในจังหวะที่เขาเลยเส้นเข้ามาในแดนเรา ซึ่งจริงๆ มีเวลาอยู่ 5 วินาที และผมก็ทำในเวลา รวมถึงส่งสัญญาณมือด้วย แต่กรรมการไม่ยอมให้ชาลเลนจ์ แล้วให้ใบเหลืองผมก่อน จากนั้นขอเวลานอก เพื่อตั้งเกมใหม่ แต่พอกลับมาลงสนาม ก็ให้ใบแดงผม ก็สงสัยว่าผมทำอะไรผิด เพราะเท่ากับว่าเราเสียถึง 2 คะแนน” โค้ชอ๊อต เผยด้วยว่า ได้เคยแจ้งเรื่องระบบมีปัญหาตั้งแต่ตอนซ้อมก่อนแข่งแล้ว แต่กลับไม่มีการแก้ไข อย่างไรก็ตาม แม้ทีมไทยจะพ่ายญี่ปุ่นในแมตช์ดังกล่าว แต่โค้ชอ๊อต ก็ได้ขอบคุณคนไทยทุกคนที่ให้กำลังใจ พร้อมยืนยันว่า ทุกคนทั้งนักกีฬาและโค้ชได้ทำหน้าที่สุดความสามารถแล้ว
       
        ขณะที่นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เผยว่า สมาคมฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ(เอฟไอวีบี) แม้การประท้วงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันได้ก็ตาม แต่ต้องแสดงจุดยืนว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นการสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา เพราะเกมอื่นๆ ก็เจอเช่นกัน อีกทั้งการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ ฤดูกาลนี้ จะใช้เทคโนโลยีนี้เช่นกัน “จึงอยากให้ทบทวนแนวทางดังกล่าว นอกจากต้องการให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของหลุยส์ เกราร์โด้ มาเชียส ผู้ตัดสินชาวเม็กซิกันว่าทำหน้าที่เอนเอียงหรือไม่ เพราะปกติแล้ว การแจกใบแดงและตัดถึง 2 คะแนน ในเซตเดียว ซึ่งเป็นเซตตัดสิน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้งเป็นแต้มสำคัญที่เปลี่ยนสถานการณ์เกม ซึ่งไม่ใช่เพียงในเซตที่ 5 แต่ในเซต 2, 3 และ 4 ก็มีอะไรไม่ชอบมาพากลเช่นกัน”
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ปฏิกิริยาไม่พอใจผู้ตัดสินชาวเม็กซิกัน ที่ให้ใบแดงไทยและเพิ่มคะแนนให้ญี่ปุ่น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแฟนวอลเลย์บอลชาวไทยเท่านั้น แม้แต่แฟนวอลเลย์บอลชาวต่างชาติก็วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินรายนี้อย่างรุนแรงเช่นกัน สังเกตได้จาก เว็บบอร์ด “อินไซต์ วอลเลย์บอล” และเฟซบุ๊กของเอฟไอวีบี โดยมีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งคำถามว่า เหตุใดกรรมการชาวเม็กซิกันจึงแจกใบแดงให้ไทยถึง 2 แต้มในเซตตัดสิน ถือว่าไม่เป็นธรรมกับทีมไทย และทำลายเกมการแข่งขัน คล้ายกับว่ากรรมการเข้าข้างเจ้าภาพมากเกินไป
       
        นอกจากนี้ชาวต่างชาติบางคนได้แสดงความเห็นใจทีมไทยและแฟนวอลเลย์บอลชาวไทยว่า คงรู้สึกแย่มากเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะที่บางคนบ่นเรื่องระบบการใช้แท็บเล็ตว่า ถ้าเทคโนโลยีมีปัญหา ก็ไม่ควรนำมาใช้ ขณะที่บางคนมองว่าเป็นการโกงกันด้วยซ้ำ ด้านแฟนกีฬา ชื่อ อัลวิน หว่อง ชาวฮ่องกง ได้ตั้งหัวข้อในเว็บไซต์ petitions24 ล่ารายชื่อกดดันเอฟไอวีบีให้อธิบายว่า เหตุใดทีมชาติไทยถึงเสียคะแนนและไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนตัวในเซตสุดท้าย ซึ่งหลังจากเปิดให้ลงชื่อเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็มีผู้ร่วมลงชื่อนับแสนคน ทั้งชาวไทย, ฮ่องกง, สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน, ออสเตรเลีย, เวียดนาม, เนเธอร์แลนด์ และอีกหลายชาติ อัลวิน หว่อง ยังชี้ด้วยว่า ทุกคนบนโลกไม่เฉพาะในประเทศไทยเคารพเอฟไอวีบี แต่ในอีกทางหนึ่ง เรารู้สึกว่ามีใครบางคนขโมยชัยชนะซึ่งเราเรียกว่า “ความไม่ยุติธรรม”
       
        ทั้งนี้ หลังพ่ายญี่ปุ่นในเกมนัดอื้อฉาวดังกล่าว 2 วันต่อมา(20 พ.ค.) ทัพวอลเลย์หญิงทีมชาติไทยได้ลงสนามนัดที่ 5 พบกับคาซัคสถาน ก่อนเอาชนะคาซัคสถานไป 3-0 เซต(25-18, 25-19, 25-15) ไม่เท่านั้น ในการพบกับเกาหลีใต้นัดที่ 6 วันที่ 21 พ.ค. ทีมลูกยางสาวไทยก็ทำได้สุดยอด แม้เกาหลีใต้จะนำไปก่อน 2 เซต แต่ทีมไทยก็พลิกเกมกลับมาชนะรวด 3 เซต ส่งผลให้ไทยชนะไป 3-2 เซต(19-25, 22-25, 29-27, 26-24, 15-12) แบบสุดมันส์ สำหรับชัยชนะครั้งนี้ ทำให้ทีมไทยทำสถิติ ชนะ 3 นัด แพ้ 3 นัด โดยนัดสุดท้ายต้องเจอกับเปรู ในวันที่ 22 พ.ค. เวลา 10.55 น. ซึ่งจะเป็นนัดตัดสินว่า ทัพลูกยางสาวไทยจะได้โควตาไปโอลิมปิกตามที่ฝันหรือไม่

 MGR Online       21 พฤษภาคม 2559