ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 28 ก.พ.-5 มี.ค.2559  (อ่าน 663 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 28 ก.พ.-5 มี.ค.2559
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:21:17 »
1.ศาล พิพากษาจำคุก “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” 13 ปี 4 เดือน คดีโกงค่าโฆษณา อสมท เจ้าตัวหยุดจัดรายการ หลังทานกระแสสังคมไม่ไหว!

        เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัทไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้ม เป็นจำเลย 1-4 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 8 และ 11
      
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2558 ว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2548 - 28 เม.ย. 2549 นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ อสมท ได้จัดทำคิวโฆษณารวมในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลา เพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากจำเลยที่ 2-4 เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ไม่รายงานการโฆษณา ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
      
        ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การร่วมผลิตรายการ จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นพิธีกรจัดรายการทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษรระบุชัดว่า ถ้ามีโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่ง จำเลยที่ 2 ต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลังและชำระค่าโฆษณาเกินให้แก่ อสมท โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิ์แบ่งค่าโฆษณาส่วนเกินคนละเท่าๆ กับ อสมท นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินและไม่มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดทางการค้าปกติร้อยละ 30 จากค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขณะที่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา แต่ไม่รายงานการโฆษณาที่เกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้ อสมท ได้รับความเสียหาย ตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบทั้งสองชุดที่ อสมท ตั้งขึ้น นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลาในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากใบคิวโฆษณารวม แสดงถึงการปกปิดข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่เป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์และรับเงินตามเช็ค เป็นการต้องห้าม จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 8, 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
      
        ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอด ดังนั้นจำเลยที่ 3 น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบก็เป็นการสนับสนุน ในทางนำสืบศาลเห็นด้วยกับ ป.ป.ช.ว่า จำเลยจ่ายเช็คเพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการใด ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2-4 นำเช็คไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 บริษัทไร่ส้มได้ชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน จำนวน 138,790,000 บาท แก่ อสมท แล้ว จึงลงโทษสถานเบา
      
        พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การและหน่วยงานของรัฐ มาตรา 6, 8, 11 จำเลยที่ 2-4 มีความผิดฐานสนับสนุนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การและหน่วยงานของรัฐ มาตรา 6, 8, 11 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด รวม 6 กระทง ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 หมื่นบาท รวมปรับ 1.2 แสนบาท จำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 คนละ 20 ปี แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 8 หมื่นบาท ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1, 3 และ 4
      
        ต่อมา ทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 2 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวสู้คดีระหว่างอุทธรณ์ ด้านศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้พวกจำเลยประกันตัว โดยตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามพวกจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งให้พวกจำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน
      
        ทั้งนี้ หลังศาลพิพากษาจำคุก 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา นายสรยุทธ ยังคงจัดรายการทางช่อง 3 ตามปกติ โดยกล่าวในรายการว่า เคารพคำพิพากษาของศาล แต่ขั้นตอนและกระบวนการ ตนและบริษัทจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป ขณะที่กระแสสังคมเริ่มถามหาจริยธรรมและความรับผิดชอบจากนายสรยุทธและช่อง 3 ว่าควรให้นายสรยุทธหยุดจัดรายการ
      
        อย่างไรก็ตาม นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์ ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ผู้ดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้เผยในเวลาต่อมาว่า ช่อง 3 มีมติให้นายสรยุทธ จัดรายการได้ตามปกติ โดยยก 3 เหตุผลประกอบ คือ 1.เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่นายสรยุทธจะมาร่วมงานกับช่อง 3 2.คดียังไม่ถึงที่สุด และ 3.ช่อง 3 และนายสรยุทธทำงานเป็นครอบครัวเดียวกัน
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า มติของช่อง 3 และท่าทีของนายสรยุทธที่ไม่หยุดจัดรายการ ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายภาคส่วนในสังคม โดยพร้อมใจกันออกมาเรียกร้องจริยธรรมความเป็นสื่อมวลชนจากช่อง 3 และนายสรยุทธ รวมทั้งเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะการยักยอกค่าโฆษณา ถือเป็นการทุจริตอย่างหนึ่ง
      
       สำหรับปฏิกิริยาที่ปรากฏต่อสังคม ได้แก่ สมาคมวิชาชีพสื่อ เช่น สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรียกร้องให้นายสรยุทธทบทวนบทบาทตัวเองในฐานะสื่อ เพราะบทบาทสื่อคือการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคม และเรียกร้องให้ผู้บริหารช่อง 3 ทบทวนการทำหน้าที่ของนายสรยุทธ เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้กับวงการสื่อมวลชนไทย
      
       ในส่วนของภาคการเมือง เช่น นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้ออกมาชี้ว่า ช่อง 3 กำลังท้าทายพลังจริยธรรมของคนไทย ช่อง 3 เห็นกำไรที่เป็นตัวเงินมีราคามากกว่าตราบาปที่จะติดตรึงองค์กรไปตราบนานเท่านาน ทั้งนี้ นายประสาร ได้เรียกร้องให้องค์กรต้านคอร์รัปชั่น และทุกภาคส่วน รวมทั้งคนไทยที่รักความเป็นธรรมทั้งมวล คว่ำบาตรช่อง 3 อย่างมีอารยะ เช่น เลิกดูช่อง 3 เลิกลงโฆษณาช่อง 3
      
        ขณะที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เตรียมนำกรณีศาลพิพากษาจำคุกนายสรยุทธ มาอภิปรายระดมความคิดเรื่องการปฏิรูปจริยธรรมของสื่อมวลชน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น โดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ 1 ในสมาชิก สปท. ยืนยันว่า ส่วนตัวจะไม่รับเชิญไปออกรายการนายสรยุทธแน่นอน เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเห็นความผิดชัดเจน
      
        ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ชี้ว่า การที่นายสรยุทธยังจัดรายการต่อไป ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะแม้คำพิพากษาจะเป็นศาลชั้นต้น แต่ถือว่านายสรยุทธมีส่วนร่วมกระทำผิดจริง จึงควรพิจารณาตนเองด้วยการหยุดจัดรายการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
      
        สำหรับท่าทีของบุคคลในรัฐบาลต่อกรณีนายสรยุทธ มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการตรวจสอบว่า อธิบดีกรมสรรพากรไปออกรายการนายสรยุทธได้อย่างไรเมื่อวันที่ 1 มี.ค.หลังศาลมีคำพิพากษาจำคุกนายสรยุทธแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ทางรายการฯ นำเทปสัมภาษณ์อธิบดีกรมสรรพากรที่เคยออกอากาศไปแล้ว มาออกซ้ำ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ข้องใจว่าเหตุใดช่อง 3 จึงนำเทปดังกล่าวมาออกซ้ำ ทำให้คนที่ไม่เข้าใจมาด่ารัฐบาล ทั้งนี้ บรรดาข้าราชการมองว่า การสั่งตรวจสอบของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการส่งสัญญาณถึงข้าราชการทุกหน่วยงานให้ระมัดระวังเรื่องการวางตัวและใช้วิจารณญาณในการไปออกรายการสื่อมวลชนที่กระแสสังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องจริยธรรม เพราะรัฐบาลมีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง
      
        นอกจากนี้หน่วยงานในภาคธุรกิจ และภาครัฐ ก็เริ่มส่งสัญญาณถอนโฆษณาและไม่ต่อสัญญาโฆษณากับรายการของนายสรยุทธ เพื่อแสดงถึงการไม่สนับสนุนการทุจริต
      
        ส่วนกระแสบางฝ่ายที่หนุนให้นายสรยุทธจัดรายการต่อ ได้แก่ นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้เหตุผลว่า คดียังไม่ถึงที่สุด ขณะที่นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง หนุนให้นายสรยุทธจัดรายการต่อ โดยนอกจากให้เหตุผลว่าคดียังไม่สิ้นสุดแล้ว ยังมองว่านายสรยุทธไม่ได้โกง อสมท อีกด้วย พร้อมแนะว่า ถ้าใครไม่อยากดูนายสรยุทธ ก็เปิดไปช่องอื่น อย่ามาบังคับกัน ขณะที่บางคนที่หนุนนายสรยุทธจัดรายการต่อ อ้างว่า กระแสกดดันให้นายสรยุทธยุติการจัดรายการเป็นเรื่องของการเมืองและเรื่องสีเสื้อ
      
        อย่างไรก็ตาม ในที่สุด นายสรยุทธได้ตัดสินใจยุติการจัดรายการ โดยนายสรยุทธได้โพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมเมื่อเย็นวันที่ 3 มี.ค.ว่า “ตั้งแต่เย็นนี้ ผมขอยุติการทำหน้าที่พิธีกร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับช่อง 3 เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ขอบคุณครอบครัวช่อง 3 ขอบคุณแฟนข่าว ขอบคุณทุกกำลังใจ จนกว่าเราจะพบกันใหม่ครับ” ทั้งนี้ หลังนายสรยุทธหยุดจัดรายการ ปรากฏว่า รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” เมื่อวันที่ 4 มี.ค. มี “กุ๊ก กฤติกา ขอไพบูลย์” ซึ่งปกติจัดรายการ “เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์” กับนายสรยุทธ มาจัดรายการคู่กับ “ไบรท์ พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ” แทนนายสรยุทธ ส่วนรายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้” ได้ยุติรายการไป
      
        หลังศาลพิพากษาจำคุกนายสรยุทธ กรณีทุจริตค่าโฆษณา อสมท ปรากฏว่า มูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เมื่อวันที่ 4 มี.ค. เพื่อให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของบริษัท ไร่ส้ม ของนายสรยุทธ และพวก โดยให้ตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่ปี 2546-2559 ว่าทรัพย์สินที่ได้มาในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มาโดยชอบหรือไม่
      
       2. ผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยแล้ว มติ มส.เสนอชื่อพระสังฆราช ผิดขั้นตอน ต้องเริ่มที่นายกฯ เสนอชื่อ แล้วให้ มส.เห็นชอบ!

        เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงคำวินิจฉัยกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอนการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 ว่า หน่วยงานใดมีอำนาจในการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงมติของมหาเถรสมาคม(มส.) ที่เสนอชื่อสมเด็จช่วง เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ ว่า มติของ มส. ในการเสนอชื่อสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน โดยยกหลักฐานรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เมื่อปี 2535 ที่บอกเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ต้องเริ่มต้นเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมโดยนายกรัฐมนตรีก่อน จากนั้นจึงส่งให้ มส.เห็นชอบ ดังนั้นมติ มส. ซึ่งเป็นการประชุมลับ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ให้เสนอชื่อสมเด็จช่วง เป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนของกฎหมาย
      
        นายรักษเกชา เผยต่อไปว่า ได้ส่งผลคำวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน คาดว่านายกรัฐมนตรี จะส่งเรื่องต่อให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และส่งเรื่องกลับไปยัง มส.ต่อไป นายรักษเกชา ยืนยันด้วยว่า "คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ได้ก้าวล่วงมหาเถรสมาคม และไม่ใช่การครอบงำฝ่ายศาสนจักรแต่อย่างใด"
      
       ทั้งนี้ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 ระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช"
      
        สำหรับความคืบหน้าคดีรถเบนซ์ของสมเด็จช่วง ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ตรวจสอบแล้วพบว่า ผิดกฎหมายทุกขั้นตอนทั้งการนำเข้า-จดประกอบ-เสียภาษี-จดทะเบียน และอยู่ระหว่างประสานเพื่อสอบปากคำสมเด็จช่วง ในฐานะผู้ครอบครองรถคันดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 2 มี.ค. นายสมศักดิ์ โตรักษา หัวหน้าทีมทนายชุดใหม่ของวัดปากน้ำ ได้นำเอกสารหลักฐานเข้าชี้แจงเพิ่มเติมต่อดีเอสไอ พร้อมยืนยันว่า สมเด็จช่วงเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความผิดเกี่ยวกับเรื่องรถแต่อย่างใด และว่า สมเด็จช่วงได้รับบริจาครถคันดังกล่าวเมื่อปี 2554 หลังจากได้รับบริจาค ได้มีการแจ้งเปลี่ยนทะเบียนรถจาก ขม 99 เป็น งค 1560 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2556 และวันเดียวกัน สมเด็จช่วงได้แจ้งต่อนายทะเบียนกรมขนส่งฯ ขอยกเลิกการใช้รถยนต์คันดังกล่าวตลอดไป ต่อมาเมื่อปรากฏข่าวคึกโครมช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาว่ารถมีที่มาไม่ถูกต้อง สมเด็จช่วงจึงนำรถมอบคืนแก่ผู้บริจาค(หลวงพี่แป๊ะ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เลขานุการสมเด็จช่วง) โดยไม่ประสงค์ให้อยู่ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ อีกต่อไป และว่า ขณะนี้รถคันดังกล่าวฝากไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านฯ เพื่อผู้ซื้อจะได้มอบคืนแก่ผู้ขายต่อไป
      
        ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พูดถึงกรณีสมเด็จช่วงคืนรถเบนซ์ให้ผู้บริจาคว่า รถดังกล่าวตรวจสอบแล้วชัดเจนว่าผิด เมื่อผิด ต้องตรวจสอบว่าผู้ครอบครองผิดหรือไม่ ส่วนรถคันดังกล่าวจะเอาไปไว้ไหนนั้น ถ้าครอบครองสิ่งผิดกฎหมาย แม้จะอยู่ในสถานที่ใดก็ผิด ต้องดำเนินคดีต่อไป ไม่สามารถจะยุติได้
      
        พล.อ.ไพบูลย์ เผยด้วยว่า วันจันทร์ที่ 7 มี.ค. นี้ ตนจะเป็นประธานประชุมผู้เกี่ยวข้องกับรถผิดกฎหมายจำนวนกว่า 6,000 คัน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ร่วมหารือ เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมขนส่งทางบก ฯลฯ
      
        ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบรถโบราณของหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม นั้น เมื่อวันที่ 2 มี.ค. พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ ได้นำผู้เชี่ยวชาญรถจากัวร์และผู้เชี่ยวชาญรถแพนเธอร์เข้าตรวจสอบรถของหลวงพี่น้ำฝนที่วัดไผ่ล้อม หลังตรวจสอบ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เบื้องต้นพบว่า รถดังกล่าวตัวถังเป็นแพนเธอร์ ส่วนเครื่องยนต์เป็นจากัวร์ ดังนั้นจะเรียกว่า แพนเธอร์ จากัวร์ หรือจากัวร์ แพนเธอร์ ก็ได้ ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า ดีเอสไอต้องขอเวลาตรวจสอบทางเทคนิคอีกสักระยะ แต่ไม่ช้าแน่นอน แล้วจะแจ้งให้ทราบทุกขั้นตอน
      
       3. กกต. มีมติเอกฉันท์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก “ยิ่งลักษณ์-กปปส.” 2,400 ล้าน เหตุทำเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 โมฆะ!

        เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้มีการประชุมลับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการยื่นฟ้องดำเนินคดีกับบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 จนเป็นเหตุให้การเลือกตั้งต้องโมฆะ และทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ดำเนินคดีอาญาและเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ล้มการเลือกตั้งดังกล่าว
      
        โดยจะฟ้องร้อง 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มบุคคลจำนวน 234 คน ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง ที่มีหลักฐานภาพถ่าย สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ว่าเป็นใคร ซึ่งรวมถึงกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. รวมถึงแกนนำคนอื่นๆ
      
        2. ฟ้องร้องทางแพ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ 1 ราย คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานละเมิดการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่ กกต.ได้ทักท้วงถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแล้ว รวมค่าเสียหายจากทั้ง 2 กลุ่มทั้งสิ้น 2,400 ล้านบาท สำหรับการเรียกค่าเสียหายที่ฟ้องร้องมีจำนวนเท่ากันทั้ง 2 กลุ่ม เนื่องจากค่าเสียหายจากการเลือกตั้งทั้งหมด 2,400 ล้านบาท จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะให้แต่ละกลุ่มจ่ายค่าเสียหายเท่าใด ถ้าผิดทั้ง 2 ฝ่าย ก็อาจจะต้องจ่ายค่าเสียหายคนละครึ่ง
      
        ทั้งนี้ หลังจากมีมติดังกล่าวแล้ว กกต. ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนของข้อกฎหมายต่อไป โดยคดีดังกล่าวมีอายุความ 10 ปี
      
        ด้านนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.เผยว่า จะดำเนินการเอาผิดกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้ง ปี 2557 จำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งทางแพ่งและอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจาก กปปส. เคยรณรงค์ไม่ให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จัดเลือกตั้งเมื่อปี 2557 แต่รัฐบาล และ กกต. กลับพยายามให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ จึงส่งผลให้รัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่า กกต.สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ โดยให้ กกต.ไปหารือกับรัฐบาล แต่เมื่อหารือแล้วปรากฏว่า ทั้ง 2 ฝ่าย กลับไม่ตัดสินใจเลื่อนการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่า มีผู้สมัครไม่ครบถึง 28 เขต เหตุการณ์นี้จึงถือว่าคนที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะก็คือ กกต.และอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ฝืนจัดการเลือกตั้งต่อไป
      
        ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่ กกต.จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากตน ทั้งที่รัฐบาลตนได้จัดเลือกตั้งตามกฏหมายทุกอย่าง และว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะฟ้องกลับ กกต.หรือไม่
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 28 ก.พ.-5 มี.ค.2559(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:21:31 »
4. ศาล พิพากษาจำคุก “มือปืนป๊อบคอร์น” 37 ปี 4 เดือน ฐานฆ่า-พยายามฆ่า กรณียิงปืนในเหตุ กลุ่มเสื้อแดงปะทะ กปปส.ที่แยกหลักสี่ ปี’57!

        เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายวิวัฒน์ หรือท๊อป ยอดประสิทธิ์ มือปืนป็อปคอร์น อายุ 24 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำอาวุธปืนออกนอกเคหะสถานไปในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72ทวิ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ม.5, 6, 11 และ 18
       
        คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2557 จำเลยกับพวกได้มีปืนเล็กยาวไม่ทราบชนิดและขนาด ติดตัวไปที่ทางแยกหลักสี่ เขตหลักสี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และยิงปืนเข้าไปในอาคารศูนย์การค้าไอที สแควร์ จนนายอะแกว แซ่ลิ้ว เสียชีวิต ส่วน น.ส.สมบุญ สักทอง นายนครินทร์ อุตสาหะ และนายพยนต์ คงปรางค์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ
       
        ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นครไทย จ.พิษณุโลก เบิกความสอดคล้องกันเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนหาคนร้ายสวมเสื้อยืดชุดดำ ใส่หมวกไหมพรม ในมือสวมถุงกระสอบข้าวโพดสีเขียว-เหลือง ต่อมาทราบชื่อเล่นว่าท๊อป อาศัยอยู่ จ.พิษณุโลก ขณะที่มีภาพที่คนร้ายเปิดหมวกไหมพรมมีลักษณะคล้ายกับจำเลย เมื่อนำภาพถ่ายไปให้พี่ชายของจำเลยดู ก็ยืนยันว่าชายในรูปภาพเป็นน้องชายตนเองชื่อนายวิวัฒน์ ยิ่งทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น แม้จำเลยจะสวมหมวกปิดหน้า แต่เมื่อมีการเปรียบเทียบลักษณะภาพถ่ายคนร้ายจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุกับภาพที่เปิดหมวกไหมพรม บุคคลในภาพมีลักษณะอ้วนคล้ายกัน แต่งกายชุดเหมือนกัน สวมเสื้อเกราะเช่นเดียวกัน ตำแหน่งติดอุปกรณ์วิทยุสื่อสารตรงกัน เมื่อนำรูปในทะเบียนราษฎร์มาเปรียบเทียบกับเอกสารของโจทก์เห็นชัดว่าชายคนดังกล่าวเป็นคนเดียวกับจำเลย
       
        โดยชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพและเป็นผู้นำชี้จุดเกิดเหตุ ซึ่งมีพนักงานสอบสวนและกระทำต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก หากจำเลยถูกข่มขู่ให้รับสารภาพจริงก็ควรร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการร้องเรียนของจำเลย ขณะที่ข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบพบว่า ช่วงวันเวลาเกิดเหตุมีชายชุดดำ 22 คน โดยมีภาพจากกล้องวงจรปิดเห็นว่ากลุ่มชายชุดดำเดินจากแยกหลักสี่ไปจุดกึ่งกลางระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ที่มาจากแยกลาดพร้าว กับกลุ่มผู้สนับสนุนการเลือกตั้ง(กลุ่มคนเสื้อแดง) ที่ใช้หินขว้างปาและยิงใส่กัน รวมทั้งมีการขนอาวุธปืนจากรถกะบะสีขาวคล้ายรถขนเงิน ซึ่งมีภาพจำเลยวิ่งออกมารับอาวุธดังกล่าว ในบริเวณดังกล่าวนอกจากผู้ชุมนุมแล้วยังมีประชาชนทั่วไปเข้าไปใช้บริการศูนย์การค้าไอทีสแควร์ การกระทำของจำเลยย่อมมีเจตนาเล็งเห็นได้ว่ากระสุนที่ยิงไปนั้นอาจถูกคนเสียชีวิตได้ เมื่อดูภาพจากกล้องวงจรปิดจะเห็นว่ามีชายชุดดำตะโกนว่าให้เล็งไว้ถ้ามันออกมาแล้วสอยเลย หมายความว่าหากฝ่ายตรงข้ามเดินออกมาให้ยิงได้ทันที
       
        ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้ในชั้นพิจารณาว่า ระหว่างเกิดเหตุได้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กลุ่ม กปปส.อยู่ที่ศูนย์การค้าไอทีสแควร์นั้น รับฟังไม่ได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนเดียวกับคนร้ายที่สวมชุดดำ และในมือสวมถุงกระสอบข้าวโพดสีเขียว-เหลือง โดยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มีอาวุธปืนร้ายแรงที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ฐานมีอาวุธปืนและพกพาไปในที่สาธารณะที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 4, 7, 8 และ 72 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 5, 6, 11 และ 18 และประกาศเรื่องห้ามนำอาวุธออกนอกเคหะสถาน ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรม
       
        พิพากษาจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นบทหนักสุด และฐานมีอาวุธปืนฯ จำคุก 3 ปี และพกพาอาวุธปืนฯ จำคุก 3 ปี แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกฐานฆ่าผู้อื่น 33 ปี 4 เดือน และความผิดฐานมีอาวุธปืนฯ จำคุก 2 ปี และพกพาอาวุธปืนไปในเมืองฯ จำคุก 2 ปี รวมจำคุกจำเลย 37 ปี 4 เดือน และให้ริบของกลาง
       
        หลังฟังคำพิพากษา น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทีมทนายความจำเลยกล่าวว่า จะปรึกษากับจำเลยเพื่อจะอุทธรณ์สู้คดีต่อไป
       
       5. ศาลฎีกา พิพากษาจำคุก “จตุพร” 6 เดือน รอลงอาญา 2 ปี คดีหมิ่น “อภิสิทธิ์” สั่งฆ่าผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง!


        เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.-15 ก.พ. 2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้ปราศรัยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนกลุ่มเสื้อแดง และประชาชนที่รับฟังและชมโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนแนล ที่มีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ทำนองว่า โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชน และหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังว่าโจทก์เป็นคนมีจิตใจโหดเหี้ยมสั่งฆ่าประชาชน หนีทหาร จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ
       
        คดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า ที่โจทก์หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารนั้น พยานเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ขัดแย้งกันในบางส่วน ถือว่าจำเลยติชมด้วยความสุจริต เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามความเหมาะสม
       
        ส่วนที่จำเลยปราศรัยว่า โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีสั่งปราบปรามและฆ่าประชาชน เห็นว่า จำเลยมีเจตนา เพื่อยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ได้ติชมด้วยความสุจริตใจ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 7 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย
       
        ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า ประเด็นที่จำเลยปราศรัยว่าโจทก์หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร เพราะจำเลยเชื่อข้อมูลผลการสอบสวนของจเรทหารบก เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารและการสมัครเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยฯ ซึ่งเป็นเอกสารทางราชการ แม้ภายหลังโจทก์จะชี้แจงแล้วว่าได้ผ่อนผันทหารพร้อมมีหลักฐานประกอบ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปดำเนินการเพื่อแก้ไขรายงานผลการสอบสวนให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ในช่วงเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านได้ตั้งกระทู้ถามในรัฐสภา เพื่อตรวจสอบโจทก์ในประเด็นดังกล่าวในฐานะที่เป็นนักการเมืองเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ให้ยกฟ้อง
       
        ส่วนประเด็นที่จำเลยปราศรัยระบุว่าโจทก์มีการวางแผนจัดตั้งมวลชนมาปะทะกับคนเสื้อแดงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่ล้อมปราบคนเสื้อแดงนั้น ในชั้นพิจารณา จำเลยไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่า มีการประชุมวางแผนดังกล่าว และภายหลังก็ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามที่จำเลยกล่าวอ้าง คำปราศรัยดังกล่าวเกินเลยจากความเป็นจริงเพื่อให้มวลชนเสื้อแดงที่มาชุมนุมเชื่อจำเลย และเข้าใจว่าโจทก์เป็นตนสั่งทำร้ายคนเสื้อแดง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
       
        หลังฟังคำพิพากษา นายจตุพร ได้ขอบคุณศาลที่เมตตา พร้อมเผยว่า คดีที่ตนถูกนายอภิสิทธิ์ ฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาท ขณะนี้มีทั้งหมด 6 กรณีที่ปรากฏอยู่ใน 4 สำนวน และคดีส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นอุทธรณ์และฎีกา มีทั้งยกฟ้องและให้รอการลงโทษ มีอยู่เพียง 1 คดีที่ศาลไม่รอการลงโทษ ซึ่งคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

MGR Online       5 มีนาคม 2559