ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 21-27 ก.พ.2559  (อ่าน 694 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 21-27 ก.พ.2559
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:19:25 »
 1.ศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยานโจทก์คดีจำนำข้าว รอบ 3 เบิกความมัด รบ. “ยิ่งลักษณ์” ขายข้าวจีทูจีเก๊-ผูกขาดเอื้อเอกชนบางราย-ต้นตอชาวนาผูกคอตาย!

        เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ไต่สวนพยานโจทก์ ครั้งที่ 3 ในคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
      
        สำหรับการไต่สวนพยานครั้งนี้ อัยการโจทก์ได้นำนายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งมีประสบการณ์การส่งออกข้าวมานานเกือบ 40 ปี เบิกความเป็นปากแรก ระบุว่า การซื้อ-ขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐอย่างแท้จริง เพราะมีการส่งข้าวที่ขายให้ผู้แทนไทยที่หน้าโกดังในไทย ไม่ใช่ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดปกติพิสดาร ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดช่องโหว่นำข้าวนั้นมาหมุนเวียนขายในประเทศได้ “การขายแบบจีทูจีในช่วงปลายของรัฐบาลจำเลย ที่เห็นว่าดำเนินการจริงน่าจะมีเพียง 1 ล้านตันเท่านั้น ที่บริษัท คอฟโก้ เดินทางมากับรัฐบาลจีนแล้วทำสัญญารับซื้อข้าวที่เป็นข้าวใหม่ ส่วนสัญญาฉบับอื่นในช่วงแรกที่ซื้อข้าว 2 ล้านตันนั้น เป็นข้าวเก่าทั้งหมด ซึ่งจีนจะไม่รับซื้อข้าวเก่า จะรับซื้อเฉพาะข้าวใหม่ และมีโควตาต่างประเทศเพียง 5.3 ล้านตัน ที่ระบุว่ามีการทำสัญญาซื้อขายจีทูจี 14 ล้านตันจึงเป็นไปไม่ได้”
      
        นายวิชัย เบิกความต่อไปว่า บริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนของจีนที่ได้สิทธิ์ซื้อข้าว ต้องเป็นคอฟโก้บริษัทเดียวตามพันธะที่จีนแจ้งไว้ต่อองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) ส่วนบริษัท ไห่หนาน เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล เทรดดิ้ง ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่าทำสัญญาซื้อขายข้าวนั้น ไม่มีสิทธิ์เป็นตัวแทนจีนทำการค้าได้ "ในช่วงรัฐบาลรัฐประหาร สมาคมข้าวกับกระทรวงพาณิชย์มีความสัมพันธ์ดีขึ้น มีการซื้อขายข้าวจีทูจีที่เเท้จริงกับคอฟโก้ เเต่ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะผู้ส่งออกบางราย เเต่เป็นการให้ความเป็นธรรมกับทุกบริษัท ไม่เหมือนสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยกให้เเต่สยามอินดิก้าบริษัทเดียว"
      
        นายวิชัย เบิกความอีกว่า แม้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี 2554 อนุมัติให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เจรจาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี แต่มติก็ระบุชัดเจนว่าเมื่อเจรจาถึงขั้นสุดท้ายแล้วให้สรุปรายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หากเห็นด้วยให้เซ็นสัญญาได้ ซึ่งปกติไทยจะผลิตข้าวได้ปีละ 20 ล้านตัน แบ่งเป็นบริโภคในประเทศ 10 ล้านตัน ส่วนที่เหลือส่งออก แต่เมื่อมีการแทรกแซงตลาดด้วยราคารับจำนำ 15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด ทำให้ข้าวไปอยู่ในมือรัฐบาลถึง 13 ล้านตัน และไม่มีข้าวเหลือพอให้เอกชนส่งออก เหมือนการผูกขาด แต่ที่เอกชนยังส่งออกได้ถึง 7 ล้านตัน เพราะมีข้าวหมุนเวียน ขณะที่รัฐบาลไม่ได้ระบายข้าวจีทูจีที่แท้จริง จึงทำให้มีข้าวรั่วไหลมาถึงเอกชน
      
        ด้านทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ซักถามถึงการกำหนดราคารับจำนำข้าวที่สูงจะช่วยเกษตรกร นายวิชัยตอบว่า การกำหนดราคาข้าวไม่ควรสูงเกินไปจนขายข้าวไม่ได้ ซึ่งผลกระทบไม่ได้อยู่เพียงแค่ข้าวเหลือเก็บโกดังที่จะเน่า แต่ข้าวที่รับจำนำไปอยู่ในมือของรัฐบาลทั้งหมด ทำให้เอกชนไม่เหลือข้าวส่งออก ซึ่งผู้ค้าผู้ส่งออกมีหน้าที่ระบายข้าวแต่ละปีไม่ให้เหลือ โดยเอกชนจะปรับราคาตามกลไกตลาด ไม่ใช่ตั้งราคาสูงราคาเดียวติดต่อยาวนาน 3 ปีเหมือนที่รัฐบาลทำ เพราะถ้าราคาสูง ตลาดโลกรับซื้อไม่ได้ ข้าวจะเหลือค้าง และว่า การจำนำข้าวใช้เงินกว่า 1 ล้านล้านบาท เเต่ทุก 3 ปีขายข้าวได้เงิน 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงเเรกก็ไม่มีปัญหา เเต่พอมาตอนหลังมีปัญหาสะสมมาเรื่อยๆ จนชาวนาผูกคอตาย
      
        ต่อมา ศาลฎีกาได้ไต่สวนนายระวี รุ่งเรือง เครือข่ายแกนนำชาวนา โดยได้เบิกความว่า ภาพรวมโครงการจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดี แต่การตรวจสอบโครงการให้มีประสิทธิภาพไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และไม่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมระบุว่า การสวมสิทธิ์ข้าวของชาวนาโดยโรงสีมีจริง เป็นลักษณะสมยอมกันระหว่างชาวนากับโรงสีที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ดังนั้นจึงหาหลักฐานยาก คล้ายกับการซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้ง ที่ไม่มีหลักฐานเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษร แต่รับรู้ทั่วกัน โดยสามารถจับกุมดำเนินคดีทั่วประเทศ 270 คดี ขณะที่การดำเนินคดีก็ไม่ใช่โรงสีรายใหญ่
      
        หลังไต่สวนพยานโจทก์ทั้ง 2 ปากเสร็จสิ้น ศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ปากต่อไปวันที่ 4 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น. ทั้งนี้ ศาลได้แจ้งคู่ความด้วยว่า ศาลได้มอบให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้แถลงข่าวต่อสาธารณะ หากบุคคลใดให้สัมภาษณ์กระทบต่อคดี อาจเข้าข่ายละเมิดศาลตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ศาลได้กำชับให้อัยการดูแลพยานด้วย
      
       2. “ทักษิณ” อัดรัฐบาล-รธน.ทำประเทศอันตราย จี้เจรจา-อย่าระแวงล้างแค้น ด้านโฆษก รบ. สวน เจรจาคนโกงไม่ได้ ขณะที่ “บิ๊กจิ๋ว” เอาบ้างแนะเลือกตั้งปีนี้!

        ความคืบหน้าการพิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก หลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดให้แม่น้ำ 4 สาย(คสช.-ครม.-สนช.-สปท.) รวมถึงพรรคการเมือง องค์กรอิสระ และประชาชน ส่งข้อเสนอแนะให้ กรธ.พิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ครม.ส่งข้อเสนอให้ กรธ.16 ประเด็น แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ออกตัวว่า ยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายของข้อเสนอ ครม.ข้อ 16 ที่ระบุทำนองว่า น่าจะมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญโดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือช่วงเฉพาะกิจ หรือช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อแก้ปัญหาหากเกิดวิกฤตเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 และช่วงถาวร ที่สอดคล้องกับหลักสากล และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย โดยนายมีชัย บอกว่า จะปรึกษานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อีกครั้งถึงข้อเสนอดังกล่าว
      
        ซึ่งในที่สุด นายมีชัย ได้หารือกับนายวิษณุเมื่อวันที่ 24 ก.พ. หลังหารือ นายมีชัย กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ไม่มีอะไร เพียงแต่บอกว่าอะไรที่แก้ข้างในไม่ได้ ก็ให้มาเขียนในบทเฉพาะกาล ซึ่ง กรธ.ก็ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว ส่วน กรธ.จะแก้ไขตามข้อเสนอหรือไม่ ยังพิจารณาไม่ถึง ผู้สื่อข่าวถามว่า กรธ.คิดว่ายังไม่จำเป็นต้องมีกลไกพิเศษใดๆ มาบังคับใช้ในช่วงแรกของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ไม่น่าจะมี ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า กลไกที่ กรธ.วางไว้ถือว่าเพียงพอสำหรับข้อเสนอของรัฐบาลข้อที่ 16 หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า กรธ.วางไว้ข้างในร่างรัฐธรรมนูญเยอะแล้ว ต้องไปดูอีกครั้งว่ายังขาดอะไรอยู่ ต้องพิจารณาร่วมกับความเห็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งยังมีอีกมากที่เสนอมา นายมีชัย ยังย้ำด้วยว่า ที่หลายฝ่ายห่วงว่าข้อเสนอของ ครม.ข้อ 16 จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบนั้น ยืนยันว่าไม่มี ที่เสนอมาส่วนใหญ่พบว่ามีความคล้ายคลึงกัน
      
        ด้านนายวิษณุ กล่าวว่า กรธ.สอบถามว่าจุดประสงค์ของข้อเสนอข้อ 16 คืออะไร จึงอธิบายไปว่า 1.เป็นคำแนะนำที่ห่วงว่าจะมีความขัดแย้งอยู่ แต่หาก กรธ.เห็นว่าจะไม่มีความขัดแย้ง ก็ไม่ต้องรับข้อเสนอได้ 2.รัฐบาลขอให้ กรธ.พิจารณาสภาพปัญหาว่า ร่างรัฐธรรมนูญตอบโจทย์แก้ไขความขัดแย้งได้หรือไม่ ถ้าตอบโจทย์ครบแล้วก็จบไป ซึ่งนายมีชัยขอให้ยกตัวอย่าง ตนจึงยกตัวอย่างที่ สนช.เสนอให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญเขียนว่า ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม หาก กรธ.คิดว่าจะยึดตามร่างรัฐธรรมนูญก็แล้วไป แต่หากจะยึดตามข้อเสนอ สนช. ก็แล้วแต่ กรธ.จะพิจารณา แต่อยากให้ กรธ.พิจารณาเงื่อนไขช่วงเวลาบทเฉพาะกาล หรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าคิดว่าจะยอมผ่อนลงมาด้วยการใช้วิธีอื่นในช่วงแรกก็ได้ แต่มาตรฐานสากลในบทถาวรก็ต้องให้เป็นการเลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศ
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปีคดีซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ โดยให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า รัฐบาลทหารของไทยกำลังทำให้เศรษฐกิจที่เปราะบางของประเทศตกอยู่ในอันตรายด้วยการผลักดันแผนประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ จะจำกัดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรักษาอิทธิพลของนายพลทหารเอาไว้ พร้อมกันนี้ นายทักษิณยังแนะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดการเจรจากับกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มในประเทศเพื่อหาทางขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าที่เป็นที่ยอมรับของทุกคน นายทักษิณ ยังส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ด้วย “โปรดอย่าได้ระแวงกันเลย ไม่ต้องกลัวหรอกว่าผมจะกลับไปหาหนทางแก้แค้น ผมไม่ได้มองหาเงื่อนไขใดๆ ที่จะช่วยตัวผมเอง แต่ถ้าหากคุณมีเจตนาดีจริงๆ ที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ถ้าหากต้องการคืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชนไทย ก็มาพูดจากัน”
      
        ขณะที่รัฐบาล เมินข้อเสนอของนายทักษิณ โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ชี้ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฏกติกา ถ้าคุยได้ก็คุย แต่หากยังมีคดี ในฐานะที่รัฐบาลเป็นผู้รักษากฎหมาย ก็ไม่น่าจะคุยกันได้ ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอของนายทักษิณถือเป็นตลกร้าย ที่ยอมรับไม่ได้ “คล้ายทีมเชลซีจะแข่งขันกับทีมแมนฯ ซิตี้ ผู้จัดการทีมเชลซีก็คงไม่เชิญทีมแมนฯ ซิตี้ มาร่วมฟังการวางแผนการเล่นด้วยฉันใด การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปราบคนโกง ก็ไม่ควรให้คนโกงมาร่วมร่างหรือเจรจาจนคนที่เคยโกงพอใจฉันนั้น”
      
        นอกจากนายทักษิณแล้ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และเคยเป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เปิดบ้านแถลงเมื่อวันที่ 25 ก.พ.พร้อมทำจดหมายเปิดผนึก โดยอ้างว่า นับแต่ คสช.อาสาเข้ามาแก้ปัญหาของชาติและความขัดแย้งของบ้านเมืองตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 สามารถระงับยับยั้งความขัดแย้งได้ระดับหนึ่ง แต่การบริหารงานมา 2 ปี แนวทางที่รัฐบาลดำเนินการมีแนวโน้มนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น จึงเชื่อว่ายากที่ คสช.และรัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ ในฐานะนายทหารรุ่นพี่ จึงขอร้องให้ คสช.ไตร่ตรองและเสียสละอำนาจ ส่งต่อหน้าที่ให้คณะกรรมการกลางจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2559 นี้ เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
      
        ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า เป็นไปได้ยากที่จะให้เลือกตั้งในปีนี้ เพราะยังมีด่านการทำประชามติอยู่ และว่า ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลกำหนด
      
       3. ศาลฎีกา พิพากษาให้ 22 อดีต ส.ส.ไทยรักไทย-ประชาธิปัตย์ คืนเงินเดือน 22 ล้าน หลังพ้นสภาพ ส.ส.เหตุทำผิด กม.เลือกตั้ง ปี’44!

        เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ศาลแพ่ง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยรวม 22 คน เพื่อเรียกเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนอย่างอื่นขณะดำรงตำแหน่ง ส.ส. คืน ประกอบด้วย นางกรรณิกา ธรรมเกษร, นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, น.ส.อรดี สุทธศรี, นายธวัชชัย อนามพงษ์, นายมงคล บุพศิริ, นางพิมพา จันทร์ประสงค์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายณรงค์กร ชวาลสันติ, นายไชยวัฒน์ ติณรัตน์, นางลาวัณย์ ตันติกุลพงศ์, นายกมล จิระพันธุ์วาณิช, นายดนัยฤทธิ์ หรือ ดนัยพัชร์ วัชราภรณ์, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายธีรพันธ์ วีระยุทธวัฒนะ, นายประชา หรือกำนันเซี้ยะ โพธิพิพิธ, นายศิริชัย ฉัตรชัยพลรัตน์, นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร, นายปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์, นายประภาส วีระเสถียร, นายเกรียง กัลป์ตินันท์, นายศักดิ์ชัย จินตะเวช, นายวิทยา บันทุปา และทันตแพทย์หญิง กรองกาญจน์ วีสมหมาย เป็นจำเลยที่ 1-22 ตามลำดับ
      
        จากกรณีที่จำเลยทั้งหมดได้รับเลือกเป็น ส.ส. ปี 2544 แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้รับการร้องเรียนว่า จำเลยทั้งหมดดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 44 และ 45 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2541 กกต. จึงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ส่งผลให้จำเลยทั้ง 22 คน สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. นับแต่วันที่ กกต. มีคำสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งขณะจำเลยทั้ง 22 คนดำรงตำแหน่ง ส.ส. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนอย่างอื่น ไปจากโจทก์ จำเลยจึงต้องคืนเงินทั้งหมดให้โจทก์
      
        คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง 22 คนคืนเงินแก่โจทก์ ดังนี้ นางกรรณิกา จำเลยที่ 1 คืนเงิน 1,561,810.93 บาท, นายวิชาญ จำเลยที่ 2 คืนเงิน 1,484,453.21 บาท, น.ส.อรดี จำเลยที่ 3 คืนเงิน 1,621,052.95 บาท, นายธวัชชัย จำเลยที่ 4 คืนเงิน 1,703,863.47 บาท, นายมงคล จำเลยที่ 5 คืนเงิน 1,615,139.87 บาท, นางพิมพา จำเลยที่ 6 คืนเงิน 1,496,398.67 บาท, นายณรงค์กร จำเลยที่ 7 คืนเงิน 1,575,882.33 บาท, นายไชยวัฒน์ จำเลยที่ 8 คืนเงิน 1,616,673.50 บาท, นางลาวัณย์ จำเลยที่ 9 คืนเงิน 1,539,426.60 บาท, นายกมล จำเลยที่ 10 คืนเงิน 1,540,787.71 บาท, นายดนัยฤทธิ์ จำเลยที่ 11 คืนเงิน 1,813,958.13 บาท, นายพายัพ จำเลยที่ 12 คืนเงิน 1,501,181.96 บาท, นายธีรพันธ์ จำเลยที่ 13 คืนเงิน 1,674,491.24 บาท, นายประชาหรือกำนันเซี้ยะ จำเลยที่ 14 คืนเงิน 292,114.95 บาท, นายศิริชัย จำเลยที่ 15 คืนเงิน 372,164.59 บาท, นายวุฒิชัย จำเลยที่ 16 คืนเงิน 413,594.83 บาท, นายปณวัตร จำเลยที่ 17 คืนเงิน 320,584.71 บาท, นายประพาส จำเลยที่ 18 คืนเงิน 387,605.72 บาท, นายเกรียง จำเลยที่ 19 คืนเงิน 179,493.47 บาท, นายศักดิ์ชัย จำเลยที่ 20 คืนเงิน 447,820.70 บาท, นายวิทยา จำเลยที่ 21 คืนเงิน 1,590,035.83 บาท, ทพ.หญิงกรองกาญจน์ จำเลยที่ 22 คืนเงิน 2,139,798.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าชำระเสร็จ
      
        จากนั้น จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ต่อมาจำเลยที่ 10, 11, 20, 22 ยื่นฎีกา ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 มาตรา 97 บัญญัติว่า “การออกจากตำแหน่งของ ส.ส. หรือ ส.ว. ภายหลังสมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและผลตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว” เมื่อจำเลยที่ 10, 11, 20, 22 ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและผลตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมา รวมทั้งค่าเบี้ยประชุม ค่าพาหนะเดินทางมาทำหน้าที่ ส.ส. , เงินที่จ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว และผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ส. ทั้งหมด คืนให้แก่โจทก์ด้วย จึงพิพากษายืนให้จำเลยทั้ง 22 คนคืนเงินแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ
      
    

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 21-27 ก.พ.2559(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:19:40 »
  4. ดีเอสไอ เตรียมประสานขอสอบปากคำ “สมเด็จช่วง” คดีรถหรู ด้าน “พระเมธีฯ” ขู่อีก พระนับพันพร้อมบุกโรงพักพุทธมณพล หากตนถูกดำเนินคดี!

        ความคืบหน้าการตรวจสอบรถเบนซ์โบราณของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่พระสังฆราช หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้แถลงยืนยันเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ว่า รถคันดังกล่าวผิดทุกขั้นตอน ทั้งการนำเข้า, การจดประกอบรถ, การเสียภาษีสรรพสามิต และการจดทะเบียน ส่วนสมเด็จช่วง ผู้ครอบครองรถที่ผิดกฎหมาย และมีลายเซ็นอยู่ในเอกสารต่างๆ ด้วย จะมีความผิดอย่างไรหรือไม่นั้น ดีเอสไอยังไม่ได้ระบุ โดยบอกจะรอสอบปากคำสมเด็จช่วงก่อน และว่า คดีนี้ เป็นการทำผิดทางอาญา มีความซับซ้อนและทำกันเป็นขบวนการ และมีผู้อยู่ในข่ายต้องถูกดำเนินคดีหลายคน คาดว่า จะใช้เวลาตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน
       
        ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นายวีระชัย อินทร์ประเสริฐ เจ้าของ หจก.เอช.ที.วาย.ออโต้พาร์ท ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อร้องทุกข์ดำเนินคดีผู้ที่ปลอมแปลงเอกสารใบเสร็จรับเงินจ้างนางกาญจนา มากเหมือน เจ้าของอู่ N.P.การาจ เป็นเงิน 50,000 บาท เพื่อนำชิ้นส่วนมาประกอบรถเบนซ์สมเด็จช่วง พร้อมยืนยันว่า บริษัทตนเป็นบริษัทนำเข้าอะไหล่จักรยานและจักรยานยนต์ ไม่เคยจดประกอบรถอะไรเลย
       
        ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการตรวจสอบรถเบนซ์สมเด็จช่วงเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ว่า ได้สั่งอธิบดีดีเอสไอแล้วว่า ขอให้ทำคดีแบบทั่วไป ทำงานตรงไปตรงมา เป็นไปตามกฎหมาย ตนจะไม่เข้าไปก้าวก่าย ไม่เร่งรัด แต่หากเกิดความล่าช้า หน่วยงานที่รับผิดชอบจะถูกเพ่งเล็งจากสังคมเอง และได้บอกกับอธิบดีดีเอสไอแล้วว่า ให้ไปกราบสมเด็จช่วงเพื่อชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดและนัดวันสอบข้อมูล โดยให้เป็นเรื่องของความเคารพนับถือให้เกียรติ ส่วนวัน เวลา และสถานที่ ขอให้เป็นไปตามที่สมเด็จช่วงกำหนด
       
        ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าดีเอสไอจะทำหนังสือประสานไปยังวัดปากน้ำภาษีเจริญ เพื่อสอบถามว่าทางวัดสะดวกเมื่อไร ก่อนจะทำการนัดวันและเวลากันอีกครั้ง ซึ่งจะต้องดูภารกิจสงฆ์ด้วยว่า ติดขัดอะไรหรือไม่
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า วัดปากน้ำภาษีเจริญได้เปลี่ยนทีมทนายชุดใหม่ โดยแหล่งข่าวจากทีมทนายชุดเดิมเผยว่า เหตุที่ทีมทนายชุดปัจจุบันต้องถอนตัว เพราะมีพระราชาคณะจากวัดอื่นได้แนะนำทีมทนายความชุดใหม่ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศ เพื่อให้มาช่วยทำคดีรถโบราณ เนื่องจากมีพระผู้ใหญ่บางรูปในวัดปากน้ำฯ ไม่พอใจการทำงานของทีมทนายชุดปัจจุบัน เพราะสามารถสาวถึงตัวพระที่เป็นผู้ดำเนินการเรื่องรถหรู
       
        ส่วนความคืบหน้ากรณีพระเมธีธรรมาจารย์(ประสาร จนฺทสาโร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย นำม็อบพระไปชุมนุมที่พุทธมณฑลเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ 5 ข้อ เช่น ทำตามมติมหาเถรสมาคม(มส.) ที่เสนอชื่อสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชนั้น เมื่อวันที่ 24 ก.พ. พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เผยหลังประชุมตำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน และยังไม่ได้มีการออกหมายเรียกหรือเรียกบุคคลใดมาสอบปากคำ เบื้องต้นหากความผิดปรากฏชัด จะเรียกมารับทราบข้อหา ประกอบด้วย 1.ละเมิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2.ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 4.หมิ่นประมาท
       
        ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ ได้ออกมาพูดเหมือนขู่ตำรวจและรัฐบาลว่า ถ้ามีหมายเรียกมาถึงตนเมื่อใด วันไหน พระนับพันรูปที่ร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ก.พ.จะไปแสดงตนเป็นพระผู้ต้องหาร่วมให้ล้นโรงพักพุทธมณฑลในวันนั้น และยอมให้จับกุมคุมขังพระสงฆ์หมู่ใหญ่ด้วยกันทั้งหมดในวันนั้น จึงหวังว่ารัฐบาลจะมีสติ ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ มองอะไรให้รอบคอบ เพื่อจะได้ไม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากดีเอสไอได้ตรวจสอบรถเบนซ์ของสมเด็จช่วงแล้ว ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบรถหรูโบราณ ของพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม ด้วย โดยเป็น 1 ในรถ 6,000 คัน ที่อาจเข้าข่ายหลบเลี่ยงภาษีเมื่อปี 2556 ซึ่งครั้งนั้น หลวงพี่น้ำฝนเคยแถลงว่า รถโบราณ ยี่ห้อจากัวร์ปี 1970 สีดำ ทะเบียน กก 1177 กรุงเทพมหานคร มีลูกศิษย์ถวายมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา นำเข้ามาเสียภาษีสรรพสามิตกว่า 1.5 ล้านบาท มีใบเสร็จถูกต้อง เป็นรถจดประกอบจริง พร้อมอ้างว่า ไม่ใช่รถหรู แต่เป็นรถโบราณ
       
        อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ดีเอสไอได้มีหนังสือถึงหลวงพี่น้ำฝน ขอตรวจสอบรถยนต์อีกครั้ง แต่คราวนี้ดีเอสไอระบุว่าเป็นรถยี่ห้อแพนเธอร์ รุ่นปี 1977 สีดำ หมายเลขเครื่องยนต์ 8L66240-L หมายเลขตัวรถ 731 โดยก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้สอบปากคำผู้เชี่ยวชาญด้านรถโบราณโดยให้ภาพถ่ายและคลิปการแถลงข่าวเมื่อปี 2556 ได้ข้อเท็จจริงว่า รถคันดังกล่าวคือ แพนเธอร์ มีโรงงานผลิตที่ประเทศอังกฤษ มีลักษณะใกล้เคียงกับยี่ห้อจากัวร์ และได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของบริษัทจากัวร์แล้ว ยืนยันว่า หมายเลขเครื่องยนต์ไม่ใช่ของบริษัทจากัวร์
       
        ด้านหลวงพี่น้ำฝน ได้เปิดแถลงเมื่อวันที่ 26 ก.พ. โดยยืนยันว่า ดีเอสไอเคยตรวจสอบรถคันนี้แล้วเมื่อปี 2556 และยืนยันว่าถูกกฎหมาย แต่เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ดีเอสไอมีหนังสือให้นำรถคันดังกล่าวไปตรวจสอบอีกครั้งในวันที่ 29 ก.พ. ส่วนตัวจึงสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องมีการตรวจซ้ำซ้อน หลวงพี่น้ำฝน ยังบอกด้วยว่า รถคันนี้ถูกเจ้าใจผิดว่าเป็นรถหรูยี่ห้อจากัวร์ แต่จริงๆ แล้วเป็นรถยี่ห้อแพนเธอร์ เพียงแต่นำเครื่องยนต์ของจากัวร์มาใส่เท่านั้น และมีการย้ายทะเบียนจากจังหวัดสระบุรีโอนเข้ามายังกรุงเทพฯ ยืนยันว่าได้ถือครองแต่เพียงผู้เดียว ไม่เคยถูกนำไปใช้ในกิจกรรมส่วนตัว เพียงแต่ใช้ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งตอนนี้รถคันดังกล่าวยังขัดข้อง ไม่สามารถใช้งานได้ จึงนำมาแสดงในงานวันสำคัญของทางวัดเพื่อเป็นวิทยาทานให้ชาวบ้านได้ดูเท่านั้น ยืนยันว่ารถคันดังกล่าวได้เสียภาษีอย่างถูกต้องมาทุกปี ปีละ 11,700 บาท
       
       5. “พล.อ.อุดมเดช” ดีใจ สตง.ยันไม่พบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ด้าน “พล.อ.ไพบูลย์” ยังไม่พอใจ สั่ง สตง.สอบเพิ่ม อ้างบางประเด็นยังไม่ชัด!

        เมื่อวันที่ 22 ก.พ. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ กล่าวถึงการตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบชุดต่างๆ ทั้งในส่วนของกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ยืนยันแล้วว่าถูกต้องตามขั้นตอน ไม่มีการทุจริตใดๆ ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ที่สำคัญทางผู้ใหญ่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความถูกต้องทุกขั้นตอน “เป็นเรื่องที่น่ายินดีและสบายใจตามที่ผู้ใหญ่ของ สตง.ตรวจสอบแล้วว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยความถูกต้องทุกขั้นตอน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะมีปัญหา แต่ยังมีบางส่วน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ต้องการจะตรวจสอบเพิ่มเติม ผมอยากให้เข้าใจว่า ทาง 3 หน่วยหลัก ตรวจสอบไปแล้วก็น่าจะเพียงพอ ทุกอย่างประชาชนรับทราบแล้วว่าโปร่งใส ไม่มีการทุจริต เพื่อให้อุทยานราชภักดิ์เดินหน้าต่อไปได้ เพราะขณะนี้ดำเนินการเสร็จเพียงขั้นที่ 1”
       
        ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า ได้รับการชี้แจงผลตรวจสอบโครงการดังกล่าวจาก สตง.แล้วระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ มีความไม่ชัดเจนในบางประเด็นที่ให้ไปสอบเพิ่มเติม ส่วนที่ สตง.ระบุตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ไม่พบประเด็นทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ก็เป็นเรื่องของ สตง. “ผมสั่งให้ไปสอบเพิ่มแล้ว จนกว่าจะได้ข้อมูลที่ทำให้สังคมสิ้นสงสัย ซึ่งผมมองว่า ยังขาดอีก 2-3 ประเด็น ถ้าสอบไม่ได้ ผมไม่สามารถแถลงข่าวได้ ยืนยันว่าผมไม่ได้ไปขัดแย้งกับ สตง.ว่าเรื่องตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีทุจริตหรือไม่มี เพียงแต่ตอนนี้ยังตอบประเด็นที่ผมให้ไปตรวจสอบไม่ได้ ตราบนั้นผมก็จะไม่ชี้แจง แต่เป็นสิทธิ์ขององค์กรอิสระนั้นที่จะไปชี้แจงก็ได้ สื่อก็ไปสอบถามกันเอง”
       
       ด้านนายพิศิษฏ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. เผยหลังร่วมประชุมกับ ศอตช. เกี่ยวกับผลสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของ สตง. ที่ระบุว่าไม่พบการทุจริตว่า สตง.ตรวจสอบตามหลักฐานข้อเท็จจริง แต่เมื่อ พล.อ.ไพบูลย์ ยังมีประเด็นข้อสงสัยอื่น สตง.ก็อาจมีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จะตรวจสอบเพิ่มเติม และว่า ที่ผ่านมา สตง.ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดพอสมควรแล้ว ทั้งจากเอกสารจากกองทัพบก ภาครัฐและเอกชน รวมถึงโรงหล่อ หลักฐานทางบัญชีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทุกส่วนราชการ ตลอดจนการไปดูสถานที่ก่อสร้างจริง การตรวจสอบก็เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจสอบส่วนราชการอื่นๆ ทั่วไป การตรวจสอบทุจริตไม่สามารถกลั่นแกล้งกันได้ หากการทุจริตแล้วทำให้เสียหาย แล้วจะบอกว่าไม่มีการทุจริต คงเป็นไปไม่ได้ จุดยืนของ สตง.คือการตรวจสอบรายงานตามความเป็นจริง
       
       ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการหักค่าหัวคิว นายพิศิษฏ์ กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงตั้งแต่แรก แต่จากการตรวจสอบจากข้อเท็จจริง หลักฐานและพยานบุคคลยังไม่พบข้อสังเกตที่จะชี้ให้เห็นถึงประเด็นหัวคิว ซึ่งตนเข้าใจว่ามีคำถามเกี่ยวกับค่าหัวคิวว่าได้มาอย่างไร หมายถึงอะไร ดังนั้นจะกลับไปพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความกระจ่างก่อนนำเสนอข้อมูลกับ ศอตช.อีกครั้ง เมื่อถามว่าหัวคิวหมายถึงค่าที่ปรึกษาใช่หรือไม่ นายพิศิษฏ์ กล่าวว่า ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคือโรงหล่อทั้ง 5 แห่งซึ่งเป็นคนจ่ายค่าที่ปรึกษา ในทางบัญชีการเงินค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าที่ปรึกษาสามารถนำมาระบุเป็นหักค่าใช้จ่ายได้ ใครที่ได้รับเงินค่าที่ปรึกษาไป ก็ต้องไปเสียภาษีเป็นรายได้ให้ถูกต้อง ใครที่จ่ายค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็ต้องลงหลักฐานเพื่อประกอบการเสียภาษี เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้จากหลักฐานของแต่ละเอกชนที่ต้องเสียภาษี ข้อเท็จจริงที่พบคือมีการจ่ายเงินแน่นอน แต่เป็นการทยอยจ่าย ขอให้ใจเย็นๆ รอรับฟังคำแถลงที่เป็นข้อยุติจาก ศอตช. ขณะนี้ ป.ป.ช. มีการติดต่อขอหลักฐาน สตง.เพื่อนำไปตรวจสอบแล้ว ในส่วนของ สตง. เรื่องดังกล่าวถือว่าได้ตรวจสอบอย่างละเอียด ได้ข้อยุติแล้ว ไม่จำเป็นต้องสอบเพิ่ม และไม่มีประเด็นใดให้ต้องสอบเพิ่มเติมอีก

MGR Online       27 กุมภาพันธ์ 2559