ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปสัมมนา ภาวะฉุกเฉินในโรงพยาบาลและการกำหนดภาระงาน ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙  (อ่าน 2301 ครั้ง)

today

  • Staff
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 263
    • ดูรายละเอียด
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธาน สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวภายหลังงานสัมมนา ภาวะฉุกเฉินในโรงพยาบาล ที่ สพศท. และ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันจัดให้มี ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วันที่18 มีนาคม 2559 ว่า ห้องฉุกเฉิน  คือ หน่วยปฏิบัติการประเมิน จัดการ บำบัดรักษา ดูแล ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตและการทำงานของอวัยวะที่สำคัญ โดยในปัจจุบันพบอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินหลายประการ เช่น การขาดแคลนบุคลากร  พบว่า โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 116 แห่ง ยังไม่มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 20 กว่าแห่ง ส่วนโรงพยาบาลชุมชน 800กว่าแห่ง มีการขาดแคลนรุนแรงมากว่า และอยู่ในช่วงการเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น
ความแออัดของผู้ป่วย เป็นอุปสรรค อีกประการ ในการให้การบริบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจาก ผู้ป่วยซึ่งเจ็บป่วยจริงแต่ไม่ฉุกเฉิน เข้าร่วมรับการตรวจ รักษาในห้องฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจริงได้รับการบริบาลที่ล่าช้า เกิดการเสียชีวิต เสียอวัยวะโดยไม่สมควร ส่วนญาติไม่เข้าใจในระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่พึงพอใจในความล่าช้า จะมีพฤติกรรมความรุนแรง เช่น แตะ ต่อย ถ่มน้ำลาย ใช้อาวุธ หรือ การใช้วาจาข่มขู่ ด่าทอ รวมทั้งเผยแพร่ข้อความ รูปภาพผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่คุกคามต่อการปฏิบัติงานของบุคคลากรในห้องฉุกเฉิน นพ.ประดิษฐ์ ได้กล่าวเพิ่มว่า เวทีสัมมนาได้เสนอแนวทางบรรเทาปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน เช่น จัดห้องฉุกเฉินให้มีบริเวณที่กว้างขว้าง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง ถ้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จะยิ่งดี มีปุ่มสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน มีทางเข้าออกหลายทางเพื่อให้บุคลากรหนีเหตุร้ายได้สะดวก และที่สำคัญควรมีประกันชีวิตให้แก่บุคลากร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ต้องไปกับรถพยาบาลฉุกเฉิน โดย พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. รับปากตั้งคณะทำงาน แก้ปัญหาความแออัดและความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน
พญ.สุธัญญา บรรจงภาค รองประธาน สพศท. กล่าวว่า ปัญหาภาระงานของแพทย์ภาครัฐ เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสัมมนา ซึ่ง สพศท. สนับสนุน แนวทางกำหนดภาระงานแพทย์ของแพทยสภา เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐมีผู้ป่วยจำนวนมาก แพทย์ต้องเสียสละทำงานหนัก ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ โดยภายหลังการอยู่เวร24 ชม.ต้องมาทำงาน ต่ออีก 8 ชม. ทำงานโดยไม่มีวันหยุด  สพศท. ไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ป่วยหรือตัวแพทย์เองเพราะทำงานเกินขีดความสามารถของมนุษย์ การจำกัดเวลาทำงานของแพทย์ ให้พอดีกับความสามารถของมนุษย์ ช่วยให้แพทย์ภาครัฐมีเวลาพักผ่อนเทียบเท่าบุคคลทั่วไปตามกฎหมายแรงงานซึ่งไม่คุ้มครองบุคคลากรสาธารณสุขภาครัฐ ผู้ป่วยที่มารับการบริบาลจากแพทย์ภาครัฐ จะได้รับการประเมิน การบำบัดรักษาโดยแพทย์ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานเต็มที่ ไม่มีความอ่อนล้าจากการขาดการพักผ่อน  
“ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าผู้ป่วยทราบว่ากำลังตรวจกับแพทย์ที่ต้องทำงานติดต่อกันมาตลอด 36 ชม. ผู้ป่วยคนนั้นจะคิดอย่างไร” พญ.สุธัญญา กล่าว
ภาระงานของพยาบาลก็คล้ายกับแพทย์  แต่ปัญหารุนแรงกว่าของแพทย์มาก  ในเวทีสัมมนา มีความเห็นมากมายจากพยาบาลอายุ 55 ปียังต้องขึ้นเวรทำงานกะบ่าย-ดึก และเชื่อว่า มีพยาบาลตั้งครรภ์ถูกบังคับหรือกดดันให้ขึ้นเวร    จากการศึกษาของสำนักการพยาบาล พบว่า ปกติพยาบาลทำงาน 8ชม./เวร คิดเป็นจำนวนวันเฉลี่ย 27 วันต่อเดือน โดยบางวันทำงาน 16 ชม. เพราะถูกบังคับให้ควบกะ โดยข้าราชการทั่วไปทำงาน เพียง 22 วันต่อเดือน จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า พยาบาลที่ขึ้นเวรกะดึก 3 คืนต่อเดือน 15ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น ในประเทศไทย พยาบาลภาครัฐมากกว่า 60% อายุมากกว่า 40 ปี แสดงว่า คนไข้ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลโดยพยาบาลสูงอายุ อาจมีโรคประจำตัว ร่างกายไม่แข็งแรง โดยพยาบาลอายุน้อย เมื่อทำงานภาครัฐจนชำนาญ โดยไม่มีสวัสดิการ ไม่ได้รับการคุ้มครองเมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ รายได้ต่อชั่วทำงานอยู่ในอัตราที่ต่ำ ไม่เหมาะสมกับความขาดแคลน  พยาบาลเหล่านั้นจึงลาออกไปอยู่เอกชน เพราะมีประสบการณ์ในการดูแลคนไข้มาแล้ว อยู่ในวัยทำงาน บุคลิกดี ตรงกับความต้องการตลาดเอกชน สพศท.จึงขอให้สภาพยาบาลออกแนวทางกำหนดภาระงานพยาบาล เช่นกัน รองประธาน สพศท. กล่าว
สพศท. ขอขอบคุณ องค์กรแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทุกแห่งทั่วประเทศไทย ที่ได้มอบเงินสนับสนุน สพศท. ซึ่งส่วนหนึ่งได้นำมาใช้ในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ และ สพศท.จะเร่งดำเนินการทำหนังสือขอบคุณส่งไปยังองค์กรแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 เมษายน 2016, 00:50:13 โดย today »