ผู้เขียน หัวข้อ: เจาะ 4 คณะสายแพทย์ ม. เอกชน ค่าเทอมหลักล้าน  (อ่าน 4062 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 คณะทางสายการแพทย์ยังคงเป็นที่นิยมไม่ว่าจะเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สังเกตได้จากข่าวเกี่ยวกับการศึกษาที่ออกมาในทุกปีและค่านิยมของคนทั่วไปที่มองว่าเรียนจบสาขาเหล่านี้แล้วทำให้มีรายได้สูงกว่าหลายสาขา เท่าที่รู้กันไม่ได้มีเพียงแต่มหาวิทยาลัยรัฐเท่านั้นที่มีการเรียนสอนในหลักสูตรดังกล่าว ยังมีมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนหนึ่ง ที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพครอบคลุมหลักสูตรเท่ากับมหาวิทยาลัยรัฐบาลหลายแห่ง
       
        ครั้งนี้ Life on Campus รวบรวมรายละเอียดและค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรของ 4 หลักสูตร ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ แพทยศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ เฉพาะในมหาวิทยาลัยเอกชนมาให้ได้ชมและลองเทียบกัน มาดูว่าคณะเดียวกันแต่ต่างมหาวิทยาลัยจะมีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน
       
       ทันตแพทยศาสตร์


         ทันตแพทย์ หรือ หมอฟัน คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพและวินิจฉัยประเมินความผิดปกติภายในช่องปากให้คนไข้ อาชีพนี้เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่คนมองว่ารายได้ดี แต่ก่อนที่จะประกอบอาชีพและได้รับรายได้มหาศาลนั้นก็จำเป็นจะต้องผ่านการเรียนการสอนจากคณะทันตแพทยศาสตร์เป็นเวลา 6 ปีเสียก่อน บอกเลยว่าค่าเทอมไม่ใช่เล่นๆ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเอกชน
       
       
        สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีค่าใช้จ่ายคณะทันตแพทยศาสตร์สูงที่สุดไม่น่าเชื่อว่าตกเป็นของ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ที่ตั้งอยู่ที่อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรีและอ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยเหมาจ่ายตลอดหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 6,100,000 บาท ทั้งนี้รวมค่าวัสดุสิ้นเปลืองทางทันตกรรมจำนวน 700,000 บาทเรียบร้อย เบียดมหาวิทยารังสิตมาเพียงนิดเดียว
       
       
        รองลงมาก็คือมหาวิทยาลัยรังสิตที่เป็นที่นิยม ซึ่งถือเป็นสถาบันทางอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกที่เปิดหลักสูตรดังกล่าวโดยก่อตั้งในปี 2547แถมยังเป็นการเรียนการสอนแบบสองภาษา (Bilingual) ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรตกอยู่ที่ประมาณ 6,050,000 บาท จำแนกได้เป็น ค่าเล่าเรียนประมาณ 5,400,000 บาทและค่าอุปกรณ์ทางการศึกษาอีกประมาณ 650,000 บาท

มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 6,100,000 บาท
มหาวิทยาลัยรังสิต     ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 6,050,000 บาท

         ทั้งนี้ทั้งนั้นค่าเล่าเรียนในหลักสูตรเป็นเพียงแค่ประมาณการณ์อาจมีขึ้นมีลง แต่สองมหาวิทยาลัยไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ในส่วนของการรับรองจากสถาบันของทันตแพทยสภา มหาวิทยาลัยรังสิตได้รับการรับรองตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 ส่วนมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นก็ได้รับการรับรองเช่นเดียวกันเมื่อปี พ.ศ.2556 แต่จะเป็นแบบมีเงื่อนไข คือ จะต้องประเมินต่อเนื่องเป็นรายปี ทุกปี จนกว่าจะมีบัณฑิตจบการศึกษาและสอบผ่านใบอนุญาติฯ ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม
       
       
      แพทยศาสตร์


         แพทยศาสตร์เป็นสาขาของวิทยาศาสตร์สุขภาพ เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและเยียวยารักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วย เป็นแขนงอาชีพที่ต้องใช้ทั้งความรู้และทักษะอย่างสูง และมีการจำแนกศาสตร์เฉพาะทางต่างๆ อีกมากมาย นอกจากจะเรียนหนักแล้วยังต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งมีผลทำให้ค่าเทอมสูงลิ่ว
       
       
        มหาวิทยาลัยเอกชนที่ค่าเล่าเรียนสูงที่สุดในหลักสูตรแพทยศาสตร์ ต้องยกให้มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรทั้งสิ้น 3,300,000 บาท ตกปีละ 550,000 บาท (6 ปี) วิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งนี้ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2531 มีการส่งต่อนักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลเด็ก (ปัจจุบันเป็น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี) โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัยต่างๆ และมีทีท่าจะขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
       
        ส่วนคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสยามเหมาจ่ายค่าเล่าเรียนภาคการศึกษาละ 250,000 บาท ก็คือ 3,000,000 บาทตลอดหลักสูตร

        เภสัชศาสตร์

         คณะที่ทำหน้าที่ในการผลิตเภสัชกร หนึ่งในวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข (health profession) มีหน้าที่จ่ายยาให้ผู้ป่วย แนะนำการใช้ยา ติดตามการใช้ยาให้ผู้ป่วย และเป็นผู้ผลิตยา เภสัชกรจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถหลายสาขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นทางด้านคลินิก โรงพยาบาล และเภสัชชุมชน และจะต้องเป็นมาตรฐานระดับเดียวกัน
       
       
        มหาวิทยาลัยเอกชนสามแห่งที่เปิดหลักสูตรเภสัชศาสตร์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยสยามและมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดย มหาวิทยาลัยรังสิต หลักสูตรคณะเภสัชศาสตร์ เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก ในระดับปริญญาตรีจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสาระ คือ สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม และ สาขาวิชาเภสัชอุตสาหการ ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตรของทั้งสองสาขา 1,802,200 บาทและ 1,810,200 บาท ตามลำดับ
       
       
        ส่วนในระดับปริญญาโท เรียนจันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น. ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 288,000 บาท และปริญญาเอกเรียนจันทร์ - ศุกร์ 08.30 - 16.30 น.เช่นเดียวกัน ค่าเล่าเรียนสูงสุด 656,000 บาทตลอดหลักสูตร
       
       
        คณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรจะอยู่ที่ 1,233,850 บาทและสุดท้าย เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม รุ่นก่อนๆ จะมีค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตรประมาณ 600,000 บาท แต่ในปีการศึกษา 2559 จะมีการปรับเปลี่ยนค่าเทอมโดยคิดตามหน่วยกิต แต่ยังคงกู้เงินเพื่อการศึกษาได้ปีละ 90,000 บาท หรือตลอดหลักสูตร 540,000 บาท สำหรับผล Addmission ประจำปี 2558 คะแนนสูงสุดต่ำสุดอยู่ที่ 17500 - 18700
       
        เทคนิคการแพทย์


         อีกทางเลือกของสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานด้านการตรวจทางเทคนิคการแพทย์ ภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ,ห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร หรือ Point of care โดยผู้ประกอบวิชาชีพนี้จะใช้คำนำหน้าชื่อว่า “ทนพ." และ "ทนพญ.
       
        ในประเทศไทยถือว่ามีการเปิดสอนคณะนี้มากมายแต่ถ้าว่ากันเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน จะมี 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นและมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทั้งสามสถาบันได้รับการรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์
       
        มหาวิทยาลัยรังสิต มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 673,700 บาท มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 495,600 บาทตลอดหลักสูตร และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นเหมาจ่าย 4 ปี ตลอดหลักสูตร 480,000 บาท

เจาะ 4 คณะสายแพทย์ ม. เอกชน ค่าเทอมหลักล้าน
        ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ
       http://www.western.ac.th
       http://www.rsu.ac.th
       https://www2.rsu.ac.th/info/admissions-fee
       th.wikipedia.org
       http://admission.siam.edu
       Facebook ข่าวสารการรับสมัครนักศึกษา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
       http://admission.hcu.ac.th
       http://www.admissionpremium.com
       http://www.123dentist.com
       https://personal-injury-doctor.com
       http://nebula.wsimg.com
       http://www.healthdegrees.com

โดย MGR Online       
13 พฤษภาคม 2559