ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.เอกชนวิ่งหาพันธมิตร แก้ต้นทุนพุ่ง-ชนรายใหญ่  (อ่าน 1285 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ธุรกิจ โรงพยาบาลฝุ่นตลบ ชี้สถานการณ์รุมเร้า"รายใหญ่ผนึกกำลัง-เปิดเสรี" ค่ายเล็กไร้สังกัดดิ้นปรับตัวหาพันธมิตร หวั่นแข่งขันยากอนาคตลำบาก "เกษมราษฎร์-บำรุงราษฎร์" เปิดแผนรุกธุรกิจ เผยโมเดล "แยกกันเดิน-ร่วมกันตี" เสริมแกร่งทุกเซ็กเมนต์ ภายใต้แนวคิดอิควอลพาร์ตเนอร์ เตรียมจับมือแถลงความร่วมมือสเต็ปต่อไป


แหล่ง ข่าวจากวงการโรงพยาบาล เอกชนรายใหญ่กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากภาพการจับมือรวมกลุ่มของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา อาทิ การสวอปหุ้นของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และพญาไท (รวมเปาโล) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ เข้าไปถือหุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ รวมถึงปัจจัยจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 และจะเปิดโอกาสให้เงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลและ สุขภาพได้มากถึง 70%

ทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวเป็นแรงกดดันให้โรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กที่มีอยู่ในเมืองไทย ประมาณ 250-280 โรง และส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลที่ไม่มีเครือข่ายต้องปรับตัวและมองหาความร่วมมือ กับพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง ทั้งในแง่ของมาตรฐานในเชิงบริหารจัดการและลดต้นทุนบริการ เทคโนโลยี และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อรองรับการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งคาดว่าภาพการเจรจาเพื่อหากลุ่มหรือสังกัดจะเกิดขึ้นต่อเนื่องตลาดปีนี้ และปีหน้า

"ตอนนี้รายเล็กเริ่มกังวล โรงเดี่ยว เริ่มหาพาร์ตเนอร์ กลุ่มเล็ก ๆ หาสังกัด เพราะต้องการความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรายใหญ่มาช่วย ส่วน โรงพยาบาลเฉพาะทางแม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบในเวลาอันใกล้นี้ แต่ในอนาคต 5-10 ปี การรุกคืบของรายใหญ่ก็จะทำให้โรงพยาบาลเฉพาะทางต้องปรับตัวเช่นกัน"

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โรงพยาบาลวิภาวดี โรงพยาบาลในเครือรามคำแหง ได้ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 400 ล้านบาท เพื่อทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือรามคำแหงอีกแห่งหนึ่ง จากก่อนหน้านี้ที่รามคำแหงได้เข้าไปถือหุ้นโรงพยาบาลขนาดเล็กหลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลแม่น้ำ โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา และโรงพยาบาลสุขุมวิท

ขณะที่ ผู้บริหารโรงพยาบาลรามคำแหงกล่าวในเรื่องนี้ว่า ภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการพยายามที่จะทำให้ความเป็นเครือข่ายหรือกลุ่ม มีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อการลดต้นทุนในเรื่องของการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจต่อรองในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันก็จะมีการแชร์ในเรื่องของเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

"คง ไม่เพียงเฉพาะการปรับตัวของกลุ่มเท่านั้น เชื่อว่าการรวมตัวกันของกลุ่มใหญ่และการเปิดเสรีที่จะมีในอนาคต จะทำให้โรงพยาบาลรายเล็กต้องเร่งปรับตัวเพื่อหากลุ่มหรือสังกัดมากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะลำบากเพราะธุรกิจทุกวันนี้ต้องแข่งกันที่เรื่องของขนาด และการมีต้นทุนที่ต่ำ"

ขณะที่นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจหลังจากมี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เข้ามาเป็นพันธมิตร และถือหุ้นอันดับ 2 ในสัดส่วน 24.99% ว่า โดยหลักจะเน้นการนำจุดแข็งของทั้ง 2 แห่งมาเสริมผลิตภัณฑ์ให้แข็งแกร่งขึ้น ภายใต้แนวคิดอิควอลพาร์ตเนอร์ (equal partner) หรือพาร์ตเนอร์ที่เสมอภาคกันในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยปลายเดือนเมษายนนี้มีแผนแถลงความร่วมมือขั้นที่ 2 ของ ทั้ง 2 กลุ่ม

ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารบางกอกเชนฯย้ำว่า จากจุดแข็งของบำรุงราษฎร์ที่มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญกับตลาดระดับบนและชาว ต่างประเทศ ขณะที่เกษมราษฎร์แข็งแกร่งในตลาดระดับกลาง ดังนั้นความร่วมมือในเชิงพันธมิตรและการขยายธุรกิจไปข้างหน้า ทั้ง 2 แห่งก็จะนำจุดแข็งของตัวเองมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยบำรุงราษฎร์จะเน้นไปที่ตลาดระดับบนและต่างประเทศ ขณะที่เกษมราษฎร์จะมุ่งไปที่ตลาดระดับกลาง เพื่อไม่ให้มาร์เก็ตเซ็กเมนต์ซ้ำซ้อนกัน และมีความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ

พร้อม กันนี้ยังยกตัวอย่างว่า หากจะเปิดสาขาในเมืองท่องเที่ยวที่มีต่างชาติมาก ก็จะใช้แบรนด์บำรุงราษฎร์ หรือหากเป็นต่างจังหวัดที่มีชนชั้นกลางมาก ก็จะใช้แบรนด์เกษมราษฎร์ ด้วยความร่วมมือแบบเท่าเทียมกัน

"สิ่งที่ เราทำคือการจับมือกัน ไปด้วยกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ บำรุงราษฎร์ตีตลาดบน เกษมราษฎร์ตีตลาดกลาง โมเดลนี้จะทำให้กลุ่มใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น มีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกัน ขณะเดียวกันการดีไซน์โมเดลความร่วมมือทางธุรกิจแบบนี้จะทำให้บำรุงราษฎร์ สามารถเข้าสู่ตลาดกลางได้ ขณะเดียวกันก็จะทำให้เกษมราษฎร์สามารถเข้าสู่ตลาดบนได้ด้วยเช่นกัน"

"ใน อนาคตจะยังมีการทำงานร่วมกัน มีการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมร่วมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การฝึกอบรม ฯลฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง การจับมือเป็นพันธมิตรกันดังกล่าว เป้าหมายหลักไม่ได้ต้องการเป็นกลุ่ม โรงพยาบาลที่ใหญ่สุด หรือการมีจำนวนเตียงมากที่สุด แต่ต้องการเป็นผู้นำในตลาดที่ตัวเองมีความถนัด มีความเชี่ยวชาญ และต้องการเพิ่มเน็ตเวิร์กให้มากขึ้น"

สำหรับทิศทางของกลุ่มเกษม ราษฎร์ นายแพทย์เฉลิมระบุว่า ปีนี้ยังคงมุ่งพัฒนาระบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานที่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยงบฯลงทุน 300 ล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการของคนชั้นกลาง โดยจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับทำเลที่ตั้งของชุมชน อาทิ เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ มีอุบัติเหตุบ่อยและมีเด็กจำนวนมากก็จะพัฒนาศูนย์แม่และเด็กให้แข็งแรงขึ้น ส่วนเกษมราษฎร์ ประชาชื่น มีจุดแข็งด้านศูนย์โรคหัวใจ เป็นต้น

ด้าน การลงทุนสาขาใหม่ มีแผนเพิ่มอาคารใหม่ของสาขาสุขาภิบาล 3 และเพิ่มเตียงเป็น 350 เตียง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่มีความคับแคบและลูกค้าต้องการพื้นที่ให้บริการกว้างขวาง รวมทั้งการให้บริการลูกค้ากลุ่มข้าราชการ ซึ่งเป็นการขยายตลาดใหม่ ๆ

ประชาชาติธุรกิจ
18 เมษายน พ.ศ. 2554