ผู้เขียน หัวข้อ: อนาถใจ สูงอายุไทย ขาดเงินค่ารถหาหมอ  (อ่าน 680 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด

„การขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่มีราคาย่อมเยาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการบริการสุขภาพในหมู่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะผู้ไม่ได้อาศัยในเขตถนนหลวง วันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2559 เวลา 9:47 น.

ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานเรื่อง “ปิดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของผู้สูงอายุความเป็นธรรมทางสุขภาพและความครอบคลุมทางสังคมในประเทศไทย” ช่วงก่อนถึงวันผู้สูงอายุไทยเพื่อนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานด้านผู้สูงอายุ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.สุทยุต โอสรประสพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก ร่วมกับทีมงานจัดทำรายงานนี้ขึ้น โดยเก็บข้อมูลจากทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคตะวันออก

ดร.สุทยุต กล่าวว่า ขณะที่ชาวไทยทุกคนได้รับสิทธิคุ้มครองจากหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2545 รายงานพบว่ายังมีผู้สูงอายุอีกหลายคนที่ประสบกับความยากลำบากในการใช้บริการสุขภาพเหล่านี้ เหตุผลหลักคือต้องพึ่งพาญาติให้พามาสถานพยาบาล ซึ่งเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความยากจน และในวัย 80 กว่าปีขึ้นไป ที่อยู่ในชนบท หลายคนป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดัน หรือโรคตาต้อกระจก ต้องไปหาหมออย่างต่อเนื่อง แต่ความถี่ลดลงเมื่อเข้าสู่วัย 80 ปี

รายงานพบว่าการขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่มีราคาย่อมเยาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการบริการสุขภาพในหมู่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะผู้ไม่ได้อาศัยในเขตถนนหลวง ที่มีรถประจำทางวิ่งผ่าน ต้องเช่ารถ ซึ่งผู้สูงอายุยากจนดำรงชีวิตอยู่ด้วยเบี้ยยังชีพ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาสถานพยาบาลของผู้ป่วยในชนบทต้องเสียค่าโดยสารเฉลี่ย 6,000 บาทต่อปี ในเมือง 400 บาทต่อปี

อย่างไรก็ตามข้อมูลตรงนี้เป็นเพียงการเก็บตัวอย่างของประชากรกลุ่มหนึ่งแต่อย่างน้อยก็ได้สะท้อนปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางของผู้สูงอายุที่จะนำไปสู่ระดับนโยบายการแก้ไข ซึ่งเงินค่าเดินทางบาง รพ. มีเงินกองทุนสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้มาจากเงินบริจาคและเงินจัดสรรจาก รพ. ส่วนหนึ่งแต่ละ รพ. มีไม่เท่ากัน เท่าที่คุยกับผู้สูงอายุยากจนไม่ทราบอาจจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่แจ้งข้อมูลเพราะมุ่งจะปฏิบัติงานในหน้าที่มากกว่า

ดร.สุทยุต กล่าวถึงข้อเสนอแนะว่ารัฐควรหาวิธีสนับสนุนเรื่องค่าเดินทางสำหรับผู้สูงอายุที่ยากจนในเบื้องต้นต้องทำประวัติคนจนให้ได้ก่อน เพื่อจัดสรรงบประมาณให้ตรงกลุ่มเป้าหมายเพราะประเทศไม่มีงบประมาณเพียงพอ เช่น ในประเทศอังกฤษมีคูปองรถแท็กซี่ให้ผู้สูงอายุที่ยากจนในการเดินทางมา รพ.

ธนายันตรโกวิธ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริการงานท้องถิ่นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า อบต. 7,000 แห่ง ทั่วประเทศ บางแห่งมีงบประมาณเพียงพอซื้อรถพยาบาลฉุกเฉิน แต่บางที่ไม่มีท้องถิ่นจัดเก็บงบประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี มีแค่ 1-2% รองลงมาจัดเก็บได้ 100 ล้านบาท แค่ 10% ที่เหลือมีรายได้ 30-40 ล้านต่อปีเท่านั้น 3 ปีที่ผ่านมา เคยขอสนับสนุนเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่ง 300 ล้านบาท ซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินได้ 80 คันแต่ก็ถูกจัดสรรโดยการเมือง “มีข้อเสนอว่าในท้องถิ่นที่ยังไม่มีรถพยาบาลให้โดยเฉพาะท้องถิ่นเล็ก ๆ รวมตัวจัดตั้งเป็นศูนย์เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริการงานท้องถิ่น กล่าว

ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเสนอว่าท้องถิ่นที่มีรถพยาบาลฉุกเฉินให้ปรับเปลี่ยนมาสนับสนุนการเดินทางของผู้สูงอายุไปหาหมอ หากไม่มีกรณีฉุกเฉินเพราะรถจอดไม่ได้ใช้งาน นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราค่าโดยสารของผู้สูงอายุที่ใช้บริการขนส่งต่าง ๆ จะลดให้ 50% แต่เมื่อไปดูราคาค่าโดยสารไม่ได้ลดจริง เพราะมีค่าธรรมเนียมแอบแฝงอยู่ เช่น ค่ารถไฟ จาก 800 บาท เหลือ 500 บาท ผู้สูงอายุที่ยากจนไม่มีกำลังพอที่จะจ่ายค่าเดินทางได้

ด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า จากผลการวิจัยครั้งนี้ สสส.จะส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกายเพื่อเตรียมร่างกายไม่ให้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังเมื่อสูงวัย พร้อมกันนี้จะมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการจ้างงานในผู้สูงอายุวัยเกษียณสามารถทำงานได้โดยให้องค์กรจัดสรรงานที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้สูงวัย เปิดปมปัญหาอีกด้านของผู้สูงอายุไทย...แม้ รพ.จะรักษาฟรี แต่การเดินทางให้ถึงมือหมอยังเป็นอุปสรรค. ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง รายงาน“

เดลินิวส์
จันทร์ที่ 25 เมษายน 2559