ผู้เขียน หัวข้อ: การแก้ปัญหาแพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข  (อ่าน 1988 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด
จากข่าว(1)ว่าในปี2553 มีแพทย์เข้าทำงานในกระทรวงสาธารณสุข 1,303 คน แต่มีแพทย์ลาออกจากสธ. 602 คน คิดเป็นร้อยละ 46.2 ซึ่งจำนวนแพทย์ลาออกลดลงจากปี 2552 ที่มีแพทย์ลาออกร้อยละ 71.3

และถ้าพิจารณาการลาออกจาก 5 ปีย้อนหลัง พบว่า ปี 2553 มีแพทย์ลาออกน้อยที่สุด โดยปี 2548 มีแพทย์ลาออก 61.9% ปี 2549 จำนวน  71.3% ปี 2550 จำนวน 69.6% ปี 2551 จำนวน 76.4% ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าจำนวนแพทย์ลาออกเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ ปี 2545  ที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง มีแพทย์ลาออกถึง 61.6%  เพิ่มขึ้นเป็น 75.9% ในปี 2546 ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2544 มีแพทย์ลาออกคิดเป็นเพียง 28.9%   
       แต่จำนวนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ข้อมูลการผ่าตัดของโรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยที่ผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขได้เลย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้แพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข

   ถ้ามาดูว่า สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขเพราะอะไร จากการสำรวจของแพทยสภา ในปีพ.ศ. 2545 พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขก็คือ

1. แพทย์ถูกบังคับให้ชดใช้ทุน โดยไม่สามารถเลือกจังหวัดหรือสถานที่ที่จะไปทำงานได้

2.งานหนัก (ทำงานสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง , มีจำนวนผู้ป่วยมากเกินไป  ทำให้แพทย์ไม่มีเวลาพอที่จะตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างดีมีคุณภาพมาตรฐาน มีเวลาตรวจผู้ป่วยเฉลี่ยคนละ 2-4 นาที, เสี่ยงต่อความผิดพลาดและถูกฟ้องร้อง )(2)

3.เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำ (ต่ำกว่าในภาคเอกชน 10 เท่า) และยังค้างจ่ายอีกด้วย(3)

 4.ต้องการเรียนต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่กระทรวงสาธารณสุขจำกัดจำนวนผู้จะไปเรียน ทำให้ต้องลาออก เพื่อจะไปเรียนต่อ

5.ไม่พอใจระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

6.ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ

ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดตามสาเหตุการลาออกดังนี้

1.การถูกบังคับให้ชดใช้ทุนโดยไปทำงานในจังหวัดห่างไกล  ตามความเป็นจริงแล้ว นักศึกษาแพทย์ไม่ได้รับทุนการศึกษาใดๆจากรัฐบาล(4) เนื่องจากนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็ต้องเสียค่าเล่าเรียนเหมือนนักศึกษาอื่นๆ  อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า รัฐบาลต้องลงทุนในคณะแพทยศาสตร์มากกว่าคณะอื่นๆ แต่นักศึกษาแพทย์ก็ช่วยทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยภายใต้ความควบคุมของอาจารย์ ได้เงินกลับคืนมาให้โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์มากมาย ไม่เหมือนนักศึกษาคณะวิชาอื่นๆ ที่ไม่ได้ช่วยทำงานให้มหาวิทยาลัยที่ตนเล่าเรียน

   แต่ประเทศชาติต้องการแพทย์(และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ) กระทรวงสาธารณสุขจึงหาทางที่จะบังคับให้แพทย์ต้องทำงาน “ใช้ทุน” (ทั้งๆที่ไม่เคยได้ทุน) (4) แต่วิธีการบังคับให้แพทย์ต้องจับฉลาก ทำให้แพทย์อาจไม่พอใจในสถานที่ต้องไปทำงาน แต่แพทย์ส่วนมากก็ยอมไปทำงานตามที่ถูกกำหนดไว้ แต่อาจจะทนไม่ได้กับการบริหาร ระบบงาน หรือปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว จึงอาจไม่สามารถทนอยู่ได้

2.ต้องทำงานหนักเกินกำลัง ต้องรับผิดชอบตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการทำให้เวลาทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง(2) คิดเป็นเวลาการทำงานมากกว่าข้าราชการทั่วไป 2-3 เท่า มีผู้ป่วยรอตรวจล้นโรงพยาบาลทุกวัน(5)  ผู้ป่วยใน(นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล)ก็ต้องนอนตียงเสริม เตียงแทรก การที่มีจำนวนผู้ป่วยมาก(บางแห่งหมอต้องตรวจผู้ป่วยวันละมากกว่า 100 คน) ทำให้แพทย์มีเวลาตรวจผู้ป่วยคนละ 2-4 นาที(2)เท่านั้น

การที่แพทย์ต้องทำงานมาก มีเวลาพักผ่อนน้อย ทำให้เกิดความเครียดสะสม ทำให้เบื่อหน่ายต่อภาระงาน และอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อผู้ป่วยและอาจนำไปสู่ความไม่พึงพอใจและการฟ้องร้อง ทำให้แพทย์มีความเครียดเพิ่มขึ้น ประชาชนก็อาจไม่ได้รับความเข้าใจในวิธีการรักษา หรือไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเกิดผลเสียหายจากการรักษา นำไปสู่การกล่าวหา ร้องเรียนและฟ้องร้อง ทำให้แพทย์เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น

3.เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำกว่าภาคเอกชนเป็นสิบๆเท่า ทั้งๆที่มีภาระรับผิดชอบมากกว่าเป็นร้อยเท่า ทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งลาออก(3) เพื่อแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ส่งผลให้แพทย์ที่ยังทำงานในกระทรวงสาธารณสุขยิ่งต้องรับภาระงานหนักขึ้น

4.แพทย์ส่วนมากยังต้องการที่จะไปเรียนต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ เนื่องจากวิชาการแพทย์มีการพัฒนาและขยายความรู้ทั้งด้านลึกและด้านกว้าง การมีความรู้เพียงแพทยศาสตร์บัณฑิต อาจจะทำให้แพทย์ไม่มั่นใจในการตรวจรักษาผู้ป่วยทุกโรค(ทั่วไป) แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่เปิดโอกาสให้แพทย์ลาศึกษาต่อในจำนวนที่เท่ากับ ศักยภาพของโรงเรียนแพทย์ที่ให้การศึกษาและฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะได้ จึงทำให้แพทย์ที่ต้องการเรียนต่อต้องลาออกเพื่อจะได้ไปเรียนต่อตามความต้อง การ

5.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

5.1ทำให้ประชาชนมาใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้น 2 -3 เท่าของจำนวนผู้ป่วยก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(5) ทำให้ภาระงานของแพทย์เพิ่มมากขึ้น โดยบางครั้งก็เป็นภาวะที่ประชาชนควรจะมีความสามารถในการดูแลป้องกันและรักษา อาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้เอง

5.2 สปสช.ได้เข้ามาก้าวก่ายการใช้ดุลพินิจในการรักษาหรือสั่งยาและเครื่องมือแพทย์ให้ผู้ป่วย ทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยของตน เนื่องจากถ้าไม่ทำตามข้อกำหนดของสปสช.แล้วโรงพยาบาลก็จะไม่ได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วย(3) ทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากถ้าสั่งยาที่สปสช.ไม่อนุมัติ โรงพยาบาลก็จะไม่ได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วยจากสปสช. ทำให้แพทย์ขาดอิสรภาพทางวิชาการแพทย์ในการพิจารณารักาผู้ป่วยที่ตนรับผิดชอบ

 อัน ที่จริงแล้วการที่สปสช.ได้ตั้งกฎเกณฑ์ในการรักษาผู้ป่วยนั้น เป็นการละเมิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้กำกับดูแลการบริหารงานของสปสช.ให้ถูกต้อง ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ในการที่จะได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบางโรค

6. การไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ของแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เนื่องจากก.พ.ไม่กำหนดตำแหน่งเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์มีแต่จะมากขึ้น ตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรเหล่านี้ต้องถูกบังคับ(ให้ใช้ทุน)ให้ทำงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งขาดความก้าวหน้าในอนาคตที่จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวไปตลอดกาล จึงเลือกที่จะลาออกไปแสวงหาการทำงานในสภาพที่ดีกว่า

 พบว่า จำนวนลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนมากมายหลายหมื่นคน

  ข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขปัญหาการลาออกและการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข

1.การจัดสรรแพทย์จบใหม่ควรให้มีการยืดหยุ่นให้สามารถขอแลก/ โอนย้าย และสับเปลี่ยนสถานที่ทำงานกันได้ตามความเหมาะสมและความสะดวก(พอประมาณ)ของครอบครัว

2. การลดจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยการบริหารจัดการในเรื่องระเบียบการมารับบริการของประชาชน มีระบบนัด เพื่อกำหนดจำนวนผู้ป่วยให้พอเหมาะกับจำนวนบุคลากร

 ลดการพึ่งพิงบริการโรงพยาบาล โดยการลดการเจ็บป่วยของประชาชน ทำได้โดยการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันความเจ็บป่วย โดยส่งเสริมให้อสม.และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีความสามารถในการให้ความรู้แก่ประชาชนให้มีความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อลดภาระโรงพยาบาลในการรักษา  รวมทั้งการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสุขภาพและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมแก่สถานภาพทางการเงินของแต่ละคน ผู้ยากไร้ ควรได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย แต่ผู้มีสถานภาพทางการเงินที่อยู่เหนือระดับความยากจน ควรมีส่วนร่วมจ่ายเงิน เพื่อไม่ให้มารับยาฟรีมากเกินจำเป็น

3.กระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ใหม่ ให้พอใกล้เคียงกับราคาตลาดในภาคเอกชน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์ยังคงทำงานในกระทรวงสาธารณสุข

4. ควรส่งเสริมให้แพทย์ได้เรียนต่อในสาขาที่ขาดแคลน และเมื่อแพทย์เรียนจบ ก็ควรมีตำแหน่งรองรับ ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าไปอยู่ระบบเอกชน ประชาชนที่ไปใช้โรงพยาบาลภาครัฐก็จะขาดแคลนบุคลากรที่ดูแลรักษาต่อไป

5.การแก้ไขการบริหารจัดการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช. ไม่ควรให้เป็นองค์กรพิเศษนอกราชการ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขขาดเอกภาพในการดำเนินการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชน เนื่องจากในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานมากมายมหาศาล แต่ขาดงบประมาณในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ต้องไปขอรับเงินจากสปสช.

   การ บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสปสช.ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังเป็นสาเหตุให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาด ทุนจนถึงกับขาดสภาพคล่อง 579 แห่ง เป็นจำนวนร้อยละ 70 ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด (6)

 กระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนบุคลากรตามมาตรฐานที่เหมาะสมกับภาระงาน เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้การกำหนดตำแหน่งของก.พ. ซึ่งกำหนดตำแหน่งน้อยกว่าความจำเป็นในการรองรับภาระงานที่มีมากขึ้นตลอดเวลา สมควรจะแยกออกมาจากก.พ. เพื่อให้สามารถกำหนดตำแหน่งและความก้าวหน้าในการทำงานให้เหมาะสม เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงานในสธ.ต่อไป

แพทย์ยังถูกสปสช.บังคับไม่ให้ใช้ยานอกเหนือจากที่สปสช.กำหนด ทั้งๆที่สปสช.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น

   ควรโอนสปสช.กลับมาสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีเงินเหลือกลับมาให้บริการประชาชนมากขึ้น และจะได้บุคลากรทางการแพทย์มาทำงานบริการทางการแพทย์มากขึ้นแทนที่จะไปบริหารกองทุน ใช้เวลาประชุมคิดโครงการมากมาย ซึ่งซ้ำซ้อนกับภาระงานของกระทรวงสาธารณสุขและไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.

ทั้งนี้ เนื่องจากสปสช.กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นมากมาย ตั้งเงินเดือนสูงๆ อัตราเบี้ยประชุมสูงๆ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลาออกไปอยู่สปสช.มากมาย เนื่องจากมีแรงจูงใจคือเงินดี งานสบาย ถ้าให้สปสช.มาสังกัดสธ. ก็จะได้บุคลากรทางการแพทย์กลับมาทำงานบริการทางการแพทย์อีกมากมายหลายพันคน

ต้องถามว่ามีใครเคยตรวจสอบการบรรจุบุคลากรและการกำหนดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของสปสช.ว่า เหมาะสมหรือไม่เพียงใด และถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?

6. การแก้ไขเรื่องการกำหนดตำแหน่ง และเงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ควรทำโดยการแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ. เพื่อจะได้กำหนดตำแหน่งให้เหมาะกับภาระงาน ให้ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีบุคลากรที่เพียงพอต่อภาระงานในการตรวจรักษาประชาชน ไม่ขาดแคลนทุกวิชาชีพดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน(7) ทั้งนี้เพื่อให้มีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีศักยภาพเพียงพอในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขให้มีมาตรฐาน เพื่อช่วยให้ประชาชนปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนไปใช้บริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก.พ.กลับลดตำแหน่งคนทำงาน ขาดความก้าวหน้าในวิชาชีพ

นอกจากนั้น บุคลากรยังลาออกอย่างต่อเนื่อง

ทำให้บุคลากรขาดแคลนมาหลายสิบปี และถ้าไม่แก้ไขให้เหมาะสม ก็จะมีการขาดแคลนบุคลากรทุกสาขาวิชาชีพต่อไป

ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพได้ ส่งผลเสียหายต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน

จึงควรแยกจากก.พ. เพื่อมากำหนดตำแหน่ง ค่าตอบแทน และให้มีความก้าวหน้าทางตำแหน่งในสาขาวิชาชีพหรือหน้าที่ต่างๆให้เหมาะสม เพื่อลดการลาออก มีตำแหน่งบรรจุ มีแรงจูงใจที่จะทำงานในกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
(สผพท.)
18 เม.ย. 54

 

เอกสารอ้างอิง

1.แพทย์ใช้ทุนแห่ลาออกเรียนต่ออื้อ ปี 54 หมอ-พยาบาลยังขาดแคลน
http://manager.co.th/images/blank.gif
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
18 เมษายน 2554 08:26 น.
http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000047193

2. ฉันทนา ผดุงทศและคณะ : ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550:16(4): 493-502

3. กองบรรณาธิการวารสารวงการแพทย์: แก้ปมปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ วารสารวงการแพทย์ 2553; 13(333): 17-20

4. อดุลย์ วิริยะเวชกุล : เมดิคัลฮับ-นโยบายแย่ การจำกัดสิทธิของแพทย์-นโยบายยอดดีกระนั้นหรือ? วารสารวงการแพทย์ 2553;13(333): 1

5.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล วารสารวงการแพทย์ 2551;10(272):28-29

6. อดุลย์ วิริยะเวชกุล โรงพยาบาลรัฐ 579 แห่งก็มีการขาดทุนเหมือนกันด้วยหรือ วารสารวงการแพทย์ 2553 ; 13 (330):1

7. เชิดชู อริยศรีวัฒนา การขาดแคลนข้าราชการแพทย์ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข วารสารวงการแพทย์ 2551 ; 10 (274): 28-29